(ภาพจากเพจ กลุ่มสมัชชาเสรีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย)
ในวันพรุ่งนี้ (21 มี.ค.61) เวลา 13.00 น. 6 ผู้ถูกออกหมายเรียก จากกรณีการจัดและเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” ใน “เทศกาลแห่งความหมดรัก” เมื่อวันที่ 14 ก.พ.61 ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยนักศึกษากลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย จะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา
กรณีนี้มี ร.ท.เอกพล แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 รับมอบอำนาจจาก พล.ต.สาธิต ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ให้ดำเนินคดีบุคคล 6 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
ในจำนวน 6 บุคคลที่ถูกหมายเรียก แยกเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 คน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 1 คน และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมอีก 2 คน ก่อนพวกเขาและเธอจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ชวนมาทำความรู้จักเหล่าคนธรรมดาที่อยากเลือกตั้ง แต่กำลังจะกลายเป็น “ผู้ต้องหาทางการเมือง” อีกกลุ่มหนึ่ง
(ภาพต้นฉบับจากเพจ กลุ่มสมัชชาเสรีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย)
นักเรียนประวัติศาสตร์ ผู้ยืนแนวหน้าในการชุมนุม
นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ “เจมส์” อายุ 23 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดกำแพงเพชร เป็นลูกชายคนเดียวของบ้าน แม่ทำงานเป็นแม่บ้านให้สำนักงานรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนพ่อไปทำงานร้านอาหารอยู่ต่างประเทศ ตอนอยู่ชั้นมัธยม เจมส์ทำกิจกรรมแบบนักเรียนทั่วไป อาทิ ร่วมชมรมพุทธศาสนา หรือร่วมประกวดโครงงานคุณธรรม แต่สภาพแวดล้อมรอบบ้านที่มีโรงงานปูนตั้งอยู่ ทำให้ได้พบเห็นปัญหาสังคม ทั้งเรื่องแรงงานข้ามชาติ สิ่งแวดล้อม การทำเกษตรกรรมของชาวนา และปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นรอบตัวมาตลอดตั้งแต่เด็ก
ปัจจุบัน เจมส์เป็นนักศึกษาชั้นปี 5 ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แรกเริ่มตอนเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ๆ เขาได้เข้าเรียนในภาควิชาภาษาจีน ก่อนที่ช่วงปีที่ 2 จะย้ายมาเรียนในภาคประวัติศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าเมื่อเรียนลงลึกในภาคภาษาจีนแล้วไม่ใช่ความสนใจของตน และสนใจสาขาวิชาเรื่องประวัติศาสตร์มากกว่า ระหว่างเรียน เจมส์ยังต้องหารายได้เสริม โดยการรับสอนพิเศษนักเรียนมัธยมปลายในวิชาสังคมศึกษาด้วย
ตั้งแต่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เจมส์ได้เข้าไปช่วยทำงานในสโมสรของคณะมนุษยศาสตร์ จนได้เป็นรองประธานสโมสรนักศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ และเข้าไปทำกิจกรรมกับชมรมอาสากลางของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นงานออกค่ายพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ได้รู้จักพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนหลายๆ กลุ่ม ทั้งยังได้ลงพื้นที่พบเห็นปัญหาของชุมชนต่างๆ อีกด้วย
หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 บรรยากาศในมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เจมส์รู้สึกว่าก่อนหน้านั้น เราสามารถไปงานวิชาการได้ สามารถมีพื้นที่จัดงานเสวนาต่างๆ ได้ค่อนข้างมาก แต่หลังรัฐประหารไม่สามารถทำอะไรได้เลย จนช่วงปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัย จึงได้เริ่มเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ทำให้ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในงานเสวนาเรื่องการรับน้องและปัญหาในมหาวิทยาลัย ในนามของตัวแทนกลุ่ม และเคยเข้าร่วมในกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่มาบ้าง เช่น กิจกรรม “ดำหัวคนเฒ่า เยาวชนก็เช่นกัน” ของนักวิชาการกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
กิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เดิมทีเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการพูดคุยกับเพื่อนนานแล้ว ว่าอยากให้มีการทำเรื่องการเลือกตั้ง ประกอบกับสถานการณ์ที่มีการเลื่อนการเลือกตั้งโดยคสช.หลายครั้ง และนักศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ก็แทบจะไม่มีกิจกรรมเลย เมื่อกิจกรรมเกิดขึ้น แล้วได้เห็นประชาชนและนักศึกษาหน้าใหม่ๆ มาก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
“อยากสลายช่องว่างของการเคลื่อนไหวระหว่างนักศึกษากับประชาชน มองว่าเป็นคนเหมือนกันพลเมืองเหมือนกัน ส่วนตัวจะใช้คำว่าพลเมืองทุกครั้งที่ร่างแถลงการณ์ คำว่าพลเมืองมันให้ความรู้สึกที่ว่ามันเหมือนกัน ไม่ต้องมาแยกประชาชนหรือนักศึกษา”
(ภาพต้นฉบับจากเพจ กลุ่มสมัชชาเสรีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย)
ว่าที่คุณครูผู้ทำงานผลักดันด้านการศึกษา
นายสิทธิชัย คำมี หรือ “เปา” อายุ 21 ปี เกิดที่จังหวัดมหาสารคาม แต่มาเติบโตที่จังหวัดขอนแก่น โดยอาศัยอยู่กับลุงและป้าที่มีอาชีพทำนาทำสวน ส่วนพ่อและแม่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยพ่อทำอาชีพขับรถแท็กซี่ ส่วนแม่เป็นพนักงานโรงงาน ขณะที่เรียนมัธยมปลายเป็นหัวหน้าโครงการ To be number one
เปาเริ่มมีความสนใจการเมืองตั้งแต่อยู่ม.3 ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อเริ่มเข้มข้น โดยเขาหาข้อมูลและอ่านหนังสือด้วยตนเอง เคยติดตามข่าวสารทั้งของกลุ่มพันธมิตรฯ และนปช. ทั้งยังได้พูดคุยกับคนรอบข้างถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความสนใจทางการเมือง จนในช่วงก่อนจบชั้นมัธยม ได้เคยเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 ด้วย
ปัจจุบัน เปาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ของสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเคยมีเป้าหมายอยากเป็นนักการเมือง และอยากเรียนด้านรัฐศาสตร์ แต่ต่อมาเริ่มมองว่าบางอย่างไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการเป็นนักการเมือง ประกอบกับเกิดการรัฐประหารขึ้นพอดีในขณะเขาอยู่ชั้นม.6 ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม จึงคิดว่าการศึกษาคือทางออกมากกว่า จึงได้เลือกเรียนเส้นทางนี้ และตอนนี้มีเป้าหมายอยากจะเป็นครูที่ชัดเจน
ในมหาวิทยาลัย เปาได้ทำกิจกรรมเชิงสังคมวัฒนธรรม โดยเข้าร่วมชมรมนักศึกษาอีสานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนได้เป็นประธานชมรม มีส่วนจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมต่างๆ เช่น หมอลำ เป็นต้น ต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคยุวธิปัตย์ที่ลงเลือกตั้งสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงปี 2 ยังได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม “พลเรียน” ที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการสร้างการศึกษาที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพ นอกจากนั้น ยังหารายได้เสริมระหว่างเรียนโดยการรับสอนพิเศษให้กับนักเรียนมัธยมปลายในวิชาสังคมศึกษาและภาษาไทยด้วย
การเข้าร่วมกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 ก.พ. แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกตั้งแต่เกิดการรัฐประหารของเปา เกิดจากการชักชวนของเพื่อนในกลุ่มสมัชชาเสรีฯ ให้ไปร่วมแสดงออก และในวันนั้น เขาก็แทบไม่ได้ทำอะไรมาก เพียงแต่ยืนช่วยถือโทรโข่งที่ใช้ในการปราศรัยไปจนเสร็จสิ้นกิจกรรม
