“อนุชา” ผู้ต้องขัง ม.112 เล่าถึงเรือนจำพิเศษธนบุรี หลังถูกย้ายตัวไป: ปัญหาการตรวจให้ถอดเสื้อผ้าตรวจค้นตัว-สุขอนามัยที่น่าเป็นห่วง

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2568 ทนายความเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เพื่อเข้าเยี่ยม “อนุชา” (สงวนนามสกุล)  ประชาชนจากจังหวัดอุดรธานี วัย 50 ปี หนึ่งในผู้ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่ปลายปี 2567 ก่อนหน้านี้อนุชาผ่านชีวิตที่ต้องดิ้นรนมาอย่างยาวนานในหลายอาชีพ แม้จะสนใจการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 แต่เพิ่งได้ร่วมชุมนุมอย่างจริงจังในการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ปี 2563 เขาสร้างวิธีการแสดงออกแบบของตัวเอง จนนำมาสู่การถูกดำเนินคดีจากการชูแผ่นป้ายไวนิลในเหตุการณ์ #ม็อบตำรวจล้มช้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564

เขาถูกคุมขังตามคำพิพากษาโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน มาตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2567 ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2568 อนุชาถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตามนโยบายการย้ายผู้ต้องขังของราชทัณฑ์ โดยเขาเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองเพียงคนเดียวที่ถูกย้ายมาเรือนจำแห่งนี้

การได้พบกันครั้งนี้ อนุชาเล่าถึงชีวิตภายใต้เรือนจำพิเศษธนบุรี ทั้งความแออัด ระเบียบการตรวจค้นตัวที่รุกล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สภาพสุขอนามัยที่น่าเป็นห่วง โดยผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง แต่ขาดการดูแลทางการแพทย์ที่เพียงพอ

อนุชายังเล่าถึงระบบแรงงานบังคับในเรือนจำ เช่น การพับถุงกระดาษ ทำฟองน้ำล้างจาน ที่หากทำไม่ได้ตามเป้าผู้ต้องขังจะถูกลงโทษ และยังบอกเล่าประสบการณ์หวาดเสียวจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ที่แสดงให้เห็นถึงการจัดการภาวะฉุกเฉินและการจัดสรรพื้นที่อย่างมีข้อจำกัดในเรือนจำ

เรื่องราวของเขาไม่ใช่เพียงเรื่องของบุคคลหนึ่ง แต่เป็นเสียงสะท้อนจากระบบที่ต้องการการมองเห็น การรับฟัง และการเปลี่ยนแปลง

ในดินแดนที่แทบจะถูกลืมจากโลกภายนอก ยังมีอีกเสียงของอนุชาที่พยายามดังข้ามผ่านความเงียบ แน่นอนว่าเสียงของอนุชาและผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ยังรอคอยให้สังคมหันมาฟังเรื่องราวของพวกเขา

______________________________

การเยี่ยมเริ่มต้นด้วยการดำเนินการที่เป็นระบบ เจ้าหน้าที่พาเข้าสู่ตึกเยี่ยมญาติ หลังจากฝากกระเป๋าและโทรศัพท์ไว้ที่ตู้ล็อคเกอร์ เท่าที่สังเกตภายในห้องเยี่ยมนั้นมีลักษณะเป็นห้องกระจกและลูกกรง กั้นระหว่างผู้ต้องขังและผู้มาเยือน มีช่องสำหรับเยี่ยม 10 ช่อง แต่ละช่องมีโทรศัพท์หนึ่งเครื่องไว้สำหรับสื่อสาร โทรศัพท์ที่คุณภาพไม่ดีนัก ราวกับเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสารที่ถูกจำกัด หลาย ๆ ครั้งเสียงแผ่วเบาจนแทบไม่ได้ยิน แต่ยังดีหากพูดเสียงดัง ๆ เสียงจะทะลุกระจกกั้น ทำให้พอพูดคุยผ่านกระจกได้

ห้องเยี่ยมทนายเปิดให้เยี่ยมตั้งแต่ 9.00 น. จนถึง 15.00 น.  หลังนั่งรอประมาณ 20-30 นาที ก่อนที่จะเห็นร่างของชายในชุดเสื้อสีฟ้า กางเกงขาสั้นสีกรม ก้าวเข้ามาด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและพลังงานบางอย่างที่ไม่อาจบรรยายได้ 

