อำนาจเก่าในรัฐธรรมนูญใหม่ : สถานะของคสช.เเละผลจากการใช้อำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

อำนาจเก่าในรัฐธรรมนูญใหม่ : สถานะของคสช.เเละผลจากการใช้อำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

            เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้เเจงแก่สื่อมวลชนว่า เเม้ประเทศไทยกำลังจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เเต่อำนาจเดิมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยเฉพาะอำนาจในการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.จะยังคงอยู่ควบคู่ไปการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_30485)

            ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เวลาประมาณ 15.00 น.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันมีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 ตั้งเเต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อปี 2475

            ช่วงเวลาประมาณสามปีนับตั้งเเต่คณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) กระทำการรัฐประหารเเละยึดอำนาจจากคณะรัฐบาลซึ่งนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลอดทั้งประกาศให้รัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง (ยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์) ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่มีคสช.แทรกเเซงการใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการ ยกตัวอย่างเช่น

            ตามมาตรา 6 บัญญัติให้คสช.มีอำนาจในการถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ กล่าวอีกนัยนึงคือเสนอรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำหน้าที่เเทนสภาผู้เเทนราษฎรเเละวุฒิสภาและภายหลังมีการเเต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 240คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการทหาร โดยมีข้อสังเกตว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติอย่างน้อย 224ฉบับถูกประกาศใช้โดยปราศจากกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชน

            ตามมาตรา 19 บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหน้าที่เสนอรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีเเละให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่เสนอรายชื่อบุคคลซึ่งจะทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีหรือเป็นคณะฐบาลเพื่อบริหารราชการแผ่นดินต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฏว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอช ที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคสช.อยู่เเล้วก็ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรียังได้เสนอชื่อสมาชิกในคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางคนขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีอีกด้วย ซึ่งมีข้อสังเกตว่าคณะรัฐมนตรีดัังกล่าว นอกจากจะเป็นรัฐบาลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งแล้วรัฐมนตรีส่วนใหญ่ยังเป็นข้าราชการทหารเช่นเดียวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาจากประกาศคสช.ฉบับที่ 10/2557จะพบว่า ก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.ยังเคยทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวมาก่อนด้วย

            นอกจากนี้ ด้วยผลของประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ฉบับที่ 38/2557 เเละฉบับที่ 50/2557ทำให้มีการนำศาลทหารมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทที่พลเรือนเป็นผู้กระทำความผิด หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าคสช.ใช้อำนาจตุลาการผ่านประกาศฉบับดังกล่าวขยายเขตอำนาจศาลทหารให้สามารถดำเนินคดีกับพลเรือนได้โดยอ้างเหตุเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งนับตั้งเเต่ประกาศทั้งสามฉบับมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2557 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีพลเรือนอย่างน้อย 1,720 คนถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร เเม้ต่อมาจะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 กำหนดให้ยกเลิกการนำพลเรือนซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่ระบุไว้ประกาศทั้งสามฉบับข้างต้นเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร เเต่ยังคงมีคดีคงค้างอยู่ในศาลทหารอีกกว่า 400 คดี โดยตัวเเทนจากกรมพระธรรมนูญเคยชี้เเจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชุด ICCPR เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ไม่สามารถย้ายคดีดังกล่าวไปพิจารณาในศาลยุติธรรมได้ด้วยกังวลว่าจะล่าช้า อาจมีการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอีกทั้งยังไม่มีจารีตประเพณีในการย้ายคดีไปพิจารณายังศาลอื่นมาก่อน

            ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า เเม้ในช่วงเเรกหลังกระทำรัฐประหาร คสช.จะชี้เเจงถึงการเข้ามาทำหน้าที่ของตนว่าเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดเเย้งทางการเมืองเเละรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ทั้งยังระบุถึงการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ หรือ Road map สามช่วงที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งทุกฝ่ายในสังคมยอมรับ และเเน่นอนว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดกรอบกติกาของการบริหารบ้านเมืองซึ่งรวมไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปด้วย เเต่คำถามสำคัญคือ ในช่วงเวลากว่า  2 ปี 10 เดือนที่คสช.ใช้ทั้งอำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการปกครองประเทศ จะยังมีกลไกอะไรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทำให้คสช.ยังคงสามารถใช้อำนาจนั้นได้อยู่ตลอดทั้งรับรองการกระทำของคสช.ที่มีผลเเทรกเเซงการใช้อำนาจทั้งสามในช่วงเวลาที่ผ่านมาและในภายภาคหน้าอีกด้วย

            โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวดังต่อไปนี้

            ประการที่หนึ่ง ตามมาตรา 265 บัญญัติให้คสช.ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งเเรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ฉะนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้าคสช.เเละคณะ จึงยังคงมีบทบาทตามที่ชี้เเจงไว้ในเจตนารมณ์/นโยบายของคสช. “เพื่อยุติความขัดเเย้งของคนในชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเเละฟื้นฟูความเชื่อมั่นภายใต้ระบบบริหาร นิติบัญญัติเเละตุลาการ…” ซึ่งมีผลกระทบต่อการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการ ดั่งตัวอย่างที่กล่าวไว้เเล้วข้างต้น

            ยิ่งไปกว่านั้น ตามมาตรา 264 ยังบัญญัติไว้อีกว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ต้ังขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีเเละคณะจะยังคงใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินได้จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีใหม่

            ดังนั้น ด้วยผลของมาตรา 264 เเละมาตรา 265 กลุ่มคสช.ทั้งในนามคสช.เเละคณะรัฐมนตรีจึงยังคงมีอยู่เเละยังคงมีอำนาจหน้าที่ในฐานะคสช.เเละคณะรัฐมนตรีผ่านการรับรองของทั้งสองบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนกว่าจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้ง ซึ่งคาดหมายว่าน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2561

