วันนี้ (12 พ.ค. 64) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พี่สาว “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ พร้อมกับทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 6 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกัน 200,000 บาท พร้อมทั้งรับเงื่อนไข หากได้ประกันตัวจะไม่พูดพาดพิงสถาบันกษัตริย์อีก
ทั้งนี้ ศาลอาญามีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ต้องหาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ วันที่ 14 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น.
ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมจังหวัดสมุทรปราการวัย 30 ปี ถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จากกรณีแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ในการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่ม “REDEM”
>>> อ่านข้อมูลลำดับเหตุการณ์ในคดีนี้ในฐานข้อมูลคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
สำหรับการยื่นประกันตัวครั้งที่ 6 ทนายได้ยื่นคำร้องในประเด็นที่ว่า
- ผู้ร้องได้ยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 64 และศาลได้มีคําสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะผู้ขอประกันยื่นคําร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหารายนี้ ผู้ต้องหาป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัส (โควิด-19) การขอไต่สวนตามคําร้องขอผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ของผู้ขอประกันในขณะนี้ย่อมอาจมีผลกระทบต่อบุคคลผู้เกี่ยวข้องและไม่ได้รายละเอียดข้อเท็จจริงมากนักเท่าที่ควรที่จะนํามาพิจารณาสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นนี้จึงให้ยกคําร้องไปก่อน” ผู้ร้องขอเรียนว่า ในขณะนี้ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้รับการรักษาโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) จนหายเป็นปกติดีแล้ว โดยได้รับการตรวจหาเชื้อ จนไม่พบเชื้อโรคดังกล่าวอีกต่อไปและได้รับการรับรองผลการรักษาจากแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าผู้ต้องหาได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติดีแล้ว
- ผู้ต้องหามีความประสงค์จะขอแถลงต่อศาลว่า หากผู้ต้องหาได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่ทํากิจกรรมที่จะกระทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหากศาลเห็นสมควรกําหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของผู้ต้องหา และเพื่ออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา
- ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดต่อกฎหมายในฐานความผิดเดียวกันกับผู้ต้องหาในคดีนี้ โดยศาลกําหนดเงื่อนไขประกอบการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาและจําเลย ผู้ร้องจึงขอศาลได้โปรดปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาด้วย
- ผู้ร้องขอเรียนว่า โดยเป็นที่ปรากฏว่าในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และผู้ต้องหาในคดีนี้ก็ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในเรือนจําเนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด แม้ขณะนี้ผู้ต้องหาได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้วนั้น แต่หากต้องถูกคุมขังต่อไปผู้ต้องหาก็อาจจะกลับมาติดเชื้อโรคดังกล่าวอีกได้ หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะช่วยทําให้ลดความแออัดในสถานที่ดังกล่าว ทําให้การบริหารจัดการเรื่องสถานการณ์ โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ได้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ําของผู้ต้องหาด้วย ผู้ร้องจึงขอศาลได้โปรดใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาด้วย
ต่อมาเวลา 16.18 น. ศาลอาญามีคำสั่งนัดไต่สวนผู้ต้องหาวันที่ 14 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น. โดยเบิกตัวผู้ต้องหามาไต่สวนผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์
อนึ่ง ชูเกียรติถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 เขาถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วทั้งสิ้น 51 วัน อีกทั้งชูเกียรติยังเป็น 1 ใน 9 ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ติดโรคโควิดจากปัญหาความแออัดในเรือนจำ โดยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์นานกว่า 2 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้พี่สาวของชูเกียรติได้ยื่นประกันน้องชายมาแล้ว 5 ครั้ง โดย 2 ครั้งหลัง ยื่นประกันหลังจากชูเกียรติติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ได้ระบุเหตุผลสำคัญประกอบการใช้ดุลพินิจให้ประกันของศาลว่า “สภาพอาการป่วยของผู้ต้องหาควรจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม” แต่ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกัน รวมทั้งปฏิเสธที่จะไต่สวนคำร้องผ่านคอนเฟอเรนซ์ จนกระทั่งชูเกียรติได้รับการรักษาจนหายแล้ว จึงได้ยื่นประกันอีกครั้งในวันนี้
สำหรับผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่ติดเชื้อโควิดอีก 6 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “พอร์ท” ปริญญา ชีวินปฐมกุล, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์
รวมทั้งยังมีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว แต่ตรวจพบว่าติดโควิดจากเรือนจำอีก 2 ราย ได้แก่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพรชัย (สงวนนามสกุล)
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีผู้ที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 14 คน โดยเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีตามมาตรา 112 จำนวน 3 คน ได้แก่ ชูเกียรติ แสงวงศ์, อานนท์ นำภา และไมค์ ภาณุพงศ์ ส่วนอีก 11 คน ถูกขังในคดีอื่นๆ >> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564