รายงาน COVID19 กับการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงทั่วโลกต้นกำเนิดของการระบาดใหญ่ครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อราวเดือนธันวาคม 2562 โดยมีการค้นพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยนั้น มีการค้นพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือนมกราคม 2563

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อในไทยช่วงแรกยังไม่มีอัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลได้ตัดสินใจใช้มาตรการควบคุมโรคจากเครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดที่สนามมวยลุมพินี จากการจัดรายการการแข่งขันชกมวยรายใหญ่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (Super spreader) ท้ายที่สุดจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในวงกว้าง และเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยการประกาศสถานการณ์ครั้งแรกนั้นมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่นิ่ง และไม่มีอัตราเพิ่มแบบก้าวกระโดดและในบางวันไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่โดยสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์การพบผู้ติดเชื้อที่แพปลา ตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร จำนวนผู้ติดเชื้อก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราก้าวกระโดดและรัฐก็ได้นำมาตรการต่างๆ ที่ถูกผ่อนคลายไปหลังจากควบคุมสถานการณ์โควิดได้มาบังคับใช้อีกครั้งรัฐบาลได้เรียกการระบาดครั้งนี้ว่าการระบาดระลอกใหม่เนื่องจากการติดเชื้อไม่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การระบาดระลอกที่แล้วแต่อย่างใด หลังจากเหตุการณ์การพบผู้ติดเชื้อที่แพปลา ตลาดกุ้ง จังหวัดสมุทรสาครฉุกเฉิน

ในระลอกนี้รัฐบาลได้ประกาศข้อกำหนดที่มีลักษณะในการกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคติดต่อ นอกจากนี้ รัฐบาลยังแบ่งพื้นที่ควบคุมตามระดับความรุนแรง โดยในช่วงแรกออกเป็นสามระดับ นั่นคือ (1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด (3) พื้นที่ควบคุม เนื่องจากความรุนแรงของการระบาดในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สาม จากการใช้บริการแหล่งท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ทำให้เกิดคลัสเตอร์ทองหล่อ สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรุนแรง ขยายออกไปในวงกว้าง รวมถึงการแพร่ระบาดเข้าไปในเรือนจำ จนถึงปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกๆ เดือนมาแล้วเป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฏาคม 2561 ทำให้สังคมไทยจะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วกว่าหนึ่งปีและยาวนานออกไปอีก รัฐบาลได้อ้างถึงเหตุการณ์ระบาดโควิดระลอกใหม่ และการฉีดวัคชีนยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ

การใช้มาตรการห้ามเข้าและปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรค มาตรการปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร มาตรการห้ามกักตุนสินค้า มาตรการห้ามชุมนุม และการจัดกิจกรรม มาตรการเสนอข่าวมาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย มาตรการป้องกันโรค การประกาศเคอร์ฟิว และมาตรการอื่นๆ ถูกนำมาใช้และประกาศรวมในข้อกำหนดออกตามความในมาตราแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 (ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมกว่า 24 ฉบับ ทั้งโดยอาศัยฐานทางกฎหมายจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายอื่น และโดยไม่มีฐานในทางกฎหมาย ล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

โดยเฉพาะผลกระทบต่อเสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในภาวะที่ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น จำนวนคดีจากการใช้เสรีภาพตั้งกล่าวจึงเพิ่มตามอย่างแปรผันตรงกับสถานการณ์ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกลายมาเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการใช้สรีภาพดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยเฉพาะการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง จึงจัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโควิด – 19 ซึ่งไม่ได้กระทบเพียงด้านเศรษฐกิจ และด้านสุขภาพ แต่ยังมีผลกระทบที่มีต่อเสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในคดีสิทธิเสรภาพในการแสดงออก ความได้สัดส่วนของมาตรการที่ใช้ปัญหาของการการยกเว้นความรับผิด และข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน

สามารถอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ : รายงาน COVID19 กับการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน

.

X