อ่านอนาคต: ท่ามกลางภาวะอำนาจแตกเป็นเสี่ยง

สภาวะทางการเมืองที่ยังอึมครึม บางคนเรียกว่า “ระบอบที่คาดการณ์ไม่ได้” ส่งผลตรงต่อบรรยากาศสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยที่ยังเปราะบางต่อเนื่อง สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันคิดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพยุงประเทศให้พ้นจากวิกฤตินี้

โอกาสนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนำเสนอบทวิเคราะห์จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 61 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เพื่อประเมินสถานการณ์บ้านเมืองและแนวโน้มของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปี 2562

เชิญทุกท่านอ่านข้อคิดและทัศนะวิเคราะห์จากประจักษ์ ก้องกีรติ

สิทธิเสรีภาพยังตกต่ำต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงที่เห็น ไม่ได้หมายความว่าผู้มีอำนาจยอมรับคำวิจารณ์

ในรอบปีที่ผ่านมา (2561) เพดานของสิทธิเสรีภาพถือว่าไม่ได้มีเปลี่ยนแปลงมาก รวมถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนยังถูกปิดกั้นเหมือนเดิม มีเพียงความเปลี่ยนแปลงบางประการ เช่น การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้มีอำนาจจะผ่อนคลายเสรีภาพมากขึ้น หากแต่เปลี่ยนไปใช้กฎหมายอื่นในการควบคุมประชาชน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือ กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงฯ การเปลี่ยนแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้มีอำนาจยอมรับคำวิจารณ์ได้แล้ว

ระบอบที่เราดำรงชีวิตกันอยู่นี้ ถึงที่สุดคืออำนาจรัฐเผด็จการรวมศูนย์จับมือกับทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่มและตัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนออกไปทุกกลุ่ม โจทย์ต่อไปจึงไม่ใช่เพียงการปราบเสื้อแดงเท่านั้นแต่คือการกดปราบการเมืองมวลชนทั้งเหลือง-แดง เพราะการเมืองมวลชนคือสภาวะวุ่นวายของรัฐเผด็จการรวมศูนย์

สิ่งที่องค์อธิปัตย์ทำต่อไปคือปิดไม่ให้มีการเมืองมวลชนหรือสิ่งที่ผมเรียกว่า “de-politicise” ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทั้งจากการตรึงอำนาจโดยอำนาจรัฐและการใช้ทุนใหญ่เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในนามโครงการต่าง ๆ เพื่อซื้อใจประชาชน แน่นอนเราไม่รู้ว่าซื้อสำเร็จหรือไม่ แต่ด้วยระยะเวลาที่นานมันก็น่าคิด

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปในปีนี้ (2562) คือหากเข้ามาสู่โหมดการเลือกตั้ง โจทย์ทางการเมืองจะเปลี่ยน คำถามคือรัฐทหารกับทุนผูกขาดจะชุบตัวเองอย่างไร จากรัฐเผด็จการแบบปิดมาสู่รัฐอำนาจนิยมที่เปิดบ้าง เพื่อที่จะคุมผลลัพธ์ให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ

เราจึงเห็นว่าตอนนี้เป็นบรรยากาศที่พรรคการเมืองกลับมา มวลชนก็กลับมาคึกคัก เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ คนสามารถออกมาเคลื่อนไหวตามประเด็นของตัวเองได้บ้าง กลุ่มเหมือง แรงงาน คนจนเมือง กลุ่มอนุรักษ์ก็จะกลับมา ที่เคยถูกปิดไว้จะกลับมา ในรูปแบบของการจัดเวทีเสวนาบ้าง ชุมนุมย่อย ๆ บ้าง เชิญพรรคการเมืองมาพูดคุย เวทีเหล่านี้ก็เอามาใช้วิจารณ์รัฐบาลได้ แต่ผมยังเชื่อว่ารัฐอยากจะคุมต่อไป แต่จะไปไม่ถึงการเลือกตั้งกำมะลอแบบกัมพูชา เพราะถ้าไปถึงจุดนั้นรัฐบาลก็รู้ว่าต่อให้ชนะก็จะไม่ได้รับความชอบธรรม

