การต่อสู้ของ “อานนท์ นำภา” ในคดี ม.112 กรณีปราศรัยหอศิลป์ มช. ยืนยันพูดข้อเท็จจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจัดการทรัพย์สินกษัตริย์ ติชมโดยสุจริตและปรารถนาดี

ในวันที่ 27 มี.ค. 2568 เวลา 9.30 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบ ๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม “ประชาคมมอชอ” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 โดยจะเป็นการอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่ได้นำตัวอานนท์เดินทางมาจากกรุงเทพฯ

.

ตำรวจเข้าแจ้งข้อหาในเรือนจำ อานนท์ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต เป็นข้อเท็จจริง ให้สอบพยานเพิ่มเติม

สำหรับคดีนี้มี พ.ต.ท.นรากร ปิ่นประยูร เป็นผู้กล่าวหาอานนท์ไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ร่วมกับ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เป็นผู้ปราศรัยในกิจกรรมเดียวกัน แต่อัยการได้แยกฟ้องเป็นสองคดี การพิจารณาคดีของทั้งคู่จึงดำเนินแยกจากกัน

อานนท์ถูก ร.ต.อ.สมโภช น้อยคง พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกหมายจับ ลงวันที่ 5 ก.พ. 2564 

ข้อกล่าวหาระบุถึงคำปราศรัยของอานนท์ในการชุมนุมดังกล่าว ที่กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  ประเด็นการโอนหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ รวมไปถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากในครอบครองของรัฐ เป็นของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทางผู้กล่าวหาเห็นว่าเข้าข่ายตามมาตรา 112

ในการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่ไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำ อานนท์ยืนยันว่าเป็นการปราศรัยตามข้อเท็จจริง และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ ทั้งได้ขอให้สอบพยานเพิ่มเติม ได้แก่ นักวิชาการ, เลขาธิการพระราชวัง, รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, ตัวแทนสํานักงบประมาณ และตัวแทนสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของเขาในคดีนี้ด้วย

ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนได้สอบสวนพยานเพิ่มเติม เฉพาะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญตามที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหานำเข้าให้ปากคำ ได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล และธนาพล อิ๋วสกุล ซึ่งพยานล้วนชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในช่วงปี 2560 และ 2561 ซึ่งทำให้การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยิ่งมีแนวโน้มออกห่างจากการเป็นทรัพย์สินของรัฐ กลายไปเป็นตามพระราชอัธยาศัย การตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถกระทำได้

วันที่ 9 ม.ค. 2566 เลิศศักดิ์ เลิศสิทธิ์สมบูรณ์ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยกล่าวหาว่าคำปราศรัยของอานนท์ สื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันที่ได้ขยายพระราชอำนาจเปลี่ยนแปลงการบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเอาทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว  และอ้างว่าคำปราศรัยเป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นและหมิ่นประมาทเบื้องสูง และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

ในช่วงฟ้องคดีดังกล่าว อานนท์ไม่ได้ถูกคุมขังในคดีอื่น และศาลได้ให้ประกันตัวในคดีนี้ โดยให้วางหลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้”

.

ภาพโปสเตอร์กิจกรรมโดยกลุ่มประชาคมมอชอ

.

ศาลตัดพยาน พล.อ.ประยุทธ์ผู้ว่ากทมฯ ให้ออกหมายเรียกพยานเอกสารบางส่วน เรื่องการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้น แต่ไม่ให้เรื่องเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สิน

ในนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 1 พ.ค. 2566 อานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าคำปราศรัยมีข้อเท็จจริงรองรับ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ฝ่ายโจทก์ได้แถลงจะนำสืบพยานทั้งหมด 6 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยแถลงจะนำสืบพยาน 14 ปาก แต่ศาลให้ตัดพยานปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จำเลยขอให้นำสืบประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ภายหลังมีการออกเสียงประชามติแล้ว, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ลานพระรูปทรงม้า รัฐสภาเดิม สนามม้านางเลิ้ง สวนสัตว์เขาดิน โดยศาลเห็นว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง มิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จำเลยขึ้นปราศรัยและถูกฟ้องเป็นคดีนี้

