หมิ่นกษัตริย์ฯ ใต้บงการพระแม่ธรณี: ประมวลเส้นทางการพิจารณาคดี ม.112 “ฤาชา” ผู้ป่วยจิตเวชผู้เชื่อว่าตนคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับชาติมาเกิด

หนึ่งในผลลัพธ์จากการทำนิติสงครามกับประชาชนซึ่งเกิดขึ้นในยุค คสช. นั่นคือการดำเนินคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ กับเหล่าผู้เห็นต่าง ไม่เว้นแม่แต่กับกลุ่มของผู้ป่วยโรคจิตเภท ถึงแม้หลายรายจะได้รับการยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจริงแล้วก็ตาม แต่ศาลทหารกลับมีคำตัดสินลงโทษ หรือแม้แต่จองจำจำเลยในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลานานหลายปี ซึ่งเป็นการพรากสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงความยุติธรรม โดยไม่ได้คำนึงถึงอาการป่วยไข้ทางด้านจิตใจของจำเลย

หนึ่งในผู้ป่วยโรคจิตเภทหลายรายที่ต้องสูญเสียอิสรภาพระหว่างการพิจารณาคดี (แม้จะได้รับการประกันตัวในภายหลัง) คือ “ฤาชา” (สงวนนามสกุล) อดีตทหารยศจ่าสิบเอก ผู้ถูกเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย บุกเข้าจับกุมที่บ้านในจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ก่อนจะแจ้งฤาชาด้วยวาจาว่า เขาถูกจับเพราะโพสต์ข้อความและรูปภาพหมิ่นประมาทอดีตพระราชินีและองค์รัชทายาท ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2559 นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดอุปกรณ์ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงแท็บเล็ตของฤาชาไปด้วยเพื่อตรวจสอบ ก่อนนำเขาไปคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลาถึง 7 วัน เพื่อสอบสวนโดยที่ไม่ได้มีทนายความเข้าร่วมในระหว่างกระบวนการ

.

ปฐมบทสู่การดำเนินคดี: โพสต์รูปตัดต่อ 5 โพสต์บนเฟซบุ๊ก ภายใต้บงการของพระแม่ธรณี

“ยุพิน” ภรรยาของฤาชา เล่าถึงสามีว่า ฤาชาแสดงอาการป่วยทางด้านจิตเวชให้เธอเห็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2554 เริ่มพูดเยอะ บอกให้เธอใส่หมวกกันน็อค เพราะกลัวว่าจะมีคนมาทำร้าย ยุพินเล่าอีกว่า ครั้งหนึ่ง ฤาชาเคยถึงกับลงไปเลื้อยกับพื้นถนนที่หน้าบ้าน บอกว่ามีพญานาคอยู่ข้างในตัว เคยกระทั่งลุกขึ้นไปเตะศาลพระภูมิ หรือบางครั้งก็อ้างว่ามีพระแม่ธรณี, “ใหม่ เจริญปุระ” หรือ “มาช่า วัฒนพาณิช” สิงอยู่ในร่าง 

ทว่าเนื่องจากตัวเธอและฤาชาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ทำให้ยุพินไม่สามารถฝืนบังคับนำตัวฤาชาไปรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มที่ จนท้ายที่สุด อาการป่วยดังกล่าวได้กลายเป็นชนวนนำไปสู่คดีความในครั้งนี้ ซึ่งกินระยะเวลายาวนานตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2559 จนถึงเดือนพฤษภาคมของปี 2564 ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดี

ในช่วงเช้าสุดท้ายของการควบคุมตัวที่ มทบ.11 (4 เมษายน 2559) เจ้าหน้าที่ทหารได้มีการประสานให้จิตแพทย์มาพูดคุยเพื่อตรวจสอบอาการทางจิตของฤาชา แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยอาการ ต่อมาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน อดีตจ่าสิบเอกรายนี้ถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อไปลงนามในเอกสารเพิ่มเติม จัดทำบันทึกจับกุมและบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา

สำหรับเนื้อหาในบันทึกการจับกุม ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.ปอท. ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ไปรับตัวนายฤาชา ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพที่ 22/2559 ลงวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้เเจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับให้ทราบว่า เขากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 พ.ศ. 2550 

ในส่วนของบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ได้มีการอธิบายไว้เพิ่มเติมว่า เขาถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ภาพกราฟฟิคที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของอดีตพระราชินีและอดีตสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และรูปบุคคลอื่น รวมทั้งรูปจำเลยเองในบัญชีส่วนตัวบนเฟซบุ๊คเป็นจำนวนทั้งหมด 5 โพสต์ ตั้งแต่วันที่  20, 27 และ 28 มีนาคม 2559 โดยมีข้อความประกอบมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาททั้งสองพระองค์

เบื้องต้นในชั้นสอบสวน ฤาชาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา หลังเสร็จกระบวนการ เขาถูกนำตัวไปคุมขังต่อที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อรอให้พนักงานสอบสวนพาตัวไปขออำนาจศาลทหารในการฝากขังผู้ต้องหา เนื่องจากคดีเกิดขึ้นระหว่างที่มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 มีผลทำให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพลเรือนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ

ในวันต่อมาคือ 5 เมษายน 2559 พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนในคดี ได้พาตัวฤาชาไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง และศาลได้อนุญาตให้ฝากขังตามที่ร้องขอ เนื่องจากญาติไม่มีเงินในการยื่นขอประกันตัว ฤาชาจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพนับแต่นั้น

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 อัยการศาลทหารได้มีคำสั่งฟ้องคดีฤาชาต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 165/2559 ต่อมาทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

จากการได้พูดคุยกับฤาชา ทางทนายความระบุว่า ฤาชาไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาอาการทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง และในแง่ของแรงจูงใจในการโพสต์ภาพและข้อความตามที่ถูกกล่าวหาในเฟซบุ๊กของตนเอง ฤๅชาเล่าว่า ที่เขาทำเพราะเป็นความต้องการของพระแม่ธรณีที่ต้องการให้มนุษย์ทราบเรื่องราวต่างๆ และการที่เขาต้องไปเข้าสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อรักษาอาการทางจิต และถูกคุมขังในเรือนจำ ก็ถือเป็นพระประสงค์ของพระแม่ธรณีที่ต้องการให้เขาได้ศึกษาโลกมนุษย์ และภาพกราฟฟิคที่ทำให้ถูกดำเนินคดีก็เป็นฝีมือของพระแม่ธรณีด้วยเช่นกัน

.