ทางแพร่งของรัฐและการหล่อเลี้ยงความขัดแย้งเอาไว้

การเลือกตั้งที่หากเกิดขึ้นจริงจะมีการคุมเลือกตั้ง ตรงนี้ถือเป็น dilemma ของรัฐ คำถามคือจะคุมแค่ไหน ถ้าคุมถึงระดับการเลือกตั้งสกปรกแบบจอมพล ป. (ปี 2500) คิดว่าไม่น่าได้ ตรงนั้นผมว่าจะเกิดแรงต้านสูง โดยรวมผมคิดว่าระบอบคสช. จึงมีความใหม่โดยตัวเอง คือเป็นรัฐเผด็จการที่พยายามปรับตัวและใช้กฎหมายเยอะมาก หากเปรียบเทียบกับสฤษดิ์หรือรัฐทหารยุคสงครามเย็น เพราะคสช. ใช้กฎหมายจับคนขังคุก มีการซื้อตัว เอ็นจีโอ ปัญญาชน สิ่งนี้ทำให้สามารถสร้างฐานทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง พร้อม ๆ กับหล่อเลี้ยงความแตกแยกให้ดำรงอยู่ต่อไป

เนื่องจากว่าระบอบนี้ได้ประโยชน์จากความแตกแยกสองขั้วที่ดำรงอยู่ และตราบใดที่ความขัดแย้งยังอยู่ มันมีผลกับการเลือกตั้งและการเมืองหลังการเลือกตั้งด้วย เพราะถึงแม้มีคนจะเกลียดคณะรัฐประหารยังไง แต่ต้องยอมรับว่าก็ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่กลัวความขัดแย้ง กลัวความวุ่นวาย กลัวทักษิณ หรือแม้กระทั่งกลัวอำนาจที่คาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ทุกอย่างเจ๊ง

ในเวลาต่อจากนี้คือทุนใหญ่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะรัฐทหารแบบอำมาตยาธิปไตยอ่อนต่างจากยุคสฤษดิ์นิดหน่อยตรงที่ว่าตอนสฤษดิ์ ทุนยังอยู่ในช่วงตั้งต้น แต่ตอนนี้ทุนใหญ่ผูกขาดขยายตัวมาก มีขนาดที่ใหญ่กว่ายุคสฤษดิ์มหาศาล ฉะนั้นโครงการประชารัฐทุนจะเป็นคนนำรัฐเป็นแค่คนเปิดทาง

กติกาใหม่กำหนดการตัดสินใจของประชาชน

ถ้าถามว่ากรณีของพรรคพลังประชารัฐ เหมือนกับโมเดลพรรคสามัคคีธรรมมากน้อยแค่ไหน (พรรคสามัคคีธรรม-พรรคการเมืองที่ทำหน้าที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารรสช. ในปี 2535) ก็ถือว่าคล้ายกัน แต่ดูดได้เยอะกว่า ความท้าทายของพรรคพลังประชารัฐคือตอนเลือกตั้งเมื่อพฤษภาคม 2535 ยังไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ในระบบ ยังไม่มีพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทย ตอนนั้นทุกพรรคการเมืองเป็นพรรคอ่อนคล้ายกับมุ้งการเมือง คุณแค่ไปดูดมุ้งออกมา ก็สามารถสร้างพรรคใหญ่ให้ชนะอันดับหนึ่งได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

ดังนั้นความสำคัญของการเลือกตั้งแบบหลัง 2540 จะลดน้อยลง เพราะการเลือกตั้งรอบนี้จะไม่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ คนจะไม่ได้กาพรรค คนต้องไปกา ส.ส.อย่างเดียว ฉะนั้นการเลือกตัวบุคคลจะกลับมามีความสำคัญ การใช้ระบบหัวคะแนนจะสำคัญ

สิ่งที่น่าจับตามากกว่าคือ การใช้กลไกรัฐไปเอื้อประโยชน์อื่น ๆ พูดง่าย ๆ คือการใช้อำนาจรัฐเข้าไปโกงในระบบเลย โกงผ่านกติกา โกงผ่านการแบ่งเขตเลือกตั้ง ผ่านการกำหนดระเบียบป้ายหาเสียง เกณฑ์การหาเสียง ห้ามหาเสียงด้วยป้ายขนาดใหญ่ ห้ามหาเสียงในโซเชียลมีเดีย การส่งเจ้าหน้าที่รัฐไปประกบหัวคะแนน ห้ามไปหาเสียงช่วยพรรคอื่น ไปกดดันแกนนำชาวบ้าน ห้ามระดมคนไปฟังปราศรัย

