ศาลพลเรือนนัดสืบพยานคดีโปรยใบปลิวต้าน คสช.- คดี 112 ผู้ป่วยจิตเวชต่อแล้ว หลังโอนจากศาลทหาร

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีคำสั่งโอนย้ายคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร โดยที่คดียังไม่สิ้นสุด ภายหลังการรัฐประหาร 2557 ล่าสุด ศาลพลเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้เริ่มทำการนัดสืบพยานอีก 2 คดีในปี 2563 แล้ว

คดีพลวัฒน์: โปรยใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารสามจุดในจังหวัดระยอง

ในคดีนี้ พลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโปรยใบปลิวต่อต้าน คสช. มีข้อความอาทิเช่น “ตื่น!!! และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว…… ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน…. “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”” และมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว มีข้อความว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ต่อต้านรัฐประหาร” และได้เผยแพร่ลงเพจเฟซบุ๊กศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย เป็นความผิดจำนวน 2 กรรม ในช่วงเดือนมีนาคม 2558 (ดูคำฟ้องในคดีนี้) โดยตั้งแต่ถูกอัยการทหารสั่งฟ้องคดีต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 14 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 คดีสืบพยานโจทก์ไปได้จำนวน 5 ปาก

หลังจากที่ทางศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี ได้สั่งโอนย้ายคดีนี้มายังศาลพลเรือน ในวันที่ 11 พ.ย. ที่เพิ่งผ่านมา ศาลจังหวัดระยองได้นัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่อจากศาลทหาร

ฝ่ายโจทก์แถลงว่ายังเหลือพยานจะนำสืบทั้งหมด 4 ปาก ในขณะที่ทางฝ่ายทนายจำเลยระบุว่าจะทำการสืบพยานจำเลยทั้งหมด 2 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำนวน 2 นัด  ในวันที่ 23 และ 24 มกราคม 2563  โดยให้ตัวจำเลยทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักประกันที่ทางจำเลยวางไว้เมื่อครั้งถูกดำเนินคดีในศาลทหารนั้นเพียงพอหรือไม่

ก่อนหน้านี้ในศาลทหาร จำเลยต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวทั้งหมด 70,000 บาท และศาลจังหวัดระยองได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงินประกันเดิมในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

คดีบุปผา: ผู้ป่วยจิตเภทที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และพรบ.คอมฯ

อีกคดีหนึ่งที่เคยมีการพิจารณาคดีในศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี เช่นเดียวกัน ได้แก่ คดีของบุปผา (นามสมมติ) ผู้ป่วยทางจิตเภท ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14  จากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์

จำเลยในคดีนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวช หลงผิดว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นสายลับ และต้องรักษากฎมณเฑียรบาล โดยแพทย์จากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์มาเบิกความต่อศาลเมื่อ 21 พ.ค. 2561 และสันนิษฐานว่าจำเลยอาจมีอาการป่วยอยู่ก่อนที่จะก่อคดี จำเลยยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่เกือบ 2 ปี ก่อนได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 4 แสนบาท (ดูข่าวก่อนหน้านี้)

หลังจากที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 ได้มีคำสั่งโอนย้ายคดีมายังศาลพลเรือนในเขตพื้นที่เกิดเหตุ คือศาลจังหวัดพัทยา ในวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมานี้ ศาลจังหวัดพัทยาได้นัดพร้อมคดีนี้เพื่อสืบพยานต่อจากศาลทหาร โดยฝ่ายโจทก์แถลงว่ายังมีพยานโจทก์จะนำสืบอีก 10 ปาก ฝ่ายจำเลยมีพยานอีก 4 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดให้ฝ่ายโจทก์ 2 นัด และฝ่ายจำเลย 1 นัด  คู่ความได้ตกลงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9-10 มิถุนายน 2563 และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 11 มิถุนายน 2563

คดีนี้ ศาลจังหวัดพัทยาได้สั่งให้สัญญาประกันที่จำเลยเคยทำไว้ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 เป็นสัญญาประกันที่ศาลนี้ไปก่อน โดยไม่ต้องยื่นขอประกันตัวใหม่

 

คดีฯ ในกรุงเทพยังไร้วี่แววดำเนินการต่อ

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า  คดีทางการเมืองที่เคยถูกพิจารณาในศาลทหารในต่างจังหวัด และได้ถูกสั่งโอนย้ายคดีมายังศาลพลเรือนนั้น  ศาลพลเรือนในแต่ละพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการในส่วนของการพิจารณาคดีต่อแล้ว และได้มีการนัดหมายสืบพยานแล้วหลายคดี เช่น

  • คดีนายสราวุทธิ์ – “ช่างตัดแว่นเชียงราย

ความผิดฐานละเมิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 คดีถูกโอนย้ายจากศาลมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย มายังศาลจังหวัดเชียงราย คดีนี้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี ซึ่งขณะที่ถูกโอนย้ายมานั้น คดียังคงติดอยู่ในขั้นตอนของการสืบพยาน (อ่านเรื่องนัดหมายของสราวุทธิ์ได้ที่ คดีม.112 ‘ช่างตัดแว่นเชียงราย’ ศาลพลเรือนนัดสืบพยานที่เหลือ ธ.ค. นี้ หลังโอนย้ายจากศาลทหาร)

  • คดีประชามติ: คดีการส่งจดหมายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

ในช่วงที่มีการทำประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากการที่ออกมารณรงค์หรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างฯ ฉบับดังกล่าว โดยต้องกลายเป็น “ผู้ต้องหาประชามติ” มากถึงราว 212 คน

หนึ่งในคดีที่เกี่ยวข้องและยังไม้สิ้นสุด คือคดีส่งจดหมายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในหลายพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 15 คน แต่มีหนี่งรายที่รับสารภาพ ที่เหลือต่อสู้คดีมากว่า 3 ปีเศษแล้ว โดยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งโอนย้ายคดีไปยังศาลพลเรือน คือศาลจังหวัดเชียงใหม่ และมีรายงานว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดพร้อมคดี พร้อมกับกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไปแล้วในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีดังกล่าวได้ที่ 2 ปี หลังประชามติที่ไม่เสรี: คดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรธน. ยังดำเนินอยู่ในศาลทหาร)

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีทางการเมืองซึ่งเคยถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งมีจำนวนคดีค่อนข้างมากนั้น ศาลพลเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้ทำการนัดหมายเพื่อดำเนินกระบวนการทางกฎหมายต่อแต่อย่างใด ทำให้หลายคดีดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสุญญากาศ กล่าวคือยังไม่ได้มีศาลใดเลยที่มีอำนาจสั่งคดีนั้น ๆ ได้  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยบางส่วนซึ่งยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการพิจารณา โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ซึ่งจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว หรือก่อนหน้านี้ไม่ได้มีหลักทรัพย์เพียงพอในการยื่นขอประกันตัว

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ปัญหาการโอนย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหาร: จากความยาวนานไม่สิ้นสุดสู่ภาวะสุญญากาศ

 

X