นอกจากนั้น ฝ่ายจำเลยได้ขอออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการโอนเปลี่ยนแปลงรายการทรัพย์สินจากชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยศาลได้อนุญาตให้ออกหมายเรียกจำนวน 4 รายการ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัทปูนซีเมนต์ไทย เป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10  แต่ไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกเอกสารเกี่ยวกับรายการและรายละเอียดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ระหว่างปี 2560 ถึง 2564 ที่อยู่ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ระบุว่าทรัพย์สินใดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ แม้ฝ่ายจำเลยได้โต้แย้งไว้ว่าเอกสารดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับข้อกล่าวหาของโจทก์ ว่าจำเลยปราศรัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงรายการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

หลังจากนั้น ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา อานนท์ได้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ที่กรุงเทพฯ โดยในรอบปีเศษที่ผ่านมา ได้ถูกนำตัวเดินทางมาคดีที่จังหวัดเชียงใหม่นี้ ทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่ ช่วงต้นเดือนมกราคม 2567, ช่วงก่อนสงกรานต์เดือนเมษายน 2567 และช่วงปลายปี เดือนธันวาคม 2567

การควบคุมตัวอานนท์ เดินทางมาแต่ละครั้ง อานนท์ระบุว่าถูกนำตัวมาโดยรถตู้ของราชทัณฑ์ ขณะเดินทางจะมีการใส่โซ่ข้อเท้าไว้โดยตลอดด้วย และใช้เวลาการเดินทางตั้งแต่เช้าจนเย็น โดยหากเป็นช่วงเทศกาล เช่นช่วงสงกรานต์ การเดินทางก็จะเนิ่นนานขึ้น เนื่องจากสภาพการจราจรติดขัด

ทั้งนี้จากการเดินทาง 3 ครั้งดังกล่าว ในนัดเดือนมกราคม 2567 นั้น คดีต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากเอกสารหลักฐานที่จำเลยขอออกหมายเรียกนั้น ยังไม่ได้ออกหมายและจัดส่งหมายต่อผู้ครอบครองเอกสาร พยานโจทก์บางส่วนเองก็ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้

.

.

จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้มบริเวณศาลในแต่ละนัด กั้นรั้วเหล็หน้าห้อง จำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง 5 คน เนื่องจากห้องพิจารณาเล็ก แต่ต่อมามีการถ่ายวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ในแต่ละนัดในคดีนี้ มีประชาชนมาติดตามคดีของอานนท์เกินกว่าสิบคน บางนัดมีประชาชนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ด้วย มาตรการการรักษาความปลอดภัยในบริเวณของศาลก็เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยในนัดแรก เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 โดยรอบศาล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจากหน่วยต่าง ๆ จำนวนมากจัดกำลังดูแลพื้นที่ รวมทั้งพบว่ามีรถของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (S.W.A.T) อยู่อีกด้วย แต่ในนัดถัด ๆ มาไม่ได้ปรากฏรถในลักษณะดังกล่าวอีก

ขณะที่ด้านบนอาคารศาล มีเจ้าหน้าที่ตั้งแผงเหล็กบริเวณทางเดินไปสู่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ที่ใช้พิจารณาคดีของอานนท์ พร้อมกับจัดกำลังตำรวจศาลดูแลบริเวณดังกล่าว และตรวจกระเป๋าผู้จะเข้าฟังการพิจารณา  

โดยนอกจากคู่ความ เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้เฉพาะตัวแทนของคู่ความ ฝ่ายโจทก์และจำเลย ฝั่งละ 5 คน เข้าไปยังห้องพิจารณา เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็ก และศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีห้องพิจารณาขนาดใหญ่ที่รองรับการพิจารณาคดีที่มีคนสนใจมากได้ ทำให้ประชาชนที่มาติดตามคดีหลายคนต้องรออยู่ภายนอก และไม่สามารถเข้าไปพูดคุยกับอานนท์ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีผู้เข้าฟังการพิจารณาที่มาจากฝั่งโจทก์แต่อย่างใด ทำให้บางนัดในห้องพิจารณายังเหลือที่นั่งว่าง

ก่อนนัดพิจารณาในเดือนเมษายน 2567 ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการศาลจังหวัดเชียงใหม่ ให้อำนวยความสะดวกในการเข้าฟังการพิจารณาคดีนี้ของประชาชนให้ทั่วถึง เพราะมีผู้ให้ความสนใจเข้าฟังจำนวนมาก

