วันที่ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. วรินทร์ อัฐนาค เดินทางไปที่ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ในนัดสอบปากคำเพิ่มเติม กรณีถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) จากการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กวิจารณ์การปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน มีหมายเรียกวรินทร์มาที่บ้านในอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เขาจึงทราบว่า ถูกดำเนินคดีในข้อหา “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
ต่อมา วันที่ 26 เมษายน 2564 วรินทร์เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ตามหมายเรียก ร.ต.อ.ภาคภูมิ ภูสมนึก รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พนักงานสอบสวนในคดีแจ้งว่า มีทนายความจากกรุงเทพฯ ชื่อ ‘ดีเลิศ อ้อวิจิตร’ มาแจ้งความในข้อหาดังกล่าว โดยนำคลิปการไลฟ์สดมาเป็นหลักฐานในการแจ้งความ
พนักงานสอบสวนอ่านข้อเท็จจริงที่กล่าวหาให้วรินทร์ทราบว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ต้องหาได้ลงข้อความเสียงในเฟซบุ๊กในกลุ่ม “วรินทร์ อัฐนาค” อันเป็นข้อความอันเป็นเท็จ มีรายละเอียดว่า “ใครอยากเป็นรัฐมนตรีต้องเสียเงินให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ลงชื่อรับรอง คนละ 1 ล้าน ถึง 3 ล้านบาท เพื่อให้เซ็นชื่อรับรองให้เป็นรัฐมนตรี ”
จากเหตุดังกล่าวทําให้ประชาชนเข้าใจว่าการคัดเลือกเป็นรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศใช้ระบบอุปถัมภ์ มิได้ใช้ความสามารถแต่อย่างใด ตําแหน่งรัฐมนตรีได้มาด้วยการจ่ายเงินให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทําให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทําให้เข้าใจว่าตําแหน่งรัฐมนตรีได้มาเพราะเงิน เพราะมี ส.ส.เป็นพวก คนมีความรู้ความสามารถไม่มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี ไม่มีโอกาสบริหารประเทศ ไม่มีโอกาสในการพัฒนาประเทศที่จะทําให้ประชาชนมีกินมีใช้และมีความสุข ผู้เสียหายจึงเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาวรินทร์ตามหมายเรียก อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(2)
จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำภาพวรินทร์ขณะทำการไลฟ์สดมาให้เขายืนยัน ครั้งนั้นวรินทร์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่า ทำไปโดยเจตนาสุจริต และจะนำพยานบุคคลมาให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวน ร.ต.อ.ภาคภูมิ จึงนัดหมายให้วรินทร์นำพยานบุคคลมาให้ปากคำในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม วรินทร์ไม่ได้นำพยานบุคคลไปตามนัดหมาย และโทรศัพท์แจ้งพนักงานสอบสวนว่า พยานที่เขาจะนำมาให้ปากคำ คนหนึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ส่วนอีกคนติดภารกิจคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ แต่พนักงานสอบสวนก็นัดวรินทร์ให้มาสอบปากคำอีกครั้งในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เมื่อมาพบพนักงานสอบสวนในครั้งนี้ วรินทร์ได้ให้การยืนยันว่า ในชั้นนี้พยานทั้งสองมาไม่ได้ และจะอ้างเป็นพยานในชั้นศาลต่อไป
หลังบันทึกปากคำเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนนัดส่งตัววรินทร์พร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการที่สำนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันที่ 6 กันยายน 2564
ทั้งนี้ พยานบุคคลที่วรินทร์คิดว่าจะนำมาให้ความเห็นในประเด็นว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นการไลฟ์สด ได้แก่ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. และไทกร พลสุวรรณ อดีตผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งวรินทร์ระบุว่า ได้ติดต่อไว้แล้ว และทั้ง 2 คน ยินดีจะมาเป็นพยานให้
วรินทร์ให้ข้อมูลกับทนายความว่า วันเกิดเหตุ เขาได้ไลฟ์สดโดยเขียนหัวข้อบรรยายว่า “คน_อยากเป็น รัฐมนตรี!_ ต้องซื้อเก้าอี้ไหม_ครับ???###เก้าอี้รัฐมนตรีราคาเท่าไหร่อะครับ” การไลฟ์ครั้งนั้นใช้ระยะเวลาราว 7 นาที กล่าวถึงความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างไลฟ์มีคนเข้ามาดูประมาณ 20-30 คน และไม่พบว่ามีการแชร์ต่อ หรือมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด อีกทั้งเนื้อหาที่เขานำมาพูดก็ไม่ได้เจาะจงถึงพรรคการเมืองหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะเลย
สำหรับคดีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ วรินทร์เห็นว่า ผู้กล่าวหาไม่ควรนำการแสดงออกทางการเมืองของตน มาแจ้งเป็นคดีความ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลควรเป็นสิ่งที่ทำได้
ปัจจุบันวรินทร์ อายุ 48 ปี อาศัยอยู่ที่ไร่แห่งหนึ่งในอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวให้เกิดการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในท้องถิ่น รวมทั้งประเด็นทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ซึ่งเขาเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรทั้ง 3 ข้อ รวมถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มไทยไม่ทน