ศาลให้ประกันผู้ถูกจับกุม 7 ราย #ม็อบ21สิงหา 2 รายเป็นเยาวชน หนึ่งในผู้ถูกจับเจ็บหนักจนต้องแอดมิท เหตุโดนรุมจับโดย คฝ. กว่า 15 คน

วันนี้ (23 สิงหาคม 2564) พนักงานสอบสวนได้ทำการขอศาลอาญาฝากขังผู้ต้องหา 5 คน ซึ่งถูกจับกุมในการชุมนุม #ม็อบ21สิงหา ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในจำนวนนี้ มีผู้ต้องหารายหนึ่งที่ต้องคอนเฟอเรนซ์จาก รพ. ตำรวจ เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากอย่างหนัก ขณะที่รายหนึ่งถูกตั้งข้อหาครอบครองอาวุธและวัตถุระเบิดด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า ในการค้นตัวพบว่ามีเครื่องกระสุนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ทนายจึงยื่นขอประกันโดยวางหลักทรัพย์รายละ 35,000 บาท ยกเว้นกรณีผู้ต้องหาที่ตรวจเจออาวุธระเบิด วางหลักประกัน 85,000 บาท

ในช่วงเย็น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 5  และกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีกหรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง กำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 11 ตุลาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุมนี้ยังมีคดีของผู้ต้องหาเยาวชน 2 ราย ด้วยที่ถูกจับกุมพร้อมกัน เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวกลับบ้านในคืนวันจับกุม และนัดหมายให้เดินทางมายังศาลเยาชนและครอบครัวกลางในวันรุ่งขึ้น (22 สิงหาคม 2564) เพื่อทำเรื่องตรวจสอบการจับกุม โดยพนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลควบคุมตัวผู้ต้องกหาในชั้นสอบสวน พร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุว่า เยาวชนทั้งสองมีพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ไม่ยำเกรงกฎหมาย ไม่คำนึงถึงสังคมในภาวะโรคระบาด ทำลายทรัพย์สินราชการและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมา ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน

สำหรับการชุมนุม #ม็อบ21สิงหา เริ่มด้วยการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุฟ้า ซึ่งได้นัดหมายทำกิจกรรมยื่นหนังสือที่สำนักงาน UN ร้องให้ตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ต้องหาการเมืองในไทย ในภาพรวม กิจกรรมเป็นไปโดยสงบ ไม่เกิดความรุนแรง และจบลงด้วยการอ่านแถลงการณ์ถึงอำนาจตุลาการว่า ความเป็นอิสระของศาลที่จะถูกแทรกแซงจากอำนาจอื่นไม่ได้ เป็นหลักการสากลที่อยู่ในตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึงบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย จนกระทั่งเวลา 16.10 น. การชุมนุมถึงยุติลง

อีกด้านที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง กลุ่มผู้ชุมนุมอิสระได้เดินทางมาเพื่อชุมนุมราว 17.00 น. โดยวันนี้ต่างออกไปจากเดิม เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ที่เคยตั้งอยู่ตรงทางเลี้ยวจากแยกดินแดงเข้าถนนวิภาวดีรังสิต ถูกนำไปวางไว้บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แทน

ในช่วงเวลา 21.00 น. ภายหลังจากการสลายม็อบด้วยกระสุนยาง ปืนฉีดน้ำและแก๊ซน้ำตาหลายชั่วโมง พบว่ามีผู้ถูกจับกุมที่ถูกส่งตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) นั้น มีจำนวน 7 ราย โดย 2 ราย ยังเป็นเยาวชน อายุ 14 และ 15 ปี ผู้ถูกจับกุม 6 ราย ให้ข้อมูลทนายความว่า ได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยมีรายหนึ่งทนายความขอให้ตำรวจนำตัวไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ก่อนแพทย์โรงพยาบาลตำรวจให้แอดมิทเป็นผู้ป่วยใน 

.

ภาพจากคลิปจับกุมผู้ต้องหาด้วยความรุนแรง

.

