29 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งต่อคำร้องของอานนท์ นำภา ที่ระบุว่า ผู้คุมและเจ้าหน้าที่พยายามจะเอาตัว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ต้องขังคดี ม.112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ออกไปควบคุมนอกแดนถึง 4 ครั้งในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 15 มี.ค. 2564 โดยอ้างถึงการตรวจโควิดและกักโรค และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งยังไม่ติดป้ายชื่อ ทำให้เขาเกรงว่าจะถูกนำตัวไปทำร้ายถึงชีวิต
ก่อนมีคำสั่งศาลได้เรียกไต่สวนอานนท์และผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 5 ปาก กับทั้งได้เปิดคลิปจากกล้องวงจรปิดบริเวณห้องขัง เมื่อวันที่ 17 และ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีเพียงอานนท์ นำภา ถูกเบิกตัวไปขณะรอการพิจารณาคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เพื่อฟังคำสั่งเพียงคนเดียว คำสั่งศาลมีเนื้อหาดังนี้
ชี้ศาลมีอำนาจรับคําร้องและไต่สวนกรณีนี้ เหตุรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคล
ก่อนวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า อานนท์ถูกข่มขู่ คุกคาม อันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายตามที่ยื่นคำร้องหรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ศาลมีอํานาจรับคําร้องและไต่สวนตามคําร้องได้หรือไม่ ก่อนเป็นประเด็นแรก โดยศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคลไว้และมีบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่าการคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคล การดําเนินการของรัฐจึงต้องคํานึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมหรือขังเป็นสําคัญ
เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดําเนินการรับคําร้องและดําเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวได้ และศาลสามารถพิจารณาเหตุในการคุมขังตลอดจนพฤติการณ์และขั้นตอนการคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างสมบูรณ์สมเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าว
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 25 ยังบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลที่จะยกบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิของรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างในศาลได้ จึงเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้ศาลตรวจสอบคุ้มครองให้การคุมขังเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
เมื่ออานนท์อยู่ในฐานะจําเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.287/2564 ซึ่งถูกคุมขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาเลขที่ 256/2564 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว การขังระหว่างพิจารณาเป็นขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89
แม้อานนท์กับพวกจะอยู่ภายใต้การคุมขังของเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 4 กําหนดให้เรือนจําเป็นสถานที่ใช้ในการควบคุม ขัง หรือจําคุกผู้ต้องขัง เมื่ออานนท์เป็นจําเลยที่ขังตามหมายของศาล เจ้าพนักงานเรือนจําสามารถใช้อํานาจควบคุมผู้ต้องขังได้เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับพฤติการณ์เพื่อจัดการบังคับให้เป็นไปตามหมายขังให้สําเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ศาลจึงมีหน้าที่ประการหนึ่งที่จะต้องดูแลผู้ต้องขังให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดูแลผู้ต้องขังตามหมายของศาลให้ได้รับการรับรอง คุ้มครอง สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หากศาลละทิ้งหน้าที่นี้ย่อมจะทําให้ขาดองค์กรที่ทําหน้าที่ตรวจสอบคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม
ดังนั้น เมื่ออานนท์ยื่นคําร้องอ้างว่า อานนท์อาจจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกาย ศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ออกหมายขังจําเลยไว้ระหว่างพิจารณา จึงสามารถรับคําร้องและดําเนินการไต่สวน รวมทั้งมีอํานาจเบิกตัวผู้ร้องและหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องอื่น มาดําเนินการไต่สวนให้ทราบถึงพฤติการณ์และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามคําร้องได้
เชื่อว่า การดําเนินการของหมอวีระกิตติ์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด แต่ก็ถือเป็นการกระทําโดยไม่คํานึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม
จากนั้น ศาลได้สรุปข้อเท็จจริงจากการไต่สวนอานนท์, ภาณุพงศ์, จตุภัทร์, อโนทัย ทั้งรักษ์ รักษาการผู้บัญชาการเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ประกอบการเปิดคลิปจากกล้องวงจรปิดบริเวณห้องขังสุดท้าย ก่อนจะมีคำวินิจฉัยในประเด็นที่อานนท์ยื่นคำร้องว่า
