วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันกรรมกรสากล บรรดาผู้ใช้แรงงานทั่วโลกจะมีกิจกรรมเฉลิมฉลอง พร้อมทั้งรณรงค์เรียกร้องในประเด็นคุณภาพชีวิตและสิทธิแรงงาน สำหรับประเทศไทย ภายใต้การควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของรัฐบาล คสช. ทำให้กิจกรรมวันกรรมกรสากลเป็นเพียงงานประเพณีที่ไม่มีพลังในการเคลื่อนไหวต่อรอง กลุ่มแรงงานที่เชื่อมโยงประเด็นของตนเองเข้ากับโครงสร้างทางการเมืองมักจะถูกสกัดกั้นไม่ให้มีการแสดงออก เช่นเดียวกับในปีนี้ โดยเฉพาะท่ามกลางบรรยากาศที่วันเลือกตั้งยังไม่สามารถคาดคะเนได้ และกระแสความต้องการเลือกตั้งในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้นทุกวัน อันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ และการคอร์รัปชั่น การพูดถึง “ประชาธิปไตย” “การเลือกตั้ง” “การเมือง” ในขบวนแรงงานจึงถือเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” เจ้าหน้าที่ให้ชุมนุมโดยมีเงื่อนไขไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ยึดป้าย ห้ามถือป้าย หรือกระทั่งห้ามชุมนุมเพราะเจ้าหน้าที่ “กลัว” ว่าจะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเครื่องมือที่ใช้ปิดกั้นการชุมนุมและการแสดงออกก็หนีไม่พ้น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558, คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 หรือไม่อ้างกฎหมายใดเลย
ห้ามพูดเรื่องประชาธิปไตย ห้ามถือป้ายเลือกตั้ง ห้ามโพกหัว “เลือกตั้งปีนี้”
กิจกรรมในช่วงเช้า กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง รวมตัวกันที่ริมถนนพหลโยธินและเดินขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯ ไปถึงรัฐบาล โดยกลุ่มฯ ได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต่อ สภ.คลองหลวงแล้ว เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 61 ซึ่งวันต่อมา (30 เม.ย.61) ตัวแทนกลุ่มฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเรียกเข้าพูดคุยเกี่ยวกับแผนการจัดกิจกรรม พร้อมขอว่า ในการทำกิจกรรมไม่ให้กลุ่มฯ พูดเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้อง 2 ใน 6 ข้อ ที่เตรียมยื่นต่อผู้ว่าฯ นอกเหนือจากประเด็นสิทธิแรงงาน หากมีการพูดเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอาจจะถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับ “We Walk เดินมิตรภาพ” (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท)
ป้ายผ้าของคนงานย่านรังสิต ซึ่งถูกห้ามติดเพราะข้อเรียกร้อง 2 ข้อสุดท้าย (ที่มาภาพ เพจกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง)
ทั้งนี้ ศรีไพร นนทรีย์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มฯ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทถึงการถูกปิดกั้นกิจกรรมรณรงค์ในวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ให้ติดป้ายข้างรถ 6 ข้อเรียกร้องของทางกลุ่ม ทั้งที่วานนี้ตกลงกันแล้วในที่ประชุมกับตำรวจและทหารว่าสามารถติดได้ ป้ายเกี่ยวกับเรื่องเลือกตั้งและประชาธิปไตยก็ไม่สามารถถือได้ มีเพียงประเด็นเรื่องแรงงานอย่างเดียวที่อนุญาตให้ถือ นอกจากนี้ ก่อนเข้าศาลากลางเจ้าหน้าที่ก็สั่งให้เอาผ้าโพกหัวสีแดงที่เขียนว่า “เลือกตั้งปีนี้” ออก อีกทั้งมีชายนอกเครื่องแบบบอกว่าเป็นตำรวจ สั่งห้ามไม่ให้ใช้เครื่องเสียง
โดยในเฟซบุ๊คของศรีไพร Sriprai Nonsee แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ในวันนี้ว่า “วันนี้ถือว่าคนงานโดนจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป เหตุการณ์จำกัดสิทธิคนงานในวันนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มีการเลือกตั้ง ต่อให้เราจับไมค์ด่ารัฐบาลก็ตาม”
ผ้าโพกหัว “เลือกตั้งปีนี้” ถูกสั่งให้เอาออกก่อนเข้าศาลากลาง (ที่มาภาพ เพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่)
“ห้ามชุมนุม” สถานทูตสหรัฐฯ อ้างผิดมาตรา 7 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ด้านสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย มีกำหนดเดินขบวนจากสวนลุมพินี เพื่อไปยื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาควบคุมและดูแลนักลงทุนให้ยุติการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยก่อนหน้านี้ สหภาพฯ ได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่อ สน.ลุมพินี ในวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา และได้ประสานกับทางสถานทูตไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มกิจกรรม รอง ผกก.สน.ลุมพีนี ได้เรียกตัวแทนสหภาพฯ เข้าไปพบ แจ้งว่า ไม่อนุญาตให้เดินขบวนไปที่สถานทูต เนื่องจากสถานทูตเป็นสถานที่ห้ามชุมนุม ขอส่งตัวแทน 3 คน ไปยื่นเท่านั้น หากเดินขบวนไปจะดำเนินคดีฐาน ชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แต่ผู้ชุมนุมทุกคนยืนยันเดินไปที่สถานทูตสหรัฐฯ ตามเดิม
คนงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ขณะรอตัวแทนเข้ายื่นหนังสือในสถานทูตสหรัฐฯ (ที่มาภาพ เพจสมัชชาคนจน)
