กรุงเทพมหานคร, กรุงปารีส, วันที่ 11 มิถุนายน 2564: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights; FIDH) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights; TLHR) กล่าวในวันนี้ โดยที่คดีความส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยโดยสงบระหว่างเดือนสิงหาคม 2563 และมีนาคม 2564
“การบังคับใช้มาตรา 112 ขั้นรุนแรงเพื่อลงโทษนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ผู้ชุมนุม และผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์นั้นส่งผลให้เกิดการละเมิดโดยชัดเจนในสิทธิในเสรีภาพ อิสรภาพในการแสดงออก และการพิจารณาคดีที่ยุติธรรม รัฐบาลไทยต้องยุติการใช้กฎหมายในทางที่ผิดนี้และรับฟังข้อเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 โดยทันที” อดีล ราห์เมน คาน เลขาธิการใหญ่แห่ง FIDH กล่าว
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยTLHR ในช่วงระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2564 มีบุคคลจำนวน 100 รายถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ในจำนวนนี้เป็นเด็ก (บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี) ถูกดำเนินคดีแปดราย มาตรา 112 ระบุโทษจำคุกแก่ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการ บุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรา 112 จะต้องโทษจำคุกระหว่างสามถึง 15 ปีต่อกระทง
หลังจากละเว้นการบังคับใช้มาตรา 112 ได้สองปี ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 การดำเนินคดีและการจับกุมด้วยมาตรา 112 กลับมาอีกครั้งเพื่อตอบโต้การชุมนุมของฝ่ายประชาธิปไตยที่แพร่กระจายทั่วประเทศเกือบตลอดปี 2563 ในระหว่างการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมากเหล่านี้ ผู้ชุมนุมได้ทำลายข้อต้องห้ามทางการเมืองไทยที่มีมาช้านานด้วยการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรงและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การบังคับใช้มาตรา 112 ระลอกที่สองนี้เป็นที่คาดเดาได้จากการที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่า รัฐบาลจะใช้ “กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” ลงโทษแกนนำและผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย
ภายหลังการประกาศของประยุทธ์ เจ้าหน้าที่ได้รุกหน้าดำเนินคดี จับกุม และกักขังนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ชุมนุมโดยสงบที่ได้วิจารณ์หรือแสดงความเห็นในที่สาธารณะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในระหว่างการชุมนุมหรือบนโซเชียลมีเดียต่างๆ แกนนำมักหลักนั้นถูกมุ่งเป้าเป็นพิเศษ บางรายถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในหลายคดี ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลานาน
ผู้ต้องหากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายรายถูกศาลปฏิเสธสิทธิประกันตัวอย่างเป็นระบบ ทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดี นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ได้ฝากขังผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 17 ราย ถึงแม้ว่าในเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดจะได้รับสิทธิประกันตัว แต่มีจำนวนมากที่ได้รับการปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ต่อไปและห้ามเช้าร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ในขณะที่การบังคับใช้มาตรา 112 ระลอกสองได้เริ่มขึ้นนั้น ประเทศไทยก็ได้บันทึกสถิติโทษจำคุกมาตรา 112 ที่นานที่สุดที่เคยมีมา ในวันที่ 19 มกราคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพพิพากษาจำคุกอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการ อายุ 65 ปี เป็นเวลา 87 ปี จากการเผยแพร่โพสหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสื่อออนไลน์จำนวน 29 กระทง โดยเธอได้รับการลดโทษลงเหลือ 43 ปี หกเดือน เนื่องจากยอมรับสารภาพ
วันก่อนหน้านั้น ศาลอาญากรุงเทพได้พิพากษาลงโทษนักเขียนและนักประพันธ์กวี สิรภพ กรฤต ด้วยข้อหามาตรา 112 จากการเผยแพร่งานเขียนและบทกวีบนสื่อออนไลน์ เขาถูกตัดสินให้จำคุกสี่ปีหกเดือน อย่างไรก็ตาม สิรภพได้รับการปล่อยตัวทันทีภายหลังคำตัดสินของศาล เนื่องจากเขาได้ถูกฝากขังก่อนการพิจารณาคดีมากว่าสี่ปี 11 เดือนนับตั้งแต่การจับกุมในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 และในวันที่ 24 เมษายน 2562 คณะทำงานสหประชาชาติ (United Nations; UN) ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention; WGAD) ได้ประกาศว่า การกักขังของสิรภพเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ก่อนที่เขาจะได้รับสิทธิประกันตัวในวันที่ 11 มิถุนายน 2562
นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 กลไกการด้านสิทธิมนุษยชนหลายภาคส่วนจากสหประชาชาติได้แสดงความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการบังคับใช้ที่รุนแรงขึ้น สหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 มาแล้วหลายครั้งอีกด้วย
FIDH และ TLHR ขอย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยละเว้นจากการจับกุม ดำเนินคดี และกักขังบุคคลเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการพูดและแสดงออก นอกจากนี้ FIDH และ TLHR ขอผลักดันให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธะหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กติกา ICCPR
ติดต่อ
Ms. Eva Canan (English, French): +33648059157
ขอบคุณภาพจาก FIDH