ถอดบทเรียนจากงานเสวนา “Never Draft Alone : ร่างไปด้วยกันนะ” งานเสวนาที่ว่าด้วยการหาหนทางเพื่อนำพาสังคมไทยออกจากวังวนของความขัดแย้งและหาพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มสามารถมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกที่ถูกออกแบบมาโดย “มติร่วม” จากประชาชนและสังคมทุกภาคส่วน ร่วมกันจัดโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และ I-Law เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.00 -18.00 น. งานเสวนานี้เป็นการส่งท้ายนิทรรศการ “Never Again : หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” นิทรรศการที่จัดแสดงหลักฐานของการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ WTF Gallery & Cafe สุขุมวิท 51 ร่วมเสวนาโดย ณัชปกร นามเมือง iLaw ธนพร ศรียากูล รัฐธรรมนูญก้าวหน้า ศุภณัฐ บุญสด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณัฏฐา มหัทธนา ดำเนินรายการ |
ธนพร ศรียากูล: รัฐธรรมนูญที่ไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการของคนทั้งสังคมสมควรที่จะถูกปรับเปลี่ยน
ณัฏฐาได้เริ่มต้นงานเสวนาครั้งนี้โดยการแนะนำวิทยากรแต่ละท่าน โดยได้เริ่มที่คุณ ธนพร ศรียากูล จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ซึ่งกล่าวถึงที่มาที่ไปของกลุ่มซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนจากหลายช่วงอายุ แต่มีความสนใจตรงกันในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นถึงสถานการณ์ของสังคมไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และโอกาสของประเทศที่อาจจะถูกแช่แข็งนานถึง 20 ปีในอนาคต สำหรับทางกลุ่มแล้ว มติที่เห็นตรงกันนั่นก็คือ การที่รัฐธรรมนูญจะก้าวหน้าได้นั้นจะต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันของคนทั่วไป ไม่ใช่นักวิชาการหรือนักการเมือง ผ่านการระดมสมองเพื่อให้เห็นว่า เป้าหมายใดที่ทุกภาคส่วนควรจะเดินไปให้ถึง
“ทุกวันนี้แต่ละภาคส่วนมีข้อเสนอที่น่าสนใจในการทำให้บ้านเมืองขับเคลื่อน แต่ปัญหาคือเรายังไม่เห็นร่างของมัน เป้าหมายที่เราอยากจะเห็นมันควรจะต้องมีบทบัญญัติแบบไหน? หรืออะไร? เป็นอย่างไร? เราอาจจะได้ซักห้าถึงสิบร่าง แต่มันจะต้องก้าวหน้ากว่าฉบับที่เป็นอยู่นี้”
ประเด็นปัญหาที่ทางคุณธนพรและทางกลุ่ม รวมไปถึงวิทยากรท่านอื่นในงานเสวนาครั้งนี้เห็นตรงกัน นั่นก็คือ ประเด็นเรื่องหน้าที่และตำแหน่งแห่งหนของ สว. ทั้ง 250 คนในรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งโดยเผด็จการ คสช. และถูกรับรองความชอบธรรมโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งขึ้นมามีบทบาทนำแทน สส. ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาชนที่แท้จริง
“ผมยังนึกไม่ออกว่าหน้าที่ของเขา (สว.250 เสียงในสภา) คืออะไร พื้นที่ของคนเหล่านี้อยู่ตรงไหนในการทำให้บ้านเมืองมันก้าวหน้า สิ่งเดียวที่ทุกคนคิดออกคือมีหน้าที่ในการโหวต แต่หลังจากนั้น เราเห็นประโยชน์อะไรของคนกลุ่มนี้บ้าง? เราต้องยอมรับว่าในพื้นที่ทางการเมือง บทบาทของ สส. นั้นชัดเจนกว่ามาก อย่างน้อยชาวบ้านรู้ว่าเขาเข้ามาเพื่อทำหน้าที่อะไร? สามารถวิจารณ์ได้ แต่บทบาท สว. คือ หาไม่เจอ แถมเราจะต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าผู้ช่วย แต่ประโยชน์ของท่านเหล่านี้คืออะไร? ถ้าตอบไม่ได้ว่ามีทำไม ผมว่าก็ควรไม่ต้องมีแล้ว”
“ในอดีต คนอาจจะมองว่า สส. มีความรู้น้อย รู้แต่ปัญหาชาวบ้าน สะท้อนแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง แต่พัฒนาการทางการเมืองของเรา โดยเฉพาะที่เราเห็นในช่วงนี้คือ สส. มีการปรับบทบาทไปสู่การทำงานในเชิงคุณภาพ ถ้าติดตามการอภิปรายแต่ละครั้ง เราจะเห็นว่าคุณภาพและเนื้อหาในการทำงานของ สส. มันดีขึ้นกว่าเดิมมากถ้าเทียบกับในอดีต กลับกัน ในการประชุมร่วม เราเห็น สว. ท่านไหน อภิปรายแล้วรู้สึกว่า เห้ย! มันใช่ ไหนลองบอกผมมาซักท่าน ส่วนใหญ่ เราก็มักจะเห็นหน้าซ้ำ ๆ พูดประเด็นเดิม ๆ ทั้ง ๆ ที่สภาล่างเขาก้าวไปถึงไหนแล้ว เขากำลังพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ยุทธศาสตร์ ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในสังคมโลก วันนี้เรายังไม่เคยเห็นคำอภิปรายจากสภาสูง ผู้ทรงคุณวุฒิเลย แทบทุกเรื่องตามหลังการอภิปรายของ สส. เราไม่เคยเห็น สว. เคยพูดถึงปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเรื่องน้ำแล้ง ฝนไม่ตก ปัญหาขั้นพื้นฐานที่คนทั่วไปต้องสัมผัส ต้องพบเจอ แค่คุณภาพล้าหลัง ยังไม่ต้องพูดถึงที่มาด้วยซ้ำไป”
