มองการ ‘ฟ้องปิดปาก’ ผ่าน 3 คดีสิทธิฯ: คดีค้านบ้านป่าแหว่ง-คดี CMU06-คดีนายทุนกล่าวหาทนายสิทธิ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 62 เวลา 13.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในหัวข้อ “เรียนรู้กระบวนการยุติธรรมผ่านคดีสิทธิมนุษยชน”

การเสวนามีการพูดคุยถึงประเด็นการฟ้อง “คดีปิดปาก” หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นสาธารณะ (Strategic Lawsuit against Public Participation หรือเรียกย่อๆ ว่า SLAPPs) โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีในลักษณะดังกล่าวในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมการเสวนา และหยิบยกคดีของตนเองเป็นกรณีศึกษาในการทำความเข้าใจสถานการณ์การฟ้องคดีปิดปาก ได้แก่ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเรื่องการนำสืบพยานหลักฐานเท็จจากกรณีการว่าความในคดีที่ดินของชาวบ้าน, นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ ผู้ถูกศาลกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา, นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือคดี CMU06 และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ทนายถูกนายทุนกล่าวหานำสืบพยานหลักฐานเท็จ หลังช่วยคดีที่ดินชาวบ้าน

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เล่าถึงที่มาที่ไปของคดีสืบพยานหลักฐานเท็จในศาล โดยบุคคลที่กล่าวหาตนเป็นอดีตนักการเมืองในจังหวัดลำพูน ซึ่งเดิมมีประเด็นปัญหาขัดแย้งเรื่องที่ดินกับชุมชนที่อำเภอบ้านโฮ่งอยู่ก่อนแล้ว เรื่องเกิดตั้งแต่ปี 2549 โดยฝั่งชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินในที่ดินมาก่อน แต่นายทุนได้มาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของที่ดิน จึงมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้นายทุน มีการเรียกร้องตั้งแต่ทางที่ดินจังหวัดไปถึงเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบ ตนก็เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้านในช่วงนั้น และได้รับแต่งตั้งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบระดับจังหวัด

หลังจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบก็พบว่ากระบวนการออกเอกสารสิทธินั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ดินตรงนั้นเดิมอยู่ในเขตป่าสงวน แต่ในปี 2532 มีการออกมติครม.เพิกถอนสภาพป่าสงวน แล้วให้กรมที่ดินไปดำเนินการจัดสรรให้กับราษฎรที่ไม่มีที่ทำกิน แต่ปรากฏว่าที่ดินพันกว่าไร่ได้ตกเป็นของนายทุนคนนี้ไปประมาณ 800 กว่าไร่ ก็มีการเคลื่อนไหวตรวจสอบของชาวบ้านมาเรื่อยๆ

จนประมาณปี 2550 ก็มีการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินบริเวณนั้น แล้วชาวบ้านที่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบก็ถูกไล่กล่าวหาดำเนินคดี ทั้งเรื่องการบุกรุกที่ดิน, ทำให้เสียทรัพย์ หรือคดีในทางแพ่ง รวมประมาณ 10 กว่าคดี ชาวบ้านถูกกล่าวหาประมาณ 15 คน ตนก็ได้เข้าไปช่วยเหลือคดีเหล่านี้ โดยในการต่อสู้คดีก็ได้ใช้พยานหลักฐานของคณะกรรมการตรวจสอบหลายชิ้นในการนำสืบให้ศาลเห็น และที่ผ่านมาก็ชนะคดีหมด

กระทั่งคดีล่าสุดในปี 2556 มีชาวบ้าน 2 คน ถูกฟ้องเรื่องการบุกรุกที่ดิน แล้วก็มีการนำหลักฐานของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งระดับจังหวัดและระดับรัฐมนตรีนำไปเสนอต่อศาล ศาลก็วินิจฉัยว่าเหตุการณ์บุกรุกที่ดินซึ่งนายทุนกล่าวอ้าง ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ศาลจึงวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ เพราะเรื่องการบุกรุกธรรมดาต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน แต่กรณีนี้นายทุนทราบเรื่องก่อนนานแล้ว ศาลก็เลยยกฟ้อง แต่ในคดีนี้ต่อมา นายทุนได้หยิบมาเป็นเหตุในการแจ้งความดำเนินคดีชาวบ้านและตัวทนายความ โดยอ้างว่านำสืบพยานหลักฐานเท็จ

คดีที่ถูกกล่าวหานี้ จึงมีความขัดแย้งเรื่องที่ดินเป็นเบื้องหลังที่นำมาสู่การดำเนินคดี โดยยังมีคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งที่นายทุนฟ้องขับไล่ชาวบ้าน แต่ศาลยกฟ้องและสั่งเพิกถอนโฉนด 2 แปลง เพราะศาลฟังพยานหลักฐานของคณะกรรมการตรวจสอบ แล้วเชื่อว่าชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน ก็เลยเป็นไปได้ว่าเขากังวลว่ามันจะขยายผลไปถึงที่ดินแปลงอื่นๆ ทำให้มีการหาคดีมาฟ้องเรา ทั้งทนายและชาวบ้าน เพื่อให้หยุดกระบวนการตรวจสอบ และพยายามใช้คดีมาเพื่อการหักล้างการเพิกถอนเอกสารสิทธิของกรมที่ดินหรือของศาล

ทนายสุมิตรชัยเข้าพบพนักงานสอบสวนสภ.นิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 62 (ภาพจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น)

สุมิตรชัยระบุว่าปัจจุบันคดียังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา โดยตนได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน 1 ครั้ง และได้โต้แย้งว่าหลักฐานที่อ้างว่าเท็จนั้นตามตัวบทกฎหมาย ต้องเป็นข้อสำคัญในคดี ที่นำมาสู่การแพ้ชนะคดี แต่ในคดีนั้น ศาลได้ยกฟ้องเพราะขาดอายุความ ไม่ได้ยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยนำสืบเลย คดีเรื่องการนำสืบพยานหลักฐานเท็จนี้ยังเป็นที่สนใจของสาธารณะ ทำให้ทางจังหวัดลำพูนดึงเรื่องไปพิจารณา จึงยังไม่ได้มีการเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหา และเรื่องยังคาอยู่

สุมิตรชัยกล่าวว่ากรณีของตน ไม่ใช่เพียงเรื่องปัญหาระหว่างชาวบ้านกับนายทุนในการโต้แย้งสิทธิในที่ทำกิน แต่มันเกี่ยวกับโครงสร้างความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดินด้วย และกระบวนการตรวจสอบ ก็ทำให้ยากมากที่ชาวบ้านจะเข้าไปขอตรวจสอบเอกสารที่ดินว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร มันเป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องปัจเจกที่ทะเลาะกัน แต่มันเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง เชิงนโยบายด้วย

สุมิตรชัยเห็นว่าคดีที่เป็น SLAPPs จึงไม่ใช่เรื่องระหว่างปัจเจกกับปัจเจกทะเลาะกันธรรมดา แต่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่โยงไปถึงโครงสร้างอำนาจบางอย่างด้วย และสะท้อนอำนาจที่ไม่เท่ากันของสองฝ่าย โดยฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่ารัฐก็ดี หรือนายทุนใหญ่ก็ดี กับชาวบ้านตัวเล็กๆ ไม่มีอำนาจในการต่อกรกันในเชิงกฎหมายเลย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเงินจะไปสู้คดี กฎหมายที่มันใช้อยู่ตอนนี้เลยกลายไปเป็นเครื่องมือของคนที่หยิบเอามาใช้จัดการคนเล็กคนน้อยที่มีอำนาจน้อยกว่าได้ คดี SLAPPs จึงเป็นเรื่องความขัดแย้งเชิงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้งด้วย

“เป้าหมายของคดีแบบนี้ คือเขาต้องการหยุดชาวบ้านมากกว่า ชาวบ้านที่มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมา อาจจะลดลงไปหรือหมดความกล้าลงไปเลย จาก 100 คน อาจจะเหลือ 10-20 คน คือเขาก็รู้ว่าเล่นแกนนำ แกนนำยังไงก็สู้ ไม่ยอมหรอก แต่คนที่จะมาร่วมกับแกนนำอาจจะลดลงไปตามความกลัวที่ไม่เท่ากัน เขาถึงเรียกว่าเป็นการฟ้องเชิงยุทธศาสตร์ อันนี้คือสิ่งที่เขาต้องการ ทำให้ขบวนเคลื่อนไหวข้างหน้าได้ช้าลง หรือไม่สามารถเคลื่อนได้ หรือหยุดชะงักไป ระหว่างแกนนำสาละวนกับการต่อสู้คดี” ทนายสุมิตรชัยกล่าว

ดูข้อมูลคดีของทนายสุมิตรชัยเพิ่มเติมโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนใน วิชาชีพทนาย: ผู้ใช้กฎหมายรักษาความยุติธรรมกับการตกเป็นเป้าหมายในการฟ้องกลั่นเเกล้ง

 

ผู้ประสานงานเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพถูกศาลกล่าวหาหมิ่นประมาท

ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ เล่าถึงที่มาที่ไปของการคัดค้านต่อต้านโครงการบ้านพักตุลาการบนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โดยตั้งแต่เมื่อต้นปี 2558 ตนเป็นประธานชมรมร่มบิน และได้รับแจ้งจากเพื่อนที่ขี่เสือภูเขาว่ามีการรถแบคโฮไปไถพื้นที่ป่า 147 ไร่ ตนก็ได้ไปแจ้งทางอุทยานฯ ว่ามีการบุกรุก เขาก็ระบุว่ามันอยู่นอกเขตอุทยานฯ แต่หากพิจารณาพื้นที่ตรงนั้นจะพบว่าเป็นป่าสมบูรณ์ พอช่วงปี 2559 เริ่มมีการใช้โซเชียลมีเดียตั้งคำถามเรื่องการถางป่าบนดอยสุเทพ จนประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ออกมาบอกเรื่องการสร้างบ้านพักตุลาการ โดยบอกว่ามีการขออนุญาตอย่างถูกกฎหมาย เป็นพื้นที่ราชพัสดุ รวมทั้งมีการขู่เรื่องการจะแจ้งความดำเนินคดี ทำให้โลกโซเชียลเงียบไป ประจวบกับเป็นช่วงสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9

จนต้นปี 2561 เริ่มมีการเห็นรูปถ่ายสภาพบ้านพักที่ถูกก่อสร้าง ทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์และประชาชนในเชียงใหม่เกิดการคัดค้าน มีการรณรงค์ใน change.org ขอให้คืนพื้นที่ป่า มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 70,000 คน และมีการรวมตัวขององค์กรต่างๆ ตั้งเป็นเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มีการจัดชุมนุม จัดสืบชะตาบวชป่า และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ  ทั้งยังมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระดับจังหวัด ซึ่งต่อมาก็มีข้อสรุปว่าให้มีการรื้อบ้านพัก 45 หลัง อาคารชุด 9 หลัง, ให้ย้ายผู้พักอาศัยออกไปจากพื้นที่ และคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์ แต่ทางผู้ว่าฯ ก็ไปแก้ว่ายังให้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วยในพื้นที่อาคาร 9 หลัง

ธีระศักดิ์ระบุว่าหลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีผู้นำป้ายไปติดที่ประตูท่าแพและประตูช้างเผือก เรื่องการย่ำยีหัวใจคนเชียงใหม่ แล้วมีการนำรายชื่อผู้พิพากษา 5 ท่านติดบนป้าย นำไปสู่การแจ้งความที่โรงพักกองเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการนำกำลังมากกว่า 10 นายเข้าตรวจค้นบ้านของตน มีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์และมือถือไป ตอนนั้นยังไม่ได้มีการตั้งข้อหาตน แต่มีการไปตั้งข้อหาสมาชิกเครือข่ายฯ คนหนึ่ง ซึ่งทำร้านรับทำป้าย ชื่อคุณเรืองยศ ซึ่งก็ถูกตำรวจมากกว่า 40 นาย เข้าไปตรวจค้นบ้าน

ภาพจากข่าวช่องวัน

หลังจากการถูกตรวจค้น ตนก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ โดยพูดถึงการกระทำนี้ว่าเป็นการคุกคามประชาชนโดยผู้มีอำนาจ และพูดถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้สำนักงานศาลยุติธรรมไปแจ้งความตนในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ทั้งยังไปแจ้งที่สน.พหลโยธินในกรุงเทพ ทั้งที่เรื่องราวนั้นอยู่ที่เชียงใหม่ ก็ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว ส่วนคุณเรืองยศก็ถูกเรียกไปสอบปากคำทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ทั้งสองคนก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงไปกรุงเทพฯ ตอนนี้ก็ลงไปรวม 3 ครั้งแล้ว

ธีระศักดิ์กล่าวว่าคดีนี้เราจะพบว่าโครงการของศาลเอง เป็นคู่กรณีกับประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ดอยสุเทพ แต่ก็กลับมาแจ้งความประชาชนซึ่งคัดค้านโครงการนั้น คล้ายๆ กับว่าจะทำให้พวกเราหยุดการต่อสู้ สำหรับตนรู้สึกเฉยๆ แต่มันก็สร้างผลกระทบเนื่องจากต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ เราพยายามขอย้ายคดีมาที่เชียงใหม่ แต่ผ่านมา 5 เดือน คดีก็ยังอยู่ที่ร้อยเวรที่กรุงเทพฯ เหมือนกับเอาคดีมาคาไว้ แต่ในส่วนการรวมตัวเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก็ยังมีอยู่ เพื่อยืนยันสิ่งที่เราเรียกร้องให้มีการรื้อโครงการนี้ออก

“ความรู้สึกของผม เป็นประชาชนคนหนึ่ง ไม่เคยต้องคดีมาก่อน ในช่วงแรกๆ ก็มีความกังวลเหมือนกัน เราจะต้องติดคุกไหม เพราะโทษสูงสุดมัน 2 ปี ปรับ 2 แสน ค่อนข้างจะแรงเหมือนกัน แล้วคนที่ตัดสินเราก็คือศาล แล้วเราก็ทะเลาะกับเขา สิ่งที่เรามีก็คือพลังของประชาชน แล้วเราก็เชื่อว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ได้ทำเพื่อตัวของเราเอง แต่ทำเพื่อลูกหลานของเชียงใหม่ในอนาคต” ธีระศักดิ์กล่าว