จับกุมเยาวชน 2 ราย ก่อนยึดหนังสติ๊ก พบผู้ต้องหาถูกจับด้วยความรุนแรง ถูกถีบเข้าที่ท้ายทอย จับมัดมือด้วยเคเบิลไทร์

ในกรณีเยาวชนอายุ 14 ปี และ 15 ปี ภายหลังการจับกุมที่บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง ถนนวิภาวดีรังสิต ในเวลาประมาณ 19.45 น. ต่อมา ทั้งคู่ถูกส่งตัวต่อมายัง บช. ปส. โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย”, มาตรา 216 “เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก”, มาตรา 140 “ต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีอาวุธ ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป”, มาตรา 296 “ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน”

โดยบันทึกจับกุม ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดผู้จับกุมมีทั้งหมด 11 นาย โดยเป็นการสนธิกำลังกันระหว่าง สน. บางยี่ขัน, สน. บางขุนนนท์, สน. บางกอกใหญ่, สน. บางเสาธง, สน. บางพลัด, สน. ศาลาแดง, และ สน. ตลิ่งชัน 

มีพฤติการณ์ในการจับกุมกล่าวคือ ก่อนการจับกุม วันที่ 21 สิงหาคม 2564 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมกันชุมนุมที่บริเวณถนนอโศกดินแดง ถึงถนนวิภาวดี เขตดินแดง โดยได้มาชุมนุมกันตั้งแต่เวลา 17.00 น. และในการชุมนุมได้มีการขว้างปา ประทัด ระเบิด และใช้ลูกแก้วยิงด้วยหนังสติกเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ คฝ. เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ และยังขว้างปา ยิงสิ่งของเข้าใส่สถานที่ราชการ เป็นการกระทําที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 

ระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตํารวจ คฝ. ได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมให้เลิกชุมนุมมั่วสุม หากแต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เลิก จากนั้นจึงได้เกิดการเข้ากระชับพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ กลุ่มผู้ชุมนุมได้ต่อสู้ จนเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม

ต่อมาเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ได้และสามารถจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 2 ซึ่งเป็นผู้ร่วมชุมนุมได้ที่บริเวณที่เกิดเหตุ โดยหนึ่งในผู้ต้องหาถูกจับกุมขณะขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนี ตํารวจจึงได้ยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นวัตถุพยาน หลังการจับกุม ได้ทําการตรวจค้นตัวทั้งสอง พบของกลางเป็นหนังสติ๊ก 2 ชิ้น และพบโทรศัพท์มือถือด้วย

ชั้นจับกุมเยาวชนทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและไม่ลงรายมือชื่อในบันทึกการจับกุม

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเพิ่มเติมของทนายความทราบว่า เยาวชนทั้ง 2 ราย ต่างได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม รายหนึ่งเล่าว่า มีอาการเจ็บที่บริเวณเข่าและคอ เนื่องจากถูกถีบเข้าที่ท้ายทอยจนล้ม ถูกจับนอนราบกับพื้น เอามือไพล่หลังแล้วใช้สายเคเบิลไทร์มัดมือ ทั้งยังถูกตำรวจ คฝ. ใช้เท้าเตะที่หน้าอก ขณะที่อีกรายระบุว่า เจ็บที่บริเวณข้อมือเพราะเคเบิลไทร์ของเจ้าหน้าที่และไหล่ช้ำ ถูกเท้าถีบที่ด้านหลัง เขายังบอกอีกว่าผู้จับกุมเองไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะจับกุม

ภายหลังจากเสร็จกระบวนการ เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ผู้ปกครองพาทั้งสองกลับบ้านได้ และได้นัดหมายให้เดินทางมายังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุม 

ในช่วงเช้าวันถัดมา เยาวชนทั้งสองพร้อมผู้ปกครองได้เดินทางมาตามนัดหมาย ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวเยาวชนทั้งสองไว้ในระหว่างการสอบสวนด้วย พร้อมทั้งคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ไม่ยำเกรงกฎหมาย ไม่คำนึงถึงสังคมในภาวะโรคระบาด ทำลายทรัพย์สินราชการและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ด้านที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำแถลงประกอบการไต่สวนการตรวจสอบการจับกุม ระบุว่า ผู้ต้องหาไม่ได้หลบหนี ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่การจับกุมไม่เป็นไปโดยละม่อม ขณะจับกุมมีเจ้าหน้าที่ล้อมถึง 7 นาย ผู้ถูกจับกุมถูกกระแทกที่ท้ายทอยจนล้ม ระหว่างรอส่งตัวไปควบคุม มีเจ้าหน้าที่ใช้เท้าเหยียบขาของผู้ถูกจับกุมขณะรอขึ้นรถ ตำรวจยังไม่แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาขณะจับกุม ไม่แจ้งว่าจะนำไปคุมตัวและสอบสวนยังสถานที่ใด ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาแจ้งญาติทราบ ไม่ให้พบทนายเป็นการเฉพาะตัว และใส่เครื่องพันธนาการผู้ต้องหา

