วันนี้ 19 มิ.ย. 2563 ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ นัดสืบพยานปากสุดท้าย ในคดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” กรณีโพสต์ข้อความนัดชุมนุมให้ร่วมกันชูสามนิ้ว และข้อความแสดงออกต่อต้านการรัฐประหารหลายข้อความ ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ปี 2557 ซึ่งถูกอัยการศาลทหารฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 โดยพยานจำเลยปากสุดท้าย คือนายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 908 คณะผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี โดยมีจำเลย และผู้สังเกตการณ์จาก ilaw เข้าร่วมฟังการพิจารณาด้วย โดยสรุปคำเบิกความของพยานได้ดังนี้
พยานผู้เชี่ยวชาญชี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และ ICCPR
ชำนาญเริ่มต้นเบิกความว่า การรัฐประหารเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยสิ้นสุดลง และมีการพิสูจน์แล้วว่า รัฐประหารไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาการขัดแย้งได้
แม้มีรัฐประหาร แต่สนธิสัญญาที่ผูกพันระหว่างประเทศยังคงอยู่ ในประกาศ คสช. ช่วงท้ายได้เขียนไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศยังมีอยู่เช่นเดิม ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ทำให้ประชาชนยังมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ทั้งประชาชนยังมีสิทธิต่อต้านคัดค้านการได้มาของประชาธิปไตยที่ไม่เป็นธรรมได้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 65 และรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 69
ตามที่จำเลยในคดีนี้ได้โพสต์ข้อความหลายข้อความ พยานอ่านข้อความทั้งหมดที่จำเลยถูกฟ้องแล้วเห็นว่า เป็นข้อความการแสดงความคิดเห็นตามปกติทั่วไป ข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นความเท็จ และช่วงนั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญออกมารับรองยกเว้นการกระทำความผิดของ คสช.
พยานเบิกความว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวเป็นการกระทำโดยสุจริต และตอนนั้น ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2557 ยังไม่ได้มีกฎหมายออกมายกเว้นความผิดให้ คสช. ถึงแม้ว่าภายหลังจะมีรัฐธรรมนูญยกเว้นความผิดในการก่อรัฐประหารให้ ก็มีโอกาสยกเลิกได้เช่นกัน ข้อความดังกล่าวทั้งหมดจึงเป็นการแสดงถึงความไม่พอใจของจำเลยเท่านั้น
ทนายความถามชำนาญถึงข้อความว่า “การชุมนุมต้าน รัฐประหาร ไม่สามารถล้มล้าง คสช. ได้ แต่มันเป็นการประกาศจุดยืนว่าคนไทยกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการทหาร” ว่าก่อให้เกิดความไม่สงบหรือไม่ พยานชี้ว่าข้อความนี้ไม่มีทางที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบ เพราะตามหลักของทางประวัติศาสตร์แล้ว มีโอกาสน้อยมาก ที่ประชาชนสามารถล้มรัฐประหารได้ ข้อความนี้จึงเป็นเพียงการแสดงความไม่พอใจและแสดงความต่อต้านการปกครองที่ไม่ได้มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย
เมื่อเสร็จสิ้นการสืบพยานในเวลาประมาณ 10.00 น. ทนายจำเลยได้แถลงขอทำคำแถลงปิดคดีเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน ศาลอนุญาต และนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ก.ค. 2563 เวลา 9.00 น.
“บก.ลายจุด” ยืนยัน ต่อต้าน คสช. เพื่อสร้างประจักษ์พยานแห่งการต่อต้าน
ทางด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บ.ก.ลายจุด” กล่าวถึงการถูกดำเนินคดีอันยาวนานกว่า 6 ปี ว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตพอสมควร ตั้งแต่ไม่ได้รับการประกันตัวในช่วงแรก การเสียเงินประกัน เสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเขามองว่าการดำเนินคดีลักษณะนี้ในยุค คสช. ที่คดีของตนเป็นคดีแรกๆ ที่ “ตั้งต้นจากการรัฐประหาร” เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมในการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อให้เกิด “ความหน่วง” แก่ผู้ถูกดำเนินดคี โดยผู้ฟ้องไม่ได้ใส่ใจว่าคดีจะดำเนินต่อไปอย่างไร เขายังถูกอายัติบัญชีภายหลังจากถูกดำเนินคดีนี้อีกด้วย ทำให้ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหลายปี
นายสมบัติให้ความเห็นต่อการเปลี่ยนผ่านทางกระบวนการยุติธรรมว่า บรรยากาศในศาลทหารและศาลพลเรือนนั้น มีความอึดอัดที่แตกต่างกัน อีกทั้งให้ความเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมกำลังทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน
อย่างไรก็ตาม สมบัติยืนยันว่าการที่ตนต่อต้านการยึดอำนาจในเวลานั้น ก็เพื่อสร้างประจักษ์พยานแห่งการต่อต้านให้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เป็นร่องรอย และทำหน้าที่เป็นพยานเอกสารว่ามีการต่อต้านการยึดอำนาจอยู่ ไม่ใช่กลายเป็นบันทึกว่าการรัฐประหารในเวลานั้นราบรื่นและประชาชนก็เห็นพ้องกัน
“อย่างน้อยที่สุด ผมและหลายๆ คน ก็เป็นหนึ่งในประจักษ์พยานในเหตุการณ์นั้น”