ชีวิตและเส้นทางการต่อสู้กับเผด็จการของจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

ภาพ: อนุวัฒน์ ปัสสาพันธ์

 

“ถ้าตอนนี้ไม่มีโควิด-19 เชื่อว่าจะมีการประท้วงแบบแฟลชม็อบมากยิ่งขึ้น เราอยากเห็นการต่อสู้ของทุกภาคส่วน โดยประชาชนและนักศึกษาร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการในครั้งนี้”

ถ้อยคำนี้เป็นคำพูดของ อั๋ว หรือ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หลานปู่ของเตียง ศิริขันธ์ อดีตเสรีไทยสายอีสานและผู้แทนราษฎรที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมโดยรัฐ จุฑาทิพย์มีตำแหน่งเป็นประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ริเริ่มแฮชแท็ก #MobFromHome ซึ่งมีทั้งเสียงชื่นชมและเสียงวิจารณ์ ทุกครั้งที่มีการวิจารณ์อย่างรุนแรง สนท. จะออกมาตอบโต้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันเสมอ

“การทำกิจกรรม #MobFromHome เริ่มจากวิกฤตโควิด-19 ที่จำกัดการเคลื่อนไหวต่างๆ มากมาย การลงพื้นที่ต่างจังหวัดทำได้ยาก ทำให้สนท. ต้องมานั่งคิด ระหว่างทุกคนต้อง work from home กันนานๆ เลยเกิดเป็นกิจกรรมรูปแบบใหม่นี้ขึ้นมา”

กิจกรรมล่าสุดที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมของสนท. คือการวิพากษ์กรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตกงานในช่วงโควิด-19 ซึ่งรัฐจ่ายให้ 5,000 บาท ผ่านการลงทะเบียนในเว็บไซต์ซึ่งผู้คนพบปัญหาเรื่องการเข้าถึงเป็นจำนวนมาก

“คนจนจริงๆ ไม่ได้เงิน  สนท. พยายามผลักดันให้รัฐจัดทำสวัสดิการถ้วนหน้ามากกว่าใช้วิธีนี้ เราอยากให้ทุกคนได้เงินเยียวยาในระบบนี้ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิด -19 เหมือนกัน เราเรียกร้องให้ทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไปได้รับเงินขั้นต่ำ 3,000 บาทต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือนด้วยซ้ำไป เพราะเราไม่อยากให้เกิดการพิสูจน์เรื่องว่าใครจนกว่าใครด้วย”

1. ชีวิตและภูมิหลัง

ประธานสนท. ย้อนความหลังไปในช่วงรัฐประหารปี 2557 ว่าตอนนั้นเธอยังอายุ 16-17 ปี เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีผลกับตัวเธอมากนัก เพราะยังไม่เข้าใจอะไรมาก แค่รู้ว่าการรัฐประหารไม่ดี จากนั้นค่อยๆ เริ่มรู้สึกมากขึ้น เมื่อเห็นผลจากการรัฐประหารในระดับจับต้องได้

“เราเริ่มเห็นความไม่ถูกต้องในท้องถิ่น เช่นเป็นผู้ใหญ่บ้านจนครบอายุ 60 ปีได้เลย มันต้องมีการเลือกตั้งใหม่ให้ตรวจสอบได้สิ เห็นการทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างเยอะมาก การทุจริตและโครงการต่างๆ ที่เกิดประโยชน์ไม่คุ้มค่า มักมาในช่วงรัฐประหารเสมอ”

อั๋วเป็นคนจังหวัดอำนาจเจริญ เธอตั้งใจอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปลาย แต่ครั้งแรกสอบไม่ติดจึงเข้าเรียนที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อั๋วบอกว่าตอนนั้นเธอมีชีวิตที่เรียบง่าย ชอบทำขนมในเวลาว่าง และยังอยู่ในชมรมส่งเสริมพุทธศาสนาอีกด้วย เธอมีความสุขดีกับการตื่นมาทำวัตรเช้าและเจริญสติ ขณะเดียวกันยังมองเห็นเส้นคาบเกี่ยวระหว่างการบำรุงศาสนาและระดับชั้นอำนาจของพระสงฆ์ในไทย

