ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกัน “ไมค์-อานนท์” 1 มิ.ย. นี้! แม้มีผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึง 95%ด้านอานนท์ถูกคุมขังมาแล้วกว่า 3 เดือน

วันนี้ (21 พ.ค. 64) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 2 แกนนำ “ราษฎร” ได้แก่ อานนท์ นำภา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก อีกครั้ง หลังจากได้มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้กับอานนท์มาแล้ว 7 ครั้ง พร้อมกับการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้ประกัน 2 ครั้ง สำหรับภาณุพงศ์ ครั้งนี้เป็นยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 6 โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 ศาลได้มีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของเขาผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระบุว่า เนื่องจากกรมราชทัณฑ์และสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำหนังสือแจ้งการงดเบิกตัวผู้ต้องขังมาที่ศาล รวมไปถึงการพิจารณาคดีผ่านคอนเฟอเรนซ์ไว้จนถึงวันที่ 27 พ.ค. 2564 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดให้อยู่ในพื้นที่ที่เรือนจำกำหนด

การยื่นประกันครั้งนี้ เสนอหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 2 แสนบาท เท่ากับที่ศาลอนุญาตให้ประกัน “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และจำเลย 112 คนอื่นในคดีการชุมนุม “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เช่นเดียวกันนี้  โดยมีชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนายประกัน พร้อมทั้งระบุเหตุผลสำคัญคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยหากการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไม่เกิดขึ้นภายในสิ้นเดือน พ.ค. 64 อานนท์และภาณุพงศ์อาจต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีก จนอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และภาณุพงศ์ในวันที่ 1 มิ.ย. 64 เวลา 10.30 น. ซึ่งเป็นวันเดียวกับนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ “จัสติน” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกฝากขังในชั้นสอบสวนของคดี แปะกระดาษบนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 64 

อนึ่ง ผู้พิพากษาไม่ได้ระบุว่าการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวครั้งนี้จะทำผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์หรือเบิกตัวทั้งสองมาที่ศาล

หลังจากอัยการยื่นฟ้องคดี “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” อานนท์ถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2564 รวม 102 วันแล้ว ส่วนภาณุพงศ์ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีก่อนย้ายมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นับถึงวันนี้ 75 วันแล้ว ปัจจุบันทั้งคู่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระหว่างการถูกขังที่เรือนจำ และกำลังเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 

 

เปิดคำร้อง “อานนท์-ไมค์” ระบุต้องปล่อยตัว เหตุทั้งสองติดโควิด อาจเสี่ยงต่อชีวิต ย้ำเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีสิทธิสู้คดีนอกเรือนจำอย่างเป็นธรรม

สำหรับเนื้อหาในคำร้องขอประกันตัวของอานนท์และภาณุพงศ์ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

1. จำเลยทั้งสองทราบจากทนายความว่าศาลอาญาได้วางแนวทางกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำในทุกคดีไม่ว่าจะเป็นคดีการเมืองหรือไม่ ได้แก่

1) จำเลยต้องมีผู้กำกับดูแลที่ไม่ใช่ญาติ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน หรือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อื่นในลักษณะดังกล่าว ที่ศาลเห็นว่าสามารถกำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลได้

2) จำเลยจะต้องมีพยานบุคคลและ/หรือใบรองรับจากโรงพยาบาลที่จะรับตัวจำเลยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปรักษาพยาบาลต่อจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาลในการอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยต่อไป

ซึ่งทั้งอานนท์และภาณุพงศ์ยินดีนำพยานบุคคลและพยานเอกสารตามเงื่อนไขดังกล่าวมาแสดงต่อศาล แต่ปรากฏว่า ศาลจะไม่สามารถนัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีที่จำเลยต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ โดยอ้างว่าทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แจ้งว่า การจัดระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์สำหรับการไต่สวนจะทำให้เจ้าหน้าที่เรือนจำเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงขอให้ระงับการไต่สวนผู้ต้องขังทุกคดีจนกว่าจะสิ้นเดือน พ.ค. 64 ซึ่งกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยทั้งสองคนอย่างมาก ทั้งที่เรือนจำสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยการจัดให้มีชุดป้องกันการติดเชื้อ หรือมาตรการอื่นใดตามสมควร หรืออาจจัดการไต่สวนผ่านคอนเฟอเรนซ์เฉพาะตัวจำเลย ส่วนพยานปากอื่น ๆ ให้ไต่สวนโดยไม่ต้องผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ก็จะทำให้การไต่สวนจะใช้ระยะเวลาน้อยลงอย่างมาก  และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีความเสี่ยงน้อยลง 

ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกินกำลังการดูแลควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หากการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไม่เกิดขึ้นภายในสิ้นเดือน พ.ค. 64 อานนท์และภาณุพงศ์อาจต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีก จนอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2

2. หากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถจัดให้มีการไต่สวนอานนท์และภาณุพงศ์ผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ได้ ขอให้ศาลเรียกไต่สวน สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมาย และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในฐานะผู้กำกับดูแลอานนท์ และธนินท์ ศิริวรรณ ที่ปรึกษาประจําภาคตะวันออก โครงการภูมิชุมชนสํานักวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้กํากับดูแลภาณุพงศ์

ในส่วนของตัวจำเลยทั้งสองได้จัดทำบันทึกถ้อยคำเพื่อยืนยันว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี เนื่องจากพวกเขาไม่เคยแสดงพฤติการณ์หลบหนี และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในชั้นสอบสวนและอัยการโดยตลอด นอกจากนี้ อานนท์และภาณุพงศ์ไม่อาจยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ เนื่องจากอานนท์เป็นทนาย และภาณุพงศ์เป็นเยาวชน ไม่ใช่บุคคลที่มีอิทธิพลหรือเป็นอันธพาล อีกทั้งพยานหลักฐานยังถูกรวบรวมโดยพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการครบถ้วนแล้ว ทั้งยังยืนยันว่า ทั้งสองคนจะไม่ไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีของศาล 

นอกจากนี้ มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดแล้วว่า อานนท์และภาณุพงศ์ติดเชื้อโควิด-19 ขณะถูกคุมขังในเรือนจำ และปัจจุบันถูกควบคุมตัวเพื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ขณะนี้ภายในเรือนจำยังมีผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก และมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ต้องขังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพของจำเลยทั้งสองและผู้ต้องขังอื่นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคสาม ได้ระบุไว้ว่า ถ้าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยเจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ศาลจะไม่ออกหมายขัง หรือออกหมายปล่อยก็ได้ แต่ก็ไม่ห้ามศาลให้มีคำสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานหรือบุคคลที่จะยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันการหลบหนีได้

จึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และภาณุพงศ์บนพื้นฐานเหตุผล ข้อเท็จจริง และภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต้องหันมาร่วมมือกันภายใต้มาตรการต่าง ๆ ที่ลดการสร้างภาระ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น

3. อานนท์และภาณุพงศ์ไม่มีพฤติการณ์เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวได้ อีกทั้ง เมื่อพิจารณาหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Convenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ จำเลยทั้งสองยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จำเลยเพียงแต่ถูกฟ้องด้วยคดีกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษา และการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญา มิได้เป็นเหตุผลเพียงพอว่าจำเลยทั้งสองจะหลบหนี หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีของศาลได้ จึงมีเหตุผลที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสองได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 เฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์เผย พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังทั้งหมด (มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,864 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 3,012 ราย) ขณะจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศยังคงพุ่งสูงถึง 13,534 ราย 

 

อ่านเนื้อหาคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และข้อมูลการประกันตัวก่อนหน้านี้

>> ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ถูกดำเนินคดี ม.112, 116, 215

 

X