จับตาสภาประชุมพิจารณารายงานผลกระทบคำสั่ง/ประกาศ คสช. เรื่องศาลทหาร-เสรีภาพการแสดงออก

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 29 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ระหว่างวันที่ 19 และ 20 ก.พ. 63 มีระเบียบวาระการประชุมในเรื่องการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 ฉบับ ที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภา

รายงานสองฉบับดังกล่าว ได้แก่ รายงานเรื่อง “ผลกระทบจากประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. กรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน” (ดาวน์โหลด รายงานฉบับเต็ม)  และรายงานเรื่อง “การทบทวนกระบวนการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ” (ดาวน์โหลด รายงานฉบับเต็ม)

สำหรับรายงานฉบับแรกนั้น จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งคณะกรรมาธิการได้มีมติให้จัดตั้งขึ้น ประกอบไปด้วยคณะทำงาน 7 คน ได้แก่ ปิยบุตร แสงกนกกุล, รังสิมันต์ โรม, สาวตรี สุขศรี, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ศุภณัฐ บุญสด, พูนสุข พูนสุขเจริญ และกรณ์ ศินารักษ์ ณ จำปาศักดิ์

รายงานของคณะทำงานฉบับนี้ ได้นำเสนอผลกระทบของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในสามหัวข้อใหญ่ ได้แก่ เรื่องการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร, การจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน โดยมีข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในหัวข้อต่างๆ ดังกล่าวด้วย

เสนอแก้ไขกฎหมายไม่ให้พลเรือนถูกพิจารณาในศาลทหารอีก และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบยุค คสช.

ในปัญหาเรื่องการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร รายงานได้นำเสนอสภาพปัญหาดังกล่าวในยุค คสช. ซึ่งคณะรัฐประหารได้มีการออกประกาศ คสช. 3 ฉบับ กำหนดให้พลเรือนที่ถูกกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและการฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่งคสช. ต้องถูกพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร โดยข้อมูลถึงเดือนเมษายน 2561 มีจำนวนพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 1,886 คดี นับเป็นจำเลยจำนวน 2,408 คน โดยศาลทหารยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและปราบปราบพลเรือนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร

สภาพการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารก่อให้ปัญหาต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to a fair trial) ของประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งการที่พลเรือนถูกพิจารณาโดยศาลทหารที่ไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทั้งในแง่องค์กรและการบริหารงานบุคคล, หลายคดีที่จำเลยถูกดำเนินคดีในช่วงประกาศกฎอัยการศึก จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์-ฎีกาคำพิพากษา, การพิจารณาคดีของศาลทหารที่กระทบต่อการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนจำนวนมาก เช่น การไม่ให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาและพยานหลักฐานในคดี การพิจารณาคดีลับหลัง การพิจารณาคดีที่ล้าช้าจนทำให้จำเลยที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องอยู่ในเรือนเป็นระยะเวลานาน การไม่เบิกตัวจำเลยมาในวันที่อัยการทหารดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล การไม่แจ้งนัดให้ทนายความทราบล่วงหน้าในวันสอบคำให้การจำเลย เป็นต้น

จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทางคณะทำงานของกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาไว้ 4 ประการใหญ่ ได้แก่

1. เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในการจำกัดเขตอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนของศาลทหาร ได้แก่ (1) แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 เพื่อรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของบุคคลที่เป็นพลเรือนซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ไม่อาจถูกพิจารณาโดยศาลทหาร และ (2) ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 7 มาตรา 7 ทวิ และมาตรา 7 ตรี เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน

2. จัดการกับคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยแบ่งเป็นข้อเสนอต่อคดีประเภทต่างๆ ได้แก่