 

เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหานักศึกษาจัดชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง

ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงที่มาที่ของคดีของตน ที่ได้ออกมาทำกิจกรรมรณรงค์อยากเลือกตั้งที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 หลังจากกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารไปแจ้งความที่สภ.ภูพิงค์ฯ ในข้อหาเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามข้อ 12 ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง ตามพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ หลังจากนั้น คดีก็สร้างความลำบากให้กับเรามากๆ คือคดีใช้เวลา 1 ปี กับอีก 1 เดือน เราต้องไปรายงานตัวกับอัยการทุกๆ เดือนประมาณ 10 รอบ และไปศาลอีกประมาณ 2 ครั้ง

ประสิทธิ์เล่าว่าขณะคดีอยู่ในชั้นอัยการ ก็ได้มีการยกเลิกข้อ 12 นี้ที่เราถูกกล่าวหา เพื่อปลดล็อกให้มีการเลือกตั้ง ในตอนแรก็คิดว่าคดีจะถูกอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว แต่อัยการภาคกลับสั่งลงมาให้ฟ้องคดีต่อศาล ในชั้นศาล ศาลก็ยังยืนยันจะให้มีการสืบพยานต่อไป แม้คำสั่งคสช. จะยกเลิกไปแล้ว และพยายามให้เรายอมรับสารภาพในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง

ด้วยความเหนื่อยล้าซึ่งถูกดำเนินคดีมาปีกว่าๆ ผู้ถูกดำเนินคดี 6 คน มีแค่ 3 คนที่อยู่เชียงใหม่ ที่เหลือต้องเดินทางมาจากเชียงราย ลำปาง กำแพงเพชร ทำให้สุดท้ายตกลงกันที่จะยอมรับสารภาพในข้อหาเครื่องขยายเสียง เมื่อสิ้นเดือนมี.ค. 62 ที่ผ่านมา ศาลก็พิพากษาให้ยกฟ้องเรื่องการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 เพราะกฎหมายยกเลิกไปแล้ว ส่วนเรื่องใช้เครื่องขยายเสียง ศาลสั่งปรับ 200 บาท และลดให้ครึ่งหนึ่ง เหลือคนละ 100 บาท

ประสิทธิ์เห็นว่าในเวลา 1 ปี 1 เดือน ที่ถูกดำเนินคดี หลายๆ คนก็ได้รับความลำบาก เพราะไม่สามารถไปไหนได้ น้องนักศึกษาบางคนก็ไม่สามารถเดินทางไปฝึกงานไกลๆ ได้ ตลอดจนในข้อหาตาม 3/2558 ได้เปิดให้มีการไปอบรมกับทหาร เพื่อให้คดีสิ้นสุด ในกลุ่มผู้ต้องหาก็มีคนยอมไปอบรมแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังมีการฟ้องด้วยกันมาอีก

ประสิทธิ์ระบุว่าในกรณีของตน การฟ้องคดีเพื่อสร้างความกลัว มันอาจจะไม่ได้ผล เพราะก็ยังไปร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ และถูกดำเนินคดีอื่นอีก แต่มันก็สร้างความเหนื่อย ความล้า ความรำคาญให้กับเรา เนื่องจากมีภาระต้องไปรายงานตัวทุกเดือน แล้วยังสร้างความกังวลใจให้หลายคน โดยเฉพาะครอบครัวก็จะกังวลใจว่าลูกต้องไปศาล มันก็สร้างภาระให้ด้านอื่นๆ ทั้งต่อครอบครัว หรือคนรอบตัว ที่มาร่วมกังวล ว่าจะโดนอะไรหรือเปล่า

“น้องที่โดนคดีด้วยกัน เคยบอกว่าถ้ามีลูกมีหลาน แล้วเขาถามว่า ณ เวลานี้ที่เกิดเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ เราอยู่ตรงไหน เราเรียนหนังสือเฉยๆ หรือมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราก็มีความหวังว่ามันจะเกิดความเปลี่ยนแปลง หลายครั้งที่ออกมา เราเห็นคนใหม่ๆ ออกมาร่วมกิจกรรม มีคนที่ไม่ได้สนใจการเมือง เข้ามาถามเมื่อเราโดนคดี เราเห็นความเปลี่ยนแปลงจากคนใกล้ตัว” ประสิทธิ์กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการยังคงทำกิจกรรมต่อไปแม้ถูกดำเนินคดี

ดูปัญหาในคดีนี้เพิ่มเติมใน การฟ้องคดี CMU06: คำสั่งตามอำเภอใจของหัวหน้าคสช. ถึงความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรม

 

X