30 พฤศจิกายน 2563 – ที่ สน.พหลโยธิน เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ ผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาฐาน ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 เรื่อง ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 จากการเข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 หรือ #ม็อบ17ตุลา โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว ในคดีนี้ยังมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ดำเนินรายการของ Voice TV เป็นผู้ต้องหาร่วมด้วย แต่ทั้งสามไม่สะดวกที่จะเดินทางมาในวันนี้ จึงขอเลื่อนนัดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน
ภายหลังจากที่เอฐ์เรียฐ์ รับทราบข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริง รวมไปถึงสิทธิของผู้ต้องหา เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ให้ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา
สำหรับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงของคดีที่ระบุในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาได้เท้าความถึงประกาศของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ได้มีกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” นัดชุมนุมกันที่บริเวณถนนห้าแยกลาดพร้าว มีการประกาศเชิญชวนผ่านทางแอคเคาท์เฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก” โดยระหว่างเวลา 15.00 – 20.00 น. ได้มีผู้เข้าร่วมราว 4,000 – 10,000 คน เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ปฏิรูปสถาบันฯ ในการชุมนุมในครั้งดังกล่าว ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมที่บริเวณทางด่วนโทลเวย์ ถนนพหลโยธินขาออก ซึ่งการชุมนุมของผู้ชุมนุมทําให้กีดขวางการจราจรจนไม่อาจสัญจรได้ตามปกติ, กีดขวางทางเข้าออกของอาคารหรือสถานที่ อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงาน การประกอบกิจการ หรือการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป ผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ท. ปิยะวัฒน์ พัชรนิตยธรรม จึงเข้ามาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี
คดีนี้เป็นคดีที่สามที่เอฐ์เรียฐ์ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ก่อนหน้านี้ เขาถูกดำเนินคดีร่วมกับนักกิจกรรมจากกิจกรรมฉายโฮโลแกรมจำลองการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ต่อมา ถูกจับกุมระหว่างที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ก่อนจะถูกนำตัวไปยัง บก. ตชด. ภาค 1 เพื่อแจ้งข้อหาฐานฝ่าฝืน ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ (ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) เช่นเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ศาลแขวงปทุมวันได้มีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัว และในช่วงเย็นได้เข้าร่วมการชุมนุมอีกครั้ง
ทั้งนี้ #ม็อบ17ตุลา ที่ห้าแยกลาดพร้าว มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊ซน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมเมื่อค่ำวันที่ 16 ตุลาคม ที่แยกปทุมวัน
ขอบคุณรูปประกอบจาก FB: Elia Fofi
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกจับกุม-ดำเนินคดี ตั้งแต่การชุมนุม #คณะราษฎร 13 ต.ค.
ปรับ 7 นักกิจกรรมคนละ 500 กิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” ฉายโฮโลแกรมรำลึก88ปีอภิวัฒน์สยาม
แจ้งข้อหาฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เยาวชน 17 ปีอีกราย หลังร่วมชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา แยกอุดมสุข