“ที่กล้าไปในวันนั้น เพราะเราแคร์ว่าในอนาคต ถ้ามันยังเป็นแบบนี้ นักเรียนเราจะเป็นยังไงต่อไป ถ้าบ้านเมืองยังเป็นแบบนี้ พอเห็นข่าว นายกฯ จะให้เลือกตั้ง เราก็ว่าดี หมายถึงว่าถ้าเลือกตั้งได้ เราสามารถกำหนดนโยบายการศึกษาได้ เพราะเราเรียนมาถึงปี 4 แล้วเราก็เห็นปัญหาการศึกษา เด็กในอนาคตถ้าเรายังไม่สามารถยื่นข้อเสนอว่าส่วนไหนเป็นปัญหาการศึกษา เด็กในอนาคตมันมีปัญหาแน่ๆ”
(ภาพต้นฉบับจาก Prettyboy80)
นักเรียนฟิสิกส์ ผู้สนใจสิทธิทางการเมือง
นายจตุพล คำมี หรือ “ต่อ” อายุ 21 ปี เป็นคนจังหวัดเชียงราย แต่ช่วงมัธยมปลายมาเรียนที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร ต่อเริ่มทำกิจกรรมอาสาและงานชุมชนต่างๆ มาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม จนช่วงมัธยมปลายได้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการของนักเรียนในรุ่น และเข้าไปทำงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงรายในช่วงปิดเทอมที่กลับบ้าน ในช่วงมัธยมปลายยังได้ริเริ่มตั้งกลุ่มกับเพื่อนในโรงเรียน ชื่อกลุ่ม “ยุวชนเสรี” เป็นกลุ่มเพื่อนๆ ที่สนใจด้านสิทธิเสรีภาพเหมือนๆ กัน มีสมาชิกประมาณ 4-5 คน ทำให้เคยเข้าร่วมกิจกรรมโพสต์อิสรภาพฯ ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี 2558 และยังเคยได้รับทุนการศึกษาจากโครงการ พสวท. ในช่วงมัธยมปลาย
ตั้งแต่เด็กได้เห็นพ่อทำงานกับการพัฒนาชุมชนมาตลอด และได้เห็นรัฐประหาร 2557 ขณะอยู่มัธยมปลาย เมื่อติดตามการบริหารงานของรัฐบาลทหาร ทำให้เห็นการแบ่งพรรคแบ่งพวก และผลกระทบหลายด้าน โครงการของรัฐหลายอย่างที่เคยมีก็หายไป เช่นที่ต่อเคยได้รับทุนการศึกษากรณีบุตรของผู้ที่ทำเพื่อชุมชนตั้งแต่ปี 2547 แต่หลังเกิดการรัฐประหารปี 2549 ทุนก็ได้ถูกระงับไป
ปัจจุบัน ต่อเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ ต่อมาได้เป็นประธานค่ายภายในของคณะวิทยาศาสตร์ และเป็นสมาชิกพรรคยุวธิปัตย์ อีกทั้ง ได้ร่วมกิจกรรมของกลุ่มสมัชชาเสรีฯ ตามโอกาส กิจกรรมเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ต่อได้ไปร่วมกิจกรรมในฐานะที่รู้จักกับเพื่อนๆ โดยได้ร่วมกล่าวปราศรัยสั้นๆ เชิญชวนให้นักศึกษาที่ผ่านไปมาเข้าร่วมกิจกรรม และขอบคุณผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ก็มาถูกออกหมายเรียกไปด้วย
“ณ เวลานี้อยากจะให้นักศึกษาตื่นตัวกันมากกว่า อยากจะให้รู้ถึงคุณค่าและประโยชน์ของการมีเลือกตั้ง การเป็นประชาธิปไตย แล้วคุณประโยชน์คืออะไร ทำไมหลายกลุ่มหลายคนถึงอยากต้องมี”
(ภาพต้นฉบับจาก Prettyboy80)
รองประธานสภาฯ ผู้เรียกร้องสวัสดิการให้นักศึกษา
นายยามารุดดิน ทรงศิริ หรือ “ดิน” อายุ 21 ปี แม้ครอบครัวจะไม่ได้มีพื้นเพที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพราะเพิ่งอพยพโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 แต่ดินก็เติบโตในพื้นที่นั้น เขานับถือศาสนาอิสลาม เคยไปเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ประเทศอินโดนีเซียอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ตัดสินใจกลับมาเรียนที่เมืองไทย
ปัจจุบัน ดินเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เดิมเขาคิดจะเรียนสาขานี้ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่พบว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้เลือกมาเรียนที่ลำปางแทน
ดินไม่ได้เป็นนักกิจกรรมมาก่อน แต่เนื่องจากชีวิตในศูนย์ที่ลำปาง ได้พบเจอปัญหาสวัสดิการของมหาวิทยาลัย ที่ไม่เอื้ออำนวยกับชีวิตของนักศึกษาหลายอย่าง อาทิ การไม่มีร้านอาหารในมหาวิทยาลัยเปิดขายหลัง 6 โมงเย็น ปัญหาเรื่องรถบัสสวัสดิการของมหาวิทยาลัย ปัญหาไม่มีไฟถนนในบริเวณและหลังมหาวิทยาลัย และเนื่องจากศูนย์ลำปาง ค่อนข้างอยู่ห่างเมือง ทำให้มีปัญหากับนักศึกษาในหลายๆ ด้าน ประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้ดินออกมาเรียกร้องปัญหาของนักศึกษา และเข้าไปทำงานในสภานักศึกษา จนมีตำแหน่งเป็นรองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