ต่อมาพบว่าศาลจังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่มีห้องพิจารณาขนาดใหญ่ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าฟังได้จำนวนมาก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ยังคงมาตรการในลักษณะเดิม ทั้งการกั้นแผงเหล็กทางเดินไปสู่ห้องพิจารณา มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมคนเข้าออก อนุญาตให้มีตัวแทนเข้าฟังในห้องได้จำนวน 5 คน แต่ในนัดเดือนเมษายน 2567 นี้ ได้เริ่มมีการจัดห้องถ่ายทอดสดการพิจารณาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ผู้เข้าฟังคนอื่น ๆ ได้ติดตามการสืบพยานแยกออกมาจากห้องพิจารณาหลัก 

มาตรการของเจ้าหน้าที่ศาลเช่นนี้ดำเนินสืบเนื่องมาถึงเดือนธันวาคม 2567 แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปในนัดสุดท้ายของการพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 โดยไม่ได้มีการนำรั้วเหล็กมากั้นหน้าห้องพิจารณาอีก ทำให้มีผู้เข้าฟังการสืบพยานได้มากขึ้นในนัดสืบพยานฝ่ายจำเลย

.

อานนท์ต่อสู้ปราศรัยในข้อเท็จจริง ติชมโดยสุจริต ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติและสถาบันกษัตริย์

ภาพรวมการสืบพยานในคดีนี้ มีขึ้นทั้งหมด 4 นัด ในวันที่ 10-11 เม.ย. และ 24-25 ธ.ค. 2567  โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 5 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวนของภูธรจังหวัดเชียงใหม่, พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์, นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และนักวิชาการด้านภาษาไทย โดยในการถามค้านพยานโจทก์บางปาก อานนท์ทำหน้าที่ถามค้านด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ศาลได้ให้ตัดพยานโจทก์ปาก ผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยไปให้การในชั้นสอบสวนคดีนี้ไว้ แต่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ในทั้งสองช่วงดังกล่าว แม้อัยการโจทก์จะยังติดใจสืบ โดยศาลเห็นว่ามีพยานโจทก์ที่เป็นนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อยู่แล้ว

ส่วนฝ่ายจำเลยนำสืบพยานจำนวน 3 ปาก ได้แก่ ตัวอานนท์ นำภา, พยานนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

คดีนี้ ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าคำปราศรัยที่กล่าวนั้นเป็นข้อเท็จจริง ในเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช. ปี 2560 และ 2561 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อทรัพย์สินที่เป็นของสถาบันส่วนรวม กลายมาเป็นทรัพย์สินซึ่งให้อำนาจพระมหากษัตริย์บริหารจัดการตามพระราชอัธยาศัย ทำให้จำเลยปราศรัยถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยเจตนาถึงความกังวลและห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนจำนวนมากที่ทราบถึงปัญหาดังกล่าว แต่ไม่สามารถพูดได้ คำปราศรัยจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย แต่เป็นการติชมโดยสุจริต และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม ควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

.

.

ตำรวจผู้กล่าวหา ได้รับมอบหมายให้แจ้งความจาก คกก.ของภูธรภาค 5 แต่ไม่มีความเห็นส่วนตัวว่า ผิด ม.112 หรือไม่ ไม่ทราบและไม่มีความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินฯ

การสืบพยานโจทก์ 2 ปากแรก เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 10 เม.ย. 2567

พยานโจทก์ปากที่ 1 พันตำรวจโท นรากร ปิ่นประยูร ตำรวจฝ่ายสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 และเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้

พ.ต.ท.นรากร เบิกความว่า หลังจากทราบว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา ที่หอศิลป์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 23 พ.ย. 2563 ทางผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้ตำรวจชุดสืบสวนไปสังเกตการณ์ คอยถ่ายและบันทึกภาพการชุมนุมดังกล่าว โดยมีทั้งชุดสืบสวนของภูธรภาค 5 และภูธรจังหวัดเชียงใหม่

เวลาประมาณ 15.00 น. พยานและพวกเดินทางไปยังพื้นที่การชุมนุม เวลา 15.30 น. เริ่มมีผู้ทยอยกันเข้าร่วมการชุมนุม ในช่วงแรกมีผู้ฟังประมาณ 100 คน  โดยมีผู้ขึ้นไปปราศรัยรวมแล้วประมาณ 10 คน โดยก่อนจำเลยขึ้นปราศรัย จะเป็นเรื่องการเมืองทั่วไป จนอานนท์ขึ้นปราศรัยเวลาประมาณ 19.00 น. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 350-400 คน