ข้อสังเกตต่อมาที่ทางคุณธนพรและทางกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าชี้ให้เห็นนั่นก็คือ รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันนั้นไม่มีเครื่องมือสำหรับใช้แก้ปัญหาความมั่นคงยุคใหม่ได้ โดยยกตัวอย่างปัญหาเรื้อรังอย่างเรื่องของ PM 2.5 ซึ่งในปัจจุบัน ทางรัฐบาลยังไม่มีกลไกใด ๆ ในการที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวพันกับปากท้องอย่างเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วมที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง แม้จะมีข้อโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่เกี่ยวพันกับเรื่องของการปกครอง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว คุณธนพรกลับมองว่าตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้เองกลับกลายเป็นสิ่งที่คอยขัดขวางไม่ให้เกิดกลไกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญนั้นสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเรื่องการจัดวางองค์กรทางการเมืองซึ่งวางแต่ละหน่วยงานไว้ในแต่ละฟังก์ชั่นการทำงาน
“แต่ละคน แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่กันคนละอย่าง เป็นชิ้น ๆ ท่อน ๆ ยิ่งมากชิ้นยิ่งมากงานขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ละชิ้นก็หวงงานตัวเอง เพราะแฝงไปด้วยเรื่องของงบประมาณ กระบวนการภายใต้งบประมาณ เรียกได้ว่าเป็นการหาผลประโยชน์กันจากเรื่องแบบนี้ ปัญหาบางอย่างที่มันใหญ่เกินกว่าที่ฟังก์ชั่นเดียวจะสามารถจัดการได้ พออันไหนเริ่มขยับ ก็จะมีคนบอกว่า อ้าว นั่นไม่ใช่หน้าที่ในทางรัฐธรรมนูญ พอมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันตอบโจทย์ไม่ได้ เกิดการรวมศูนย์ทำให้ไม่มีความคล่องตัวในการจัดการปัญหา”
นอกจากในเรื่องของเนื้อหาแล้ว คุณธนพรยังอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องของความยาวของรัฐธรรมนูญประเทศไทยที่มีความยาวเกินกว่าความจำเป็นถึง 279 มาตรา ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับประเทศที่มีภาวะทางสังคมวิทยาคล้ายคลึงกันกับประเทศไทยแล้ว จะมองเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน
“ความยาวไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามันจะใช้ได้ดี เราจะพบว่าตัวอย่างของรัฐธรรมนูญของประเทศซึ่งมีระบบทางสังคมวิทยาคล้ายกับเรา มีพัฒนาการทางการเมืองไม่ต่างจากเรามาก ไม่มีที่ไหนเลยที่ยาวเท่าเรา อย่างอินเดียที่เหลื่อมล้ำกว่าเรายังมีไม่มากเท่านี้เลย ประเด็นที่สองที่เราพยายามพูดก็คือ รัฐธรรมนูญควรที่จะต้องสั้นเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์แวดล้อม หมายความว่า อะไรที่สามารถยืดหยุ่นได้ เราไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มันควรไปอยู่ในกฎหมายลูก หรือกลไกอื่น นี่คือสิ่งที่เราอยากจะบอก”
“สิ่งที่สามที่อยากจะขอเรียนย้ำก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญควรจะสั้น และไม่ควรเป็นเรื่องของนักเทคนิคแค่กลุ่มเดียว ที่ผ่านมาตั้งแต่ 2475 พอพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญมันเหมือนเป็นเรื่องเทคนิคระดับสูง คนทั่วไปอย่าบังอาจมาแตะต้อง ต้องใช้ภาษายาก ๆ ให้อ่านได้ยาก ๆ เกินความเข้าใจ จะได้ไม่ต้องมีใครมาอ่าน คนจะได้ไม่ต้องรู้หน้าที่ตัวเองในฐานะพลเมือง”
ศุภณัฐ บุญสด: ส่วนหนึ่งของการแก้รัฐธรรมนูญคือการต้องเอาทหารออกจากระบบ