อนุชาเริ่มต้นเล่าถึงประสบการณ์ในเรือนจำพิเศษธนบุรี อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เขาเคยอยู่มาก่อน  “ที่นี่ค่อนข้างแตกต่าง วันแรกที่พวกผมถูกย้ายมา มีระเบียบให้ผู้ต้องขังทุกคนถอดเสื้อ กางเกงทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่ได้พกสิ่งแปลกปลอมเข้าเรือนนอน”  เมื่ออนุชาและผู้ต้องขังคนอื่น ๆ  ทราบอย่างนั้นก็ค่อนข้างตกใจต่อระเบียบเช่นนี้ 

ความขาดแคลนกลายเป็นปกติวิสัยในเรือนจำพิเศษธนบุรี อนุชาเล่าถึงวันแรกด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ แต่แฝงความรู้สึกหลายชั้น “วันแรกที่ผมมาถึงนั้น ทุกคนได้แค่ผ้าห่ม 1 ผืนสำหรับใช้งาน”  แม้เจ้าหน้าที่จะชี้แจงถึงความจำเป็น แต่ปัญหาการประสานงานกันอย่างเป็นระบบระหว่างเรือนจำกับกรมราชทัณฑ์ ก็ยังคงเป็นปัญหาที่อนุชามองเห็น 

“ผมยังมองว่าทางราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผลักภาระไปยังเรือนจำอื่นจนเกินไป” คำพูดของเขาแฝงไปด้วยความเข้าใจในปัญหาของระบบ มากกว่าการกล่าวโทษบุคคล

เมื่ออนุชาถูกย้ายจากแดน 2 ไปยังแดน 6 เขาต้องเผชิญกับระเบียบปฏิบัติเดิมที่รุกล้ำสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย “ระเบียบก่อนขึ้นเรือนนอนที่ต้องถอดเสื้อ กางเกงทั้งหมด ก็ถูกนำมาปฏิบัติซ้ำครับ” แม้ผู้ต้องขังหลายคนจะส่งเสียงคัดค้าน แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ 

เสียงของอนุชาเต็มไปด้วยความกังวลไม่เพียงแต่ต่อตนเอง แต่ยังรวมถึงผู้ต้องขังกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องเผชิญกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างรุนแรง “ผมเห็นว่าไม่ควรตรวจด้วยวิธีเช่นนี้เลย เพราะค่อนข้างอุจาดตา” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น “ผมก็ไม่ได้อยากจะเห็น และผู้ต้องขังที่เขาเป็น LGBTQ+ เขาก็คงไม่ได้อยากทำตามระเบียบแบบนี้ด้วยซ้ำ”

หากใครเคยได้เห็นภาพปลากระป๋องเรียงเบียดแน่นในน้ำมัน ภาพนั้นอาจเทียบได้กับสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำพิเศษธนบุรี ที่อนุชาบรรยายไว้ ด้วยจำนวนผู้ต้องขังกว่า 1,000 ชีวิต แม้จะมีการกระจายผู้ต้องขังประมาณ 300 คนไปยังแดนอื่นๆ แล้ว แต่ความแออัดยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข

“มันยิ่งกว่าปลากระป๋องด้วยซ้ำ”  อนุชาเล่าด้วยน้ำเสียงที่ผสมผสานระหว่างความขมขื่นและการยอมรับความจริง ห้องนอน 1 ห้อง ห้องละประมาณ 42-43 คน เขาอธิบายพร้อมข้อเสนอแนะอย่างมีเหตุผลว่า “ถ้าจะดีและไม่แออัดจนเกินไปควรปรับให้เป็นห้องละไม่เกิน 40 คน”

