แบบฟอร์มสำเร็จรูป How to แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

นับตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ก่อให้เกิดคำถามจากหัวใจที่เดือดดาลของประชาชนคนรุ่นใหม่ต่อความอยุติธรรม ทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเริ่มจากในสถานศึกษาทั่วประเทศทั้งระดับมหาวิทยาลัยและมัธยมศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นความอัดอั้นของประชาชนยิ่งถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรีรวม 6 คน ภายหลังจากใช้เวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจกว่า 4 วัน 3 คืน เมื่อเช้าของวันนี้ 28 ก.พ. 2563 ซึ่งการลงมติไว้วางใจต่อรัฐบาลนี้ ค้านกับสายตาที่เฝ้าติดตามการอภิปราย

         ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดทำตัวอย่างของการแจ้งชุมนุมสาธารณะที่สามารถใช้ได้กับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในทุกๆ พื้นที่สาธารณะ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

[การชุมนุมในสถานศึกษา, การชุมนุมเพื่อพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีวัฒนธรรม, การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม เนื่องจากได้รับการยกเว้นจากพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ]

ตามหลักการ การแจ้งชุมนุมสาธารณะนั้น มีขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ในการเข้ามาอํานวยความสะดวกและความปลอดภัยตามมาตรา 19 และ มาตรา 20 ของพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ไม่ใช่การแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่อนุญาตหรือไม่อนุญาต หรือการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม

ผู้ต้องการจัดการชุมนุมเพียงคนเดียวก็เพียงพอแล้วในการแจ้งการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะหนึ่งพื้นที่ เช่น สวนสาธารณะ, ลานสาธารณะ หรือพื้นที่สาธารณะ ผู้แจ้งสามารถขอแบบหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะที่สถานีตำรวจทุกแห่ง หรือทำการดาวน์โหลดหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะจากเว็บไซด์นี้  http://demonstration.police.go.th/form.pdf

เมื่อได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทำการดาวน์โหลดออกมาแล้ว ให้ทำการกรอกข้อมูลของการชุมนุมลงในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน โดยมีส่วนสำคัญที่ควรระบุให้ชัดเจน ดังต่อไปนี้

        

  1.     หัวหน้าสถานีตำรวจ หมายถึง สถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่สาธารณะที่จะจัดให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น โดยหากไม่แน่ใจว่าพื้นที่การชุมนุมสาธารณะที่จะจัดขึ้นเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจใด ให้ลองตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ http://www.royalthaipolice.go.th/station.php ซึ่งจะมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้ติดต่อสอบถามแต่ละสถานีตำรวจได้ ส่วนนี้จำเป็นที่จะต้องมีการแจ้งไปยังหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเท่านั้น ควรตรวจสอบให้ดี
  2.     ลักษณะการชุมนุม มี 2 ส่วน คือการชุมนุมแบบไม่มีการเคลื่อนการชุมนุมไปที่ใด กับ การชุมนุมที่มีการเคลื่อนจุดการชุมนุม ต้องระบุให้ชัดเพื่อว่าในกรณีมีการเคลื่อนที่ของการชุมนุม เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจะสามารถอำนวยความสะดวกในการใช้เส้นทางสัญจรของผู้ชุมนุมร่วมกับประชาชนทั่วไปได้
  3.     รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อการชุมนุม ส่วนนี้หากในการชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียง ควรระบุรายละเอียดคร่าวๆ ของเครื่องขยายเสียงลงไป จะส่งผลให้ผู้จัดการชุมนุมสามารถใช้เครื่องขยายเสียงได้ โดยที่ไม่ต้องดำเนินการขอใช้เครื่องขยายเสียงอีกขั้นตอนหนึ่ง ช่วยลดภาระในขั้นตอนทางกฎหมายได้
ข้อควรรู้เพิ่มเติม เมื่อแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่จะมีการชุมนุมต้องทำหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้แก่ผู้แจ้งการชุมนุมทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้แจ้ง 

หัวหน้าสถานีตำรวจอาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลการชุมนุมเพื่อให้ผู้แจ้งการชุมนุมทราบและปฏิบัติ แต่ไม่มีอำนาจห้ามการชุมนุมโดยทันที, ให้แก้ไขเนื้อหาสาระของการชุมนุมสาธารณะ หรือแก้ไขเส้นทางการเคลื่อนการชุมนุม โดยพื้นที่นั้นไม่ต้องห้ามให้จัดการชุมนุมได้

 

ในหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะด้านหลัง ผู้แจ้งการชุมนุมสามารถเพิ่มเติมถึงความต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวกในการชุมนุมสาธารณะนั้น ๆ ตามมาตรา 19 (3) พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะฯ  โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยกตัวอย่างการจัดทำหนังสือแนบท้าย ซึ่งผู้แจ้งการชุมนุมในกิจกรรมต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ ดังต่อไปนี้ 

