16 กรกฎาคม 2563 – ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีที่ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘บอล’ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย สองนักกิจกรรม ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการทำกิจกรรมแขวนพริก เกลือ กระเทียม เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอ่านจดหมายเชิญให้ออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละ 2,000 บาท
>>> อ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ที่ แขวนพริก เกลือ กระเทียม และอ่านจดหมายไล่ประยุทธ์ เป็นการชุมนุม ศาลปรับ ‘เพนกวิน-บอล’ คนละ 2,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก โจทก์ไม่ได้บรรยายข้อความที่จำเลยที่ 2 โพสต์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการชุมนุมในคำฟ้อง ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ศาลชั้นต้นจึงต้องพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง มาตรา 14 และมาตรา 28 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นที่สอง ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานผิดจากท้องสำนวน ประเด็นที่สาม การชุมนุมและทำกิจกรรมแขวนพริกเกลือ กระเทียมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 3
ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ได้เท้าความถึงมูลเหตุของคดีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 และกล่าวถึงปัญหาที่ต้องพิจารณาจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ว่ากระทำความผิดจากการจัดชุมนุมสาธารณะตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบและอุทธรณ์ว่าไม่มีประชาชนมาร่วมทำกิจกรรม ไม่ได้มีการประกาศว่าจะเปลี่ยนการจัดกิจกรรมจากประตู 4 ไปที่ประตู 3 ไม่มีบุคคลใดมาร่วมเดินขบวนและทำกิจกรรม ยกเว้นแต่นักข่าวและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ หลักฐานปรากฏตามภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกไว้ในแผ่นซีดี
ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาจากภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่ถูกบันทึกขณะที่จำเลยทั้งสองคุยกับเจ้าหน้าที่ว่า จะยกเลิกการจัดกิจกรรมตามที่ประกาศไว้ในเฟซบุ๊ค (แต่ใช้วิธีย้ายไปอีกจุดหนึ่งแทนเพื่อไม่ให้เข้าข่ายนิยามการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ) แต่ตามพฤติการณ์มีการเชิญชวนผ่านทางข้อความบนเฟซบุ๊คให้บุคคลทั่วไปมาร่วมกิจกรรมกับจำเลยทั้งสอง ปรากฏว่ามีประชาชนราว 5 คน สนใจมารอทำกิจกรรมที่บริเวณประตู 4 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกประกาศไว้แต่ทีแรก จำเลยย่อมคาดหมายไว้แล้วว่าประชาชนที่มาย่อมจะต้องสนใจการพูดคุยของจำเลยทั้งสองกับเจ้าหน้าที่ และได้ยินถ้อยคำของบทสนทนา แม้ว่าเจ้าหน้าที่อีกรายจะไม่ได้ยินบทสนทนาอย่างชัดเจนก็ตาม
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้มีบุคคลใดมาเข้าร่วมเดินขบวนและทำกิจกรรม มีแค่นักข่าวและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ แม้หลักฐานที่เป็นภาพเคลื่อนไหวจะไม่ได้บันทึกภาพบุคคลในพื้นที่ทั้งหมด แต่จำเลยที่ 1 (นายพริษฐ์) เบิกความตอบโจทก์ถามค้าน ระบุว่าตนไม่ทราบว่าบุคคลที่มานั้นเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบหรือเป็นประชาชน ข้อนำสืบและข้ออ้างตามอุทธรณ์นี้ของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก
ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรค 2 ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลา และสถานที่ที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ถือว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยมาตรา 4 ได้กำหนดนิยามของคำว่าการชุมนุมสาธารณะ หมายความว่า การชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุนหรือคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนด้วยหรือไม่ก็ตาม