การถูกย้ายเรือนจำ ไม่เพียงทำให้อนุชาได้พบกับสภาพแวดล้อมใหม่ แต่ยังเปิดโลกทัศน์ของเขาสู่มิติที่แตกต่างของระบบราชทัณฑ์ไทย สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกแม้กระทั่งในโลกหลังกำแพงเรือนจำ  “พวกผู้ต้องขังจะเรียกเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า ‘คุกขุนนาง’ ส่วนเรือนจำพิเศษธนบุรี จะเรียกว่า ‘คุกคนชั้นต่ำ’” ฉายาที่สื่อถึงชนชั้นและความแตกต่างอย่างชัดเจน สะท้อนถึงปัญหาสังคมที่สามารถพบเห็นได้แม้แต่ในโลกที่ถูกลืมของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีมีที่มาที่แตกต่างกัน อนุชาเล่าว่าส่วนใหญ่มาด้วยคดียาเสพติด ปล้น ขโมย หลายคนเคยผ่านชีวิตในเรือนจำมาแล้วหลายครั้ง จนกลายเป็นเหมือน “การเก็บคะแนนเป็นความภาคภูมิใจไว้โชว์”

แต่สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือสภาพความเป็นอยู่ที่ขาดการดูแลอย่างเหมาะสม “ผู้ต้องขังในเรือนจำนี้ส่วนมากจะไร้ญาติครับ และไม่ใช่ผู้ต้องขังที่มีเงินเสียเท่าไหร่” อนุชาอธิบาย พร้อมยกตัวอย่าง “อย่างเช่นการอาบน้ำ บางคนไม่มีขันน้ำสำหรับอาบน้ำด้วยซ้ำ และทางเรือนจำก็ไม่ได้จัดสรรในส่วนนี้มาให้”

ผลของความบกพร่องทางด้านสุขอนามัยปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในรูปของโรคผิวหนังเรื้อรังที่ระบาดในหมู่ผู้ต้องขัง “ผู้ต้องขังบางคนเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดแบบพุพองเลยด้วยซ้ำ” สภาพที่น่าเวทนาที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสถานที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ

ระบบสาธารณสุขภายในเรือนจำยังสะท้อนข้อจำกัดที่มากกว่าเพียงการขาดแคลนบุคลากร “เรื่องการรักษาอาการผิวหนัง ผมก็เข้าใจได้ครับว่าแพทย์ผิวหนังไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ต้องขังด้วย” เขากล่าว แต่สิ่งที่ทำให้เขาสับสนอย่างยิ่งคือการวางแผนโครงสร้างของเรือนจำที่ไร้ซึ่งความเหมาะสม “ผมไม่เข้าใจการวางแปลนก่อสร้างเรือนจำของที่นี่เลยครับ พวกเขาสร้างโรงพยาบาลไว้ที่แดน 6” ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ผู้หญิง ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจไม่ปลอดภัย

“เมื่อแพทย์ผู้หญิงจะต้องเข้างาน เขาก็ต้องเดินผ่านผู้ต้องขังในแดนนั้น ๆ”  อนุชาอธิบาย ก่อนจะเล่าต่อด้วยความไม่สบายใจ “แล้วพวกผู้ต้องขังพวกนั้นก็พูดจาคุกคามในลักษณะต่าง ๆ ตลอด และค่อนข้างน่ากลัวด้วย” พฤติกรรมเหล่านี้สร้างความไม่สบายใจให้แม้กระทั่งอนุชาเอง “ขนาดผมเป็นผู้ชาย ผมยังรับการกระทำแบบนั้นไม่ได้เลยครับ”

ภาพของระบบแรงงานในเรือนจำที่อนุชาบรรยายก็ไม่ต่างจากการใช้แรงงานบังคับ “ที่นี่จะมีกองงานให้ทำด้วยครับ เป็นงานที่ทางเรือนจำไปรับงานมาจากข้างนอก” เขาอธิบายถึงลักษณะงานที่หลากหลาย ทั้งการพับถุงกระดาษ ทำฟองน้ำล้างจาน ทำไส้กล่องกระดาษ และทำรองเท้า  “ถ้าผู้ต้องขังทำยอดไม่ถึงกับที่เขาต้องการ ก็จะถูกลงโทษครับ โดยให้ไปยืนตากแดด” อนุชามองว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่ควรมีอยู่ “ผมมองว่าเป็นอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์มาก ไม่ควรมีงานอะไรแบบนี้มาบังคับให้ทำ ควรยกเลิกไป”