รายละเอียดแนบท้ายหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

   ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะมีเจตนาต้องการให้การชุมนุมในครั้งนี้ ดําเนินการไปได้ด้วยความสะดวกเรียบร้อยโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด จึงขอท่านได้โปรดช่วยอํานวยความสะดวกและความปลอดภัยในการชุมนุมตามอํานาจหน้าที่ที่กําหนดไว้ในมาตรา 19 และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อาทิเช่น

   ข้อ 1. ขอให้ท่านช่วยรักษาความปลอดภัยและอํานวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม เช่น อํานวยความสะดวกให้การชุมนุมสามารถดําเนินการไปได้โดยสะดวกไม่ถูกขัดขวางหรือปิดกั้นจากบุคคลใด รักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลที่มาร่วมการชุมนุม ช่วยดูแลเกี่ยวกับการจราจรให้แก่บุคคลผู้มาร่วมการชุมนุมและบุคคลอื่นๆ เป็นต้น

   ข้อ 2. ขอให้ท่านช่วยอํานวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการน้อยที่สุด เช่น บริเวณที่ได้มีการแจ้งการชุมนุมขอท่านได้โปรดสั่งการให้เจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าหน้าที่ตํารวจมาช่วยอํานวยความสะดวกด้านการจราจรตามบริเวณต่าง ๆ ดูแลบุคคลหรือรถที่สัญจรผ่านไปมาให้สามารถเดินทางได้โดยสะดวก  ช่วยดูแลเกี่ยวกับการจราจรให้แก่บุคคลที่มาร่วมกิจกรรมหรือบุคคลที่สัญจรผ่านเส้นทางบริเวณนั้น เป็นต้น

   ข้อ 3. ตามมาตรา 19 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  หากกรณีเห็นสมควรก็ขอท่านได้โปรดมีคําสั่งให้ปิดหรือปรับเส้นทางการจราจรเป็นการชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และเพื่อดูแลการชุมนุมสาธารณะให้กิจกรรมการชุมนุมตามที่ได้แจ้งการชุมนุมนี้สามารถดําเนินการไปได้ตาม สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองคุ้มครองไว้

   ข้อ 4. สําหรับการดําเนินการตามข้อ 1. ถึงข้อ 3. ขอให้ท่านช่วยร้องขอประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะดําเนินการช่วยเหลือและอํานวยความสะดวกแก่การชุมนุมสาธารณะให้สามารถดําเนินไปได้ตามสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองคุ้มครองไว้ทั้งนี้ตามมาตรา 19 วรรคหก  แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

   ข้อ 5. ก่อนการชุมนุม ระหว่างการชุมนุม และภายหลังการชุมนุมสาธารณะ ตามที่ได้แจ้งนี้ ขอให้ท่านช่วยประชาสัมพันธ์ช่วยประสานไปยังสํานักงานตํารวจแห่งชาติและหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐ และประสานไปยังหน่วยงานเอกชนอื่น เช่น สถานีวิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ให้เยอะที่สุด เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ  เหล่านั้น ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงเส้นทางสถานที่ที่ใช้ในการชุมนุมและช่วงเวลาที่มีการชุมนุม ตลอดจนในการประชาสัมพันธ์นั้นขอท่านได้โปรดให้คําแนะนําเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปทราบเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการจัดกิจกรรมการชุมนุมในครั้งนี้และเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการจัดกิจกรรมการชุมนุมน้อยที่สุด ทั้งนี้ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

   ข้อ 6. ตามหนังสือแจ้งการชุมนุมฉบับนี้ หากมีความจําเป็นจะต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือมีความจําเป็นจะต้องขออนุญาตใช้สถานที่ หรือจําเป็นจะต้องขออนุญาตใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมนี้  ขอท่านได้โปรดดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และอํานาจหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง ขอให้ท่านเป็นผู้ร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ที่มีการชุมนุม ดําเนินการอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียง  อนุญาตให้ใช้สถานที่ หรืออนุญาตในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

   ผู้แจ้งการชุมนุมขอเรียนว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 กําหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 กําหนดว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง”  กิจกรรมการชุมนุมในครั้งนี้จึงเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรและกฎหมายระหว่างประเทศ ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะทํากิจกรรมหรือชุมนุมได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

   หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะช่วยอํานวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยตามที่ผู้แจ้งชุมนุมได้ร้องขอตามหนังสือฉบับนี้และตามที่กฎหมายกำหนด

ขอแสดงความนับถือ

(                                             )

ผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ

 

อ่านเรื่องเกี่ยวกับพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเพิ่มเติม

ข้อควรรู้ในการชุมนุมสาธารณะ 

เมื่อการชุมนุม ถูกจำกัดมากกว่ากฎหมายชุมนุมสาธารณะ : ความทับซ้อนและการบังคับใช้ตามใจ

X