วิทยากรรายต่อมาที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตรงในการทำคดีให้กับผู้ต้องหาที่ตกเป็นเหยื่อของรัฐคือ ศุภณัฐ บุญสด ทนายความของศูนย์ทนายฯ พิธีกรได้โยนคำถามหนึ่งให้กับศุภณัฐเกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่ามีจุดใดที่สมควรได้รับการแก้ไขหรือไม่ ซึ่งศุภณัฐได้เปรียบเทียบประเด็นดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ
“เวลาที่เราอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ทุกอย่างมันดูสวยหรูไปหมด แต่มันทำให้ผมนึกถึงมุกเสียดสีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของยุโรปตะวันออกสมัยพรรคคอมมิวนิสต์ที่ว่า รัฐธรรมนูญนี้มันก็เหมือนกับร้านอาหารมีเมนูมากมาย แต่พอจะสั่งบริกร บริกรกลับบอกว่าไม่มีเมนูที่ว่าในร้าน”
“สิทธิ เสรีภาพในรัฐธรรมนูญของประชาชนไทยจะหมดพลังทันทีเมื่อไปเจออำนาจของ คสช. และประกาศคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งถูกรับรองโดยมาตรา 279 ที่บอกว่าคำสั่งทุกอย่างให้ชอบหมด เราอาจจะมีสิทธิในร่างกาย แต่ถ้าเราเกิดถูกใช้อำนาจตาม คำสั่ง 3/58 เราจะร้องขอให้ศาลปกป้องก็ไม่ได้ กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ต่อให้รัฐธรรมนูญรับรองว่าเรามีเสรีภาพในการชุมนุมโดยไม่ใช้อาวุธ ชุมนุมโดยสงบ แต่พอมีคำสั่ง คสช. สิทธิเสรีภาพที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็หมดความหมาย”
ศุภณัฐได้อ้างอิงจาก “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร: ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ที่จัดทำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 279 เพื่อเปิดช่องให้มีการรีวิว ตรวจสอบ ปรับแก้ รวมถึงตัดเนื้อหาบางส่วนออกเพื่อจัดการกับเหล่าประกาศคำสั่งของ คสช. ประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ยังคงมีผลผูกพันอยู่ในระบบ
“การแก้มาตรา 279 นั่นเพราะศูนย์ทนายมองว่าปัญหาทุกอย่างในประเทศเกิดจากการที่เราเอาอำนาจทหารมารับรองในรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอของเราคือ การเอาทหารออกจากรัฐธรรมนูญโดยการแก้มาตรา 279 เพื่อเปิดช่องให้มีการรีวิวคำสั่ง และประกาศ คสช. ที่ค้างในระบบและเป็นอันตรายต่อสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นผ่านการตรวจสอบในทางศาล ให้องค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่าง สส. ออกประกาศยกเลิกคำสั่งพวกนี้”
“นอกจากนั้น นอกจากเรื่องของมาตรา 279 แล้ว เรายังต้องตัดอำนาจของ สว. ออก เพราะมีอำนาจมาก แต่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลย แถมยังเปิดโอกาสให้ทหารมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก ที่มากไปกว่านั้น สว. ยังมีอำนาจทั้งเลือกนายก เห็นชอบเกี่ยวกับกฎหมายการปฏิรูปประเทศ มีอำนาจในการเร่งรัดรัฐบาลให้ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าเราเอาทหารออกไปหมดจะแก้ปัญหาหลายอย่างได้ เพราะทหารมีอำนาจชี้นำตั้งแต่ในส่วนพันธกิจของฝ่ายปกครอง กระบวนการยุติธรรม เราจำเป็นต้องจำกัดบทบาทของทหารให้อยู่แค่การป้องกันประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับการจับกุมคุมขัง รวมไปถึงภารกิจด้านความมั่นคงที่ทับซ้อนขึ้นมา”
นอกเหนือจากเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ในหนังสือข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ ยังได้มีการกล่าวถึงการเยียวยาเหล่าผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมภายใต้การตัดสินของตุลาการศาลทหาร ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว ซึ่งศุภณัฐได้นำมาขยายความต่อให้เห็นภาพ
“จริง ๆ ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ทหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เริ่มจนจบ ทั้งจับกุม สอบสวน พิจารณาดีพลเรือน มีเรือนจำในค่ายทหาร ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การควบคุมตัวโดยมิชอบ ไม่ให้โอกาสให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวได้มีทนาย ให้ทหารซึ่งทำงานภายใต้ฝ่ายบริหารมาพิจารณาคดีพลเรือน เอาพลเรือนขังในค่ายทหาร ในหนังสือข้อเสนอของเรามีการพูดเรื่องการจัดการคดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร อาจจะมีการออกกฎหมายประกาศให้คำพิพากษาเหล่านั้นที่พลเรือนถูกตัดสินไม่มีผล จากนั้นจึงเยียวยาผลกระทบที่เกิดตลอดห้าปีที่ผ่านมา”