ด้วยความมุ่งมั่นในหลักการของตนเอง อนุชาจึงเลือกปฏิเสธที่จะทำงานประเภทนี้  “ผมปฏิเสธที่จะไม่ทำงานนี้ครับ” อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ต่อต้านระบบทั้งหมด หากงานนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อเรือนจำและผู้ต้องขัง เขาก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ “แต่การช่วยงานของทางเรือนจำ ผมไม่ได้ปฏิเสธทั้งหมดนะครับ ถ้าเป็นงานลักษณะช่วยงานแดน ที่ทำแล้วได้วันลดโทษ ผมก็ยังเห็นว่าคงมีต่อไปได้”

บทสนทนาท้าย ๆ อนุชาเล่าย้อนเหตุการณ์ในวันที่แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ  “ผมอยู่ชั้นล่างตอนนั้น เรารู้สึกถึงการสั่นสะเทือนทันที กำแพงรอบตัวสั่นไหว พื้นใต้เท้าเราดูเหมือนจะเป็นคลื่น เสียงตะโกนดังระงมไปทั่ว”

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตอบสนองทันที พวกเขาเร่งนำผู้ต้องขังทั้งหมดออกมารวมกันที่ลานกว้างกลางแจ้ง ชายหลายร้อยชีวิตยืนสงบรอคำสั่ง ท่ามกลางความหวาดกลัวและความไม่แน่นอน “เราต้องยืนรอเป็นชั่วโมง” อนุชาเล่าต่อ “จนกระทั่งผู้บัญชาการตัดสินใจว่าปลอดภัยพอที่จะให้กลับเข้าตึกได้ แต่ไม่มีใครเห็นเจ้าหน้าที่คนไหนเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างตึกเลย”

วันนั้นผู้ต้องขังชั้น 4 ทั้งหมดถูกสั่งให้ย้ายลงมานอนที่ชั้น 3 แทน ด้วยเหตุผลว่าชั้นที่ต่ำกว่าน่าจะปลอดภัยกว่า “แล้วมันก็แออัดมาก” อนุชาระบายความรู้สึก “ห้องที่เคยมีคน 42-43 คน เพิ่มเป็น 60 คนเลยทีเดียว นอนเบียดกันแทบไม่มีที่หายใจ”

น่าแปลกที่ชั้น 2 ของอาคารเดียวกันกลับถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองงาน มีเพียงห้องทำงานเล็กๆ ตั้งอยู่กระจายตัว ทิ้งพื้นที่ว่างเปล่าไว้เป็นจำนวนมาก “คุณมองเห็นความขัดแย้งไหม?” อนุชาถามด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความผิดหวัง 

“ผู้ต้องขังนับสิบต้องนอนเบียดเสียดกันบนพื้นที่จำกัด ในขณะที่ชั้นล่างมีพื้นที่เหลือเฟือ แค่จัดสรรใหม่ให้เป็นห้องนอนบางส่วน ก็คงช่วยแก้ปัญหาได้มาก”

แม้จะเป็นเรื่องชวนหนักใจเสียส่วนใหญ่ แต่ตลอดการสนทนา อนุชายังคงรักษารอยยิ้มและพลังงานบวกไว้ได้อย่างน่าประหลาด  เท่าที่สัมผัสจากการพบกันครั้งนี้เขาไม่ได้พูดเพียงเพื่อแสดงความทุกข์ของตนเอง แต่เพื่อเปิดเผยความจริงของระบบที่เห็นว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ก่อนจากกัน อนุชากล่าวขอบคุณทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือเขาและผู้ต้องขังคนอื่นๆ “ผมขอบคุณประชาชนทุกคนที่คอยให้ความช่วยเหลือกันตลอด ไม่ทอดทิ้งใครไว้”

จนถึงปัจจุบัน (18 เม.ย. 2568) อนุชาถูกคุมขังมาแล้ว 122 วัน หรือ 4 เดือน 2 วัน โดยเมื่อปี 2564 หลังถูกจับกุมในคดี อนุชาเคยถูกฝากขังมาแล้วเป็นระยะเวลารวม 24 วัน ก่อนจะได้ประกันตัว ทำให้รวมแล้วเขายังเหลือโทษอีกราว 1 ปี 1 เดือนเศษ 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก “อนุชา” ผู้ต้องขังคดี ม.112 และการต่อสู้อย่างสามัญชน

ดู ฐานข้อมูลคดี >> คดี 112 อนุชา ชูป้ายใน “ม็อบตำรวจล้มช้าง” 23 กุมภา

X