ชีวิตในต่างจังหวัดบอกอะไรแก่อั๋ว? เธอกล่าวว่าสิ่งหนึ่งคือการตระหนักว่าความจำกัดในการใช้ชีวิตของคนเรามีไม่เท่ากัน

“หนูเป็นคนอำนาจเจริญ การเป็นคนต่างจังหวัดทำให้ได้เห็นว่าความเจริญในแต่ละเมืองไม่เท่ากัน ถึงแม้กรุงเทพฯ ยังไม่มีหลายอย่างเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก ส่วนในด้านความฝัน ถ้าถามเด็กในโรงเรียนต่างจังหวัดว่าอยากเป็นอะไร เด็กจะตอบว่าอยากเป็นครู พยาบาล หรือข้าราชการ บางโรงเรียนองค์ความรู้ที่สอนไม่สามารถทำให้เด็กสอบเข้าแพทย์ได้ ยิ่งเป็นการฝันถึงอาชีพที่ปลายทางคือการทำงานสร้างสรรค์โลกหรือการพัฒนาประเทศโดยตรง มันแปลกมากสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เอื้อให้ความฝันของเขา ซึ่งหนูมองว่าเป็นสิ่งที่เหลื่อมล้ำมากๆ”

 

เมื่อสอบเข้าธรรมศาสตร์อีกครั้ง และได้เป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาสมความตั้งใจ จุฑาทิพย์พบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้บังคับให้ทำกิจกรรมต่างๆ แล้วแต่ว่าใครจะสมัครใจทำอะไร ตอนนั้นเธอเริ่มสนใจกิจกรรมทางการเมือง จึงไปสมัครเข้าพรรคโดมปฏิวัติ และได้ทำงานในสภานักศึกษา ก่อนได้รู้จักเพื่อนที่ทำงานด้านพัฒนาสังคม ซึ่งแนะนำให้ร่วมกิจกรรมต่างๆ จนได้มาทำงานกับสนท.

“ตอนทำงานกับพรรคโดมปฏิวัติ ส่วนใหญ่เราขับเคลื่อนประเด็นที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เช่นเรียกร้องให้ติดตั้งตู้กดผ้าอนามัย ใน มธ. ผู้ชายมีตู้กดถุงยางอนามัย แต่การเข้าถึงผ้าอนามัยซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง มหาวิทยาลัยกลับไม่มีให้ หรือเรียกร้องเรื่องวิชาเรียนขอให้ยกเลิกวิชา TU 100 ซึ่งเป็นวิชาที่ให้นักศึกษาไปทำกิจกรรมออกค่ายซึ่งหลายครั้งเราพบว่าทำกันอย่างฉาบฉวย เราทำเรื่องต่อต้านการเข้ามารับสัมปทานและจัดการโรงอาหารโดยซีพีแบบกินรวบซึ่งเราทำได้สำเร็จ แต่กิจกรรมกับสนท. จะแตกต่างไป ทำเรื่องที่กว้างกว่า”

เธอยกตัวอย่างกิจกรรมของสนท. ที่มีโอกาสร่วมทำงาน เช่นกิจกรรมการแขวนป้าย “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม” ที่ลานโพธิ์ หน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่

“การแขวนป้ายเราเริ่มจากประเมินสถานการณ์ก่อนล่วงหน้า เพราะทุกอย่างต้องมีการเตรียมพร้อม ดูทิศทางการเมืองคาดการณ์คำตัดสิน แล้วจึงค่อยออกมาแสดงความคิดเห็น พอเราแขวนมีคนมาถ่ายรูป บรรยากาศดุเดือดมาก โดนรปภ. มาไล่ เราก็เปลี่ยนจุดแขวนป้าย มีป้ายหย่อน เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์ในการแขวนมากนัก”

เธอย้ำว่าตัวเธอเองไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ แต่ออกมาเพื่อต้องการแสดงออกว่าไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม การยุบพรรคเหมือนฟางเส้นสุดท้ายต่อความอยุติธรรมที่รัฐกระทำมาตลอดนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