อีกทั้งผู้ต้องหาถูกจับในพื้นที่รับผิดชอบของ สน. ดินแดง แต่ชุดจับกุมกลับนำตัวผู้ต้องหาไปไว้ที่ บช. ปส. ไม่นำตัวผู้ต้องหาส่ง สน. ดินแดง อันเป็นการควบคุมตัวไม่ชอบตามบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนั้น ผู้ต้องหาเองยังอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง เป็นนักเรียนธรรมดาและไม่ได้เป็นภัยต่อบุคคลอื่น การคุมขังผู้ต้องหาอาจกระทบกระเทือนจิตใจผู้ต้องหาที่ยังคงเป็นเยาวชน

ต่อมา ศาลลงความเห็นว่าการจับกุมเป็นไปโดยชอบ และให้ออกหมายควบคุมตัวผู้ต้องหา ที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่วางหลักประกัน จนกระทั่งในช่วงราว 16.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องวางหลักประกัน และได้นัดหมายทั้งสองอีกครั้งในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่สถานพินิจฯ เพื่อพบกับพนักงานคุมประพฤติ

.

ภาพผู้ถูกจับกุม

.

จับกุมผู้ใหญ่ 5 ราย ก่อนตรวจพบระเบิดปิงปอง ระเบิดทำมือ พบหนึ่งในผู้ต้องหาได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ขณะนี้แอดมิท รพ. ตำรวจ

สำหรับกรณีของผู้ต้องหาผู้ใหญ่ 5 ราย ได้มีการทำบันทึกจับกุมเป็น 2 ชุด แต่ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาในฐานความผิดเดียวกัน ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมและร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย”, มาตรา 216 “เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก”, มาตรา 140 “ต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีอาวุธ ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป”, มาตรา 296 “ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน” โดยมี 1 ราย ถูกแจ้งข้อหา มีเครื่องกระสุนและวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองด้วย

ในส่วนของผู้ต้องหา 3 ราย อายุ 18, 21 และ 28 ปี ในบันทึกจับกุมชุดแรกระบุว่า ทั้ง 3 ถูกจับกุมที่บริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ถนนวิภาวดีรังสิต ในเวลาประมาณ 19.30 น. การจับกุมครั้งนี้ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเดียวกับชุดผู้ต้องหาเยาวชน ระบุพฤติการณ์การจับกุมคล้ายกันกับเยาวชน โดยผู้ต้องหาที่ 1 และ 3 ถูกจับกุมขณะพยายามขับรถจักรยานยนต์หนี 

ในการค้นตัวหลังจับกุม พบผู้ต้องหาที่ 2 พกอาวุธทั้งระเบิดปิงปอง ระเบิดชนิดพันเทปสีดำ เครื่องกระสุนปืนลูกซอง มาในกระเป๋าเป้ และพบผู้ต้องหาที่ 3 สวมใส่เสื้อเกราะ จึงตรวจยึดเป็นของกลาง นอกจากนั้น ตำรวจยังได้ยึดรถจักรยายนต์ พร้อมทั้งโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ 1 และ 3 ไว้เป็นวัตถุพยาน  เนื่องจากอ้างว่า ผู้ต้องหาที่ 1 และ 3 ให้การว่า ใช้โทรศัพท์ในการถ่ายภาพการชุมนุม และติดต่อกับผู้ชุมนุมรายอื่นๆ เพื่อนัดหมายมาชุมนุม 

ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน และยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมของเจ้าพนักงาน

ในส่วนของผู้ต้องหาอีก 2 ราย อายุ 19 และ 34 ปี ซึ่งชุดจับกุมระบุว่า ถูกจับจากบริเวณหน้าศูนย์จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเบ๊นซ์ ถนนวิภาวดีรังสิต ในเวลาประมาณ 20.30 น. โดยชุดจับกุมชุดเดิม มีการแจ้งพฤติการณ์ไว้คล้ายกันว่า ผู้ถูกจับกุมทั้งสองถูกจับขณะที่กำลังขับรถจักรยานยนต์หนี ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถจักรยานยนต์ทั้ง 2 คัน พร้อมทั้งโทรศัพท์มือถือที่พบในกระเป๋ากางเกงของทั้งสองไปเป็นวัตถุพยาน และยึดหนังสะติ๊ก 1 อัน ซึ่งอยู่ในมือของผู้ต้องหาที่ 1 ไปเป็นของกลาง อ้างว่า ผู้ต้องหาให้การว่า ใช้โทรศัพท์ในการถ่ายภาพการชุมนุม และติดต่อกับผู้ชุมนุมรายอื่นๆ เพื่อนัดหมายมาชุมนุม 