การจับตาการเลือกตั้งเป็นหัวใจสำคัญ

การสังเกตการณ์เลือกตั้งจากภาคประชาชนจึงมีความสำคัญ เพราะนานาชาติไม่สามารถเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ การมีกลุ่ม We Watch หรือองค์กรต่าง ๆ เข้าไปสังเกตการณ์ อย่างน้อยที่สุดในเชิงสัญลักษณ์ก็ถือว่าสำคัญ เพราะต่อให้ไม่มีผลจริง แต่หากมีนักศึกษาไปสังเกตการณ์เลือกตั้งหน่วยละ 2 คน รัฐก็ต้องระวังตัวระดับหนึ่ง จะมาโกงดื้อ ๆ ทำไฟดับ ทั้งที่นับคะแนนอยู่ แล้วขานชื่อให้แต่พรรคเดียว ก็ถือว่าแย่แล้ว

แต่ถ้าไม่มีใครไปจับตาเลยยิ่งจะโกงง่าย หากครั้งนี้จะคล้ายกับประเทศไหน ก็คงคล้ายกับมาเลเซียโมเดลที่รัฐบาลคุม กกต.ได้ ฉะนั้นก็ใช้กกต. เป็นแขนขา หรืออาจจะใช้กลไกรัฐในพื้นที่ แบบตอนลงประชามติ ซึ่งมีกลไก ครู ก. ครู ข. อสม. ผ่านนายอำเภอ ผู้ว่าฯ

เพราะเราอย่าลืมว่าไทยมีรัฐราชการขนาดใหญ่ ให้ข้าราชการไปโน้มน้าวประชาชน การโกงอาจจะเป็นออกระเบียบให้อีกฝ่ายหาเสียงยาก อีกฝ่ายหาเสียงง่าย ใช้กลไกรัฐในการแจกของ ทำโครงการแจก ซึ่งคิดว่าคสช. จะไม่ยอมแปลงตัวเองเป็นรัฐบาลรักษาการ

การเหลื่อมซ้อนระหว่างอุดมการณ์และความเข้มแข็งของผู้แทน

เมื่อก่อนจะมีปัจจัย 3 ตัวหลักที่กำหนดว่าใครจะชนะเลือกตั้งคือ 1.อุดมการณ์ 2.นโยบาย 3.ความเข้มแข็งของผู้สมัครในพื้นที่ แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้นโยบายจะลดความสำคัญลงไปทำให้จะมีการต่อสู้ที่ซ้อนกันระหว่างการต่อสู้เชิงอุดมการณ์กับความเข้มแข็งของผู้สมัครในพื้นที่

ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อประยุทธ์ประกาศเป็นแคนดิเดตนายกฯ จะมีส่วนก่อรูปการเลือกตั้งให้คนเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอาการสืบทอดอำนาจ คนจำนวนหนึ่งอาจจะตัดสินใจด้วยปัจจัยนี้ ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง อาจจะตัดสินใจจากเรื่องของ ส.ส. ในพื้นที่ว่าเข้มแข็งไหม ดูแลเราได้ไหม มีความสามารถมากแค่ไหน

ดังนั้น ส.ส. ในพื้นที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ในแง่นี้พรรคพลังประชารัฐจึงพยายามดึงผู้แทนในพื้นที่ ที่มีฐานเสียงแน่นหนา ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็รู้ว่าปัจจัยเรื่องนี้ยังมีความสำคัญ เช่น จังหวัดกำแพงเพชร คนระดับวราเทพ รัตนากร นี่คือ ส.ส.เกรด A ปฏิเสธไม่ได้ว่าในต่างจังหวัดระบบหัวคะแนนยังคงแน่นหนา และยังเป็นเครือข่ายหนึ่งของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ที่สามารถโน้มน้าวคะแนนเสียงได้ ดังนั้นเมื่อย้ายพรรค ไม่ใช่แค่ตัววราเทพที่ไปแต่มีเครือข่ายที่ย้ายตามไปด้วย และจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้เลือกตั้ง

ผมจึงไม่ถึงขั้นดูเบาพรรคพลังประชารัฐ หากไปดูเลือกตั้ง 2550 และ 2554 ครั้งนั้นปรากฏการณ์ คือ ใครย้ายออกจากไทยรักไทยสอบตก การเลือกตั้งปี 2550 รัฐประหารไปแค่ปีเดียวก็เลือกตั้งแล้ว ระบอบทหารยังไม่ได้ทำอะไรในพื้นที่ ไม่ได้ลงไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ คณะรัฐประหารไม่ได้ตั้งพรรคเอง แต่เลือกใช้บริการพรรคประชาธิปัตย์ สนธิ บุญยรัตนกลิน (หัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ:คมช.) ก็ไม่ได้ตั้งพรรคลงไปแข่ง กว่าจะเล่นการเมืองคือ หมดจากอำนาจแล้วถึงลงไปเล่นการเมือง ไปตั้งพรรคมาตุภูมิ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นโมเดลแบบพรรคพลังประชารัฐ

หรือตอนเลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ถูกทุบมาก ไม่ได้แตกมากขนาดนี้ และตอนนี้ด้วยกติกาใหม่ที่ต้องแตกพรรค ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ค่อยเวิร์คนัก เพราะต้องมาตัดคะแนนกันเอง พรรคเพื่อไทยจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ทำเพียงพยายามดิ้นในเกมส์ที่เขาร่างไว้แล้ว มันจึงไม่เหมือน 2550 และ 2554 เสียทีเดียว แบบคนเลือกที่พรรคเป็นหลัก ใครย้ายออกจากทักษิณสอบตกหมด

บทเรียนจากหลายประเทศชี้ว่า ฝ่ายต้านต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกัน

พรรคพลังประชารัฐรู้ว่าขายประยุทธ์ไม่ได้ จึงต้องมีจุดขายอื่น ๆ ออกมาด้วย และตอนนี้ (ธันวาคม 2561) ยังเหลือเวลา ไปดูเบาไม่ได้ อย่างตอนประชามติ (2559) ฝ่ายไม่รับก็คิดว่ารัฐบาลแพ้แน่ แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาทหารคือฝ่ายเดียวที่ทำงานในพื้นที่มาโดยตลอด 4-5 ปีเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน นักการเมือง นักกิจกรรมทำงานในพื้นที่ไม่ได้เลย และยังมีปัจจัยลบอื่นอีกหลายตัว

แน่นอนพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ได้มาอันดับหนึ่ง อันดับหนึ่งยังเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์น่าจะยังเป็นอันดับสอง และพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้หวังเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งอาศัยแค่ 126 เสียงก็ส่งประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ แต่ในสภายังต้องการ 250 เสียง เพื่อให้สามารถผ่านร่างกฎหมายได้ ซึ่งผู้มีอำนาจเชื่อว่าพรรคอื่นจะยอมเข้าร่วมกับเขาเอง เพราะกลไกทางการเมืองจำเป็นต้องเสนอชื่อนายกฯออกไปก่อน พอได้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯแล้ว คิดว่าโดยธรรมชาติของนักการเมืองจำนวนหนึ่ง จะมีคนย้ายมาอยู่ข้างนี้แทน

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า ยังขึ้นอยู่กับแคมเปญของแต่ละพรรค ไม้เด็ดของแต่ละพรรคว่า มาวิเคราะห์อีกทีเดือนมกราคม ผมก็อาจจะวิเคราะห์อีกแบบหนึ่ง อีกสองอาทิตย์ก่อนการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นอีกแบบ เพราะตอนนี้การเลือกตั้งมันไม่สามารถคาดการณ์ได้แม่นยำอีกแล้ว ยกเว้นคุณจะทำแบบกัมพูชาว่า คุณยอมที่จะเป็นเผด็จการแบบเต็มรูปไหม คือยุบทุกพรรค ที่มาเลเซียเอง ก็แค่กำหนดวันเลือกตั้ง แก้ไขเขตเลือกตั้ง ออกแบบกลไกเอาเปรียบคู่แข่ง ตราบใดที่ยังเปิดให้ฝ่ายค้านแข่งขันได้

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดจากผลการวิจัยหลายชิ้น คือถ้าฝ่ายค้านเป็นเอกภาพและมียุทธศาสตร์ร่วมกันมันสามารถพลิกผลการเลือกตั้งได้ ที่มาเลเซียมียุทธศาสตร์ร่วมกันจริง แชร์ทรัพยากรร่วมกัน ในการที่จะโค่นพรรคอัมโน (The United Malays National Organisation: UMNO) ไม่เช่นนั้นไม่สามารถโค่นได้ นี่เป็นบทเรียนตลอด 60 ปี ของการเมืองมาเลเซีย ซึ่งของไทยเรายังไม่เกิด