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เวลา 21.30 น. ถึงเวลา 02.30 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 2564 เจ้าพนักงานเรือนจําเข้าพูดคุยกับอานนท์และพวกอยู่หลายครั้ง ทุกครั้งต่างกระทําโดยมิได้มีท่าที ข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ 5 คน ที่เดินทางไปพร้อมกับนายแพทย์วีระกิตติ์ล้วนแต่งกายด้วยเครื่องแบบบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นเพศหญิงถึง 4 คน มีการจัดเตรียมชุดเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก และชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) อันเป็นอุปกรณ์สําหรับใช้ตรวจหาเชื้อโควิด 19 เข้าไปภายในเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ เชื่อว่า การอํานวยการปฏิบัติงานของนายแพทย์วีระกิตติ์เป็นการดําเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด และต้องการแยกตัวภาณุพงศ์ จตุภัทร์ และปิยรัฐ ไปคุมขังในสถานที่อื่น โดยมิได้มีความมุ่งหมายที่จะข่มขู่ คุกคาม หรือทําอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของอานนท์กับพวก
อย่างไรก็ตาม อานนท์กับพวกเป็นบุคคลที่ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งถูกจํากัดเสรีภาพในร่างกายบางประการ โดยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องขังหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น อานนท์กับพวกและผู้ต้องขังอื่นยังคงเป็นพลเมืองไทย ย่อมได้ความรับรอง คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นสิทธิที่ถือติดตัวมาตั้งแต่กําเนิด ครบถ้วน สมบูรณ์ ทุกประการ อย่างเท่าเทียมกันเฉกเช่นเดียวกับปวงชนชาวไทยทั้งปวง
การนอนหลับพักผ่อนซึ่งเป็นองค์ประกอบสําคัญประการหนึ่งในการดํารงชีพและดําเนินชีวิตอันเป็นปกติของบุคคลทั่วไป เมื่อเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ มีมาตรการปิดโทรทัศน์ในช่วงเวลา 21.30 น. อันเป็นสัญลักษณ์แสดงนัยยะว่าถึงช่วงเวลาในการพักผ่อน เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ จึงต้องยึดถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนที่ดําเนินมา โดยจัดให้ผู้ต้องขังได้มีช่วงเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมเพียงพอ ไม่ถูกล่วงละเมิดเกินสมควร
อานนท์กับพวกในฐานะเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังอื่น การเข้าตรวจหาเชื้อโควิด 19 ก็ดี การเปลี่ยนสถานที่คุมขังของผู้ต้องขังก็ดี พึงกระทําในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม การดําเนินการใด ๆ หลังช่วงระยะเวลาดังกล่าวพึงกระทําได้แต่เฉพาะปรากฏเหตุจําเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าอานนท์กับพวกได้รับการคัดกรองโรคเบื้องต้นโดยตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายถึง 3 ครั้ง จนผ่านเกณฑ์แล้วก่อนเข้ารับการคุมขังภายในเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ภาณุพงศ์, จตุภัทร์ และนายปิยรัฐ แม้จะถูกย้ายตัวมาจากเรือนจําพิเศษธนบุรีซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดก็ตาม แต่ก็เป็นการเคลื่อนย้ายนักโทษระหว่างเรือนจํากับเรือนจํา ซึ่งต่างล้วนแต่มีมาตรการคัดกรองโควิดในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานนท์กับพวกถูกคุมขังอยู่ที่แดน 2 ของเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแดนกักโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดอยู่แล้ว
กรณีจึงยังไม่ปรากฏเหตุจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบหรือเร่งด่วนถึงขนาดต้องดําเนินการแยกตัวอานนท์กับพวกออกจากผู้ต้องขังอื่น หรือเร่งตรวจหาเชื้อโควิดอานนท์กับพวกให้แล้วเสร็จภายในคืนนั้น หากปล่อยให้ระยะเวลาผ่านพ้นไปอีก 3 ชั่วโมง ก็จะถึงรุ่งเช้า ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาปกติที่สามารถดําเนินการได้โดยไม่กระทบต่อการพักผ่อนของผู้ต้องขัง การกระทําของเจ้าพนักงานเรือนจํา แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการกระทําโดยไม่คํานึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่นานาอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง
การดําเนินการตรวจร่างกายผู้ต้องขัง หรือย้ายสถานที่คุมขังหรือกระทําการใด ๆ กรมราชทัณฑ์จึงต้องดําเนินการในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม สมควร และเป็นไปตามระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตในฐานะผู้ต้องขัง
กล่าวโดยสรุปศาลเห็นว่า การดําเนินการของเจ้าพนักงาน เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันกระทบต่อสิทธิของอานนท์กับพวกเท่าที่ควร และเห็นควรให้เจ้าพนักงานเรือนจําที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทําหน้าที่โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อให้อานนท์กับพวกได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่กฎหมายรับรอง