วันนี้ (18 เมษายน 2564) ศาลอาญานัดพร้อมในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในคดีความสืบเนื่องจากการร่วมชุมนุมและปราศรัยใน #ม็อบ14พฤศจิกา หรือ MobFest ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 63 ซึ่งเขาถูกฟ้องร้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา 112, มาตรา 116, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้พริษฐ์ถูกกล่าวหาว่าได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีการชุมนุมดังกล่าวในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้กษัตริย์ธำรงตนภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอัยการฟ้องว่าคำปราศรัยเข้าข่ายข้อหาตามมาตรา 112 และมาตรา 116
>> เปิดคำฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยา- คดี MobFest ก่อนศาลไม่ให้ประกันสี่แกนนำ
ในวันนี้ พริษฐ์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาล ทั้งที่ยังมีอาการอ่อนเพลียและต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา เหตุจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 35 วันแล้ว โดยในการนำตัวจำเลยมาที่ศาล เจ้าหน้าที่ยังมีการตั้งฉากกั้นเพื่อปิดบังผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพไม่ให้ถ่ายภาพเพนกวินขณะถูกนำตัวมาศาลด้วย
ในการนัดสอบคําให้การ และตรวจพยานหลักฐานเพื่อกําหนดวันนัดสืบพยานวันนี้ มีโจทก์คือพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักอัยการสูงสุด ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ติดใจสืบพยานทั้งหมด 32 ปาก ส่วนจำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่รับข้อเท็จจริงของพยานโจทก์ทุกปาก
หลังจากนั้นโจทก์ได้แถลงว่า เมื่อฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับข้อเท็จจริง โจทก์ติดใจสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 32 ปาก โดยจะแถลงเกี่ยวกับพยานที่โจทก์จะนำสืบเพื่อขอหมายเรียกมาในภายหลัง ขอใช้เวลาสืบพยานโจทก์จำนวน 9 นัด
พริษฐ์จึงแถลงขอให้การปฏิเสธ และปฏิเสธกระบวนการในชั้นศาลนี้ เนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทําให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พริษฐ์จะให้การยอมรับในกระบวนการยุติธรรมและจะขอต่อสู้คดี พริษฐ์ยังแถลงขอถอนทนายความที่มีอยู่ทั้งสามคน โดยได้เขียนคำร้องต่อศาลความว่า
“เนื่องด้วยข้าพเจ้ายังมิต้องคำพิพากษาให้มีความผิดสถานใดถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย แต่ศาลกลับด่วนคุมขังข้าพเจ้าไว้ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นผลให้ข้าพเจ้าไม่อาจสู้คดีได้อย่างเต็มที่ กระบวนการที่ดำเนินในกระบวนการนี้จึงไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองเหมือนกับศาลในระบอบนาซีเยอรมัน ข้าพเจ้าจึงขอถอนทนายและไม่ยอมรับกระบวนการในคดีนี้จนกว่าข้าพเจ้าจะได้รับสิทธิในการประกันตัวให้สู้คดีอย่างเต็มที่”
“ข้าพเจ้ายืนยันว่าปฏิเสธกระบวนการครั้งนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากได้รับสิทธิการประกันตัวให้ได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ก็จะให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรม”
ด้านทนายความจำเลยแถลงว่าเมื่อพริษฐ์ขอถอนทนายความ แต่เมื่อศาลยังไม่ได้อนุญาตให้ถอน จึงจะขอทําหน้าที่ทนายความต่อไป และได้เคยยื่นบัญชีระบุพยานไว้ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 มีพยานบุคคล 4 ปาก และในวันนี้ได้เตรียมบัญชีระบุพยานไว้เพื่อยื่นเพิ่มเติม โดยมีพยานบุคคล 11 ปาก รวมทั้งหมด 15 ปาก เพื่อเป็นการรักษาสิทธิในการต่อสู้คดีของจําเลยในขณะที่ยังทําหน้าที่ทนายความ จึงขอกําหนดวันนัดในส่วนของจําเลยไว้ตามที่ได้แถลง
ส่วนจํานวนวันนัดของจําเลยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล หากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพยานจะมีการแถลงให้ศาลทราบ
ศาลพิเคราะห์ตามคําแถลงของโจทก์และข้อต่อสู้ของจําเลยแล้ว เห็นควรกําหนดนัดสืบพยานโจทก์ 9 นัด นัดสืบพยานจําเลย 5 นัด รวมทั้งหมด 14 นัด พร้อมทั้งอนุญาตให้ถอนทนายความทั้งสามออกได้
จากนั้นฝ่ายอัยการโจทก์ได้ไปนัดหมายการสืบพยานที่ศูนย์นัดความของศาลเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีตัวแทนของฝ่ายจำเลย และได้กำหนดนัดเริ่มสืบพยานโจทก์คดีนี้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564
การแถลงขอถอนทนายความของพริษฐ์ในวันนี้ นับเป็นการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ด้วยการร้องขอถอนทนายเป็นคดีที่ 2 ของเขา หลังแถลงครั้งแรกในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เนื่องจากยืนยันว่าตนไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม จึงต้องจับตาการต่อสู้คดีของจำเลย ที่ยืนยันปฏิเสธกระบวนการที่เขาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป
>> บันทึกสังเกตการณ์ 16 ชั่วโมง ก่อน “ราษฎร” 21 คน ประกาศถอนทนายความคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร
ขณะเดียวกันในช่วงบ่าย หลังการนัดพร้อมคดี นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน ได้ยื่นขอประกันตัวลูกชายอีกครั้งทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม MobFest โดยได้ยืนยันในคำร้องว่าจากการได้พบลูกชายที่ศาลในวันนี้ พบว่าสุขภาพของเพนกวินมีอาการทรุดโทรมลงอย่างมาก มีอาการหน้ามืด วิงเวียน อ่อนเพลีย ไม่อาจลุกยืนเดินได้ ในฐานะมารดา เชื่อว่าสุขภาพของจำเลยอยู่ในขั้นอันตรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเพนกวินมีโรคประจำตัว คือโรคหอบหืด อันอาจทำให้หยุดหายใจได้
นางสุรีย์รัตน์ระบุว่า หากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว สามารถกำหนดให้ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยห้ามออกไปนอกเขตโรงพยาบาลได้ ภายในกำหนดเวลาที่เพียงพอที่จะฟื้นฟูร่างกาย และเมื่อฟื้นตัวแล้ว ให้มารายงานตัวต่อศาล เพื่อฟังคำสั่งที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ต่อไป
ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์ในทั้งสองคดี โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณา โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ลงนามคำสั่งโดยนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์
ทั้งนี้การยื่นประกันตัวดังกล่าว นับเป็นครั้งที่ 8 แล้ว ทั้งในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีชุมนุม MobFest โดยทุกครั้งศาลยังคงยืนยันไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว