คดีถึงที่สุดแล้ว หลังอัยการไม่อุทธรณ์คดี ‘ไมตรี’ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

หลังจากเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้พิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.1676/2558 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ กับนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความเล่าเรื่องราวกรณีเจ้าหน้าที่ทหารได้ตบหน้าชาวบ้านที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว ต่อมา แม้พนักงานอัยการขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์คดีออกไป แต่จนถึงเดือนมิถุนายน 2559 อัยการก็ไม่ขยายเวลายื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอีก ทำให้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือรับรองว่าคดีนี้ถึงที่สุด โดยถือเป็นอันสิ้นสุดคดีในศาลชั้นต้นนี้

ในคดีนี้ นายไมตรี จำเริญสุขสกุล ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความกล่าวหาในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) โดยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทหาร จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารไปตบหน้าชาวบ้านหลายคน ซึ่งมีทั้งเด็กและคนชรา ขณะนั่งผิงไฟอยู่ที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 และยังได้นำคลิปวีดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ทหารโต้เถียงกับประชาชนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 มาเผยแพร่

จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ก่อนคดีจะมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยติดต่อกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ก่อนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านพิพากษายกฟ้องคดีในที่สุด สำหรับประเด็นสำคัญในคำพิพากษา ที่ศาลใช้วินิจฉัยยกฟ้องคดีนี้ มีส่วนสำคัญสองประเด็น ได้แก่

1) ศาลเห็นว่านอกจากคำเบิกความของเจ้าหน้าที่ทหารสองนายที่ยืนยันว่ามีคลิปวีดีโอพร้อมข้อความระบุว่าทหารทำร้ายประชาชน เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ โดยคลิปวีดีโอและข้อความดังกล่าวถูกแชร์มาจากเฟซบุ๊กของจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะพิสูจน์ได้ว่าคลิปวีดีโอและข้อความดังกล่าว จำเลยเป็นผู้นำไปเผยแพร่ และถูกแชร์มาจากเฟซบุ๊กของจำเลยจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความดังกล่าวมิได้ถูกดัดแปลง ตัดต่อ หรือแก้ไขไปจากเดิม ข้อเท็จจริงได้ความว่าข้อความในเอกสารตามฟ้องได้จากการคัดลอกแล้วนำมาต่อกัน มิได้เกิดจากการแคปเจอร์ภาพหน้าจอมาให้เห็นถึง URL หรือที่อยู่ของข้อมูลอันเป็นที่มาของข้อความดังกล่าวบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จึงไม่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยได้

2) แม้จำเลยจะยอมรับว่าได้โพสต์ข้อความบางส่วนตามฟ้องลงในเฟซบุ๊กของตนเองก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลเท็จตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อผู้นั้นรู้หรือทราบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จ แต่จำเลย ได้มีทั้งวัยรุ่น เด็ก และหญิงชรา ที่ถูกทำร้ายและร้องไห้ในคืนเกิดเหตุมาเบิกความยืนยันว่าถูกบุคคลสวมเสื้อเกราะ ซึ่งมากับเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาตบหน้าจริง ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการขอโทษ และมีชาวบ้านนำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งให้จำเลยทราบ การที่จำเลยโพสต์ข้อความไปตามข้อมูลที่ได้รับแจ้ง ลงเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กโดยเข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

(ดาวน์โหลดไฟล์คำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ Maitree_Verdict)  

สำหรับ ไมตรี อายุ 32 ปี พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ มีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ให้ห่างไกลยาเสพติด โดยในภายหลังยังได้ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง อำเภอเชียงดาว เขายังมีทักษะในการทำภาพยนตร์ โดยเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และกำกับภาพยนตร์สั้นของตนเองมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้

IMG_9814

หลังรัฐประหาร ทหารใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) กล่าวหานักปกป้องสิทธิฯอีกหลายกรณี

นอกจากคดีของไมตรีแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ยังปรากฏกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ นำข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มาใช้ในการกล่าวหานักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำงานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและรายงานการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐหลายกรณี ได้แก่ กรณีของน.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งถูกทำโทษจนเสียชีวิตในค่ายทหารจังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2554 โดยนริศราวัลถ์ถูกกล่าวหาจากการโพสต์และแชร์รูปในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของน้าชาย ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการนำหมายจับไปควบคุมตัวนริศราวัลถ์ถึงที่ทำงานในกทม. และนำตัวนริศราวัลถ์ไปแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ที่สภ.เมืองนราธิวาส ก่อนจะได้รับการประกันตัว

คดีนี้มีร้อยเอกภูริ เพิกโสภณ เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2558 ปัจจุบันมียศพันตรี และเป็นผู้บังคับบัญชาในกองร้อยที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทำร้ายพลทหารวิเชียร เผือกสม จนเสียชีวิต

หรือกรณีนักสิทธิมนุษยชน 3 คน ได้แก่ สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ที่ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า (กอ.รมน. 4 สน.) แจ้งความกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนสภ.เมืองปัตตานี หลังจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานีร่วมกันเผยแพร่รายงาน “สถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559

นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 จากการแถลงเปิดเผยรายงานนี้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) จากการเผยแพร่รายงานดังกล่าวในเว็บไซต์ต่างๆ  การแจ้งข้อหาเกิดขึ้นท่ามกลางการเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรให้ยุติการดำเนินคดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด

ก่อนหน้านี้ยังมีคดีของสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ซึ่งกองทัพเรือเป็นแจ้งความตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากกรณีที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากรายงานข่าวของรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ไทยได้รับผลประโยชน์จากขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา กองทัพเรือเห็นว่าตนได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความเอาผิด

ในคดีนี้ ศาลจังหวัดภูเก็ตได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีเมื่อปลายปี 2558 โดยเหตุผลส่วนหนึ่งระบุถึงเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 คดีนี้ถือเป็นคดีแรกๆ ที่ศาลมีการพิเคราะห์เรื่องเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ว่าไม่ได้มุ่งเอาผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาท (ดูรายละเอียดคดีภูเก็ตหวาน โดยไอลอว์)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับตา 2-4 ก.พ. ศาลเชียงใหม่นัดสืบพยานคดีพ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์กรณี‘ทหารตบหน้าชาวบ้าน’

จากทหารชายแดนถึงเด็กชายชาวลาหู่: ประมวลปากคำพยานคดีพ.ร.บ.คอมฯ โพสต์หมิ่นประมาททหาร

#เรามีไมตรี: เมื่อเพื่อนพี่น้องเขียนถึงจำเลยคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เปิดคำแถลงปิดคดี “ไมตรี” พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนศาลอ่านคำพิพากษาพรุ่งนี้

ศาลยกฟ้องคดี ‘ไมตรี’ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ชี้เผยแพร่ข้อมูลโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง ไม่ถือเป็นความผิด

ดาวน์โหลดคำพิพากษาในคดีไมตรีได้ที่ Maitree_Verdict และสามารถดูประเด็นประเด็นการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ในรายงาน “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ยาแรงผิดขนานสำหรับการหมิ่นประมาทออนไลน์” โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ หรือในบทความ “‘พัฒนาการ’ ของการตีความ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์” โดยสฤณี อาชวานันทกุล

X