ณัชปกร นามเมือง: ประตู 3 บานสู่การสร้าง “รัฐธรรมนูญ” ฉบับประชาชน
ณัฏฐาได้ถามต่อไปยังทางณัชปกร ตัวแทนจากไอลอว์ ในประเด็นเรื่องปัญหาความยากในการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งถูกวางกลไกล็อกไว้หลายชั้น ณัชปกรยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องยากจริง เนื่องด้วยกลไก 3 อย่างที่ขวางไม่ให้การแก้รัฐธรรมนูญสามารถเกิดขึ้นโดยง่าย
- การจะแก้รัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องได้รับการยินยอมจากทาง สว. เสียก่อนเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด ซึ่ง สว. ล้วนมีที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทำให้ทั้งหมดมีความเป็นเอกภาพที่ขึ้นตรงต่อ คสช. นั่นหมายความว่า การที่รัฐธรรมนูญจะแก้ได้นั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับไฟเขียวจากทาง คสช. เสียก่อน
- หากต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญบางหมวดจะต้องมีการทำประชามติ
- ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ถึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ณัชปกรชี้ว่า การจะก้าวข้ามข้อจำกัดทั้ง 3 นั้น ประชาชนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองอย่างไร จะต้องมี “มติมหาชน” ที่เห็นพ้องตรงกันว่าควรจะมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยยกตัวอย่างจากเมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งถือว่าเป็นฉบับที่มีการยึดโยงกับภาคประชาชนมากที่สุด เหตุเพราะมีประตู 3 บานสำคัญที่เอื้อให้การแก้รัฐธรรมนูญสามารถเกิดขึ้นได้
- มีการเคลื่อนไหวในกลุ่มของภาคประชาชนที่ต้องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ไปสู่ 2540
- แรงผลักดันจากกลุ่มของนักวิชาการ
- การผลักดันในทางการเมืองตั้งแต่สมัยของบรรหาร ศิลปอาชา ที่พร้อมจะเปิดประตูให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่ในปัจจุบัน ประตูทั้งสามบานถูกเปิดครึ่ง ๆ กลางๆ ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เห็นได้ชัดเจนจากการที่มีสถาบันทางการเมืองบางสถาบันที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้กันอยู่ ทำให้สังคมไม่อาจมีมติมหาชนได้อย่างแท้จริง
ณัชปกรมองว่า สิ่งสำคัญที่คนทั่วไปอาจจะยังมองไม่เห็น นั่นก็คือการแก้รัฐธรรมนูญนั้นสัมพันธ์กับเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นอย่างมาก เหตุเพราะมันเกี่ยวข้องกับกติกาในการเลือกตั้ง รวมไปถึงนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ
“ตอนที่พวกเราไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เราทุกคนมีความฝันอย่างมากที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศ แต่พอหลังเลือกตั้งมาหลายเดือน เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทำให้เห็นว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มันทำให้การเลือกตั้งมันไร้ความหมาย ผมขอตั้งฉายารัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับขี้ตู่ หมายความว่าทุกอย่างมันถูกทึกทักเอาเอง ทึกทักที่หนึ่ง มองว่าประชาชนตอนที่ไปเลือกตั้งคือเลือกคนเท่ากับเลือกพรรค เพราะใช้ระบบแบบจัดสรรปันส่วนผสม ย่อ ๆ ว่า MMA (mixed member apportionment system) ทำให้เหลือบัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว ทั้งที่แต่ก่อนมีสองใบ เลือกคนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ด้วยว่าเป็นพรรคที่เราชอบหรือเปล่า ระบบเลือกตั้งแบบนี้มันทำให้ระบบการเมืองตั้งแต่ปี 40 – 50 ที่ผ่านมามันล้มเหลว”