ภาพสะท้อนความไม่เข้าใจเรื่องโรคจิตเภทของศาลทหาร กับคดีที่ตกค้างต่อเนื่องยาวนานสู่ศาลยุติธรรม

ในการต่อสู้คดีในชั้นศาล ทนายจำเลยได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลทหารว่าจำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เพราะมีอาการทางจิต ศาลทหารจึงมีหนังสือให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เพื่อตรวจวิเคราะห์อาการทางจิต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 และเรือนจำได้ส่งตัวนายฤาชาไปตรวจรักษาแบบผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2559 

ต่อมา สถาบันกัลยาณ์ฯ ได้ส่งรายงานการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของฤาชาต่อศาล ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 มีผลการตรวจวินิจฉัยว่าฤาชามีอาการหลงผิด เป็นโรคจิตแบบจิตเภท เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง โดยแพทย์ลงความเห็นว่าฤาชายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ 

เกือบ 8 เดือนหลังจากที่ฤาชาถูกคุมขัง วันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ศาลทหารได้นัดไต่สวนจิตแพทย์ที่ตรวจวินิจฉัยอาการของเขา แต่จิตแพทย์ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลทหารจึงให้เลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 27 ธันวาคม 2559

18 พฤศจิกายน 2559 หลังจากที่ต้องสูญเสียอิสรภาพ ทั้งระหว่างถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำ และถูกส่งตัวไปตรวจรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ ในที่สุด ศาลทหารก็อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวฤาชา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองร่วมกับกองทุนของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ อดีตข้าราชการทหารวัยเกษียณในวัยกว่า 60 ปีรายนี้ จึงได้รับอิสรภาพหลังจากที่ต้องรอคอยมาหลายเดือน

27 ธันวาคม 2559 ศาลทหารได้นัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยอาการของฤาชา พญ.วิชชุดา จันทราษฎร์ ได้เบิกความตอบคำถามศาลว่า ตนได้ตรวจรักษาฤาชาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม – 19 พฤศจิกายน 2559 ในฐานะผู้ป่วยใน และต่อมารักษาในฐานะผู้ป่วยนอกจนถึงปัจจุบัน โดยทีมตรวจวินิจฉัยประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์และนักกิจกรรมบำบัด

พญ.วิชชุดา เบิกความว่า การบำบัดรักษาฤาชา กระทำโดยใช้วิธีให้รับประทานยาต้านโรคจิต และรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า จากการตรวจสอบประวัติของฤาชา ทราบว่า เขามีอาการป่วยทางจิตมาตั้งแต่ปี 2554 และเคยเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในที่สถาบันกัลยาณ์ฯ ในช่วงวันที่ 21 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2554 มาก่อนแล้ว ขณะนั้นฤาชามีอาการคิดว่าตนถูกฝังไมโครชิพไว้ในสมอง

จิตแพทย์เบิกความถึงผลการตรวจวินิจฉัยที่เข้าร่วมด้วยว่า ฤาชามีอาการหลงผิดคิดว่ามีพระแม่ธรณีมาสิงร่าง ทำให้มีความสามารถพิเศษ และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตามคำสั่งได้ อาการหลงผิดสามารถทุเลาลงหากมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาการดังกล่าวเป็นโรคจิตแบบจิตเภท เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี จึงจะมีโอกาสหายขาดได้

พญ.วิชชุดา ตอบคำถามศาลต่อว่า ตามรายงานการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ส่งต่อศาล พยานมีความเห็นว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แต่จากการตรวจวินิจฉัยล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 พบว่า อาการหลงผิดและหูแว่วของนายฤๅชาลดลง ประเมินว่า สามารถรับรู้ความจริงได้มากขึ้น และสามารถต่อสู้คดีได้ 

อัยการทหารได้สอบถามแพทย์ว่า อาการของฤาชาเกิดจากสาเหตุใด พญ.วิชชุดา ตอบว่า เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สื่อประสาทในสมอง และแสดงออกมาในเชิงความคิด ทำให้เกิดความคิดผิดไปจากความเป็นจริง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผูกพันกับชีวิตของผู้ป่วย ทนายจำเลยจึงถามว่า อาการของจำเลย ภายใน 2 ปี นี้มีโอกาสที่จะหายหรือไม่ พญ.วิชชุดา ตอบว่า มีโอกาสหายขาดน้อย เพราะฤาชาได้ป่วยเรื้อรังมานาน

หลังเสร็จการไต่สวน ศาลมีคำสั่งให้ยกคดีของนายฤาชาขึ้นพิจารณาใหม่ เนื่องจากแพทย์ผู้ตรวจลงความเห็นว่า อาการของนายฤาชาดีขึ้น สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว 

ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้าน โดยขอให้รักษาอาการของฤาชาให้หายขาดก่อน แต่ศาลทหารเห็นว่า การที่จำเลยได้ปล่อยชั่วคราวก็สามารถไปรับการรักษาได้อยู่แล้ว ทนายจำเลยจึงขอให้ศาลจดคำคัดค้านไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย แต่ศาลทหารให้ทนายจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านมาในภายหลังแทน 

จากนั้น ศาลได้นัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งในนัดครั้งนั้น ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่า อัยการศาลทหารขอให้ศาลสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ และศาลทหารได้สั่งตามคำขอของอัยการ ทำให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีต้องออกจากห้องพิจารณา 

ในนัดดังกล่าว ทนายจำเลยแถลงว่า จำเลยยังไม่พร้อมจะให้การ เนื่องจากก่อนหน้านี้เพิ่งไปพบจิตแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยยังต้องรักษาอาการทางจิตด้วยยาอยู่เรื่อยๆ จึงขอให้ศาลเลื่อนพิจารณาคดีออกไปก่อน เพื่อให้ฤาชาได้ไปพบแพทย์และรอให้แพทย์ลงความเห็นชัดเจนกว่านี้ ศาลทหารจึงได้อนุญาตให้เลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปเป็นวันที่ 15 พฤษภาคม 2560

ในนัดสอบถามคำให้การอีกครั้ง จำเลยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อหา ก่อนศาลจะกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ซึ่งในนัดตรวจพยานหลักฐานดังกล่าว อัยการทหารแถลงว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบรวม 11 ปาก ด้านทนายจำเลยแถลงจะสืบพยานบุคคล 3 ปาก ศาลจึงเริ่มนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 21 ธันวาคม 2560

