“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ คือชื่อของชายหนุ่มในวัย 22 ปี
ผมเริ่มรู้จักเขาครั้งแรกจากสื่อตอนไปชูป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับวิชาหน้าที่พลเมืองและค่านิยม 12 ประการต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะถูกควบคุมตัวออกไปจากงาน ซึ่งเรื่องราวที่ว่ามันเกิดขึ้นมากว่า 5 ปี แล้ว ขณะนั้นเขาน่าจะยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
จากเด็กหนุ่มในวันนั้นกลายเป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่มุ่งผลักดันทั้งประเด็นเรื่องการศึกษาและประเด็นทางการเมืองอย่างเข้มข้น
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผมพบเจอเขาบ่อยมากขึ้นในฐานะทนายความ เรามีโอกาสพูดคุยกันหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ที่เขาจะเล่าได้เป็นฉาก ๆ ราวกับเปิดตำราเล่าให้ผมฟัง จนตอนหลังผมถึงรู้ว่าเพนกวินสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มากขนาดเคยเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประวัติศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถฯ
แต่การพบเจอครั้งก่อน ๆ กับครั้งนี้มันเปลี่ยนแปลงไป ภาพที่ผมเจอวันนี้คือเพนกวินที่เดินออกมาในชุดนักโทษ ตัดผมขาวทรงแบบนักโทษ
เราไม่ได้พูดคุยกันแบบที่สามารถสัมผัสถึงกันได้ แต่เป็นการคุยผ่านทางโทรศัพท์ โดยมีลูกกรงกับกระจกกั้นอยู่
“สวัสดีครับพี่” เขากล่าวทักทายพร้อมกับรอยยิ้มในแบบฉบับของเขา
ผมตอบกลับไปว่า “สวัสดี นั่ง ๆ นั่งคุยกันดีกว่า”
หลังสิ้นคำทักทาย เพนกวินเริ่มไถ่ถามถึงเหตุการณ์ข้างนอกทันที “ข้างนอกเป็นยังไงบ้างครับพี่? อัพเดตสถานการณ์ให้ผมฟังหน่อย”
ผมเล่าสถานการณ์ให้ฟัง เขาตั้งใจฟังอย่างใจจดใจจ่อ และซักไซ้ไล่เรียงสอบถามว่าคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง คนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ซักถามราวกับทนายความกำลังซักถามพยานในชั้นศาล เขาฝากอะไรต่อมิอะไรถึงคนข้างนอกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือถ้อยคำที่บอกว่า เขายังสู้ต่อ ถ้าได้ออกมาก็ยังจะสู้ต่อไป
หลังอัพเดตสถานการณ์เสร็จ ผมเริ่มถามไถ่ถึงชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำ
เพนกวินเล่าว่า “เหมือนตัวเองได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนตอนยังเรียนอยู่เตรียมอุดมเลยครับพี่ สภาพความเป็นอยู่ข้างในอาจจะไม่สบายเหมือนอยู่ข้างนอก แต่ก็ไม่ได้ลำบากจนเกินไป ทุกคนในเรือนจำเขาให้เกียรติผม เหมือนทุกคนรู้ว่าทำไมผมถึงต้องเข้ามาในคุก ในนี้มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์เยอะครับ วันที่เข้ามามีคนชูสามนิ้วต้อนรับผมหลายคนเลย ช่วงเวลาที่ร้องเพลงชาติหลายคนก็ชูสามนิ้วนะพี่ มันเหมือนผมเข้ามาในฐานะนักสู้ ไม่ใช่นักโทษ และผมได้เจอตำนานที่ยังมีลมหายใจอย่างพี่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ด้วยนะครับ”
เขาเล่าด้วยท่าทีที่อิ่มเอิบใจ ผมจึงถามต่อไปว่า เวลาที่มีคนถามว่าทำไมถึงได้เข้ามาในเรือนจำ ทำผิดเรื่องอะไรข้อหาอะไร เพนกวินตอบเขาว่าอย่างไร?
“ผมตอบไปว่า ข้อหาไล่ประยุทธ์ฯครับพี่” พูดเสร็จเขาก็หัวเราะลั่น
ผมเองก็หัวเราะตามไปด้วย เขายังย้ำอีกว่าพูดแบบนั้นจริง ๆ หลายคนพอได้ฟังคำตอบก็ชูสามนิ้วให้ก็มี
“มีอยู่คนหนึ่งเขาบอกด้วยว่า เสียดายที่ไม่มีโทรศัพท์ จะได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งเคยมาอยู่ด้วยกัน”
บทสนทนาระหว่างเรายังดำเนินไปต่อ ผมถามเพนกวินว่า “เคยรู้สึกเสียใจไหมที่ต้องถูกขังแบบนี้ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ยังจะเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยแบบนี้อยู่ไหม?”