พ.ต.ท.นรากร เบิกความว่า จำเลยได้กล่าวปราศรัยในทำนองที่ว่า รัชกาลที่ 10 เบียดบังทรัพย์สินของรัฐไปเป็นของตน โดยมีข้อความบางตอนระบุว่า เอาทรัพย์สินของแผ่นดิน ไปมอบให้กษัตริย์เพียงองค์เดียว โดยกล่าวถึงการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), หุ้นของปูนซีเมนต์ไทย (SCG) หลายหมื่นล้านบาท หรือที่ดินของรัฐ เปลี่ยนไปเป็นชื่อของพระองค์ และยังกล่าวทำนองว่าหากมีรัชกาลที่ 11 อาจจะไม่มีวังอยู่ ไม่มีทรัพย์สินให้ใช้จ่าย

พยานจำได้ว่า จำเลยกล่าวปราศรัยประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นมีการปราศรัยต่ออีก 1-2 คน พยานจำไม่ได้แน่ชัด และมีการประมูลธง ไม่แน่ใจว่าเป็นธงเกี่ยวกับคณะราษฎรหรือไม่ จนการชุมนุมเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 22.00 น.

พ.ต.ท.นรากร เห็นว่าข้อความปราศรัยดังกล่าวอาจเป็นความผิด จึงประสานไปยังฝ่ายสืบสวนของภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ให้ถอดเทปการปราศรัยออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร พยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ถอด แต่ได้ส่งเอกสารไปที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ในส่วนพยานได้จัดทำบันทึกเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์การชุมนุมทั้งหมด พร้อมเสนอต่อผู้บังคับบัญชา และยังทำบันทึกพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ขึ้นปราศรัยด้วย

ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ของตำรวจภูธรภาค 5 และทางคณะกรรมการมีความเห็นว่า เป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงมอบหมายให้พยานไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยได้มอบเอกสารการสืบสวนต่าง ๆ ให้พนักงานสอบสวนด้วย

ทนายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท.นรากร เบิกความว่า ตนจบการศึกษาปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับราชการตำรวจมาแล้ว 30 ปี

พยานรับว่าในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ได้นำคำปราศรัยของจำเลยบางช่วงบางตอนไปกล่าวหา ไม่ได้ให้การถึงบริบทของข้อความทั้งหมด และรับว่าเนื้อหาคำปราศรัยของจำเลย มีบริบทโดยรอบมากกว่าเนื้อหาส่วนที่นำมาแจ้งความ เช่น การระบุว่า คสช. ได้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย การบริหารทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของกษัตริย์พระองค์เดียว ไม่ได้บอกว่ากษัตริย์เป็นผู้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย

พ.ต.ท.นรากร รับว่าไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในกฎหมายเรื่องดังกล่าว แต่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามการมอบหมายของคณะกรรมการของตำรวจ แต่พยานยืนยันว่าแม้มีข้อความต่อ ๆ มา แต่ฟังแล้วจะเข้าใจได้ถึงประเด็นการกล่าวหาว่าได้เบียดบังทรัพย์สินไปเป็นของตน

พยานรับว่า ในประเด็นทางกฎหมาย พยานไม่ได้มีความเห็นส่วนตัวว่าผิดหรือถูก เพียงแต่ได้รับมอบหมายให้ไปแจ้งความ และพยานไม่ได้มีความรู้เรื่อง พ.ร.บ.การจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และไม่ทราบว่าที่จำเลยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

ทนายความได้ถามถึง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ปี 2479 ที่ได้ระบุให้มีทรัพย์สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน แต่การแก้ไขกฎหมายในช่วงของ คสช. ได้ทำให้ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พยานตอบว่าตนไม่ทราบ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ

เมื่อถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่า ผลของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทำให้ทรัพย์สินที่เคยเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง กลายเป็นทรัพย์สินที่บริหารตามพระราชอัธยาศัย พยานรับว่าไม่ทราบ และพยานไม่ทราบว่าเนื้อหาคำปราศรัยของจำเลย จะมาจากกฎหมายหรือไม่

เมื่อถามว่า ทราบเรื่องพระราชอำนาจในการวีโต้กฎหมายของพระมหากษัตริย์ โดยการไม่ลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ พยานรับว่าพอทราบ แต่ในระดับชาวบ้าน  และเมื่อถามว่าสุดท้ายการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าว ก็มีการลงพระปรมาภิไธยใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ขอให้ความเห็น

เมื่อถามว่า ในกรณีการปราศรัยเรื่องการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ ไปเป็นชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นข้อเท็จจริง และมีการชี้แจงโดยสำนักงานทรัพย์สินฯ ใช่หรือไม่ พยานรับว่า ไม่ทราบ โดยทนายจำเลยได้ยื่นส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวต่อศาล