หลังผ่านกิจกรรมนี้ไป สนท.ได้เริ่มกิจกรรมใหม่ นั่นคือการจัดแฟลชม็อบที่ลานปรีดี ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งนับเป็นการจุดกระแสส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ เธอกล่าวว่าการที่นักศึกษากล้าออกมาแสดงพลัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีมงานจัดกิจกรรมได้สร้างความมั่นใจว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยพอจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ โดยทีมงานได้ศึกษา “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” และพบข้อกฎหมายที่ว่าพื้นที่ในสถานศึกษาเป็นพื้นที่ที่จัดกิจกรรมชุมนุมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐ กิจกรรมที่ลานโพธิ์วันนั้นจึงเกิดขึ้น เป็นสถานที่ซึ่งปลอดภัยต่อคนที่มาชุมนุม อีกทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้างเปิดกว้างพอสมควรในการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ด้วย

“ตอนนั้นเรารีบประกาศทำแฟลชม็อบ มัวแต่เตรียมการ จนไม่ได้คิดถึงข้อกฎหมายมากเท่ากับการไปหาลำโพงหรือไมโครโฟน หรือกำหนดว่าจะให้ใครมาพูดบ้าง เพราะสนท. ไม่ค่อยมีคนมากนัก เราไปเรียกเพื่อนมาช่วยกัน และสุดท้ายมันก็คุ้มค่า มีคนมาถามตลอดว่าเมื่อไหร่จะจัดอีก”

จนกระทั่งต่อมาสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลายกลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดแฟลชม็อบที่ลานพญานาค ธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งสนท. ได้เข้าร่วมด้วย การจัดครั้งนี้มีการอำนวยความสะดวกเรื่องการรักษาความปลอดภัย การดูแลเรื่องสุขอนามัย เพื่อป้องกันโควิด-19 ที่เริ่มระบาดแล้ว

 

ประธานสนท. คิดว่าสิ่งที่ทำให้กระแสแฟลชม็อบจุดติด ส่วนหนึ่งเพราะโลกออนไลน์ การมีคนถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ทำให้คนเข้าถึงและประกาศการชุมนุมได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คนออกจากโลกออนไลน์มุ่งสู่โลกจริงๆ

“โลกออนไลน์ทำงานได้ผลเพราะพวกเรามีเป้าหมายตรงกันคือต้องการต่อต้านเผด็จการ มีความต้องการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีกระแสข่าวของต่างประเทศ ทั้งในฮ่องกงและการประท้วงในฝรั่งเศสเป็นแรงผลักดันด้วย”

เมื่อมาดูการทำงานในฐานะประธานสนท. เธอบอกว่าหน้าที่นี้เน้นดูภาพรวมของขบวนการนักศึกษา เธอจะคอยจับตาดูข่าวสารว่ามีประเด็นเกี่ยวกับสนท. ที่ต้องตอบโต้หรือทำความเข้าใจหรือไม่ ซึ่งเป็นงานหนักมากจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยตอนนี้สนท. เห็นว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องปากท้องเพราะเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน ส่วนประเด็นด้านอื่น ถ้ามีกลุ่มไหนทำ ทางสนท. อาจไปช่วยสนับสนุนได้

เธออธิบายถึงรูปแบบของขบวนการนักศึกษายุค 2020 ว่าสนท. วางตัวเป็นองค์กรประสานกับขบวนการนักศึกษาและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มอื่นๆ โดยไม่เข้าไปสั่งการ การจัดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ทุกมหาวิทยาลัยต่างยอมรับในอิสระของการจัดงานตามแต่มหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องการ