เช่นเดียวกัน ผู้ต้องหาทั้งสองได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้ต้องหาผู้ใหญ่ มีถึง 4 ราย ด้วยกันที่ให้ข้อมูลว่า ตนได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ โดยรายที่เจ็บหนักที่สุดคือ “นนท์” (นามสมมติ) ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. กว่า 15 นาย เข้ามาล้อมจับกุม ในขณะที่เขากำลังขับรถจักรยานยนต์เพื่อตามหาเพื่อนรุ่นน้อง ตอนที่กำลังจะเลี้ยวก็ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ผลักรถจนล้ม เขาโดนเตะที่บริเวณใบหน้าและที่คอจนหมดสติ พอได้สติ พบบาดแผลที่หน้า หลัง มือ ข้อเท้า รอบดวงตาบวมช้ำ พบว่าถูกรัดข้อมือด้วยเคเบิลไทร์ ในขณะถูกพาตัวไปขึ้นรถตำรวจก็ถูก คฝ. ใช้กระบองกระแทกที่ซี่โครง เจ้าหน้าที่ยังพูดทิ้งท้ายอีกว่า “มึงทำเพื่อนกู” 

ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ทั้งหมดถูกคุมตัวต่อในวันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2564 โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะพาผู้ต้องหาทั้ง 5 รายไปยังศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนในวันจันทร์ (23 สิงหาคม 2564) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับแจ้งว่า “นนท์” ยังต้องรักษาตัวที่ รพ. ตำรวจและแพทย์ให้แอดมิทเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เนื่องจากผู้ต้องหามีอาการบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง

.

ยื่นประกันตัวศาลอาญา กรณีผู้ต้องหาผู้ใหญ่ 5 ราย ชี้พนักงานสอบสวนมีการแจ้งพฤติการณ์ที่คลุมเครือ ผิดจากหลักการการพิจารณาคดีอาญาซึ่งต้องมีความชัดเจน

เช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย เข้าประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อทำเรื่องขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน (นนท์ต้องคอนเฟอเรนซ์จากที่ รพ. ตำรวจ) โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความผู้ต้องหาจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยคำร้องแบ่งเป็น 2 ชุด ตามบันทึกการจับกุม โดยในการประกันได้วางเงินสดเป็นหลักประกันรายละ 35,000 บาท โดยรายที่มีข้อหาครอบครองเครื่องกระสุนและวัตถุระเบิด ทนายความได้เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 85,000 บาท 

สำหรับเนื้อหาในคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ตามบันทึกจับกุมและพยานหลักฐานในสํานวนคดี ระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอย เคลือบคลุม ไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาใดได้กระทําความผิดอย่างไรบ้าง การกล่าวหาบุคคลในคดีอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัด  มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวหาได้ ไม่ใช่ตีความโดยอําเภอใจเพื่อจะกล่าวหาบุคคลกระทําความผิดเท่านั้น 

การคุมขังตัวผู้ต้องหาไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจําเป็นแก่กรณี และผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน ต้องการจะสู้คดีเพื่อความบริสุทธิ์ และมีผู้ต้องหาบางรายที่ยังต้องศึกษาเล่าเรียน หรือเป็นเสาหลักของครอบครัว ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ต้องหาที่ถูกทำร้ายจนต้องแอดมิท ได้มีการแนบเอกสารเป็นรูปถ่ายอาการบาดเจ็บเข้าไปในคำร้องด้วย

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่อาจไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยมีความผิดเกี่ยวกับการทำอาชญากรรมต่างๆ หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่ระบุในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 108 (1) ขอให้ศาลยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 วรรคสอง หากผู้ต้องหาต้องถูกคุมขัง จะต้องขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโตวิด 19 มีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดโรคจากการคุมขัง 

ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา กำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีกหรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง กำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ทนายความได้ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกันแก่ศาลรวม 225,000 บาท

.

X