เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีแกนนำการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.61 หรือคดี “UN62” จำนวน 10 ราย ต่อศาลอาญารัชดา
อัยการมีการฟ้องทั้ง 10 คน ถึง 11 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มาตรา 215 และมาตรา 216, ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 15, 16, 18, 19, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ มาตรา 108 และ 148, ข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และ 9 (ดูคำฟ้องคดีในรายงานข่าว)
ในวันดังกล่าว มีผู้ถูกฟ้อง 5 รายที่ได้เดินทางไปพบอัยการ และถูกพาตัวมาสั่งฟ้องที่ศาลอาญา ได้แก่ นางสาวศรีไพร นนทรี, นายวันเฉลิม กุนเสน, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายประจิณ ฐานังกรณ์ และนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์
หลังการสั่งฟ้อง ทั้ง 5 คน ยังต้องยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว และต้องถูกนำตัวไปควบคุมในห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อรอคำสั่งศาล ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งห้า โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน แต่มีเงื่อนไขว่าหากผิดสัญญาประกัน ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ให้ปรับ 1 แสนบาท พร้อมกับกำหนดวันสอบคำให้การคดีในวันที่ 24 มิ.ย. 62
ภาพนายประสิทธิ์ ระหว่างร่วมกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 22 พ.ค. 61
ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ เป็นหนึ่งในจำเลยผู้ถูกสั่งฟ้องคดี ในวัย 24 ปี ยังเป็นนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นสมาชิกของกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย เขาตกเป็นจำเลยในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ถึง 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU06 ซึ่งศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ไปแล้ว และคดี UN62 นี้ ซึ่งดูเหมือนยังต้องใช้เวลาต่อสู้คดีในศาลอีกพักใหญ่
หลังการถูกสั่งฟ้องคดีใน UN62 ประสิทธิ์เขียนบันทึกบอกเล่าประสบการณ์ของการถูกนำตัวลงไป “จองจำ” ใต้ถุนศาล รวมเป็นเวลา 5 ชั่วโมง แม้จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็นับเป็นห้วงเวลาของการสูญเสียอิสรภาพในชีวิตของนักศึกษาคนหนึ่งไป จากเพียงการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมแสดงออกทางการเมือง และยืนยันสิทธิในการมีปากมีเสียงเลือกตั้งของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าบันทึกดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้