ม็อบนักศึกษาประสบความสำเร็จและข่มขวัญผู้มีอำนาจไม่น้อย แต่เมื่อถามถึงสิ่งที่เธอประทับใจที่สุดในการทำงานกับสนท. กลับไม่ใช่จำนวนผู้เข้าร่วมแฟลชม็อบ แต่คือการช่วยเหลือนักศึกษาหญิงจากมหาวิทยาลัยทางภาคใต้คนหนึ่งที่แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กแฟนเพจสนท. ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 โดยก่อนแชร์นักศึกษารายนั้นปิดกั้นไม่ให้พ่อแม่เห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กแล้วเพราะต้องการพื้นที่ปลอดภัย แต่ลืมไปว่าเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับคนรู้จักของพ่อแม่ ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่ง จึงแคปเจอร์ภาพในโพสต์นี้แล้วฟ้องพ่อแม่ของเธอ

“พอพ่อเขาเห็นก็ทำร้ายร่างกายลูกทันที เขาเลยถ่ายภาพมาให้ทางสนท. ดูว่าโดนทำร้ายอย่างไรบ้าง เราเห็นแบบนี้ก็ตกใจมาก แล้วรีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือในทางกฎหมาย ให้คำปรึกษาทันที” จุฑาทิพย์ทวนความทรงจำ

วันต่อมานักศึกษารายนี้ตัดสินใจขึ้นโรงพักแจ้งความดำเนินคดีกับพ่อของตัวเอง สนท. มอบหมายให้เลขาธิการของศูนย์ฯ ซึ่งเรียนคณะนิติศาสตร์เข้าไปดูแล และพูดคุยอธิบายกับพ่อแม่ของนักศึกษารายนั้นยาวนานนับชั่วโมง กระทั่งพ่อแม่เข้าใจในตัวลูกยิ่งขึ้น ส่วนนักศึกษารายนั้นมีความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และไม่คิดว่าต้องปิดซ่อนเสียงของตัวเองอีกต่อไป

2. เส้นทางการต่อสู้กับเผด็จการ

สำหรับเส้นทางการเป็นประธานสนท. ของจุฑาทิพย์นั้น เกิดจากการลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคโดมปฏิวัติก่อน หลังได้รับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค การรุกไล่ทุนใหญ่ผลักดันไม่เอาโรงอาหารซีพีในธรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จ การติดตั้งตู้กดผ้าอนามัยและยกเลิกวิชา TU 100 มีแนวโน้มสำเร็จ จากนั้นเธอได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธาน สนท. เป็นลำดับต่อไป

“ตอนลงเลือกตั้ง เราเสนอประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเองว่าจะพาสนท. ไปทิศทางไหน นั่นคืออยากให้สนท. เป็นที่รู้จักมากขึ้นและยึดโยงกับทุกคน”

ท่ามกลางโลกกิจกรรมทางการเมืองที่บ่อยครั้งถูกครอบงำโดยผู้ชาย เธอมองว่าในพื้นที่ที่เธอทำงานอยู่เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะทุกคนทำงานบนพื้นฐานที่ไม่ได้มองเรื่องเพศสภาพ แต่เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ และเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของคนทุกกลุ่ม

ส่วนอิทธิพลจากครอบครัวที่ส่งผลต่อแนวทางการต่อสู้ของเธอนั้น ที่ผ่านมาครอบครัวของอั๋วไม่ค่อยท้วงถามหรือยับยั้งเมื่อเธอทำกิจกรรมทางสังคม-การเมือง ขณะมีอิสระในการเลือกพร้อมกันนั้นเธอเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้หล่อหลอมความคิดทางการเมืองเป็นพิเศษด้วย

“เราโตมาโดยคิดว่าทุกอย่างในสังคมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ บางครั้งคิดว่าประเทศควรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่านี้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่ยังไม่ได้ลงลึกมาก จนตอนไปค้นหาตัวเองว่าเราอยากทำอะไร ได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ถึงได้เห็นอะไรเยอะ”

อั๋วเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่เรียนอยู่ที่ขอนแก่นแล้ว ในช่วงนั้นเธอพบว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ส่งผลต่อตัวเธอมากที่สุด จุฑาทิพย์เห็นว่า 2475 เป็นประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อเหตุการณ์ร่วมสมัยมากแต่กลับได้รับการสอนในสถาบันการศึกษาน้อยนิด

