29 ตุลาคม 2562 เวลา 18.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา “หยุด ย่ำ ซ้ำ รอยเดิม” เพื่อเปิดตัวหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร: ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” โดยมี มนทนา ดวงประภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นำเสนอสรุปเนื้อหาของหนังสือ
สามารถดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่ https://tlhr2014.com/?wpfb_dl=112
.
.
.หนังสือข้อเสนอการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ
มนทนาสรุปวัตถุประสงค์ของหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร” ว่าเป็นการรวบรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ภายใต้ระบอบการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จนถึงช่วงเวลาที่ คสช. หมดสิ้นอำนาจลง และจัดทำเป็นข้อเสนอในการจัดการความเสียหายและผลพวงในช่วงเวลาดังกล่าวที่ยังคงมีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการ ไปสู่สังคมที่เคารพหลักนิติรัฐและสิทธิมนุษยชน
.
สาระของหนังสือเล่มนี้มีอะไรบ้าง
ประการที่ 1 หนังสือรวบรวมผลพวงรัฐประหารในมิติ กฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม จากการติดตามพัฒนาการการใช้อำนาจรัฐ พบว่ามีรูปแบบการรับรองอำนาจการรัฐประหารอย่างกว้างขวาง พบรูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี และพบรูปแบบความเสียหายและผลพวงที่ควรได้รับการเยียวยาและชดเชย จัดการต่อไป
ประการที่ 2 หนังสือให้รายละเอียดถึงปัญหาในกระบวนยุติธรรมทางอาญาหลังการรัฐประหาร 2557 รวมถึง “ขั้นตอนส่วนเกิน” ของเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามารวบรวมข้อเท็จจริง ช่วงที่มีการเรียกตัวไปพูดคุย การจับกุม และการควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร หรือที่อื่นๆ อันมิใช่สถานที่คุมขัง ก่อนที่ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะไหลเข้าสู่สายธารกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการได้รับขั้นตอนเหล่านี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา
ประการที่ 3 ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ศูนย์ทนายสิทธิฯ นำเสนอรายละเอียดข้อเสนอต่อสาธารณะ อันประกอบด้วยข้อเสนอ 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการจัดการผลพวงของกฎหมายและคำพิพากษา
ส่วนที่ 2 ว่าด้วยการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการเยียวยาและชดเชยความเสียหาย
ส่วนที่ 4 ว่าด้วยการจำกัดอำนาจของกองทัพในกิจการของพลเรือน
.
.
ทำไมต้องจัดการผลพวงการรัฐประหาร
มนทนาสรุปตัวเลขสถิติขั้นต่ำของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ศูนย์ทนายสิทธิฯ ติดตามข้อมูลตลอด 5 ปีกว่าของการรัฐประหาร ได้แก่
929 คือ จำนวนบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวในค่ายทหารหรือเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ ซึ่งถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
572 คือ จำนวนบุคคลที่ถูกข่มขู่ คุกคาม และติดตามถึงที่พัก โดยเจ้าหน้าที่รัฐในยุค คสช.
1,211 คือ ตัวเลขรวมของบุคคลที่ถูกดำเนินคดี สืบเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม
102 คือ จำนวนขั้นต่ำที่คาดว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากความหวาดกลัวในภัยคุกคามต่อชีวิต
ตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550, การออกสิ่งเสมือน “กฎหมาย” ที่เรียกว่า “ประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.” และการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติโดยองคาพยพของ คสช. ที่ชื่อว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าแทรกแซงและชี้นำกระบวนการยุติธรรม
นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงบทบาทของสถาบันตุลาการที่รองรับความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ของการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง และรับรองเอกสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐมิให้ต้องรับผิด ผ่านการจัดทำคำพิพากษา/คำวินิจฉัย ที่พบได้ทั้งในศาลทหาร ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ
(คลิกเพื่อดูภาพใหญ่)
.
สรุปข้อเสนอจัดการผลพวงรัฐประหาร
ในหนังสือเล่มนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้นำเสนอการจัดการผลเสียหายและผลพวงที่เกิดจากการรัฐประหาร และการใช้อำนาจของ คสช. ไว้ใน 8 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การแก้ไขและยกเลิกกฎหมายต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้รัฐบาลทหารที่นำโดย คสช.
2. การทำให้สิ้นผลไปซึ่งคำพิพากษา ที่ไม่ว่าออกโดยศาลใด แต่รับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหาร สร้างเอกสิทธิ์ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ และวินิจฉัยตามกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน อันสามารถนำไปสู่ผลักดันให้เกิดการลงโทษบุคคลดังกล่าว
3. การสนับสนุนให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และความเป็นธรรม โดยรับรองหลักความเป็นอิสระ ความเป็นกลางของสถาบันตุลาการ และต้องนำทหารออกจากกระบวนการยุติธรรม ด้วยการยุติการนำศาลทหารมาใช้พิจารณาคดีพลเรือน และอำนวยการให้โอนย้ายคดีด้วยความเรียบร้อย ตลอดทั้งยุติการนำพยานหลักฐานที่ได้มาจากการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในพิจารณาคดีต่อบุคคลนั้น
4. การเปิดเผยข้อมูลที่จัดเก็บโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งนำมาสู่การข่มขู่ คุกคาม และละเมิดซึ่งสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐานของประชาชน และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมให้กลุ่มบุคคลที่ถูกประทับตราว่ากระทำผิดในยุค คสช. ที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม
5. การสร้างกลไกการค้นหาความจริงผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบรูปแบบและลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการใช้อำนาจโดยมิชอบภายใต้การบริหารของรัฐบาลทหารที่นำโดย คสช.
6. การเยียวยาผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการกำหนดนิยามผู้เสียหาย ประเภท ลักษณะ และระดับความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลอันเนื่องมาจากการรัฐประหาร และเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเยียวยาชดใช้ให้บุคคลดังกล่าว โดยวิธีการทั้งที่อยู่ในรูปแบบตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน
7. การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยอย่างน้อยที่สุด ต้องสามารถระบุบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระดับการกำหนดนโยบาย การสั่งการ การปฏิบัติ และการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ซึ่งนำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เพื่อประโยชน์ในการนำตัวบุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป
8. การจำกัดอำนาจของกองทัพ ภายใต้หลักการความเป็นใหญ่ของพลเรือนเหนือทหาร ต้องควบคุมการใช้อำนาจของกองทัพที่มีเหนือหรือแทรกซึมเข้าไปในงานพลเรือนในมิติต่าง ๆ
โดยสรุป หนังสือเล่มนี้เป็นเพียงความพยายามเบื้องต้นเพื่อก่อร่างสร้างนิติรัฐ โดยหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการยืนยันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูประชาธิปไตยต่อไปในสังคมไทย
.
ติดตาม Never Again : หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน in Bangkok นิทรรศการว่าด้วย “พยานหลักฐาน” การละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุค คสช. ระหว่างวันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2562 สถานที่ WTF Café & Gallery ซ.สุขุมวิท 51
.