จำเลยที่ 1 ได้ทำการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว เชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมเดินขบวนเชิญ พลเอก ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง มีการกำหนดวันเวลาและสถานที่นัดหมายเพื่อเรียกร้องและทำกิจกรรมอันเป็นการแสดงความคิดเห็น มีการแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้
ในส่วนของจำเลยที่ 2 (นายธนวัฒน์) ได้มีการโพสต์ข้อความบนบัญชีเฟซบุ๊คส่วนตัว สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ มีการย้ำเรื่องการทำกิจกรรมในวัน เวลา และสถานที่ ซึ่งจำเลยที่ 1 นัดหมาย จำเลยที่ 2 จึงได้นัดกับจำเลยที่ 1 เพื่อหาซื้อพริก เกลือ และกระเทียมไปประกอบกิจกรรมขับไล่
อีกทั้งจำเลยที่ 2 ยังมีส่วนร่วมในการพิมพ์จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 ยังแจ้งให้เพื่อนซึ่งทำหน้าที่ดูแลบัญชีเฟซบุ๊คของตนลงข้อความระบุเรื่องการนัดหมาย ตามพฤติการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 แสดงออกว่าต้องการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับจำเลยที่ 1 มีผลเสมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เชิญผู้อื่นมาร่วมชุมนุมเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งในวันที่จัดกิจกรรมก็ปรากฏว่ามีเพื่อนนักศึกษา 4 คนของจำเลยมาปรากฏตัวร่วมกับประชาชนทั่วไปอีกราว 5 คน ที่บริเวณประตู 4 ของทำเนียบรัฐบาล ตามที่ได้นัดหมายเชิญชวน
แม้จำเลยทั้งสองจะได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าจะขอทำการยกเลิกนัดทำกิจกรรมตามที่ได้โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ค แต่จำเลยทั้งสองก็ยังคงทำกิจกรรมตามที่ได้นัดหมายเชิญชวนผู้อื่นไว้ เพียงแต่เคลื่อนย้ายการชุมนุมไปทำกิจกรรมในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น
ในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การชุมนุมของบุคคลทั้งสอง คนอื่นไม่สามารถร่วมในการชุมนุมได้ เนื่องจากมีการแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจนอยู่แล้ว โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่อ่านจดหมายขับไล่ ขณะที่จำเลยที่ 1 และเพื่อนอีก 3 คนนำพริกแห้ง กระเทียม และเกลือ แขวนที่รั้วทำเนียบรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ การที่ประชาชนที่มาตามนัดหมายของทั้งสองไม่ได้มีหน้าที่ในการทำกิจกรรม จึงไม่ใช่ข้อที่แสดงว่าบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมในการชุมนุมได้ อันจะทำให้การชุมนุมของทั้งสองกับพวกไม่ตรงตามนิยามของการชุมนุมสาธารณะ
ในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมเพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ ตามความเชื่อทางศาสนาผีของจำเลยที่ 1 และศาสนาฮินดูกับคตินิยมชาวล้านนาของจำเลยที่ 2 ทำให้การชุมนุมไม่ตรงตามนิยามของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ศาลมองว่าจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่นำผู้มีความเชี่ยวชาญทางศาสนา ประเพณี มาเบิกความรับรอง ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์
ในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการโพสต์ข้อความผ่านบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลจะนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณามาพิพากษาโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ศาลเห็นว่าการที่โจทก์ไม่ได้ระบุว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการโพสต์เป็นองค์ประกอบความผิดที่โจทก์ต้องบรรยายมาในฟ้อง แต่นั่นเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประสงค์จากการชุมนุมจริง
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์เห็นพ้อง พิพากษายืน
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
สืบพยานคดี “เพนกวิน-บอล” ใช้พริกเกลือไล่พลเอกประยุทธ์เสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษา 21 ส.ค. 62
อัยการสั่งฟ้อง “เพนกวิน-บอล” คดีไม่แจ้งชุมนุม แขวนพริกเกลือหน้าทำเนียบฯ ไล่พล.อ.ประยุทธ์
ความคิดและความใฝ่ฝันของ “บอล ธนวัฒน์ วงค์ไชย” คนรุ่นใหม่ที่ต้องพยายามเติบโตในยุคเผด็จการ