“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”
นั่นคือคำตอบที่เขาตอบผม พร้อมเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า
“แม้แต่ชีวิตก็ให้ได้”
เราคุยกันต่อเรื่องชีวิตประจำวันของเพนกวินในเรือนจำแต่ละวัน
“ผมอยู่ในเรือนจำได้เรียนรู้และเห็นอะไรหลายอย่างเพิ่มมากขึ้น ผมเห็นปัญหาการกดทับ วัฒนธรรมแบบศักดินา ความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักโทษด้วยกัน ชีวิตประจำวันของผมส่วนมากจึงเป็นการพูดคุยและช่วยเหลือ ผมได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาและประสบการณ์บางส่วนไปช่วยเหลือเพื่อน ๆ นักโทษ ให้คำแนะนำว่าใครไม่มีทนายความก็สามารถขอทนายขอแรงจากศาลได้ หรือแนะนำข้อกฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมพอจะรู้ เพราะคนที่เขาไม่รู้ก็คือไม่รู้อะไรเลยจริง ๆ นะครับพี่ มีอะไรช่วยกันได้เราก็ต้องช่วยกัน ผมรู้สึกว่า “เราต่างเป็นเหมือนเทียนในห้องที่มืด”
ต่อจากนี้เพนกวินอยากจะทำอะไรต่อ? ผมถาม
“ผมคิดว่าความก้าวหน้าพัฒนาการของมนุษย์ไม่มีวันจบ ความก้าวหน้าของมนุษย์เกิดจากการต่อสู้ เราต้องต่อสู้เพื่อให้มนุษยชาติก้าวหน้าดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าการเมืองพื้นฐานมันดีแล้ว ผมก็ยังจะสู้ต่อไป ไปขับเคลื่อนเรื่องประเด็นการศึกษา หรือประเด็นอื่นให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นเรื่อย ๆ”
เรายังสนทนากันต่อในอีกหลาย ๆ เรื่อง จนกระทั่งมองดูนาฬิกา เวลาก็ผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ท้ายที่สุด ผมถามนักต่อสู้ตรงหน้าว่าอยากได้หนังสืออะไรหรือไม่? เขาแจงว่ายังอยากได้หนังสืออีก 3 เล่ม
- รวมบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์
- โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่
- โคลงนิราศหริภุญชัย ฉบับเชียงใหม่ ของประเสริฐ ณ นคร
ผมรับปาก “พี่จะพยายามหาให้นะ” ก่อนเอ่ยคำร่ำลากันหลายประโยค สัญญาว่าพรุ่งนี้พี่จะมาเยี่ยมใหม่ น้องยิ้มตอบพร้อมกับชูสามนิ้วเหมือนจะบอกว่า สู้!!!
“ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี”
บันทึกเยี่ยมเพนกวิน
26 ต.ค. 2563
ถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นเป็นของทนายความที่ไม่ได้แค่คอยให้ความช่วยเหลือทางด้านคดีความเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นหนึ่งในมิตรสหายที่คอยเฝ้ามองการเติบโตของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ชื่อ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากในวันที่ยังเป็นแค่เด็กมัธยมปลายที่ต่อสู้กับระบบโครงสร้างของการศึกษา กระทั่งในวันนี้ที่เขาขอประกาศที่จะอุทิศชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ในขณะนี้ เพนกวินถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ ชายหนุ่มถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในช่วงเช้ามืดระหว่างที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร2563 ตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ในคดีความที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563
เพนกวินและทางทีมทนายความขอยื่นประกันตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 แต่ศาลไม่อนุญาต ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลในวันที่ 19 ตุลาคม ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ตุลาคม แม้เพนกวินจะได้รับอิสรภาพในคดีก่อนหน้า แต่เขากลับถูก สน. ชนะสงคราม อายัดตัว ไปบก.ตชด.ภาค 1 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในคดีที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563
ในวันที่ 21 ตุลาคม เพนกวินถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปยังศาลอาญาฯ เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขัง หลังจากศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว แต่ไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้ ทางทนายได้ยื่นขอประกันตัวไปแล้ว 2 ครั้ง อุทธรณ์คำสั่งศาลอีก 1 ครั้ง แต่ก็ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
รวมเป็นเวลา 13 วันแล้วที่เพนกวินต้องสูญเสียอิสรภาพไปเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง…
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
สรุปความคืบหน้าวันที่ 26 ต.ค. 63 ในการประกันตัว น.ศ.-ประชาชนคดีชุมนุม
สถิติผู้ถูกจับกุม-ดำเนินคดี ตั้งแต่การชุมนุม #คณะราษฎร 13 ต.ค.
“สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง” ยิ่งทำลายหลักนิติรัฐ ขยายอำนาจจนท.รัฐ ตุลาการตรวจสอบไม่ได้