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงนัดสืบพยาน ทนายจำเลยได้เข้ายื่นคำร้องขอให้ไต่สวนแพทย์อีกเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 สิงหาคม 2560 มายังตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ ประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของฤาชา ว่ายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงขอให้ศาลเรียกแพทย์มาไต่สวนโดยเร็ว 

ศาลจึงได้นัดไต่สวนแพทย์อีกรายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 นพ.อภิชาติ แสงสิน จิตแพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เข้าเบิกความตอบศาลว่า สถาบันกัลยาณ์ฯ เคยรับตัวฤาชาไว้ตรวจรักษาช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน 2559 แพทย์ที่ตรวจรักษา คือ พญ.วิชชุดา โดยพยานไม่ได้ร่วมตรวจด้วย แต่ทราบผลการวินิจฉัยในครั้งนั้นว่า ฤาชาสามารถต่อสู้คดีได้

นพ.อภิชาติเบิกความต่อว่า ขณะที่ตรวจอาการของฤาชานั้น ฤาชาเป็นผู้ป่วยนอก เเพทย์พิจารณาจากประวัติของฝ่ายเวชระเบียนและให้ฤาชาทำแบบทดสอบ โดยฤาชามาเข้ารับการตรวจต่อเนื่องทุกครั้ง ไม่เคยขาด ทั้งนี้ อาการของฤาชามีลักษณะป่วยเรื้อรัง จะมีอาการเป็นช่วงๆ ถ้ารับประทานยาต่อเนื่องจะสามารถควบคุมการแสดงออกได้ดีขึ้น หลังเข้ารับการรักษาพฤติกรรมของฤาชาดีขึ้น แต่ไม่หายขาด ยังมีอาการหลงผิดที่ฝังอยู่ ผลการตรวจฤาชาครั้งหลังสุดยืนยันว่า เขายังมีอาการหลงผิด ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

นพ.อภิชาติตอบศาลทหารอีกว่า กำหนดไม่ได้ว่าต้องใช้เวลารักษานานเพียงใด ศาลถามว่า ทางสถาบันฯ จะรับตัวฤาชาไว้เป็นผู้ป่วยในได้หรือไม่ นพ.อภิชาติตอบว่า ได้ โดยสถาบันฯ จะรายงานผลให้ศาลทราบทุก 6 เดือน และเมื่อฤาชาอาการดีขึ้น จะแจ้งผลให้ทราบ

อัยการทหารได้สอบถามแพทย์ด้วยว่า เหตุใดผลการตรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2559 จึงระบุว่า ฤาชาสามารถต่อสู้คดีได้ นพ.อภิชาติ ตอบว่า อาการของฤาชาเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง อาการอาจเปลี่ยนแปลงได้ ด้านทนายจำเลยถามว่า อาการของฤาชาไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ใช่หรือไม่ นพ.อภิชาติ ตอบว่า ใช่

หลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลทหารได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราว และให้ส่งตัวจำเลยเข้ารักษาจนกว่าอาการจะดีขึ้นและสามารถต่อสู้คดีได้ โดยให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์ที่เคยนัดไว้

จนเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี ระหว่างที่ศาลรอให้อาการป่วยทางจิตเวชของฤาชามีอาการดีขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ศาลทหารได้นัดหมายให้ฤาชามาที่ศาลอีกครั้ง และสอบถามว่า จำเลยยังรักษาอาการป่วยอยู่หรือไม่และอาการเป็นอย่างไร จำเลยให้การว่า ตนยังคงรักษาอาการป่วยอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ สามเดือน ต้องไปรับยาและตรวจเช็คอาการอยู่เสมอ ทนายของจำเลยแถลงว่า แพทย์มีคำวินิจฉัย ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้

จากนั้น ศาลได้มีคำสั่งให้โอนย้ายคดีของฤๅชาไปยังศาลพลเรือน เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562  ให้ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนทั้งหมด จึงส่งผลให้คดีของพลเรือนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารต้องโอนกลับไปอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม

.

สู่การสืบพยานในศาลพลเรือน และข้อต่อสู้เรื่องอาการป่วยทางจิตเวชที่ถูกลดทอน

28 มกราคม 2563 ศาลอาญานัดพร้อม หลังรับโอนคดีมาจากศาลทหาร ทนายจำเลยปรึกษาศาลว่า จะขอยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกจิตแพทย์มาไต่สวนเพื่อวินิจฉัยว่า อาการป่วยทางจิตของฤาชาดีขึ้นหรือไม่ เนื่องจากผลที่ตรวจล่าสุดที่ได้ยื่นต่อศาลคือตั้งแต่เมื่อปี 2560

ศาลกล่าวยืนยันว่า ฤาชามีศักยภาพในการต่อสู้คดีแล้ว โดยศาลอ้างว่า ฤาชาสามารถพูดคุยรู้เรื่องตามปกติ สามารถตอบคำถามทั่วๆ ไปได้ เช่น มีครอบครัวไหม มีบุตรกี่คน บุตรทำงานหรือยัง ได้อาศัยอยู่กับบุตรของตัวเองไหม

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยยังคงยืนยันต่อศาลว่าจะขอใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เพื่อขอให้เรียกจิตแพทย์มาไต่สวนถึงผลการวินิจฉัยอาการของฤาชาก่อนที่จะกำหนดนัดสืบพยาน ศาลจึงนัดไต่สวนจิตแพทย์ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 เวลา 13.00 น.

ในการไต่สวนแพทย์ จิตแพทย์หญิงคนเดิมที่เคยให้การในศาลทหาร ได้เข้าเบิกความต่อศาลระบุว่า ในการตรวจรักษาจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 พบว่าจำเลยยังมีอาการจิตเภท หลงผิด คิดว่ามีคนมาสั่ง และจำเลยยังมีอาการร่างกายกระตุก คิดว่ามีคนมาบังคับร่างกายจำเลยให้กระตุก แม้จำเลยจะมีอาการดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยอยู่ในความดูแลของญาติ แต่แนวความคิดของจำเลยยังมีความผิดปกติ จากนั้นแพทย์หญิงจึงได้สรุปว่า จำเลยยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เนื่องจากยังมีอาการจิตเภทหลงเหลืออยู่

