จำเลยยืนยัน “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุม

9 มี.ค. 2563 ศาลจังหวัดนครพนมนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดี “ไม่แจ้งการชุมนุม” จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดนครพนมเป็นโจทก์ฟ้องนายพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ ในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการชุมนุม 24 ชม. โดยโจทก์ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10, 14

หลังศาลอ่านคำฟ้องและถามคำให้การ นายพิศาลยืนยันให้การปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อศาลด้วย 

จากนั้นโจทก์ได้แถลงขอนำพยานเข้าสืบรวม 6 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก พนักงานสอบสวน 2 ปาก ตำรวจผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย 1 ปาก และผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัด พร้อมกันนี้อัยการยังนำส่งพยานเอกสารอีก 4 ฉบับ 

ฝ่ายจำเลยแถลงถึงแนวทางในการต่อสู้คดีว่า การกระทำของจำเลยไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตามฟ้องโจทก์ และแถลงจะนำพยานเข้าสืบ 2 ปาก คือ ตัวจำเลย และ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ใช้เวลาสืบครึ่งนัด และได้ยื่นพยานเอกสารรวม 4 ฉบับ ได้แก่ ข่าวเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์การวิ่ง, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และความเห็นทั่วไปหมายเลข 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 7-8 พ.ค. 2563 

ทั้งนี้ เดิมอัยการได้ยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลรวม 10 ปาก แต่หลังจากโจทก์และฝ่ายจำเลยตรวจพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายยื่นต่อศาลแล้ว ฝ่ายจำเลยรับคำให้การของพยานโจทก์รวม 4 ปาก ที่เกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุม เนื่องจากจำเลยไม่ได้ต่อสู้ในประเด็นว่า มีการแจ้งการชุมนุมหรือไม่ โดย 3 ปาก เป็นตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในช่วงก่อนการจัดกิจกรรมที่ให้การยืนยันว่า ไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. และอีกปากเป็นพนักงานสอบสวนที่สอบสวนตำรวจทั้งสามปากดังกล่าว ทำให้อัยการไม่ต้องนำพยานทั้ง 4 ปาก มาเบิกความต่อศาล

กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีนั้น จัดขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 6.00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน ออกวิ่งจากบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราชไปตามทางสำหรับเดิน-วิ่งออกกำลังกายเลียบริมแม่น้ำโขง โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์และถ่ายรูปกิจกรรมร่วมร้อยนาย ก่อนวิ่งมีการอ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาล แต่ขณะจะเริ่มวิ่ง ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ได้นำประกาศให้เลิกการชุมนุมภายใน 08.00 น. มาให้ ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่แจ้งชุมนุม 

ส่วนคำฟ้องในคดีนี้ระบุพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันชุมนุมว่า “วิ่งไล่ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนมกะแลนนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 จำเลยได้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม อันเป็นที่สาธารณะ และมีการแสดงออกทางการเมืองโดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมได้ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะและจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

 

X