“ตอน 40 เราต้องการสร้างรัฐบาลกับรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งเพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภาสำหรับการจะผลักดันนโยบาย แต่พอใช้ระบบนี้ มันกลายเป็นการไปยึดโยงกับตัวบุคคล เอื้อให้กับบางพรรคที่พยายามชูประเด็นบุคคล เราจะเห็นว่ามีการใช้ยุทธศาสตร์ พลังดูด เพราะระบบเลือกตั้งแบบนี้มันเอื้อกับการเลือกตัวบุคคล ทำให้การสร้างนโยบายระดับชาติมันอ่อนแอ มันเลยไม่น่าแปลกใจที่ทำไมนโยบายของพลังประชารัฐมันถึงคล้ายกับนโยบายของพรรคอื่น เพราะเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายระดับชาติ แต่ให้ความสำคัญกับ สส. ที่ดูดมา ถามว่าเรื่องนี้มันสัมพันธ์กับปากท้องยังไง? ถามว่าวันนี้มีลูกจ้างคนไหนบ้างที่ได้ค่าจ้างวันละ 450 บาทตามนโยบายของ พชปร. ไม่มี มันทำไม่ได้! เขาไม่ได้ต้องการทำจริง ๆ แค่ต้องการขายให้มันเว่อร์ ทึกทักที่สอง เอา สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคนแค่ 9 – 12 คน มาเลือกนายก ประชาชนคนเป็นล้าน ๆ กลับไม่มีสิทธิในการเลือกนายก ขี้ตู่ชัดๆ”
“ขี้ตู่สุดท้าย ตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขายฝันกันมากเลยว่าจะเป็นฉบับปราบโกง เขียนเลยว่าคุณสมบัติรัฐมนตรีจะต้องซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ถ้ามันบังคับใช้ได้จริง ทำไมเราถึงยังเห็นคนที่มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นถึงยังดำรงตำแหน่งอยู่ได้โดยที่องค์กรอิสระก็ไม่ได้ตรวจสอบ แต่พอกลับกัน พอเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างคุณธนาธรนี่โดนเละเลย องค์กรอิสระใช้อำนาจเชิงรุกอย่างชัดเจนในการตรวจสอบพรรคฝ่ายค้าน ทำให้เรากลับไปสู่คำถามที่ว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องทำมติมหาชนแล้วหรือยังเพื่อที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียที”
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะเปิดประตูทั้งสามบานพร้อม ๆ กัน แต่ทางด้านธนพรเองก็เห็นตรงกันกับทางตัวแทนของทาง I-Law เพราะมองว่าการสร้างมติมหาชนจะช่วยไปลดทอนความชอบธรรมของประตูอีกสองบาน
“การจะจัดการกับประตูสองบานที่เหลือที่เป็นอุปสรรคอย่าง สว. และ สส. ที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นจำเป็นต้องอาศัยมติร่วมกันของทั้งสังคม ว่ากติกาที่เป็นอยู่มันทำให้บ้านเรามันถอยลง ไม่ว่าจะชอบใคร เชียร์ใคร แต่ทั้งสังคมต้องมีมติร่วมว่า ต่อให้คนที่ฉันชอบถูกเลือกมาบริหารประเทศ แต่มันก็ยังตอบโจทย์ของฉันไม่ได้ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ สิ่งที่เราร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรไหน ผมเชื่อว่าเราต้องสร้างมติมหาชนให้ได้ก่อนซึ่งสำคัญที่สุด สร้างความเห็นพ้องในความต่าง ถ้าไม่แก้ตรงนี้ก็ไปต่อไม่ได้”
“จากปัญหาที่ทางไอลอว์ได้ยกมาพูด มันมีปัญหาใกล้ตัวที่จะเป็นปัจจัยให้คนเห็นพ้องว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แถมยังเอื้ออำนวยให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่สอง แผนสภาความมั่นคงเองก็ถูกออกแบบโดยรัฐบาลและรัฐธรรมนูญที่ไม่พร้อมรับมือกับปัญหาอย่างภัยธรรมชาติและอื่น ๆ สิ่งที่พวกเราเจอนี่แหละจะกลายเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนในสังคมเห็นพ้องกันว่ามันต้องแก้”
ในวันที่ความเปลี่ยนแปลงยังเป็นไปได้
หลังจากที่วิทยากรทั้ง 3 ได้เล่าถึงประเด็นเรื่องความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ณัฏฐาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สังคมทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการสะสมหลักฐานความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อที่จะสร้างให้เกิดกระแสอันจะนำไปสู่การเร่งให้เกิดการแก้ไขรับธรรมนูญในสภา หรืออย่างน้อยที่สุด เพื่อที่จะให้คนในสภารู้สึกเกรงใจสังคมข้างนอกเวลาที่ต้องออกเสียงทางการเมือง ธนพรได้ขยายความเพิ่มเติมต่อเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการที่สังคมจะต้องมีมติร่วมเพื่อให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ
“ผมขอยกตัวอย่าง ถ้าจำนวนมือในสภาสำคัญที่สุด ป่านนี้เราคงมีนิรโทษกรรมสุดซอยไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 54 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสิ่งนั้นมันไม่ตอบโจทย์สังคมข้างนอก มันก็ไปต่อไม่ได้ แม้จะมีตัวชี้ขาดเป็นจำนวนมือที่ยก แต่เราต้องยอมรับว่ากระแสสังคมมีอิทธิพลต่อการยกมือของคนในสภาแน่ ๆ สำหรับประตูทั้งสองบานที่เหลือ เล่าจากประสบการณ์ชีวิตผม สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเนื้อเดียวกัน แท้จริงอาจจะมีรอยแยกก็ได้ ถ้าทุกฝ่ายในภาคสังคมเห็นตรงกัน โอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงมันก็ยังเป็นไปได้”
อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องทางการเมืองโดยภาคประชาชนเองนั้นไม่สามารถทำได้แค่แต่เพียงบนโลกออนไลน์ เรายังจำเป็นต้องอาศัยการชุมนุมทางกายภาพเพื่อกดดันรัฐบาลให้ฟังเสียงของประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเวลานี้นั่นก็คือ หากออกมาเคลื่อนไหวแล้ว ตัวคนที่ออกมาจะปลอดภัยหรือไม่? จะสามารถทำตามสิทธิของตัวเองตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้หรือไม่? ณัฏฐาได้ส่งต่อคำถามดังกล่าวให้กับทางศุภณัฐเพื่อให้ช่วยขยายความต่อ
“ตอนนี้กลไกทางกฎหมาย ทางรัฐธรรมนูญ ช่วยให้เราสามารถใช้สิทธิในการชุมนุมได้ อีกทั้งคำสั่ง 3/58 มาตรา 12 ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว ถ้าถามว่า ใช้เสรีภาพจะได้รับความปลอดภัยไหม? มันก็ยากที่จะการันตีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราเห็นการชุมนุมหลายครั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าชุมนุมโดยสงบ ก็ยังถูกดำเนินคดีได้ตลอดด้วยเครื่องมือของ คสช. ที่ยังค้างอยู่ในระบบ อย่างที่มีทหารคนหนึ่งที่มักจะไปแจ้งความต่อคนที่วิจารณ์รัฐธรรมนูญและรัฐบาลชุดนี้ ถามว่าจะปลอดภัยไหม? ถ้าเราชุมนุมอย่างสงบ พูดในสิ่งที่เป็นความจริง ผมคิดว่า เราปลอดภัยในระดับหนึ่ง”
“ปัจจัยหนึ่งในการทำรัฐธรรมนูญ จะต้องมีกระบวนการทำประชามติ แต่ประชาชนจะปรากฏตัวได้จะต้องได้รับเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ถ้ามีกฎหมายที่เข้ามาจำกัด อย่าง พรบ. ชุมนุมที่สร้างขั้นตอนยุ่งยากให้กับการชุมนุม เราก็จำเป็นต้องดูว่ากฎหมายตัวนี้ว่าสมควรบังคับใช้ต่อไปไหม? อาจจะต้องมีการปรับแก้ พรบ. ชุมนุม ในส่วนกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพต้องมีการทบทวนใหม่”
นอกเหนือจาก พรบ. ชุมนุมแล้ว กฎหมายอีกตัวหนึ่งที่สมควรถูกนำมาทบทวนนั่นก็คือ พรบ. คอมฯ ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องของการใช้เสรีภาพในการแสดงออกผ่านทางสื่อออนไลน์
“กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ พรบ. คอมฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ในปัจจุบัน การโพสต์สิ่งที่เรียกว่าเฟคนิวส์ในความหมายของรัฐบาลชุดนี้คือการโพสต์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาล ที่ศูนย์เองก็ต้องทำคดีแบบนี้เป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์คนที่มีอำนาจ ซึ่งไม่ใช่ข่าวเท็จในความหมายแบบนั้น ถ้าคนสามารถแสดงความเห็นได้ ก็จะรวมตัวได้ สามารถออกมาต่อต้านกฎหมายที่เป็นภาระต่อประชาชนซึ่งก็สมควรที่จะถูกยกเลิกไป”
สำหรับการแก้กฎหมายทั้ง 2 ตัวข้างต้นที่ส่งผลต่อขีดจำกัดในการแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชน ณัฏฐาได้ฝากเรื่องนี้ไปถึงเหล่า สส. ในสภาเพราะกฎหมายทั้ง 2 ตัวนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องถูกแก้ไข แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากก็ตามเพราะอาจจะมีพรรคร่วมที่ไม่สนับสนุน แต่สำหรับเธอ เธอมองว่า นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างเครื่องมือโดยทุกฝ่าย เพื่อให้สังคมสามารถก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยไม่เกิดการปะทะทางกายภาพบนถนน
จะ “แก้” หรือ “ร่างใหม่”?