            ประการที่สอง ตามมาตรา 265 วรรคสอง บัญญัติว่า ช่วงเวลานับตั้งเเต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้จนกระทั่งจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งเเรก คสช.ยังคงมีอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเเละให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าคสช.เเละคสช.ยังคงมีผลบังคับได้ต่อไป อันหมายความว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.และคณะยังสามารถใช้อำนาจของตนเองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวควบคู่ไปกับอำนาจของตนเองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์รับรองการใช้อำนาจของกลุ่มกระทำรัฐประหารอย่างไม่ขาดตอนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปีผ่านรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ซึ่งตัวอย่างการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีผลบังคับทั้งในทางรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการ อย่างเบ็ดเสร็จที่สุดคือการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 149 ฉบับ โดยหลายฉบับ เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เเละคำสั่งหัวหน้าที่คสช.ที่ 13/2559 มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอดทั้งเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถแทรกแซงการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ เเม้หัวหน้าคสช.และคณะจะคาดหมายได้ว่าการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งโครงสร้างกฎหมายเเละละเมิดต่อสิทธิบุคคล เเต่ในมาตราเดียวกันกลับบัญญัติให้คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด

            อย่างไรก็ตาม ด้วยผลของมาตรา 265 วรรคสอง หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคสช.จึงยังคงใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้โดยปราศจากการตรวจสอบเเละถ่วงดุลจากทางนิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการต่อไป

            ประการที่สาม นอกจากบทบััญญัติในสองส่วนเเรกจะรับรองให้ทั้งคณะคสช.และผลจากการใช้อำนาจของคสช.ยังคงอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งคสช.ยังสามารถใช้อำนาจเดิมของตนตามที่มีในรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญปัจจุบันเเล้ว ตามมาตรา 279 ยังบัญญัติรับรองให้การใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.หรือเเม้เเต่คสช.เองที่มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการตั้งเเต่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้เเละที่จะบังคับใช้ต่อไปด้วยผลของมาตรา 265 วรรคสอง เป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ชอบด้วยกฎหมายเเละมีผลบังคับใช้ต่อไป

            เนื้อความดังกล่าวหมายความว่า หากประกาศหรือคำสั่งของคสช.ฉบับใดมีผลเป็นการออก แก้ไข หรือเพิ่มเติมกฎหมาย ก็ให้ประกาศหรือคำสั่งฉบับนั้นมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป หรือเเม้เเต่ประกาศหรือคำสั่งฉบับใดมีผลเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร บรรดาหน่วยงานรัฐเเละเจ้าหน้าที่รัฐก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามต่อไป และหากประสงค์จะยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งที่มีฐานะเป็นกฎหมายหรือมีผลเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร ก็ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ ออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี เเล้วเเต่กรณี

            ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินโดยคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมในกรณีข้างต้นย่อมเป็นไปได้ยากด้วยต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนปกติในการเสนอกฎหมายเเละพิจารณาโดยสภาผู้เเทนราษฎรเเละวุฒิสภาและเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันยังมีประกาศหรือคำสั่งของกลุ่มกระทำการรัฐประหารคณะก่อนคสช.ที่ยังคงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติอยู่ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เเม้จะมีคณะรัฐมนตรีเเละผู้แทนสภาเเล้วก็ยังไม่เคยปรากฏกรณียกเลิกหรือแก้ไขประกาศหรือคำสั่งของกลุ่มกระทำรัฐประหารด้วยเหตุที่ว่าเป็นการออกกฎหมายโดยมิชอบเเต่อย่างใด กฎหมายดังกล่าวจึงยังมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายด้วยเหตุผลอื่น

            ยิ่งไปกว่านั้น ในวรรคสองของมาตรา 279 ยังบัญญัติไว้อีกว่า การใดๆที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญเเละชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็ให้ถือว่าการใดๆดังกล่่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเเละชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ซึ่งคำว่า “การใดๆ” หมายความรวมถึงการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหารเเละตุลาการของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44  หรือเเม้เเต่การบัญญัติให้การกระทำรัฐประหารของคสช.เเละผู้ที่เกี่ยวข้องพ่้นจากความผิดเเละความรับผิดโดยสิ้นเชิง ตามมาตรา 47 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็จะกลายเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายด้วยคำว่า “ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” ผ่านทางวรรคสองของมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

            อย่างไรก็ตาม นอกจากกฎหมายที่อยู่ในรูปแบบประกาศและคำสั่งของคสช.หรือหัวหน้าคสช.จะยังมีผลบังคับใช้ตามกลไกที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเเล้ว กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติเเห่งชาติซึ่งสมาชิกทั้งหมดได้รับการเสนอชื่อโดยคสช.ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่เช่นกัน

            ดังนั้น ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตัวคณะบุคคลซึ่งมิได้อยู่ในส่วนใดของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารหรือตุลาการอย่างคสช.จึงยังคงดำรงตำแหน่งอยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งเเรกในปลายปี 2561 และเเม้เงื่อนเวลาดังกล่าวจะทำให้สถานะของคสช.สิ้นสุดลง เเต่ผลแห่งการใช้อำนาจของคสช.จะยังคงอยู่โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเเละชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการทบทวนถึงความชอบของการกระทำดังกล่าวว่าขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่เเละผู้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำนั้นไม่มีสิทธิเรียกร้องทั้งในทางเเพ่ง ทางอาญาหรือเเม้เเต่ทางปกครอง 

           

X