“ประวัติศาสตร์ช่วง 2475 ทรงพลังมาก เพราะก้าวหน้ามากในบริบทสังคมสมัยนั้นด้วย ถ้าคณะราษฎรไม่ทำ เราจะอยู่ในสังคมแบบไหน พอเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเกิดเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังได้สานต่อ”

แม้ว่าเธอจะได้สัมผัสกับเรื่องราวปู่ของเธอ ‘เตียง ศิริขันธ์’ ซึ่งโลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์ช่วงนั้น แต่เธอยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่คนชอบบูชาตัวบุคคล เตียง ศิริขันธ์ ไม่ใช่ทั้งหมดในตัวเธอ แต่ยอมรับว่าประทับใจฐานคิดของปู่ที่อยากให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นราษฎรเสมอหน้า เธอเคยถามเรื่องราวของปู่จากคนในครอบครัว พบว่าปู่เป็นคนเก่ง ฐานะไม่ได้ยากจน แต่ปู่ได้เห็นโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม จึงออกมาเรียกร้องต่อสู้ทางการเมือง อีกทั้งยังมีความเป็นนักการเมืองที่มีความท้องถิ่นนิยมสูงและภูมิใจในความเป็นคนอีสาน

“พอได้มาเรียนธรรมศาสตร์ มันยิ่งแตกหน่อความคิดยิ่งขึ้น เพราะเจอเพื่อนที่คิดคล้ายๆ กัน เขารับฟังเหตุผลเรา เมื่อก่อนเวลาคบเพื่อน เราไม่ได้อยู่กับเหตุผลเท่าไหร่เลย จะประนีประนอมกันมากกว่า ใครพูดก่อน เราก็ยอม ไม่ได้ถกเถียง แต่พอมาเจอคนที่ให้เหตุผล เลยรู้สึกเป็นอิสระมาก และปลอดภัยมากกว่ากับการที่จะพูดอะไรออกไป”

3. หลัง #MobFromHome

ในช่วงที่ผ่านมาขบวนการนักศึกษาซึ่งกำลังเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรงถูกชลอด้วยโควิดและ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ประกอบกับนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงสอบ ดังนั้นช่วงนี้สิ่งที่ สนท. เลือกทำคือการประท้วงจากบ้านหรือ #MobFromHome

“แรงบันดาลใจในการเกิด #MobFromHome เกิดจากความเชื่อที่ว่าการต่อสู้จำเป็นต้องมีเป้าหมายร่วมกัน เป็นเอกภาพ ถึงจะสามารถโค่นล้มและต่อสู้กับอำนาจนิยมที่มีคนเพียงไม่กี่คนแต่มีอำนาจเยอะได้ ดังนั้นพวกเราจึงจำเป็นต้องใช้ความเป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้ อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง เพราะเราเชื่อในการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพของทุกคน ทุกคนมีอิสระว่าจะทำอย่างไรโดยมีสิ่งยึดโยงเหมือนกัน นั่นคือขับไล่เผด็จการ”

เมื่อถามถึงความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐในการ #MobFromHome หรือแฟลชม็อบนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมา เธอกล่าวว่านักศึกษาเตรียมวิธีรับมือบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไปวัดเอาข้างหน้า เธอกล่าวว่าการได้ลงมือทำสำคัญกว่า

“หลังจากเสร็จ เกิด #MobFromHome แล้ว จากนี้คงเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องอยู่บ้านแล้วล่ะ” ประธานสนท. ตั้งความหวัง

——————————————————

แถมท้ายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าด้วย พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ในสถานการณ์ #MobFromHome

แบบฟอร์มสำเร็จรูป How to แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

#เมื่อชาวชั่ยไม่ขอทนแต่ขอชน: สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม 95 ครั้ง หลังยุบอนาคตใหม่

จับทนายสิทธิคุยเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รู้ทันเทรนด์ใหม่ที่ใช้ปิดกั้นการแสดงความเห็น

ข้อควรรู้ในการชุมนุมสาธารณะ

ชุมนุมโดยสงบทำได้ตามรัฐธรรมนูญ: อ่านคำพิพากษาคดี “คนอยากเลือกตั้ง” RDN50

 

X