การเริ่มทำกิจกรรม ทำให้ดินรู้จักกับเพื่อนนักศึกษาในหลายๆ ที่ และได้ไปร่วมเสวนาเรื่องการรับน้อง และเรื่องการศึกษาในมหาวิทยาลัยอื่นๆ จนได้ไปร่วมกิจกรรมของเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยดินเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ขึ้นพูดปราศรัยในวันนั้น โดยเน้นประเด็นในเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร
การถูกดำเนินคดี ทำให้เขากังวลเรื่องความปลอดภัยของทางครอบครัว เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่สำหรับคนรอบตัว ส่วนใหญ่อาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางก็เข้าใจ ให้กำลังใจ เคารพในการตัดสินใจต่างๆ ของเขา และเพื่อนๆ นักศึกษาศูนย์ลำปางก็มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีหลังมีข่าวเรื่องนี้ออกมา
“ส่วนตัวอยากเห็นคนในสังคมมองคนเป็นคนเท่ากัน และเห็นสังคมมีระบบโครงสร้างทางการเมืองที่มีความโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้”
(ภาพต้นฉบับจากเพจ กลุ่มสมัชชาเสรีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย)
เจ้าของร้านทำผม ผู้หญิงหนึ่งเดียวใน 6 ผู้ต้องหา
นางสาวจิตต์ศจีฐ์ นามวงค์ อายุ 56 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันเปิดร้านทำผมอยู่ในอำเภอเมืองเชียงราย โดยยึดอาชีพทำผมและเสริมสวยมากว่า 20 ปี แล้ว จิตต์ศจีฐ์อยู่ในสถานะหย่าร้าง มีลูกสองคนกับสามีเดิม ลูกสาวคนเล็กยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ทำให้ยังมีภาระต้องดูแลส่งเสียค่าใช้จ่ายของลูกอยู่
จิตต์ศจีฐ์สนใจการเมืองมาตั้งแต่วัยรุ่น โดยในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เธอใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แม้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เนื่องจากที่พักไม่ไกลจากสนามหลวงและธรรมศาสตร์ ทำให้ได้ยินเสียงปืน เห็นแสงไฟของปืนจากดาดฟ้าของตึกที่เธออยู่ เมื่อได้เห็นภาพข่าวเหตุการณ์ในภายหลัง นำไปสู่ความฝังตาฝังใจ ถึงความรุนแรงและความโหดร้ายที่นักศึกษาถูกกระทำ และตั้งคำถามเรื่องความไม่ยุติธรรมในสังคม ทำให้ในวัยผู้ใหญ่ เธอเป็นผู้สนใจติดตามการเมืองคนหนึ่ง โดยชอบอ่านประวัติบุคคลเกี่ยวกับการเมืองต่างๆ แต่ไม่ได้มีบทบาทในการทำกิจกรรมใด จนกระทั่ง ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงตั้งแต่ในปี 2552 โดยไม่ได้มีบทบาทเป็นแกนนำ เป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมและการชุมนุมต่างๆ
จิตต์ศจีฐ์เดินทางไปร่วมกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมาเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงวันวาเลนไทน์พอดี และได้เห็นข่าวกิจกรรมจากเพื่อนในเฟซบุ๊ก จึงได้แวะเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาด้วย และระหว่างเข้าร่วม เนื่องจากนักศึกษาบนเวทีได้มีการประกาศเชิญชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อเห็นว่าไม่มีใครขึ้นไป เธอจึงตัดสินใจขึ้นไปร่วมพูดด้วย เนื้อหาเป็นการให้กำลังใจน้องๆ นักศึกษา และพูดเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าเราเรียกร้องในนามของประชาชนคนธรรมดา ไม่ใช่ตัวแทนของใคร การพูดใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที โดยไม่คาดคิดว่าจะถูกดำเนินคดีไปด้วย
“เรามั่นใจว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง มันเป็นแค่ว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องประชาธิปไตย แล้วเรามาทวงคำสัญญาของนายกฯ ด้วย โดยตอนนี้มันเลื่อนๆ ออกไปเรื่อยๆ เราเลยอยากให้ประเทศชาติมันขยับต่อไป ให้หายใจได้บ้าง