เมื่อถามว่าการปราศรัยของจำเลยนั้น เป็นการแสดงความห่วงกังวลถึงการโอนหุ้นดังกล่าว หากเกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างผู้ถือหุ้น แต่จะไม่สามารถฟ้องร้องได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่มีความเห็น

เมื่อถามว่า คำปราศรัยที่ระบุว่าหากมีรัชกาลที่ 11 นั้น เป็นประโยคยกตัวอย่าง ถึงเหตุการณ์ในอนาคต และตาม พ.ร.บ.การจัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560-2561 นั้น ไม่ได้กำหนดการตกทอดของทรัพย์สิน หากมีการเปลี่ยนแปลงรัชกาลใช่หรือไม่ พยานเบิกความ ไม่มีความเห็น เพราไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนี้

ทนายถามต่อว่า หากเกิดกรณีที่พระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ ทรัพย์สินก็จะตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมายมรดก หรือเป็นไปตามพินัยกรรมใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าตนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้ายกฎหมายแพ่ง ใช้ในส่วนของกฎหมายอาญาเป็นหลัก

ทนายถามใหม่ว่า หากพระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ ทรัพย์สินต่าง ๆ ก็ต้องแบ่งให้กับทายาทตามกฎหมายใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ ทนายจึงยกตัวอย่างว่า หากมีหุ้น 90,000 หุ้น แบ่งทายาทจำนวน 3 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นรัชกาลใหม่ ก็จะได้หุ้นแค่ 30,00 หุ้น หรือหากมีที่ดิน 3 ไร่ ก็จะแบ่งทายาทได้คนละ 1 ไร่ รัชกาลใหม่ก็จะได้แค่ 1 ไร่ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้

ทนายถามว่าคำปราศรัยของจำเลย มีลักษณะเป็นการแสดงความห่วงกังวล หรือความหวังดีต่อสถาบันฯ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบเจตนา และเมื่อถามว่าคำปราศรัยของจำเลยนั้น เป็นความจริงใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

อัยการโจทก์ถามติง

อัยการถามให้พยานยืนยันว่า จำเลยได้พูดถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดตามคำถอดเทปที่ยื่นส่งต่อศาล

.

ภาพการปราศรัยจากเพจประชาคมมอชอ

.

ตำรวจผู้บันทึกคำปราศรัย ไม่ยืนยันว่าคำปราศรัยเข้าข่าย ม.112 ไม่ขอตอบเกี่ยวกับการโอนย้ายทรัพย์สิน แต่หากกล่าวด้วยความห่วงใยต่อสถาบันฯประเทศชาติ และเป็นความจริง ควรทำได้

พยานโจทก์ปากที่ 2 ร.ต.อ.ทิวา วียะศรี เคยปฏิบัติราชการในตำแหน่งตำรวจฝ่ายสืบสวนของภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันย้ายไปที่อยู่ สภ.หนองตอง

ร.ต.อ.ทิวา เบิกความว่า ตนได้รับหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนหาข่าวบริเวณการชุมนุมทางการเมือง โดยในส่วนการชุมนุมในคดีนี้วันที่ 23 พ.ย. 2563 พยานได้ไปสังเกตการณ์ และบันทึกเทปคำปราศรัยของผู้ปราศรัยทุกคน โดยได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ถอดเทปเป็นข้อความ และส่งรายงานผู้บังคับบัญชา โดยพยานเห็นว่า จำเลยได้กล่าวปราศรัยมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ ตามเนื้อหาคำถอดเทปที่ยื่นส่งต่อศาล

อานนท์ถามค้านพยานโจทก์

อานนท์ถามพยานว่า “สิ่งที่ผมพูดปราศรัยในวันเกิดเหตุ พยานกล้าพูดหรือไม่” พยานรับว่าไม่กล้า  เมื่อถามต่อว่า “แม้เป็นความจริง ก็ไม่กล้าพูด” พยานรับว่าไม่กล้า

อานนท์ถามต่อว่า พยานรู้สึกขอบคุณที่มีคนพูดแทนในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ขอตอบ

อานนท์ถามว่า พยานได้ให้การไว้ในเอกสารชั้นสอบสวน ว่าเห็นว่าคำปราศรัยในวันดังกล่าว เข้าข่ายมาตรา 112 เมื่อถามใหม่ในตอนนี้ พยานเห็นว่าอย่างไร พยานตอบว่า ไม่ยืนยัน