———————————————————————————————–
บรรยากาศใต้ที่คุมตัวหรือที่เรียกว่าเรือนจำใต้ศาลอาญารัชดาเมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าเราถูกยื่นฟ้อง ตามข้อหาที่ยาวประมาณ 1 หน้ากระดาษจากอัยการ บรรดาผู้ถูกฟ้องทั้งหมด รวม 5 คน พร้อมกับทนายความที่เข้ามาช่วยดูแลคดีความนี้ ก็เดินจากสำนักงานอัยการสูงสุดไปยังศาลอาญารัชดา เมื่อเข้าไปถึงศาลอาญา ก็ได้ทำตามกระบวนการ มีการเซ็นเอกสาร มีการให้สำเนาเอกสารที่ทางอัยการใช้ยื่นฟ้องพวกเรา เพื่อให้อ่านและทำความเข้าใจ จนไปถึงช่วงเวลาที่ต้องถูกคุมตัว เพื่อรอให้ทางทนายดำเนินการขอประกันตัว หรือขอปล่อยตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ตามหลักเกณฑ์ที่เคยใช้ในคดีก่อน ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ก่อนที่จะถูกส่งตัวพี่โบว์ ได้เข้ามาให้กำลังใจ และสอบถามความต้องการ ก่อนที่จะถูกคุมตัว พวกเราเพียงแต่ขอเครื่องดื่มให้ไม่เหนื่อย และร้อนจนเกินไป พวกเราก็ถูกพาเข้าไปชั้นล่างสุดของศาลอาญา รัชดา ไปเข้าห้องใต้ถุนศาล เพื่อดำเนินการถ่ายรูป เก็บข้อมูลลายนิ้วมือเสียก่อน ก็นั่งตรงนั้นได้สักพักหนึ่ง ทางเจ้าหน้าก็แจ้งว่าพี่โบว์ฝากน้ำดื่มมาให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เชิญตัวไปในที่ที่ต้องรอการประกันตัว ที่เขาเรียกว่าเรือนจำควบคุม ของศาลอาญารัชดา เนื่องจากการคุมตัว จำเป็นต้องแยกตามเพศกำเนิด ทำให้พี่ผู้หญิงเพียง 1 คน ที่ถูกฟ้องในคดีเดียวกันนั้นต้องแยกไปอีกฝั่งหนึ่ง ส่วนเพศชายอีก 4 คน ก็ถูกพาตัวมายังฝั่งของเพศชายพร้อม ๆ กัน ทางเดินมันช่างซับซ้อนเป็นอย่างมาก มีเสียงคนตะโกนข้ามลูกกรงที่ถูกติดทับด้วยแผงเหล็กที่มันถี่ ๆ จนแทบจะมองไม่เห็นคู่สนทนาของตนที่กำลังตะโกนคุยกันอยู่ ได้ยินเพียงแค่เสียงของคู่สนทนา หลายคนถามถึงของที่อยากรับประทาน ถามถึงความเป็นอยู่ของกันและกัน เสียงตะโกนดังก้องไม่ขาดสาย บางคนก็มีเสียงร้องไห้ ขณะที่กำลังสนทนากันอยู่นั่นเอง บังเอิญเราหันไปเจอตรงลูกกรง มีคำว่า “เขตอันตราย ห้ามเข้าใกล้” ติดอยู่ในใจของเรา เกิดคำถามขึ้นมาว่าหรือว่ามันมีระบบไฟฟ้าอะไรป้องกันตรงลูกกรง ทว่ามันก็ไม่มี ก็เลยได้เข้าใจว่า นั่นเป็นการตีตราอย่างหนึ่ง ของผู้ที่ต้องโทษทางอาญา แต่ไฉนจึงตีตราให้คนที่อยู่คนละฟากของลูกกรงเป็นความอันตราย กับความปลอดภัยเลย มันไม่เห็นจะเกิดประโยชน์อะไรกับใครเลย บรรยากาศระหว่างทางเดินไปนั้นแสนจะหดหู่เป็นอย่างมาก เราเดินตามเจ้าหน้าที่ไปเรื่อย ๆ จนถึงกระบวนการที่มันเหมือนจะเป็นการฝากขัง ได้เห็นว่าเขาแยกห้องขังเป็น 4 ห้อง ห้องคดียาเสพติด สำหรับคนที่ถูกคุมขังอยู่แล้วอยู่ห้องแรก, ห้องคดีทั่วไป สำหรับคนที่ถูกคุมขังอยู่แล้ว เป็นห้องถัดมา, ห้องคดีทั่วไป ของคนที่เพิ่งมา คือห้องที่สาม อันเป็นห้องที่เราต้องเข้าไปใช้เวลาในนี้หลังจากที่ทำเรื่องเสร็จ และห้องสุดท้ายเป็นห้องของคดียาเสพติด ของคนที่เพิ่งมาใหม่ รอการไปคุมขังในเรือนจำต่อไป จะสังเกตได้ว่าเขาแยกห้องของคดียาเสพติดให้อยู่ไกลกัน อาจจะเป็นกระบวนการป้องกันของเรือนจำต่อการลักลอบนำยาเสพติดเข้าไปยังเรือนจำ พวกเราทั้งหมดก็ได้ทำเอกสารตามกระบวนการ เอาของใส่ซอง เซ็นชื่อ ปั๊มลายนิ้วมือ แวะทำธุระในห้องน้ำ แล้วจึงเข้าไปในห้องที่กั้นด้วยมุ้งสายบัวเหล็กห้องที่สามนั้น มีคนนั่งอยู่ในห้องประมาณสี่ห้าคนได้ บางคนก็นั่งอยู่ บางคนนั่งคุยกันทั้งในห้องเดียวกัน และห้องข้าง ๆ บางคนก็กำลังนอนรอเวลา ในช่วงแรกที่พวกเราเข้าไปอยู่ในห้องนั้นก็นั่งคุยกัน เพราะหวังว่ามันคงได้ออกไว ๆ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่น่านานเท่าไรสำหรับกรณีของวันนี้ เพราะได้มายื่นเรื่องเร็วกว่าที่ผ่านมา กระบวนการน่าจะสามารถเสร็จไวขึ้นได้ จนกระทั่งเวลาผ่านไปสักพัก ก็เลยนั่งคุยกันถึงปัญหาของสังคม เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และมีการชวนคนอื่น ๆ ในห้องเดียวกัน และในห้องข้าง ๆ คุยด้วย เพื่อสอบถามถึงเรื่องราวในนั้น และเล่าเรื่องราวที่พวกเขาก็อยากรู้ ผู้ถูกคุมขังหลายคน พอรู้ว่าโดนคดีการเมือง เขาก็ให้กำลังใจ และก็ได้ถามไถ่ ผสมการก่นด่าความเลวร้ายของการเมืองที่ผ่านมา สอบถามถึงความหวังของการเมือง และการที่สังคมจะสามารถดำเนินไปข้างหน้าได้ มีลุงท่านหนึ่ง เคยเป็นคนร่วมเคลื่อนไหวในสมัย 14 ตุลา ลุงเขาเป็นนักเรียนอาชีวะ ที่ได้ไปเข้าร่วมกับการชุมนุมในครั้งนั้น ลุงเราก็ให้กำลังใจ และบอกพลังมันต้องเยอะมาก เราต้องไล่เผด็จการพวกนี้ไปอีกให้ได้ ลุงยังเล่าว่า เคยเป็นเสื้อเหลือง แต่ตอนนี้ไม่เอาแล้ว อะไรก็ไม่รู้ ยิ่งพอมาอยู่ในนี้ เห็นการเลือกปฏิบัติ การปล่อยเสื้อเหลือง แต่ไม่ปล่อยเสื้อแดง เลือกบางคน บางคดีออกไป เห็นแต่ความไม่เป็นธรรมในสังคม นอกจากนี้ลุงก็ถามถึงการเมือง รวมไปถึงว่าที่นายกฯ ที่น่าจะได้คนเดิม ลุงเขาก็ถอนหายใจ และส่ายหน้า ผู้ถูกคุมขังหลายคน ต่างก็อยากทราบเรื่องราวภายนอก เขาอาศัยจังหวะที่มาศาล ในการอัพเดตข่าวสารที่ในที่คุมขังที่เรียกว่าเรือนจำ ไม่อนุญาตให้รับรู้ เนื่องจากภายในเรือนจำจะไม่ให้ผู้คนในนั้นรับทราบเรื่องราวจากภายนอกมากจนเกินไป อาจจะเป็นการป้องกันความวุ่นวาย รักษาความปลอดภัยของกรมราชฑัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นคือ ทุกคนที่ถูกคุมขังอยู่แล้ว จะถูกตีตรวน หรือกุญแจข้อเท้า เดินเหินล้วนยากลำบาก จะไปไหนก็ต้องดึงไม่ให้โซ่มันลากพื้น หลายคนมีถุงเท้าหรือผ้าในการทำให้กุญแจข้อเท้าไม่รัดจนเกิดแผล หรือเกิดความเจ็บปวด ทว่าการเดินทางไปไหนก็ยังยากลำบากอยู่ดี เราทันเห็นช่วงที่เขาจะพาผู้ถูกคุมขังหลายคนกลับเรือนจำ และพาคนใหม่ไปเรือนจำ ทุกคนต้องถูกเรียก และตรวจร่างกาย ต้องถอดเสื้อ ตรวจสอบว่าไม่ได้ลักลอบเอาของต้องห้ามเข้าไปหรือไม่ เอาเข้าจริง บรรยากาศในนั้นมันมีหลากหลายอารมณ์ ทว่ามันก็เต็มไปด้วยความน่าหดหู่ หลายคนที่เข้าที่นั่นด้วยข้อหายาเสพติด อาจจะอายุพอๆ กับเรา หรือน้อยกว่าเรา บางคนเข้าที่นั่นด้วยคดีที่เจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ตัว เช่น ฉ้อโกงออนไลน์ ที่เจ้าตัวยังเปิดคอมพิวเตอร์ไม่เป็น พี่น้องเอายามาฝากไว้ แล้วโดนจับ ภาพหนึ่งที่เราเห็นจากหลายคนในนั้น คือ การแบ่งปัน ผู้ถูกคุมขังหลายคนมาจากครอบครัวหรือสังคมที่ค่อนข้างมีฐานะ จึงมีของมาเยี่ยมมากมาย แต่บางคนแม้แต่คนมาเยี่ยมก็ไม่มี เราได้เห็นภาพของหลายๆ คนส่งข้าวให้กัน ส่งขนม ส่งเครื่องดื่มแบ่งปันกันจากกลุ่มคนที่มีญาติมาเยี่ยมเยอะ พร้อมกับการบอกว่า พอเข้าไปในนั้นไม่ได้มีอะไรดี ๆ แบบนี้ทาน พวกเขาจึงต้องทานตอนนี้ หลายคนได้ส่งเครื่องดื่มให้แก่พวกเราด้วย แต่พวกเราปฏิเสธ และขอให้นำไปแบ่งกับคนอื่น เพราะที่พวกเรานำเข้ามาก็ยังมีอยู่ ไม่สนับสนุนให้ใครเข้าที่คุมขังหรอกนะ ไม่อยากให้คนอื่นมีคดี แต่สังคมดีๆ หรือ ที่คนเห็นต่างกับรัฐบาลจะโดนคดีไปเสียหมด คนในที่นั้น ลุ้นมากให้เราได้ออกไปไวๆ เขาไม่อยากให้เข้าไปข้างใน แต่เขาก็บอกว่า ถ้าไม่ทัน จะช่วยดูแลนะ แต่ไม่อยากให้เข้าไปหรอก มีคนหนึ่งบอกกับเราว่า ถ้าเข้าไปเสื้อแขนยาว ขายาวเหล่านี้ต้องถูกตัดให้เป็นขาสั้น เพื่อให้เป็นระเบียบ จนกระทั่งเราถูกปล่อยตัวออกมาเวลาประมาณ 16.45 น. พวกเราน่าจะถูกคุมตัว เกือบ ๆ 5 ชั่วโมง เป็น 5 ชั่วโมงที่เวลาช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า เวลาในนั้นมันช่างผ่านไปอย่างยากลำบาก ตอนที่เดินออกมาคนในนั้น ก็ส่งยิ้ม พร้อมอวยพรให้ปลอดภัย แถมการให้กำลังใจ และอยากให้สู้ต่อไปกับเผด็จการ ทุกคนต่างก็หวังเหมือนกันแหละว่าจะเห็นสังคมมันดี จนไม่เกิดอาชญากรรม และคนในนั้นมีน้อยลง จนไม่มีในที่สุดนั่นแหละ หวังเช่นกันว่าจะได้โอกาสจากสังคมที่พวกเขาอาจเคยทำพลาด หรือไม่ได้ตั้งใจ บนโลกนี้คงไม่มีใครอยากสูญเสียอิสรภาพ ด้วยการถูกจองจำ และพันธนาการด้วยโซ่ตรวนกระมัง |