คำถามสำคัญในช่วงสุดท้ายของงานเสวนามุ่งประเด็นไปที่เรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าสมควรที่จะต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้เฉพาะเพียงบางมาตราเท่านั้น ต่อคำถามข้างต้น ณัชปกรได้ชี้เห็นถึงตัวเลือก 3 ทาง พร้อมกับวิเคราะห์ว่าแต่ละตัวเลือกมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร
“ทางเลือกทั้ง 3 ทาง ทางแรก แก้บางมาตรา ทางที่สอง เอารัฐธรรมนูญฉบับ 40 กลับมาใช้ ทางที่สาม ร่างใหม่ ทั้งสามทางมีบางจุดที่เป็นเนื้อเดียวกันอยู่ หนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ 40 คนชอบเยอะเพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตอนที่เขาร่างกันประตูสามบานมันเปิดหมด อันนี้เป็นไอเดียหนึ่ง”
“อีกสองทาง เราจะเลือกทางไหน ก็ต้องมานั่งคิดว่าวิธีไหนที่ัมันเข้าได้กับทุกคนมากที่สุด จะร่างใหม่ทั้งฉบับแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วมแบบเดียวกับร่างเมื่อปี 40 สองคือ แก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ แต่ส่วนตัวผมมองว่าแก้ทั้งหมดคือหนทางเดียวที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจ ได้มานั่งคุยกัน การร่างทั้งฉบับ เรามีตัวแบบคือ สสร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) 2539 – 40 แต่ปัจจุบัน มันมีความแตกต่างเพราะมันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่เป็นโดยอ้อม มีการเสนอชื่อเข้ามาแล้วให้สภาคัดเลือก อนุมัติเห็นชอบอีกที แต่สเต็ปนี้ ผมมองว่า สสร. จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงเลย สอง รัฐธรรมนูญ 40 ที่มันถูกวิจารณ์ เพราะถูกผูกขาดโดยเหล่าวิชาชีพทั้งหลาย ถ้าเราร่างฉบับใหม่ เป็นไปได้ไหมที่นักวิชาการจะเปลี่ยนตัวเองเป็นพี่เลี้ยงให้ประชาชนแทน? สอนเขาว่าหลักการคืออะไร จากนั้นก็ต้องทำให้มันง่ายและคนทั่วไปเข้าใจ แล้วทุกคนจะหวงแหนสิ่งที่เราสร้างมาด้วยกัน แสวงหาฉันทามติร่วม ทุกฝ่ายต้องเรียกร้องให้เกิดการถกเถียงกันให้ได้ ไม่ใช่ด่าแล้วจบกันไป แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เป็นท่าทีสำคัญในการสร้างฉันทามติ”
ธนพรแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกับทางไอลอว์ในประเด็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญโดยอาศัยเสียงของประชาชนเป็นหลัก รวมไปถึงที่มาของ สสร. ซึ่งไม่ควรมาจากการแต่งตั้ง
“เรื่องนี้เห็นพ้องกันในหมู่คนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญสูตรไหน จะร่างต้องไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ สสร. เองจะมีที่มาแบบ สว. ไม่ได้ ประชาชนต้องไว้ใจตัวเอง ในการร่าง เราไม่จำเป็นต้องได้ร่างแค่ร่างเดียว อาจมีหลายร่าง แล้วเอาทั้งหมดไปถามกับประชาชน เป็นการประนีประนอมกับคนที่เห็นต่างในรายละเอียด ถ้าทำแบบนี้ได้ ทุกคนก็จะสนิทใจเพราะร่างของแต่ละฝ่ายได้รับการพิจารณา จุดยืนคือเราต้องแก้ทั้งฉบับ เพราะมาตราที่ถูกเลือกมาแก้อาจไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาที่มีอยู่ กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต กลับสู่วงเวียนรัฐประหารเหมือนเดิม”
“ประเด็นที่สาม รูปแบบในการทำงานของภาคประชาชน การจะสื่อสารให้เห็นพ้องกันในสังคมต้องมีความหลากหลายกว่าเดิม แทนที่จะชุมนุม เราอาจจะใช้การเคลื่อนไหวผ่านทางออนไลน์ช่วยด้วย อย่างที่ฮ่องกง มีการใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการสื่อสารที่หลากหลายจนเกิดฉันทามติขึ้นมาได้ ช่องทางในการสร้างความเห็นพ้องไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช่องทางเดียว แล้วทำไมการลงประชามติถึงต้องรอให้ กกต. จัด ทำไมภาคประชาชนลงประชามติกันเองไม่ได้ทั้ง ๆ เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สงบและเราก็สามารถทำได้ แม้ว่ามันจะยาก แต่ถ้าเราตั้งใจเดินไปแก้ มันแก้ได้ เหนื่อยก็ต้องเหนื่อย ไม่มีอะไรที่เราจะเปลี่ยนได้โดยที่เราไม่เหนื่อย”
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงตอบคำถาม ณัฏฐาได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่ต้องการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตัวอย่างเช่น หากโดยเรียกตัวไปสอบ ข่มขู่ หรือขอดูมือถือ (ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือกับกระบวนการควบคุมตัวนอกกฎหมายได้ที่ ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง) ถ้ามีความรู้พื้นฐานเรื่องสิทธิบ้างก็จะช่วยให้รับมือกับการถูกละเมิดได้ดีขึ้น
หรือเราจะต้องหวนกลับสู่วังวนของ “ความขัดแย้ง”?
หนึ่งในผู้ที่มาในงานเสวนาได้สอบถามทางวิทยากรเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องมุมมองของคนบางกลุ่มในสังคมที่มองว่า การออกมาแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งอีกครั้ง และคำถามสำคัญที่สุดที่ว่า ถ้าเราเลือกที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญแล้ว สุดท้ายปลายทางที่รอพวกเราทุกคนอยู่คืออะไร?