ต่อมา ภายหลังตัวแทนเข้ายื่นข้อเรียกร้องและออกมาจากสถานทูตฯ แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวแทนสหภาพฯ 4 คน ไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อเซ็นชื่อรับหนังสือ “ห้ามชุมนุม” เนื่องจากขัดมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นอกจากนี้ ตำรวจยังได้ทำการสอบประวัติ ลงบันทึกประจำวัน ก่อนปล่อยตัว โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา การมาชุมนุมสถานฑูตอเมริกาในวันนี้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ รวมถึงภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาล ในกรณีของการจัดการชุมนุมที่สถานทูตนั้น พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดไว้ในมาตรา 8 ซึ่งระบุว่า การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานของ (4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทําการองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งในการชุมนุมของสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ในวันนี้ไม่ได้กีดขวางทางเข้าออกใดๆ
ยึดป้าย “แรงงานข้ามชาติไม่ใช่่ตู้ ATM” เหตุ ไม่เหมาะสมกับการเมือง
ขณะที่เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (M.W.R.N) ก็ถูกคุกคาม ปิดกั้น โดยประชาไทรายงานว่า ขณะที่เครือข่ายฯ เตรียมออกเดินทางไปร่วมเดินขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ก็มาขอตรวจดูข้อความในป้ายผ้าข้อความที่เตรียมไปใช้ในการเดินขบวน เพื่อเซ็นเซอร์ข้อความไหนที่ไม่เหมาะสมกับการเมือง จากนั้นได้ยึดป้ายที่มีข้อความว่า “แรงงานข้ามชาติไม่ใช่่ตู้ ATM” และป้ายที่เป็นภาษาพม่า มีภาพการ์ตูนล้อเลียนเรื่องตำรวจชอบเก็บเงินแรงงานข้ามชาติไป ทั้งที่เป็นป้ายเดิมที่เคยใช้เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารก็ได้มาคุยถึงกิจกรรมที่จะจัดในวันกรรมกรสากล พร้อมกับมีการบันทึกภาพการพูดคุย ซึ่งเธอคิดว่า เสรีภาพในการแสดงออกของพวกตนไม่ควรที่จะถูกลิดรอน ทั้งที่เป็นวันกรรมกรสากลที่ทั่วโลกก็มีกิจกรรมออกมาเฉลิมฉลองกัน
เจ้าหน้าที่เข้าตรวจดูข้อความในป้ายผ้าก่อนยึด (ที่มาภาพ เพจ MWRN)
สกัด “เพนกวิน” ประชิดนายกฯ ถามปัญหาแรงงาน
ช่วงบ่ายที่ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด ในระหว่างที่พลเอกประยุทธ์เดินทางมาถึง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้ใช้แรงงาน ได้เข้าไปใกล้แล้วก้มกราบ พร้อมทั้งพูดถึงปัญหาของผู้ใช้แรงงาน และถามว่า นายกฯ จะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ถูกชุดรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี รีบนำตัวออกจากงาน และนำไปควบคุมไว้ในศาลาว่าการ กทม. พร้อมกับธนวัฒน์ วงค์ไชย โดยให้เขาโทรศัพท์ให้ผู้ปกครองไปรับ เพนกวินให้ข้อมูลว่า ตำรวจไม่ได้ยึดโทรศัพท์ แต่ค้นกระเป๋า และจดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของเขาไป พร้อมทั้งให้เขาเขียนจดหมายร้องเรียนเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องแรงงานตามที่ต้องการไปสื่อสารกับพลเอกประยุทธ์ในวันนี้ ทั้งนี้ หลังถูกควบคุมตัวอยู่ 2 ชม. ทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือทำบันทึกข้อตกลงใด ๆ
ที่มาภาพ PPTV HD36
ห้ามเดินขบวนที่เชียงใหม่ ตร.อ้างห่วงความปลอดภัย
ส่วนกิจกรรมของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ตามกำหนดการเดิมหลังจากมีเวทีสัมมนาวิชาการในช่วงกลางวันแล้ว ในช่วงเย็นจะมีการเดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันกรรมกรสากลจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ไปยังสวนหนองบวกหาด โดยผู้จัดได้แจ้งการจัดกิจกรรมไปที่มณฑลทหารบกที่ 33 รวมถึงในเช้าวันนี้ ได้แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปที่ สภ.เมืองเชียงใหม่แล้ว ตามที่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์
ทั้งนี้ สภ.เมืองเชียงใหม่ได้ส่งเรื่องต่อไปยังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นการแจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมไม่ถึง 24 ชม. ต่อมา พ.ต.อ.ไพศาล นันตา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการออกหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 19 (5) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมไว้ 4 ประการ คือ 1.กิจกรรมต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 2. ไม่จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง 3.ไม่กระทบและสร้างความเดือดร้อนในด้านการจราจรต่อประชาชน และ 4.การใช้เสียงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่ได้มีการห้ามการชุมนุมแต่อย่างใด และผู้จัดตกลงปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
ขบวนเครือข่ายแรงงานภาคเหนือที่ถูกยกเลิกการเดิน
แต่ในที่สุด ผู้จัดได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้ง ระบุว่าหลังจากมีการแจ้งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชา ได้มีการขอไม่ให้มีการเดินขบวน เนื่องจากเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย และผู้จัดแจ้งการชุมนุมกระชั้นชิด ทำให้เจ้าหน้าที่จัดกำลังดูแลไม่ทัน อาจมีปัญหาเรื่องการจราจรและการควบคุมดูแลการเดินขบวน แต่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ไปทำกิจกรรมที่สวนสาธารณะหนองบวกหาดได้ ทำให้ทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือต้องตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมการเดินขบวน และไปทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่สวนบวกหาดในช่วงเย็นแทน โดยมีเครือข่ายแรงงานเข้าร่วมกิจกรรมราว 100 คน