“ที่ต่อสู้มาจนถึงตอนนี้ ก็อยากเห็นประชาธิปไตย ที่เป็นของประชาชน และโดยภาคประชาชน รัฐบาลต้องมาจากประชาชน อำนาจต้องมีประชาชนกุมอยู่ ไม่ใช่รัฐบาลนั่งกุมหัวประชาชนแบบเหมือนทุกวันนี้ ที่อยากเห็นด่วนที่สุด ก็คือเรื่องยกเลิกมาตรา 44 และคำสั่งคสช.ต่างๆ ถึงจะไม่ได้ประชาธิปไตยมาเต็มร้อย แต่ก็ขอให้มันค่อยๆ ได้มา”
(ภาพต้นฉบับจาก Prettyboy80)
หนุ่มกำแพงเพชร ผู้ถูกดำเนินคดีเพียงแค่เข้าร่วมชุมนุมครั้งที่สองในชีวิต
นายอ๊อด แอ่งมูล อายุ 33 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดกำแพงเพชร เรียนไม่จบชั้นมัธยมเนื่องจากใช้ชีวิตค่อนข้างเกเรช่วงวัยรุ่น มีประสบการณ์เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ เป็นทั้งเด็กปั๊ม เด็กเสิร์ฟ และเด็กล้างรถ อยู่หลายปี และเคยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเนื่องจากติดคดีส่วนตัวอีกพักใหญ่ ปัจจุบันกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด และทำธุรกิจซื้อขายวัว โดยหุ้นกับเพื่อนซื้อวัวจากชาวบ้าน และนำไปส่งให้บริษัทที่นำวัวส่งออกไปยังจีนและเวียดนาม แต่รายได้ก็ลุ่มๆ ดอนๆ และไม่ค่อยแน่นอน
อ๊อดไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงมาก่อน เขาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกสีเสื้อด้วยซ้ำ แต่เพิ่งมาสนใจการเมืองในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้เอง โดยศึกษาด้วยตัวเองจากโลกออนไลน์เป็นหลัก เริ่มจากการเห็นคนในเฟซบุ๊กถกเถียงกันด้วยประเด็นทางการเมืองต่างๆ แล้วอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร จึงได้ลองไปไล่อ่านศึกษาข้อมูลด้วยตนเองในหลายๆ เรื่อง ทำให้ทราบเรื่องการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของคสช. ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในสังคมยุคปัจจุบัน
เมื่อเริ่มสนใจติดตามการเมือง เขาเปิดเฟซบุ๊กส่วนตัว และโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่างๆ ทำให้มีผู้คนสนใจเข้ามาติดตามเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเขาคาดว่าบทบาทในโลกออนไลน์ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มจับตา แต่เขายังไม่เคยถูกคุกคามมาก่อนถูกดำเนินคดีนี้
อ๊อดไปร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกในชีวิตที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมานี้เอง และการไปชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นเพียงการไปร่วมกิจกรรมครั้งที่สอง ทั้งสองครั้ง เขาเห็นประชาสัมพันธ์กิจกรรมในโลกออนไลน์ และตัดสินใจว่าต้องไปร่วม โดยทำป้ายข้อความเรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งไปเอง
การไปชุมนุมแต่ละครั้งของอ๊อด เขาเดินทางไปเอง และออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยตนเอง เขาไม่เคยร่วมเป็นผู้ปราศรัยในกิจกรรมใด เพียงแต่แสดงออกโดยการชูป้ายข้อความ และนำไปโพสต์ในโลกออนไลน์ เขาคาดคิดไว้อยู่บ้างว่าการออกไปทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีเข้าสักวันหนึ่ง…แล้วมันก็มาถึง
“ผมสนับสนุนน้องๆ นักศึกษา เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ตอนนี้ก็ไม่มีใครกล้าออกมา ผมก็ไม่ได้กล้าจัดชุมนุมเอง นักศึกษาเขามีนักวิชาการ มีอาจารย์ช่วยดูแล ผมก็เลยกล้าไป ไปให้กำลังใจ ไปช่วยกัน ผมไม่ได้เป็นแกนนำใคร ให้เป็น ผมก็ทำไม่เป็น
“พี่สาวแท้ๆ ของผม พอทราบเรื่องถูกดำเนินคดี ก็ร้องไห้ เขาก็เป็นห่วง เห็นว่าเราสู้กับสิ่งที่ใหญ่เกินไป สู้ไปก็ไม่ชนะ แต่เราเห็นว่าแม้ไม่ชนะ เราก็ทำให้ประชาชน หรือพี่น้องเราได้รู้บ้างว่าอะไรมันผิด อะไรมันถูก เทียบกับเราอยู่ไปวันๆ คือผมเชื่อว่าทุกคนมันสามารถเป็นครูให้กับกันและกันได้ เราต้องช่วยๆ กัน เป็นแรงผลักกันขึ้นมา”