ณัชปกรตอบข้อสงสัยดังกล่าวโดยการชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงของความสัมพันธ์ซี่งย่อมต้องมีความขัดแย้งซ่อนอยู่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐกับประชาชน หรือประชาชนกับประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญนี่เองที่จะช่วยเข้ามาจัดการความขัดแย้งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับบิดเบือนเสียงของประชาชน ก่อให้เกิดเป็นวังวนของความขัดแย้งที่ไม่รู้จบหากปล่อยทิ้งไว้
“ชัดเจนที่สุดคือเสียงข้างมากเลือกนายกไม่ได้ แต่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ อีกทั้ง สว. ยังได้อำนาจพิเศษในการรับรองกฎหมาย และการปฏิรูป เสียงของคนที่ถูกแต่งตั้งเข้ามากลับใหญ่กว่า 250 เสียงที่มาจากการเลือกตั้ง ผมคิดว่านี่จะเป็นความขัดแย้งไม่รู้จบ เราจะต้องรอให้ประชาชนออกมาสู่ถนนก่อนเหรอถึงจะตระหนักเรื่องนี้ได้ เรามีบทเรียนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายฉบับซึ่งก็เกิดจากการลงถนนเหมือนกัน ลงถนนกันไม่รู้จบ เราต้องถามชนชั้นนำว่า คุณให้ค่าชีวิตคนขนาดไหน? ถ้าให้ค่ากับชีวิต คุณจะต้องบริหารความสัมพันธ์กันใหม่ หาฉันทามติใหม่ที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าไม่แก้วันนี้ อีกกี่ชีวิตก็ไม่คุ้ม อาจจะมีความขัดแย้งบ้าง แต่มันเป็นความขัดแย้งในระบบ เรามาเถียงกันในสภาได้ ประชาชนออกไปชุมนุมได้ ไม่มีใครถูกจับ เคลื่อนไหวแบบนี้สังคมมันไปต่อได้”
ความขัดแย้งเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ธนพรกล่าวเสริม พร้อมชี้ว่า สังคมจะต้องมองให้เห็นความสร้างสรรค์ของความขัดแย้ง
“นอกจากปัญหาโครงสร้าง การใช้ชีวิตประจำวัน แทบทุกโจทย์มันมีความเห็นที่ไม่ตรงกันเสมอ ผมมองว่ากติกาที่มันมีอยู่ในตอนนี้มันส่งเสริมให้ความเห็นที่ไม่ตรงกันมันลามไปเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นทุกวัน ถ้าอย่างนั้น เราควรจะอดทนเพื่อมาเถียงกันรอบใหญ่รอบเดียวเลยดีกว่าไหม? ดีกว่าจะต้องขัดแย้งกันทุกเรื่องทุกราว ทุกคนจะต้องมองความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ เพราะการแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ การชุมนุมเป็นเรื่องปกติ”
ก่อนจะจบงาน ณัฏฐาได้ทิ้งท้ายมุมมองที่ชวนให้หลายคนต้องไปขบคิดต่อ โดยเฉพาะมายาคติที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นเพื่อพยายามเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนให้กลายเป็นสิ่งที่ดูชั่วร้าย และนี่คือพันธกิจสำคัญของสังคมไทยที่จะต้องสร้างฉันทามติเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่สังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์
“5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะทำให้การชุมนุมและความขัดแย้งกลายเป็นปีศาจ เป็นเรื่องไม่ปกติ ทั้ง ๆ ที่มันคือหัวใจของการอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยที่มันจะไม่เรียบร้อยเหมือนในค่ายทหาร แต่มันจะเหมือนตลาดสดหรือตลาดนัด ที่เราต่างคนต่างมีอะไรมานำเสนอ แต่ที่ผ่านมาตลอด 5 ปี เราถูกทำให้มองว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องไม่ปกติ การชุมนุมของประชาชนถูกมองว่าเป็นอาชญากรรม แต่เมื่อไหร่ที่เครื่องมือเหล่านี้ถูกทำให้เป็นเรื่องไม่ปกติ อำนาจของประชาชนจะหายไปเลยเพราะถูกปิดปากด้วยคำว่าวุ่นวาย ก่อความไม่สงบ”
“สิ่งที่เรามาบอกกัน ถ้าไม่แก้ทุกอย่างจะยิ่งแย่เพราะมันคือการซุกปัญหาใต้พรม ทุกวันนี้เราเหมือนอยู่ในบ้านหลังหนึ่งที่มันมีข้อบกพร่องเต็มไปหมด มีสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่กลับมีคนคนหนึ่งเขียนกฎขึ้นมาว่าห้ามซ่อม แล้วถ้าเรายอมที่จะอยู่ในบ้านหลังนี้แบบไม่ซ่อม หลีกเลี่ยงที่จะเถียงกันว่าทำไมเราถึงต้องซ่อม เราก็จะอยู่ในบ้านที่ไม่รู้ว่าวันไหนมันจะพังลงมา”