ในส่วนจำเลย ฤาชาเบิกความตอบศาลถึงเหตุที่ถูกดำเนินคดีว่า ถูกทหารจับกุมเนื่องจากโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทอดีตพระราชินี โดยเขาได้ให้การกับทหารว่า เขาถูกบุคคลอื่นเข้าสิงให้โพสต์ข้อความดังกล่าว และในการตอบคำถามทนายจำเลย ฤาชาระบุว่า เขาทราบว่าถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่ทราบและไม่เข้าใจรายละเอียดในคดี ภายหลังจากที่สอบคำให้การทั้งจำเลยและแพทย์ที่ให้การดูแล ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งว่าจะยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อหรือไม่ในวันที่ 12 มีนาคม 2563

ในนัดครั้งนี้ ศาลได้พิเคราะห์ร่วมกับอธิบดีศาลอาญา มีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาคดีต่อ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยสามารถเบิกความตอบศาลถึงประวัติและข้อมูลส่วนบุคคล สาเหตุที่ถูกดำเนินคดี และสามารถให้เหตุผลได้ว่า การกระทำใดมีความยุติธรรม หรือไม่ยุติธรรม​ ถือว่าจำเลยไม่เป็นผู้วิกลจริต สามารถต่อสู้คดีได้

ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า จำเลยยังวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งศาลได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นศาลจึงอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้ง เมื่อถามคำให้การ​ จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ทนายจำเลยได้แถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง  เนื่องจากจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เป็น และขณะเกิดเหตุจำเลยควบคุมร่างกายตนเองไม่ได้

จากนั้น อัยการพลเรือน ซึ่งรับคดีต่อจากอัยการทหาร แถลงว่า ประสงค์จะสืบพยานโจทก์ทั้ง 11 ปาก ตามบัญชีระบุพยานที่เคยได้ยื่นไว้กับศาลทหารกรุงเทพ เช่นเดียวกับทนายจำเลยที่แถลงสืบพยานจำเลย 3 ปาก ตามเดิม คู่ความตกลงวันนัดสืบพยานในวันที่ 9 – 12 มีนาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์พระราชินี และรัชทายาทฯ

13 เมษายน 2563 หลังจากที่ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อ ทางทนายความของฤาชาได้เข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล เนื่องจากว่า จำเลยยังป่วยเป็นโรคจิตเภท และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ศาลอาญามีคำสั่งว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์ จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเสียก่อน

.

พยานโจทก์: สุจินดา มหาลออสกุล นักวิชาการคอมพิวเตอร์ กระทรวงดิจิทัลฯ 

ภายหลังจากที่ฤาชาถูกจับกุม อุปกรณ์สื่อสารของเขา ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ทั้งหมดถูกส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตรวจสอบเรื่องการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊ก รวมไปถึงภาพ 5 ภาพ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

สุจินดา มหาลออสกุล นักวิชาการคอมพิวเตอร์ฯ ได้รับหน้าที่ให้ตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าว ว่าถูกใช้เพื่อเข้าถึงเฟซบุ๊กของฤาชาจริงหรือไม่ รวมถึงได้รับมอบหมายให้ตรวจดูว่า ในอุปกรณ์สื่อสารทั้ง 2 ชิ้น พบรูปตัดต่อทั้ง 5 รูป พร้อมข้อความที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่ามีรูปทั้ง 5 อยู่ในอุปกรณ์แท็บเล็ต และยังมีรูปภาพอื่นๆ ที่เข้าข่ายหมิ่นฯ เข้าถึงได้โดยการใช้โปรแกรม XRY ของทางเจ้าหน้าที่ เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำรายงานการตรวจค้นเป็น 2 ชุด แทนหลักฐานแต่ละชิ้น อย่างไรก็ตาม พยานไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า จำเลยได้ใช้แท็บเล็ตในการเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองจริงหรือไม่

ต่อมา ทนายความถามค้านพยานเกี่ยวกับรายงานการตรวจค้นอุปกรณ์สื่อสารทั้ง 2 ชิ้น พยานแจ้งว่า จำเลยได้ใช้โปรแกรม Photogrid ในการตัดต่อรูปภาพ ก่อนที่จะโพสต์ลงเฟซบุ๊ก นอกจากนั้น จากการค้นประวัติการท่องเว็บของจำเลย พบว่าจำเลยได้ทำการสืบค้นคีย์เวิร์ดว่า “ใหม่ เจริญปุระ” และ “มาช่า วัฒนพานิช” 

อัยการถามติงพยานว่า ที่ไม่พบข้อมูลในการเข้าถึงเฟซบุ๊กของจำเลยหมายถึงอะไรได้บ้าง พยานรายนี้ตอบว่า เพราะข้อมูลคำค้นซึ่งจะถูกบันทึกไว้ใน web history นั้นสามารถลบทิ้ง โดยที่ไม่สามารถดึงข้อมูลกลับมาได้อีก

.

พยานโจทก์: พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง ตำรวจ บก.ปอท. พนักงานสอบสวนในคดี

พยานรายนี้เบิกความต่อศาลว่า คดีนี้มีพันตำรวจโทไพรัช พรมวงศ์ เป็นผู้มาร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 พยานจึงได้เดินทางไปขอหมายจับฤาชาจากศาลทหาร โดยหนึ่งในชุดจับกุมคือ พันตำรวจโทรัฐศาสตร์ ไชยพลี จนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้นำตัวฤาชามาส่งมอบให้ พร้อมของกลางคือโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค พยานจึงได้ทำบันทึกของกลางไว้ ก่อนจะส่งต่อให้ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อตรวจสอบ

จากการตรวจสอบ IP Address ที่ใช้ในการโพสต์ภาพ พบว่าเป็นของเจ้าของหอพักที่ฤาชาพักอาศัยอยู่ ก่อนที่ต่อมาจะสืบพบว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊คดังกล่าวคือฤาชา จากการสอบปากคำโดย พันตำรวจเอก (ยศในปัจจุบัน) อนุชิต ทวีพร้อม ในค่ายทหาร ฤาชาได้ยอมรับว่า ตนเป็นผู้โพสต์ทั้ง 5 โพสต์ตามที่ถูกกล่าวหาจริง แต่การสอบปากคำในค่ายทหาร พยานไม่ได้อยู่ร่วมด้วย จนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 จำเลยถึงถูกส่งตัวมายังพันตำรวจโทสัณห์เพ็ชร เพื่อสอบสวน จำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพ

อัยการได้ถามพนักงานสอบสวนว่า “จากการสอบสวนพบว่าจำเลยมีอาการทางจิตจริงหรือไม่” พยานรายนี้ตอบว่า จำเลยสามารถเข้าใจคำถาม ถามมาตอบไป ดูไม่ได้มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด

ทนายความถามค้านว่า จำเลยได้บอกหรือไม่ว่ามีอาการทางจิต มีคนมาเข้าทรงร่างให้โพสต์เฟซบุ๊ก พยานตอบทนายว่า ไม่ได้บอก ต่อมาเมื่อภรรยาจำเลยแจ้งว่า สามีของตนมีอาการทางจิต พยานจึงได้ทำหนังสือต่อไปยังโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ ซึ่งจำเลยมีประวัติการรักษา ทางโรงพยาบาลได้ส่งหนังสือกลับมา แจ้งว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเวชจริง พยานยังได้สอบถามไปยังสถาบันกัลยาณ์ฯ ซึ่งจำเลยเคยรักษาตั้งแต่ปี 2554 แต่เอกสารเกี่ยวกับการรักษาที่นี่ไม่ได้ถูกยื่นให้กับศาลทหาร ทนายจึงขออ้างส่งในชั้นศาล

ทนายถามค้านต่อว่า จากการซักถามของพันตำรวจเอกอนุชิต จำเลยได้ให้การไหมว่ามีร่างทรงประทับหรือไม่ พยานตอบว่าจำไม่ได้ พันตำรวจเอกอนุชิตแจ้งพยานว่าจำเลยไม่วิกลจริต และแม้จะมีการคุมตัวจำเลยในค่ายทหารถึง 7 วัน แต่พยานในฐานะพนักงานสอบสวนกลับไม่ได้ทำการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหาร 

ทนายถามค้านอีกว่า แต่พันตำรวจเอกอนุชิตได้บันทึกไว้ว่า จำเลยให้การว่าตนมีร่างทรง พยานระบุว่าได้ตรวจเพิ่มเติม แต่ไม่ได้ขยายผลจากคำให้การดังกล่าว โดยที่อัยการโจทก์เองก็ไม่ได้ยื่นบันทึกการปากคำของพันตำรวจเอกอนุชิตเข้ามาในสำนวนคดี

.

พยานจำเลย: ยุพิน ภรรยาของจำเลย

ยุพินเบิกความต่อศาลในการสืบพยานว่า ตนกับฤาชาเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่ปี 2544 ก่อนหน้านี้ ฤาชาเคยแต่งงานและมีบุตร แต่กับพยานนั้นไม่ได้มีบุตรด้วยกัน ตอนนั้นจำเลยยังรับราชการเป็นทหารอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ พยานเองก็ยังค้าขายอยู่ที่นครสวรรค์เช่นเดียวกัน ต่อมาในช่วงปี 2554 จำเลยถึงเริ่มมีอาการผิดปกติ เริ่มพูดเยอะ บอกว่ามีพญานาคอยู่ในตัว เคยกระทั่งออกไปเลื้อยที่ถนนหน้าบ้าน จำเลยมักจะมีอาการตอนเย็น แต่เนื่องจากพยานไม่ได้จดทะเบียนแต่งงานกับจำเลย จึงไม่มีอำนาจนำตัวไปรักษา ต้องให้บุตรของจำเลยพาไปรักษา

โรงพยาบาลแห่งแรกที่จำเลยถูกส่งตัวไปรักษาคือสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท ฤาชาถูกนำตัวเข้ารักษาในฐานะผู้ป่วยในเป็นเวลา 10 กว่าวัน พอออกมา ทั้งสองก็กลับมาอาศัยอยู่ด้วยกัน จำเลยมีปัญหาเรื่องการทานยาไม่สม่ำเสมอ จะกินยาก็ต่อเมื่อเฉพาะเวลาที่พยานอยู่ด้วย พอไม่ได้อยู่ด้วย ก็ไม่กิน จำเลยอ้างว่า ที่ไม่ต้องกินยา ก็เพราะตนเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอยาหมด จำเลยได้เข้ารักษาต่อที่โรงพยาบาลแห่งที่สองคือโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ฯ หมอได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทเช่นเดียวกัน แต่ก็รักษาได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากจำเลยไม่ยอมกินยา

ในขณะที่เกิดคดีความขึ้นนั้น จำเลยได้ลาออกมาจากอาชีพทหารและทำงานเป็นหัวหน้า รปภ. ยุพินเล่าว่า วันไหนที่อาการป่วยของจำเลยกำเริบ จำเลยจะยกมือไหว้พยาน เมื่อถามว่ามีใครอยู่ในร่าง พยานตอบว่ามีวิญญาณของใหม่ เจริญปุระ อยู่ในร่าง บางทีก็ถึงขั้นเข้ามากราบเท้าภรรยา

วันที่จำเลยโดนจับ ยุพินกลับมาถึงห้องก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่หลายนายรออยู่ ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งตนว่า จะพาตัวจำเลยไปปรับทัศนคติ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วถึงจะปล่อยตัวกลับ หลังจากนั้น พยานพยายามโทรตาม ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ในค่ายทหารว่า จำเลยถูกส่งตัวไปที่ บก.ปอท. ให้พยานเดินทางไปรับตัวที่นั่น พยานได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ฤาชามีอาการผิดปกติและได้ยื่นเอกสารจากสถาบันกัลยาณ์ฯ ให้พนักงานสอบสวนดู

ยุพินเล่าต่อว่า ตนได้เจอกับจำเลยอีกครั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปเยี่ยมครั้งแรกๆ จำเลยยังคุยรู้เรื่อง แต่หลังๆ เริ่มแสดงอาการป่วยในคุก พยานไม่ทราบว่าระหว่างถูกคุมขัง จำเลยได้รับการรักษาหรือไม่ พอได้รับการประกันตัวออกมา จำเลยถึงถูกส่งตัวไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ และยังคงได้รับการรักษาอยู่จนกระทั่งถึงวันนี้ ต้องคอยพบแพทย์ทุกๆ 3 เดือน

อัยการถามค้านยุพินในประเด็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของจำเลย พยานกล่าวว่า จำเลยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ สามารถขับรถมอเตอร์ไซค์ไปทำงานได้ แต่พยานไม่เคยซ้อนท้าย ไม่ทราบว่าขับรถได้ดีไหม แต่เชื่อว่าขับรถได้เป็นปกติ และพยานยังไม่ทราบว่าจำเลยโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อไร เพราะทำงานกันละเวลา 

ทนายได้ถามติงต่อไปว่า ที่ตอบอัยการไปว่า จำเลยสามารถทำงานใช้ชีวิตได้ อาการทั่วไปของจำเลยเป็นอย่างไร พยานตอบว่า ปกติจะถามมาตอบไป แต่ถ้าเวลาที่มีใครมาประทับในร่าง คำพูดจะเริ่มเปลี่ยนไป แต่ยังสามารถใช้ชีวิตด้วยกันได้

.

