ตร.ขอนแก่น แจ้งข้อหา ม.116 ‘ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน’ ไผ่-เพนกวิน เพิ่มระหว่างถูกคุมตัวมาศาล จากกรณี #จัดม็อบไล่แม่งเลย

8 เมษายน 2564 เวลา 13.00 น. ในระหว่างที่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาในนัดตรวจพยานหลักฐานคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ศาลอาญา พ.ต.ท.จตุเรศ ดรอ่อนเบ้า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อทั้งสองคน ในส่วนของความตามวรรค 3 ของมาตราดังกล่าว “เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”

ก่อนหน้านี้เดือนตุลาคม 2563 ระหว่างที่จตุภัทร์และพริษฐ์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เคยไปแจ้งข้อหา 6 ข้อกล่าวหา จากการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมระบุว่า ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2563 จตุภัทร์และพริษฐ์ เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวการเมืองทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดขอนแก่น ทั้งกิจกรรมวันที่ 20 สิงหา ในชื่อกิจกรรม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” และกิจกรรมในวันที่ 10 กันยา “หมายที่ไหน มีม็อบที่นั่น”

ทั้งจตุภัทร์และพริษฐ์เป็นแกนนำผู้ชุมนุม จัดประกาศเชิญชวนนักศึกษาประชาชนผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ขอนแก่นพอกันที” เพื่อให้เข้าร่วมกิจกรรม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยพริษฐ์ปราศรัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งได้ถูกแจ้งข้อหาไปในคดีเดียวกัน ก่อนหน้าแล้ว)

ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2563 ผู้ต้องหากับพวก จัดทำป้ายผ้าสีขาวจำนวน 17 แผ่น เขียนข้อความเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 6, ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6, ให้ยกเลิกมาตรา 112, ให้มีการควบคุมตรวจสอบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, ให้ลดงบกษัตริย์, ให้ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์, ให้ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล, ให้ยกเลิกราชอำนาจในการแสดงความเห็นทางการเมือง, ให้ยกเลิกรับรองรัฐประหาร โดยมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นไปที่สภ.เมืองขอนแก่น ในระหว่างเดินขบวนมีการกางป้ายผ้าที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งตามหลักรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 ได้รับรองและคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์ในทางใดไม่ได้

ทั้งยังมีการกล่าวปราศรัยขยายความสนับสนุนข้อเท็จจริง สอดคล้องกับกับข้อความที่เขียนไว้ในแผ่นป้าย ผู้ต้องหากับพวก ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งการกระทำยังเป็นการประกาศชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมสนับสนุนให้ลิดรอนพระราชอำนาจ พร้อมทั้งแก้ไข ยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผ่านการแสดงออกด้วยการเดินขบวนในลักษณะปราศรัยในทางสาธารณะ ย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ต่อกฎหมายสูงสุดและสถาบันพระมหากษัตริย์ หากมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรและการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน

หลังพนักงานสอบสวนอ่านข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว ไผ่ จตุภัทร์ ลงลายมือชื่อรับทราบ ส่วนทางพริษฐ์บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่าผู้ต้องหาไม่ยอมลงลายมือชื่อ

ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครระหว่างถูกคุมขัง พนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่น เข้าแจ้งข้อหาทั้งไผ่ จตุภัทร์ และ พริษฐ์ โดยถูกกล่าวหาว่าชักชวนประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก ให้เข้าร่วมกิจกรรม “ จัดม็อบไล่ แม่งเลย “ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมา มีนักศึกษานักเรียนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมเป็นจํานวนมาก และแกนนำไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ต่อมาในวันที่ 10 กันยายน 2563 ผู้ต้องหา ได้มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ได้ร่วมกันชักชวนประชาชนผ่านทางสื่อโซเชียล ให้เข้าร่วมกิจกรรม “หมายที่ไหน ม็อบที่นั้น” โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วเดินไปตามถนนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จนถึงลานหน้า สภ.เมืองขอนแก่น

ในการเดินขบวน มีการจัดทําและถือแผ่นป้ายข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการกล่าวปราศรัยให้รัฐบาลลาออกในระหว่างการเคลื่อนขบวน และมีการเดินถือป้ายอยู่บนพื้นผิวถนนซึ่งเป็นเส้นทางการเดินรถ ในการเดินขบวนก่อนถึงที่ทําการ สภ.เมืองขอนแก่น นั้นมีลักษณะปิดเส้นทาง ประชาชนโดยทั่วไปไม่สามารถใช้รถใช้ถนนในการสัญจรไปมาได้ตามปกติ และมีการใช้เครื่องขยายเสียงซึ่งติดตั้งอยู่บนรถยนต์ กล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล โดยไม่ได้ขออนุญาตการใช้เสียงต่อเจ้าพนักงาน

ในการจัดการชุมนุมในครั้งนี้ ผู้ต้องหายังไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง นอกจากนี้ผู้ต้องหามีการถ่ายทอดสดการปราศรัย อันมีลักษณะทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือหนังสือหรือวิธีอื่นใดในลักษณะที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนต่อกฎหมายสูงสุด และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งย่อมจะก่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศได้

ครั้งนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังนี้

1. ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตรา 9 ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็น จํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป

3. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ

4. ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับ แจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

5. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมโฆษณา

6.ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่นหรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่ เป็นการกีดขวางการจราจร

ทั้งไผ่ จตุภัทร์ และ พริษฐ์ ต่างให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและไม่ลงลายมือชื่อในเอกสาร การดำเนินการของทางพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่น จึงเป็นการเข้าแจ้งองค์ประกอบของข้อหาที่ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม ไม่ได้มีการเพิ่มเติมข้อกล่าวหาใหม่แต่อย่างใด

X