ยื่นประกัน “โตโต้” ครั้งที่ 3 ยืนยันไม่มีพฤติการณ์เป็น “อั้งยี่” ตามที่ตำรวจกล่าวหา ศาลนัดไต่สวนก่อนมีคำสั่ง 31 มี.ค. นี้

26 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. ทนายความได้เดินทางไปที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ นักกิจกรรมแกนนำการ์ดอาสา We Volunteer หรือ WeVo ซึ่งถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 บริเวณห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน พร้อมกลุ่มการ์ดและประชาชนรวม 48 ราย ก่อนการชุมนุม #ม็อบ6มีนา ของกลุ่ม  “รีเด็ม” (REDEM) เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา 

โดยโตโต้เป็นเพียงรายเดียวที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว หลังพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64 ในจำนวนทั้งหมด 18 ราย ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคืนที่ถูกจับกุมรวม 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, เป็นอั้งยี่ และเป็นซ่องโจร จากเหตุที่ตำรวจอ้างว่าทีมการ์ด WeVo เตรียมที่จะก่อเหตุสร้างความวุ่นวายและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในระหว่างการชุมนุมดังกล่าว ขณะที่ผู้ถูกจับกุมที่เหลือทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้เงินสดวางเป็นหลักทรัพย์ประกันคนละ 45,000 บาท

ก่อนหน้านี้ โตโต้พร้อม “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ยังถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งไม่ตรงกับหมายขังของศาล ที่ออกหมายขังไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนจะมีการขอให้ไต่สวนย้ายที่คุมขังเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 และศาลมีคำสั่งให้ทั้ง 3 ถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ตามหมายขัง ในวันที่ 15 มี.ค. 64

4 เหตุผลขอปล่อยตัว “โตโต้” ปิยรัฐ

  1. ปิยรัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุเพียงเดินทางไปรับประทานอาหารที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธินเท่านั้น ไม่ได้ไปมั่วสุมหรือชุมนุมกับบุคคลใด ๆ ไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุม ไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการซ่องสุมกำลังบุคคลโดยปกปิดวิธีการดำเนินการ ปรากฏตามใบเสร็จค่าอาหารจำนวน 962 บาท โดยรับประทานอาหารเสร็จในเวลา 17.52 น. ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับ ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้ามาควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายค้น และขอตรวจค้นตัว บริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า ซึ่งปิยรัฐได้ให้ความยินยอมแต่โดยดี ขณะถูกจับกุมปิยรัฐมีเพียงตัวเปล่าเท่านั้น ไม่ได้มีกระเป๋าหรือกล่องใส่สิ่งของสัมภาระใด ๆ  ย่อมไม่สามารถมีสิ่งของใด ๆ ไว้ในครอบครองตามที่ถูกกล่าวหาและถูกจับกุมได้   
  2. ภาพจากกล้องวงจรปิดระบุว่าเวลาที่กลุ่ม  WeVo จำนวน 27 คนถูกจับกุมนั้น แสดงเวลา 17.43 – 17.45 น. ซึ่งเป็นระยะเวลาช่วงเดียวกันกับที่ปิยรัฐยังอยู่ในห้างเมเจอร์รัชโยธินและกำลังจะจ่ายเงินค่าอาหารไปตามใบเสร็จในข้อ 1 (เวลา 17.52 น.) ปิยรัฐไม่ได้มีพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และไม่ได้มีพฤติการณ์คุกคาม ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด  
  3. ประเด็นที่กล่าวหาว่า ได้มีการตรวจค้นพบสัมภาระของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ข้างต้นซึ่งถูกจับกุมในวันเดียวกันกับผู้ต้องหา และมีผลการตรวจค้นพบวัตถุซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ วัตถุซึ่งอาจจะใช้เป็นอาวุธ และวัตถุซึ่งอาจใช้ก่อความวุ่นวายในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง จำนวนหลายรายการนั้น ตามสำเนาบันทึกการตรวจยึดของกลางของตน ระบุเพียงแค่ว่าตรวจยึดเสื้อคล้ายเกาะได้เท่านั้น ไม่ใช่เสื้อเกราะ ไม่มีสิ่งของต่าง ๆ ตามที่พนักงานสอบสวนได้บรรยายไว้ในคำร้องขอฝากขังอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหาแต่อย่างใด ส่วนสิ่งของอื่น ๆ ที่อ้างว่าถูกตรวจค้นพบ ผู้ต้องหาก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด  
  4. ปิยรัฐเพิ่งเคยถูกดำเนินคดีข้อหาในความผิดฐานอั้งยี่ และความผิดฐานซ่องโจร เป็นครั้งแรก ไม่เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจอื่นมาก่อน จึงไม่ได้มีพฤติการณ์ลักษณะซ้ำ ๆ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างมาในคำร้องขอฝากขังจึงน่าจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนประเด็นนี้ หากศาลเห็นสมควรก็ขอให้เรียกพนักงานสอบสวนมาทำการไต่สวนประกอบการใช้ดุลพินิจเพื่อสั่งปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐ  และสำหรับคดีอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในสถานีตำรวจอื่นนั้น ไม่ได้ลักษณะคดีและข้อหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหมือนกับคดีนี้ เป็นแต่เพียงการแสดงออกและการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ทั้งนี้ทนายความยังได้ขอให้ศาลเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวนเหตุในการคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามีมูลเหตุจริงเท็จ เพียงใด เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาล

ในการยื่นประกันวันนี้ทนายความได้ใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท 

ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอประกันตัวตามที่ฝ่ายผู้ต้องหาขอ โดยกำหนดนัดวันที่ 31 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น.

ยื่นประกันมาแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน

ในการยื่นประกันครั้งแรก หลังศาลอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 1 ตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้อง ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า ผู้ต้องหาที่ 1 (ปิยรัฐ) มีพฤติการณ์ที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ประกอบผู้ต้องหาที่ 1 ถูกดำเนินคดีในคดีอื่นในลักษณะเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาอีกหลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรให้เชื่อว่าผู้ต้องหาที่ 1 จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

โตโต้ ได้ยื่นประกันตัวครั้งที่ 2 ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท ในวันที่ 12 มี.ค. 2564 อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่า “ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” และไม่ได้มีการกล่าวถึงเหตุผลในคำร้องที่เขาได้ยื่นต่อศาล 

สำหรับเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ6มีนา วันที่ 6 มีนาคม 2564 เกิดจากการนัดหมายของกลุ่ม  “รีเด็ม” (REDEM) เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา แต่ช่วงก่อนการชุมนุมเกิดเหตุการณ์จับกุมทีมการ์ด We Volunteer และประชาชนบริเวณห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน ซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด 

หลังเหตุการณ์จับกุมดังกล่าว ยังมีเหตุชุลมุนเมื่อเวลา 18.45 น. รถที่ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมจากห้างเมเจอร์คันหนึ่ง ซึ่งมีประชาชนถูกคุมตัวอยู่บนรถ 14 ราย วิ่งมาบริเวณใกล้ศาลอาญา กลุ่มประชาชนได้ติดตามและล้อมรถไว้บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ทำให้เจ้าหน้าที่ขับรถได้หนีลงจากรถไป และทิ้งรถควบคุมตัวไว้อยู่บนถนน ต่อมาได้มีความพยายามประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ให้มาดูแลสถานการณ์ผู้ถูกควบคุมตัว 14 คน แต่ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางมากว่า 2 ชั่วโมง

ส่วนผู้ถูกคุมตัวก็ไม่หลบหนีออกมา เนื่องจากเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีหลบหนีการจับกุม จึงร่วมกันตัดสินใจเดินเท้าไปที่ สน.พหลโยธิน ท้องที่เกิดเหตุ พร้อมกับผู้ที่ออกมาจากรถควบคุมตัวอีกคันซึ่งถูกทำให้หยุดที่แยกรัชโยธิน และคนขับรถทิ้งรถหนีไปเช่นกัน รวมทั้งหมด 30 ราย เพื่อยืนยันว่าไม่ได้หลบหนี ทั้งสอบถามเหตุผลการจับกุม และอำนาจที่เจ้าหน้าที่ใช้จับกุม 

ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ออกหมายเรียกให้กลุ่มการ์ด WeVo และประชาชนทั้ง 30 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา และแจ้งข้อกล่าวหารวม 4 ข้อหา เช่นเดียวกับ 18 รายที่ถูกนำตัวไป บก.ตชด.ในคืนวันที่ 6 มี.ค. 64 ทำให้คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีรวมแล้วทั้งสิ้น 48 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 3 ราย  

X