พยานจำเลย: ฤาชา จำเลยในคดีความ

ฤาชาเบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันนี้ตนไม่ได้ทำอาชีพอะไร อาศัยอยู่บ้านเฉยๆ ก่อนหน้านี้ เคยรับราชการเป็นทหารตั้งแต่ปี 2518 แต่เลือกเกษียณอายุก่อนกำหนดเมื่อปี 2547 

ทนายถามต่อว่า ตอนนี้ทนายกำลังคุยกับใครอยู่ จำเลยตอบว่าพระแม่ธรณี ตัวฤาชาจริงๆ แล้วเล่นโทรศัพท์มือถือและเฟซบุ๊กไม่เป็น ที่โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาไป ตนไม่ทราบว่าคืออะไร เพราะพระแม่ธรณีเป็นคนโพสต์ ที่ต้องโพสต์เพราะทำเพื่อประเทศชาติ ประเทศเกิดความวุ่นวาย สถาบันฯ เสื่อมเสีย

จำเลยได้เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ตนถูกจับกุม ว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจราว 20 กว่านายเข้าควบคุมตัว ตอนจับเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงโพสต์หมิ่นฯ ให้ฤาชาได้รับทราบ บอกแค่ว่ากระทำความผิด ทำสถาบันฯ เสื่อมเสีย เขาถูกพาตัวขึ้นรถไปค่ายทหาร ถูกสอบสวนโดยตำรวจภายในวันนั้น และถูกควบคุมตัวอยู่ในนั้นเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างที่อยู่ข้างใน ฤาชาเล่าว่า ในขณะนั้นตนมีวิญญาณของพระแม่ธรณี, ใหม่ เจริญปุระ และแอน ทองประสม อยู่ในร่าง ขณะตอบคำถามเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จำเลยได้ตอบว่า ขณะนั้น พระแม่ธรณีเป็นคนตอบ 

หลังสอบสวนเสร็จ จำเลยถูกนำตัวไปฝากขัง ขณะที่อยู่ในคุก เขายืนยันว่ามีวิญญาณของพระแม่ธรณี และใหม่ เจริญปุระ เข้าควบคุมเต็มร่าง ไม่สามารถฝืนได้ ฤาชาเสริมในส่วนของอาการป่วยของตัวเขาเองว่า อาการของเขาจำเป็นต้องรักษาต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากหมอวินิจฉัยว่าอาการของเขาจะไม่มีทางหายขาด ทุกวันนี้เขาจึงยังต้องทานยาตามที่หมอสั่งอย่างสม่ำเสมอ โดยมีภรรยาเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

อัยการโจทก์ถามค้านในประเด็นเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ ฤาชายอมรับว่าตัวเขาเคยพูดเรื่องนี้กับภรรยา เธอตำหนิเขาตลอดและขอให้หยุดพูดเรื่องสถาบันฯ โดยเฉพาะอดีตพระบรมฯ และอดีตพระราชินี แต่เขาไม่สามารถหยุดพูดเรื่องนี้ได้ เพราะพระแม่ธรณีเข้าสิงจนเต็มร่าง อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวน เขาไม่ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าตัวเองมีพระแม่ธรณีอยู่ในร่าง และได้รับสารภาพในชั้นดังกล่าว

เมื่อทนายถามติง ฤาชาเล่าว่า ที่เขาเลือกจะรับสารภาพเพราะเป็นประสงค์ของพระแม่ธรณี และเหตุที่ไม่แจ้งตำรวจว่ามีวิญญาณของพระแม่ธรณีสิงในร่าง เพราะพระแม่ฯ เป็นคนสั่งไม่ให้เขาบอก

.

พยานจำเลย: พญ.วิชชุดา จันทราษฎร์ แพทย์เจ้าของไข้ผู้ดูแลรักษาฤาชา

จิตแพทย์ผู้เป็นพยานปากสุดท้าย เบิกความต่อศาลว่า จำเลยถูกนำส่งตัวมาโดยศาลทหารให้เธอรักษาตั้งแต่เมื่อปี 2559 โดยพยานเป็นเจ้าของไข้ เป็นการส่งตรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ให้ประเมินเรื่องสุขภาพจิต โดยจะมีทีมสหวิชาชีพตรวจประเมิน ได้แก่ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตบำบัด นักจิตเวชชุมชน ร่วมประชุมเพื่อลงความเห็นในการวินิจฉัย เอกสารที่ใช้ประกอบในการวินิจฉัย ได้แก่ ประวัติการรักษาครั้งก่อนหน้า คำฟ้องศาลทหาร พฤติการณ์ในคดี พฤติการณ์ขณะถูกคุมขัง เป็นการประเมินตามหลักวิชาชีพ พบว่าฤาชาเคยรักษาอาการทางจิตเวชตั้งแต่เมื่อปี 2554 จากการประชุมเพื่อวินิจฉัย แพทย์ได้ลงความเห็นร่วมกันว่า จำเลยป่วยด้วยโรคจิตเวช ไม่สามารถสู้คดีได้

เมื่อทนายถามว่าในกรณีของฤาชา อาการป่วยทางจิตเวชของเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร พญ.วิชชุดา ตอบว่า ตั้งแต่ปี 2559 – 2564 จำเลยมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว จะได้ยินเสียงของพระแม่ธรณี, ใหม่ เจริญปุระ และอีกหลายๆ เสียงในหัว บางครั้งถูกสั่งให้ทำนั่นทำนี่ มีอาการหลงผิด คิดว่าตนถูกวิญญาณคนอื่นสิง หลงผิดว่ามีคนฝังไมโครชิพในสมอง ปัจจุบันอาการยังอยู่ ไม่หายขาด จำเป็นต้องทานยาตลอดชีวิต พอทานแล้ว จะพอคุมตัวเองได้บ้าง ตอนที่ขาดการรักษาไป เวลาจำเลยได้ยินอะไรในหัวก็จะทำตามคำสั่งนั้น จะคุมตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเวลาที่มีญาติอยู่ด้วย ถึงจะทานยา แล้วก็ยังจำเป็นต้องมีคนดูแล