ต้องทำให้อภินิหารทางกฎหมายอยู่ในร่องในรอย

ตามที่คุณวิษณุ เครืองามบอกว่าช่วงที่ตั้งรัฐบาลใหม่ก็คือพฤษภาคมจะเป็นช่วงเวลาอันยาวนานมาก คือ คสช.ก็ยังอยู่ ม.44 ก็ยังอยู่ สิ่งที่ควรสื่อสารออกไปคือให้คสช. ยุติการใช้ ม.44 ตราบใดที่ยังมี ม.44 อยู่ แสดงว่าพร้อมที่จะมีการใช้อำนาจแทรกแซงตอนไหนก็ได้ ตัวอย่างคือการแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งจะลงในราชกิจจานุเบกษาอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีการออกม.44 ระงับ ให้แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ คือแค่เรียกร้องให้ปลดล็อกไม่พอ

ควรต้องมีการเสนอออกมาเยอะ ๆ ว่าถ้ามีการเสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกฯ คุณต้องลาออกจากหัวหน้าคสช. เพราะคุณไม่แฟร์ คุณเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งแล้วยังเป็นนายกฯที่สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดได้ในช่วงสุญญากาศ ก็เพราะยังสามารถใช้อภินิหารทางกฎหมายได้ ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นการฟอร์มรัฐบาล หรือทำอะไรแปลก ๆ อีก

ชนชั้นนำเซ็ตอำนาจกันใหม่

เชื่อว่าชนชั้นนำไม่แตกแยกกันอย่างน้อยในเวลานี้ เพราะตัวเลือกที่ดีกว่าประยุทธ์คืออะไร เกมตอนนี้คือคุมอำนาจรัฐมาก่อน แน่นอนชนชั้นนำไทยไม่เคยเป็นเนื้อเดียวกัน มีผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ตราบใดที่มีศัตรูร่วม สถานการณ์เฉพาะหน้าก็ต้องจับมือร่วมกัน

ประเทศไทยไม่เคยมีชนชั้นนำกลุ่มเดียวที่แข็งแกร่งขนาดนั้นแบบในพม่าที่มีกองทัพครองอำนาจยาวนาน ขณะที่ประเทศไทยบางครั้งหากกองทัพกลายเป็นภาระก็จะถูกเขี่ยออกไป ฉะนั้นจะมีเพียงการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ ซึ่งตอนนี้คสช. ขาลอยอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะเกษียณอำนาจกันหมดแล้ว ผบ.ทบ. คนปัจจุบันก็ได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่

ปัจจัยที่จะทำให้ชนชั้นนำไทยแตกกันคือการมีวิกฤตขนาดหนัก เช่น การลุกฮือของประชาชนแบบ 14 ตุลา หรือ พฤษภา 35 ตอนนั้นก็ต้องเลือกเขี่ยสุจินดา (ปี 2535) เขี่ยถนอม (ปี 2516) ออกไปชั่วคราว

ฉะนั้นการลุกฮือก็อาจเป็นไปได้หากถึงจุดประยุทธ์เป็นภาระ แบบเดียวกับกองทัพอียิปต์ทิ้งมูบารัก (ปี 2555) ในปรากฏการณ์อาหรับสปริง แต่กองทัพอียิปต์ก็ยังอยู่ เพียงแต่ว่าตอนนี้ประยุทธ์เป็นไพ่ที่ดีที่สุดในกรณีของผู้มีอำนาจในไทย

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมักวิเคราะห์ราวกับว่ากองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลก่อน ที่กองทัพเป็นเพียงเครื่องมือที่องค์อธิปัตย์สั่งยังไงก็ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะปลดประยุทธ์ ปลดประวิตร ถ้าเช่นนั้นต้องมีคนอย่างอานันท์ (อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐประหาร รสช. แต่งตั้งเมื่อปี 2534) ขึ้นมาตั้งแต่ตอนแรกแล้ว ดังนั้นกองทัพไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นชนชั้นปกครองในตัวของมันเอง วาทกรรมคนดีก็ล่อนจ้อนหมดแล้ว นายกฯคนกลางก็ไม่มีแล้ว หมดไพ่แบบนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นต้องเอาทหารมาคุม ต้องคุมด้วยกำลัง

หลังการตั้งรัฐบาลสู่การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ

ผมคิดว่าช่วงหลังการตั้งรัฐบาลเป็นช่วงเวลาที่เปราะบาง กระเพื่อมได้ง่าย เพราะต้องบอกว่ารัฐบาลที่ขึ้นมามีอำนาจหลังการเลือกตั้งใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ง่าย ไม่ว่าฝั่งไหนรัฐบาลจะอยู่ไม่นาน ไม่ครบเทอมแน่นอน ถ้าเพื่อไทยขึ้นมาก็อยู่ไม่ได้นานอยู่แล้ว เราอาจจะได้เลือกตั้งใหม่ในเวลาอันใกล้