  • (1) กำหนดให้พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. และเป็นคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาและไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาจากการถูกดำเนินคดีต่าง ๆ
  • (2) กำหนดให้คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของคสช. และเป็นคดีที่ถูกโอนกลับให้มาอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 9/2562  ให้ศาลยุติธรรมดำเนินการจำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบการพิจารณาคดีของศาล และให้จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาจากการถูกดำเนินคดีต่าง ๆ
  • (3) กำหนดให้คดีที่พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติในกฎหมายอื่น ๆ และเป็นคดีถึงที่สุดแล้ว ให้จำเลยมีสิทธิที่จะขอพิจารณาคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดในศาลยุติธรรม หรือมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลยุติธรรม
  • (4) กำหนดให้คดีที่พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากข้อหาว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติในกฎหมายอื่น ๆ และเป็นคดีที่ถูกโอนกลับให้มาอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 9/2562 ให้จำเลยมีสิทธิที่จะขอให้ศาลยุติธรรมดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดได้

3. ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง โดยเสนอให้รัฐสภามีการตรากฎหมายจัดตั้งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบรูปแบบการใช้อำนาจและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายหลังการรัฐประหารปี 2557 ในรูปแบบคณะกรรมการ (A Truth Commission) ที่มีหน้าที่ในการค้นหาความจริงตามหลักการสิทธิที่จะทราบความจริง (Right to Truth) ของผู้เสียหาย ครอบครัว และสังคมโดยรวม และมีอำนาจในการเก็บรักษาพยานหลักฐาน นำมาสู่เปิดเผยข้อค้นพบหลังจากการค้นหาความจริงต่อสาธารณะ โดยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเอกสารหรือหลักฐานอันเป็นสาระสำคัญอย่างเป็นทางการ (Official  Archives)

4. รัฐแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาสมควรออกแถลงการณ์ขอโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับข้อเท็จจริงที่ได้ร่วมกันค้นหาและผลกระทบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสดงการรับรองว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ (Guarantees of non-repetition)

 

เสนอกสทช.-กองทัพ เปิดเผยข้อมูลการปิดกั้นสื่อ ยกเลิกคำสั่งคสช. มีกระบวนการชดเชยเยียวยาสื่อ

ส่วนปัญหาเรื่องการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน รายงานได้สรุปถึงประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน โดยแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่

  1. ประกาศ/คำสั่ง คุมสื่อหลัก ให้อำนาจ กสทช. ตีความและลงโทษ โดยเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ซึ่งมีผลให้ กสทช. มีอำนาจตรวจสอบ และอาจสั่งลงโทษปรับเจ้าของสถานี หรือสั่งงดออกอากาศ หรือสั่งปิดสถานีที่ฝ่าฝืนก็ได้ และยังกำหนดให้การออกคำสั่งของ กสทช. เพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสาร เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดใดๆ ในทางปฏิบัติ นอกจากการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของ คสช. โดยตรงแล้ว สื่อโทรทัศน์ขนาดใหญ่หลายแห่งยังให้ข้อมูลตรงกันว่า คสช. ใช้วิธีการอื่น เช่น การเชิญไปพูดคุย การส่งหนังสือตักเตือน โดยไม่ต้องอ้างอิงอำนาจตามประกาศ ส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์เนื้อหาในสื่อไม่ต่างกัน

2. ประกาศสามฉบับคุมสื่อออนไลน์ ห้ามเนื้อหายุยงปลุกปั่น ได้แก่

  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ระงับการให้บริการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้าน คสช.
  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 17/2557สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตาม ตรวจสอบ และระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่บิดเบือน ยุยงปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557ให้อำนาจแก่ปลัดกระทรวงไอซีที ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีอำนาจตรวจสอบหรือเข้าถึงข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่แพร่เนื้อหาเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนต่อต้าน คสช. และสามารถสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว

จากสภาพประกาศคำสั่งดังกล่าว ทางคณะทำงานของกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหา ได้แก่

1. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กสทช. และเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่เคยปฏิบัติงานเพื่อควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนภายใต้ยุคสมัยของ คสช. ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดว่า มีกระบวนการ “ขอความร่วมมือ” หรือสั่งห้ามการนำเสนอข่าวสารประเภทใดบ้าง ด้วยเหตุผลใดบ้าง ต่อสื่อมวลชนใดบ้าง เป็นจำนวนกี่ครั้ง รวมทั้ง กสทช. ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ได้ออกคำสั่งลงโทษสื่อมวลชนไปแล้ว และคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้สื่อออนไลน์ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2577 ก็ต้องเปิดเผยว่า มีใครบ้างและมีกระบวนการทำงานกันอย่างไร เคยมีคำสั่งเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หรือเข้าถึงข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนไปแล้วกี่ครั้ง อย่างไรบ้าง