อาการป่วยของฤาชามีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษคือ Paranoid Schizophrenic Continuous อาการป่วยทางจิตเวชยังทำให้จำเลยมี IQ ต่ำกว่าปกติ ในระหว่างที่ให้การรักษา พยานเล่าว่า ทางแพทย์จะต้องทำหนังสือรายงานประเมินผลวินิจฉัยส่งเป็นระยะตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ เริ่มส่งรายงานตั้งแต่ต้นปี 2559 จนถึงช่วงต้นปี 2563 

ทนายจำเลยได้สอบถาม เหตุใดพยานถึงส่งหนังสือรายงานเมื่อปี 2559 ต่อศาลทหาร ระบุว่าจำเลยสามารถสู้คดีได้ พยานตอบว่า อาการของจำเลยแค่ลดลงเท่านั้น แต่ยังไม่หาย ที่ประเมินไปเช่นนั้นเพราะต้องการให้ไปสู้คดีให้จบ หลังจากนั้นอาการป่วยของจำเลยเริ่มทรุดลง เลยต้องทำการประเมินใหม่ ในการทดสอบเพื่อวินิจฉัยได้มีการใช้แบบทดสอบทางจิตเวชที่ใช้กันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จำเลยยังสามารถพูดเรื่องข้อเท็จจริงในคดีได้ เพราะไม่ได้สมองเสื่อม จำเลยอาจรู้ว่าอะไรผิด แต่ห้ามตัวเองไม่ให้กระทำไม่ได้

ทนาจำเลยสอบถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าใจในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างเรื่องโรคทางจิตเวชหรือไม่ พยานระบุว่าเข้าใจได้ยาก ถ้าไม่เชี่ยวชาญจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจำเลยมีอาการป่วย

ในการตอบอัยการถามค้าน พญ.วิชชุดา ยอมรับว่า อาการป่วยทางจิตเวชนั้นมีหลายระยะ และแต่ละระดับมีความรุนแรงแตกต่างกัน มีระยะที่จำเลยสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ พยานไม่สามารถรู้ได้ว่าจำเลยมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนหรือไม่ ขณะที่ทำการโพสต์ บนเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยโรคจิตเวชสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการขับรถได้ แต่พยานไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า หากผู้ป่วยมีการกำเริบ หูแว่ว แล้วจะสามารถขับรถได้หรือไม่

อัยการถามต่อว่า ก่อนหน้าหรือขณะที่จำเลยก่อคดี ก่อนจะถูกส่งตัวรักษา พยานไม่ทราบใช่หรือไม่ว่าจำเลยได้ทานยาหรือไม่ พญ.วิชชุดา ตอบว่า ทราบเฉพาะตอนที่จำเลยถูกคุมขังในเรือนจำ ก่อนหน้านั้นไม่ทราบ และพยานก็ไม่ทราบด้วยว่า ขณะก่อเหตุ จำเลยมีสติรู้ตัวหรือไม่ ในปี 2554 ที่จำเลยเข้ารักษาตัว พยานทราบเรื่องอาการของจำเลยได้จากการตรวจสอบเวชระเบียนของสถาบันกัลยาณ์ฯ รวมไปถึงจากเวชระเบียนของโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ฯ แม้จะไม่ได้รักษาเอง แต่สามารถตรวจสอบอาการจากเวชระเบียนได้

.

ศาลพิพากษาจำคุก 5 เดือน 50 วัน ชี้มีความผิดตามฟ้อง เชื่อขณะทำผิดยังพอมีสติรู้ตัวบ้าง

ภายหลังจากการสืบพยานทุกปาก ศาลอาญาฯ ได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีนี้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 โดยในวันดังกล่าว ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายฯ ไม่สามารถเข้าร่วมฟังคำพิพากษาได้ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่อ้างว่า ห้องพิจารณามีขนาดเล็ก อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด 19

ในส่วนของคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุป ระบุโดยเท้าความถึงคำฟ้องของคดี ว่าจำเลยได้ทำการใส่ความบุคคลหลายคน ได้แก่ อดีตพระราชินีสิริกิติ์, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และอดีตสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ ผ่านการตัดต่อรูป ก่อนนำขึ้นโพสต์ในเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความประกอบ เป็นจำนวนทั้งหมด 5 โพสต์ ในวันที่ 20, 27 และ 28 มีนาคม 2559 เป็นโพสต์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยประการที่น่าจะทำให้สมาชิกราชวงศ์ทรงเสื่อมเสียเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเป็นการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อีกทั้งยังเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ศาลเห็นว่าในคดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัย ประการแรกคือ จำเลยเป็นผู้นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์จริงหรือไม่ ศาลรับฟังได้ว่า โจทก์คือ พ.ต.ท.ไพรัช พรมวงศ์ และ พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ พนักงานตำรวจจาก บก.ปอท. เบิกความในทำนองเดียวกัน คือทั้งสองได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก ซึ่งโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร รูปถ่ายนายสนธิและพลเอกเปรม พร้อมข้อความอันมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท จากการสืบสวนพบว่าชื่อบัญชีเฟซบุ๊กตรงกับชื่อของจําเลยในทะเบียนราษฎร และจากการตรวจสอบไอพีแอดเดรสเป็นของเจ้าของหอพักที่จำเลยอาศัยอยู่

ต่อมาได้มีการร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่จําเลย และขอออกหมายจับจําเลย พันตํารวจโท รัฐศาสตร์ ไชยพลี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 พยานพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเดินทางไปที่หอพักดังกล่าวและสามารถควบคุมตัวจําเลยได้ พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายรายการ รวมทั้งแท็บเล็ตที่ใช้ในการก่อคดี จากนั้นควบคุมตัวจําเลยไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 ส่วนของกลางที่ยึดได้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อส่งตรวจพิสูจน์ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 พยานได้รับแจ้งว่ามีหมายจับของศาลทหารให้จับจําเลย พยานจึงเดินทางไปจับกุม

ร้อยตํารวจเอก (ยศในขณะนั้น) อนุชิต ทวีพร้อม เบิกความว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 พยานเดินทางไปซักถามจําเลยในเบื้องต้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 จําเลยให้ถ้อยคําว่าเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความจริง ซึ่งภาพที่นํามาโพสต์เกิดจากการใช้แอปพลิเคชันตกแต่งภาพ ส่วนข้อความนั้น จําเลยคิดขึ้นมาเอง นอกจากนี้ โจทก์มีสุจินดา มหาลออสกุล นักวิชาการคอมพิวเตอร์ เบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจพิสูจน์แท็บเล็ต ของกลางที่ได้รับมาจากพนักงานสอบสวน ผลการตรวจพิสูจน์พบข้อมูลภาพ 5 ภาพ ที่มีเนื้อหาตามฟ้อง

พยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลําดับ โดยไม่มีข้อพิรุธ เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริง ประกอบกับในชั้นสอบสวน จําเลยก็ให้การรับสารภาพ

ศาลวินิจฉัยปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่า จําเลยกระทําผิดในขณะที่ไม่รู้ผิดชอบหรือไม่ สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่ พยานโจทก์ปากร้อยตํารวจเอกอนุชิต เบิกความตอบทนายจําเลยถามค้านว่า ขณะไปซักถามจําเลยที่มณฑลทหารบกที่ 11 จําเลยให้ถ้อยคําว่าเคยมีอาการทางจิตและแจ้งประวัติการเข้าตรวจรักษา 

นอกจากนี้จําเลยเคยให้ถ้อยคําว่า จําเลยสมัครใช้บัญชีเฟชบุ๊กโดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่คําสอนของพระพุทธศาสนา จําเลยเคยนั่งวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่ปี 2553 และรู้สึกว่ามีปู่นาคราชกับพระแม่ธรณีมาสิงร่าง สอดคล้องกับที่พันตํารวจโทสัณห์เพชร หนูทอง พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ในชั้นสอบสวน นางยุพิน ภรรยาจําเลย มาแจ้งว่าจําเลยมีอาการทางจิต พันตํารวจโทสัณห์เพชรจึงขอประวัติการตรวจรักษาไปที่โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ฯ แพทย์แจ้งว่าจําเลยมีอาการป่วยทางจิตเวช สอดคล้องกับที่จําเลยนําสืบว่า จําเลยกระทําความผิดเพราะมีจิตบกพร่อง โดยมีนางยุพินเบิกความสรุปได้ว่า จําเลยมีอาการผิดปกติ บางครั้งพูดกับตนเอง บางครั้งลงเลื้อยไปตามถนนและตลาด โดยบอกว่าตนเองเป็นพญานาค บุตรนําจําเลยเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ แต่จําเลยไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าตนเองเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บางครั้ง จําเลยบอกนางยุพินว่ามีวิญญาณของใหม่ เจริญปุระ ซึ่งเป็นดารามาสิงร่าง แล้วจําเลยจะใช้คําแทนตัวเองว่า “หนู”

นอกจากนี้มี วิชุดา จันทราษฎร์ แพทย์ประจําสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ผู้ตรวจรักษาจําเลย เบิกความว่า จําเลยเข้าตรวจรักษาอาการป่วยตั้งแต่ปี 2554 จากการวิเคราะห์ร่วมกับสหวิชาชีพแล้ว พยานกับพวก ลงความเห็นว่าจําเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท โดยมีอาการประสาทหลอน ชนิดหูแว่ว มีเสียงของบุคคลอื่นสั่งให้กระทําการต่างๆ ซึ่งจําเลยต้องปฏิบัติตาม ไม่สามารถบังคับตนเองได้ มีอาการหลงผิดว่ามีผู้อื่นมาสิงร่าง และจําเลยมีเชาว์ปัญญาอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งน่าจะเกิดจากการป่วยทางจิตเวชมาเป็นเวลานาน จนปัจจุบันจําเลยยังมีอาการเหล่านี้ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากขาดยาอาการประสาทหลอนจะรุนแรงและถี่ขึ้น แต่หากรับประทานยาต่อเนื่อง อาการก็จะสงบลงและสามารถควบคุมตัวเองได้บ้าง สามารถแยกเรื่องจริงกับเรื่องหลอนได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถปล่อยให้อยู่ตามลําพังได้ จําเป็นต้องมีญาติคอยดูแล และพูดเตือนสติเวลามีอาการหลุดจากความเป็นจริง ช่วงที่จําเลยกระทําความผิดเป็นช่วงที่จําเลยขาดการรักษาและขาดยา

จากพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อว่า ขณะกระทําความผิด จําเลยมีอาการผิดปกติทางจิตหรือมีจิตบกพร่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ที่จําเลยยังสามารถให้การในชั้นสอบสวนได้ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ประวัติหน้าที่การงาน และขั้นตอนการใช้แท็บเล็ตของกลางในการโพสต์ภาพและข้อความหมิ่นประมาทตามฟ้อง 

นอกจากนี้นางยุพิน ภรรยาจําเลยเบิกความว่า ตามปกติแล้วจําเลยยังสามารถทําการงานได้ แต่จะมีอาการทางจิตกําเริบเป็นบางครั้ง จําเลยเคยพูดเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี นางยุพินเคยดุและสั่งห้าม และนางวิชุดา แพทย์ผู้ตรวจรักษา เบิกความว่า โดยภาพรวมแล้ว จําเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทจริง และมีบางช่วงที่ไม่สามารถบังคับตนเองได้ แสดงว่าอาการไม่สามารถบังคับตนเองได้นั้น ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา จึงเชื่อว่าในขณะกระทําความผิดจําเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือบังคับตนเองได้บ้าง หาใช่กระทําไปโดยไม่รู้สาเหตุและไม่รู้ตัว จําเลยจึงยังต้องรับโทษสําหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ในขณะที่แท็บเล็ตที่ใช้ก่อเหตุของกลาง ศาลมีอํานาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1)

ศาลพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ... คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง เป็นการกระทํากรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทพระราชินีและรัชทายาทซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 รวม 5 กระทง จําคุกกระทงละ 2 เดือน คําให้การชั้นสอบสวนและทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจําคุกกระทงละ 1 เดือน 10 วัน รวม 5 กระทง เป็นจําคุก 5 เดือน 50 วัน พิเคราะห์ถ้อยคําหมิ่นประมาทตามฟ้องแล้วเห็นว่าเป็นถ้อยคําที่รุนแรง จึงไม่สมควรรอการลงโทษให้แก่จําเลย

คำพิพากษาลงนามโดย นายศิริชัย สุวรรณแสน และนายเรวัติ จุลชาตินันท์ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในคดีนี้ จำเลยเคยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นระยะเวลาเกินกำหนดโทษของศาลแล้ว ทำให้หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จำเลยจึงไม่ถูกคุมขังตามคำพิพากษา ได้รับการปล่อยตัว ถือเป็นการปิดฉากหนึ่งในคดีมรดกจากยุค คสช. ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ศาลทหาร จนกระทั่งคดีถูกโอนย้ายมาสู่ศาลพลเรือน 

.

X