แม้กระทั่งฝ่ายประยุทธ์จัดตั้งรัฐบาลก็อยู่ยาก เพราะผมคิดว่าหากฝ่ายค้านรวมกันเกิน 200 ที่นั่งจาก 500 ก็สามารถเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งได้แล้ว อีกทั้งฝั่งพรรคพลังประชารัฐไม่ได้รวมกันด้วยอุดมการณ์ แต่รวมกันจากหลายพรรค เป็นแบบยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ถ้าอยากได้เสียง ส.ส. พวกนี้ คุณก็ต้องจ่าย กลุ่มทุนก็จะเข้ามามีบทบาท สมัยก่อนถ้าจะโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจที รัฐบาลต้องจ่าย สามแสนบ้าง ห้าแสนบ้าง รูปแบบนี้จะกลับมา ลักษณะเช่นนี้รัฐบาลก็จะล่มได้ง่าย

อย่าลืมว่าพรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะเฉพาะกิจมาก สิ่งที่ยากกว่าคือจะบริหารจัดการพรรคยังไง ในพรรคตอนนี้จึงมีทั้งเจ้าพ่อ มีอดีตส.ส.เพื่อไทย กปปส. ประชาธิปัตย์อีก และยังมีปีกเสื้อแดงเก่า ดังนั้นต่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้ศึกครั้งนี้ ก็ยังไม่แพ้สงคราม การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุด การเลือกตั้งครั้งถัดไปต่างหาก

สภาวะที่อำนาจแตกเป็นเสี่ยง ๆ

หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปจะเป็นช่วงที่น่ากังวล ผมวิเคราะห์ว่ามันเป็น fragmented power (สภาวะที่อำนาจแตกเป็นเสี่ยง) (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ทั้งภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษที่: Why Thailand’s generals fail to co-opt elections) เพราะจะไม่มีใครนำได้ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาระเบียบทางการเมืองใหม่ นี่เป็นฐานะทางประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งครั้งนี้

ข้อดีอาจจะมีบ้างคือถ้าหากผู้มีอำนาจยอมให้เลือกตั้ง ก็แสดงว่ายอมรับว่าฝืนต่อไปไม่ได้ แต่พอเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ชนชั้นนำไทยไม่เคยเก่งในการเลือกตั้ง ทำได้เพียงใช้อำนาจรัฐเข้าไปโกงและตั้งพรรคเฉพาะกิจ แต่ไม่ได้เป็นแบบพรรคโกลคาร์ (the Golkar party) ของอินโดนีเซีย ที่คุมอำนาจยาวนาน 30 ปี ผ่านพรรคการเมือง เผด็จการไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองแบบนั้น เลยต้องมาใช้บริการนักการเมืองแบบพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งพรรคแบบนี้มันไม่มีความหมาย มันก็คือมุ้งการเมืองมารวมตัวกัน

ต้องประคับประคองหลักการประชาธิปไตยไว้

หากมองโลกในแง่ดี การเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้น จะทำให้บรรยากาศเปิดขึ้น ระดับสิทธิเสรีภาพมากขึ้น อาจจะกึ่งปิดกึ่งเปิดก็ตาม คือต่อให้ประยุทธ์ชนะมาตั้งเป็นรัฐบาลผสม จะเหลือแต่รัฐบาลกับรัฐสภาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะทำผ่านรัฐบาลใหม่ แต่ผู้มีอำนาจจะทำยังไง เมื่อไม่มีคำสั่งคสช.แล้ว ก็ต้องออกเป็นมติครม.

เราต้องประคับประคองหลักการเอาไว้ ในช่วงเวลานี้ผมคิดว่ายิ่งต้องสำคัญที่ต้องรักษาหลักตรวจสอบการถ่วงดุลอำนาจ หลักสิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะทางออกเดียว คือทำให้สังคมไทยกลับไปอยู่ร่องของประชาธิปไตยปกติ เราต้องยึดหลักนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย

ในที่สุดประชาชนจะเห็นเอง เพราะที่ผ่านมาคนล้าจากการเมืองท้องถนน ตอนนี้คนเริ่มล้ากับการรัฐประหาร

X