2. ต้องยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเนื้อหาของสื่อมวลชนทั้งหมด และหากเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็มีความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย เช่นเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบในกรณีปกติ

3. ต้องยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 เพื่อยกเลิกคณะทำงานติดตามสื่อออนไลน์ และยกเลิกกระบวนการที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน และสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล

4. ต้องมีกระบวนการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของ คสช. เพื่อจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยสื่อใดที่เคยต้องจ่ายค่าปรับแล้ว ให้ได้รับเงินค่าปรับคืน ต้องมีกระบวนการเพื่อการประเมินความเสียหายและตีราคาค่าเสียหายเป็นตัวเงิน เพื่อชดเชยให้กับสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ รวมทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกสั่งห้ามออกอากาศเนื้อหารายการ หรือถูกปิดกั้นการเข้าถึง

 

เสนอยกเลิกการดำเนินคดีความผิดตามประกาศ-คำสั่ง คสช. และชดเชยเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดี

ด้านปัญหาเรื่องการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก รายงานได้สรุปประกาศ/คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งส่งผลเป็นการจำกัดควบคุมการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ได้แก่ ประกาศ-คำสั่งเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป , ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือทำกิจกรรม, ความผิดฐานไม่มารายงานตัวตามที่ คสช. เรียก., ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ คสช. โดยรายงานได้มีการยกตัวอย่างคดีและเหตุการณ์การปิดกั้นการแสดงออกต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีเศษในยุค คสช.

การควบคุมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่กล้าที่จะจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกในที่สาธารณะ และสร้างให้เกิดภาพจำขึ้นมาว่า การชุมนุมรวมตัวกันนั้นกลายเป็นสิ่งที่ต้องห้าม หรือสิ่งที่ผิดกฎหมาย

ภาพโดย Banrasdr Photo

ภายใต้ปัญหาดังกล่าว คณะทำงานของกรรมาธิการได้มีข้อเสนอหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. ยกเลิกประกาศ คสช., คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทุกฉบับที่สั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ที่เอาผิดประชาชนฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวของ คสช. ทั้งหมด โดยยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2562 ที่รับรองว่า การยกเลิกประกาศและคำสั่งไม่กระทบกระเทือนต่อการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ถูกยกเลิกแล้วโดยสิ้นเชิง

2. ยกเลิกการดำเนินคดีความตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากเป็นคดีที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีให้ยกเลิกการดำเนินคดีนั้น รวมทั้งยกเลิกหมายจับที่เคยออกไปแล้ว หากเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอีกต่อไป หากคดีใดที่ขึ้นสู่ศาลแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นใด ให้ศาลสั่งสิ้นสุดคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หากเป็นคดีที่ศาลพิพากษาไปแล้วว่า จำเลยมีความผิดและสั่งลงโทษปรับ ให้คืนเงินค่าปรับแก่จำเลย หากศาลพิพากษาให้มีโทษจำคุก ให้ยกเลิกโทษจำคุก หากมีคดีที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในปล่อยตัวทันที และให้จำเลยพ้นจากมลทินของข้อกล่าวหาตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ทั้งหมด

3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เคยถูกจับกุมตัวและคุมขัง ด้วยข้อหาตามประกาศและคำสั่งของ คสช. เหล่านี้ ให้ได้รับค่าชดเชยในอัตราเดียวกับการชดเชยให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีความผิด ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544

สำหรับรายงานของคณะกรรมาธิการเมื่อเข้าสู่การอภิปรายของสภา จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันอภิปรายประเด็นในรายงาน ก่อนถูกส่งไปยังรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ ต่อไป

 

หมายเหตุ นอกจากข้อเสนอในการจัดการผลกระทบของคำสั่ง/ประกาศ คสช. ใน 3 ประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังสามารถพิจารณาข้อเสนอประเด็นอื่นๆ ในหนังสือ “ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร: ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” จัดทำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือได้ที่ https://tlhr2014.com/?wpfb_dl=112

 

X