ผู้พิพากษาที่ดีในมุมมองนักฎหมายสิทธิมนุษยชน

ท่ามกลางความขัดแย้งซึ่งไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม  สถาบันตุลาการเป็นสถาบันหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว ทำหน้าที่ในการตัดสินคดีความ สังคมจึงมีภาพอย่างหนึ่งต่อผู้พิพากษาว่าจะต้องเป็นคนดี มีความเป็นกลางและอิสระ เพราะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของบุคคลและองค์กรต่างๆ  บทความนี้เขียนขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ  ‘ผู้พิพากษาที่ดี’ ซึ่งจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของนายสกล เหมือนพะวงศ์[1]  อย่างไรก็ตามคำถามที่ต้องไปไกลกว่าบทความนี้ หรือไกลกว่าหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหลักที่ตัวบุคคล คือ เราจะตรวจสอบสถาบันตุลาการได้อย่างไร เพราะการตรวจสอบภายในองค์กรอย่างเดียว สังคมเริ่มตระหนักแล้วว่าไม่เพียงพอ

“ A Good Judge ”

ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน เรามักได้ยินถ้อยคำนี้เวลาที่พูดถึงศาล เวลาที่มีข้อขัดแย้งต้องการความยุติธรรมและต้องการ final say ผู้พิพากษาผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีความจึงถูกคาดหวังจากประชาชนและสังคมให้เป็น “ผู้พิพากษาที่ดี” มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ปราศจากอคติ 4 ดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมตุลาการ หากสอบถามคนในวงการกฎหมายหลายท่านคงได้รับคำตอบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากมองผ่านแว่นของนิติรัฐในรัฐเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายตุลาการเป็นหนึ่งในเสาหลักของหลักการแบ่งแยกอำนาจ เคียงคู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารนั้น ย่อมมีภารกิจในการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นในบางคดี เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายก็อำนวยความยุติธรรมแก่คู่ความได้ แต่ในบางคดีอาจต้องการความกล้าหาญในการยืนยันหลักการเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ อาทิเช่น การเปลี่ยนแนวคำพิพากษาจากการรับรองอำนาจของคณะรัฐประหารเป็นไม่รับรองอำนาจคณะรัฐประหาร การเข้าไปตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  การไม่เข้าไปรับรองการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม  การตรวจสอบการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกหรือกฎหมายพิเศษในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น ตัวอย่างปัญหาดังกล่าวนั้นต้องอาศัยทั้งการยึดมั่นในหลักการ ความเข้าใจประเด็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ และความกล้าหาญของผู้พิพากษาเพื่อให้เกิดตรวจสอบถ่วงดุลอย่างแท้จริง เกิดความเปลี่ยนแปลง สร้างบรรทัดฐานไว้เป็นหลักประกันความยุติธรรม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในขณะที่การออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารพยายามจำกัดการใช้อำนาจศาลมากขึ้นทั้งการตัดเขตอำนาจศาลปกครอง หรือการบัญญัติรับรองการกฎ คำสั่ง การกระทำให้ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด ผู้พิพากษานั้นยิ่งควรมีบทบาทในการตรวจสอบควบคุมและหาหนทางในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ประชาชนไม่ได้ต้องการผู้พิพากษาที่ดี เพราะสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่อาจนำไปเสี่ยงกับโชคชะตามว่าจะได้พบผู้พิพากษาที่ดีหรือไม่ หากแต่ประชาชนต้องการให้ผู้พิพากษาทุกท่านมีมาตรฐาน ที่ไม่ใช่เพียงมาตรฐานในด้านความรู้ความสามารถ แต่เป็นผู้พิพากษาที่กล้าหาญและยืนยันหลักการในการตรวจสอบอำนาจรัฐ เพื่อจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้พิพากษาที่ดีอาจจะมีหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้พิพากษาทุกท่านต้องทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

11 กรกฎาคม 2563

 

 

 

 

[1] สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ (บรรณาธิการ), ผู้พิพากษาที่ดี : A good judge. พิมพ์ครั้งที่ 1 (นนทบุรี: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, 2563)

X