เมื่อถามว่า เหตุที่ไม่ยืนยันนั้น เพราะเห็นว่าคำปราศรับเป็นข้อเท็จจริง และมีข้อกฎหมายรองรับ ไม่ได้เป็นความเท็จใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่แน่ใจ

อานนท์ถามพยานว่า ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่เคยปรากฏว่ามีการโอนทรัพย์สินของราชบัลลังก์ไปเป็นของตัวเองใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ  และอานนท์ถามต่อว่า ในสมัยดังกล่าว ไม่เคยมีการโอนกองกำลังทหารไปเป็นของตัวเองใช่หรือไม่ พยานตอบเช่นเดิมว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามว่า การโอนทรัพย์สิน “ของหลวง” หรือ “ของสาธารณะ” ไปเป็นของตนเอง ใครทำก็เป็นการไม่สมควรใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่กล้าตอบ 

อานนท์ยกตัวอย่างว่า หากผู้ว่าฯ มีบ้านพักประจำตำแหน่ง แต่โอนบ้านพัก ไปเป็นของตัวเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่  อานนท์จึงถามว่า ทรัพย์สินที่เป็นของหลวง หากผู้ว่าฯ คนใหม่มา ก็สามารถมาใช้ได้ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่  อานนท์ถามต่อว่า แต่หากโอนไปเป็นของตนเอง ถ้าผู้ว่าฯ คนนั้นตาย ทรัพย์สินก็จะตกทอดเป็นมรดกไปยังลูกผู้ว่าฯ ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ของหลวงอีกต่อไป พยานเบิกความว่า ตอบยาก  อานนท์เสริมว่า หากเรื่องเป็นแบบนี้ “เป็นพี่ พี่จะกังวลหรือไม่” พยานไม่ได้ตอบคำถามนี้

เมื่อถามถึงการแก้ไขกฎหมายในช่วง คสช. พ.ร.บ.การจัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 พยานตอบว่า ไม่ทราบเรื่องนี้  และเมื่อถามว่าหากการออกกฎหมาย มีผลทำให้ทรัพย์สินของราชบัลลังก์ เช่น พระราชวัง ถูกโอนไปเป็นของส่วนตัว พยานจะเห็นด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า เรื่องนี้ไม่ขอตอบ ไม่ขอก้าวล่วง

เมื่ออานนท์ถามว่า เหตุที่พยานไม่ขอตอบ เพราะเกรงว่าจะกระทบหน้าที่การงานหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ และเมื่อถามว่าที่ไม่ขอตอบ เพราะเป็นคุณกับจำเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามว่าการที่คนสามารถโอนทรัพย์ไปยังไงก็ได้ ใช้ยังไงก็ได้ คือเรียกว่าเป็นไปตามอัธยาศัย หรือภาษาชาวบ้าน ก็คือเป็นไปตามใจ ใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่ หากเป็นทรัพย์สินของตัวเอง

อานนท์ถามพยานว่า หากเป็นทรัพย์มรดกของบุคคลที่ตาย ก็จะตกไปสู่ทายาทโดยธรรม ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่  เมื่อถามต่อเกี่ยวกับทายาทโดยธรรมของในหลวงรัชกาลที่ 10 พยานตอบว่าไม่ทราบ  เมื่อถามว่าหากมีการทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินไปให้ นาย ก., นาย ข. ทรัพย์สินก็จะตกทอดไปตามนั้น เอาคืนไม่ได้ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

อานนท์ ถามว่าหากทรัพย์สินของราชบัลลังก์ ตกทอดไปสู่บุคคลภายนอก พยานจะห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าวหรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ขอตอบ

อานนท์ถามว่า หากมันเกิดขึ้นเช่นนั้น เราจะไม่มีทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีกต่อไป ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ  อานนท์ถามต่อว่ากษัตริย์พระองค์ต่อไป จะอยู่วังไหน พยานไม่ขอบตอบ  และถามว่าพยาน อยากให้มีพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป โดยยังมีทรัพย์สินของราชบัลลังก์ต่อไป สืบทอดยังองค์ต่อ ๆ ไป ใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่

อานนท์ ถามว่า แต่ท่านไม่กล้าออกมาทักท้วงเรื่องนี้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นเรื่องที่พยานไม่มีคำตอบ และให้การไปแล้วในเอกสาร  อานนท์จึงถามว่า ถ้าคนพูด พูดด้วยความห่วงใยต่อสถาบันฯ และประเทศชาติ และเป็นความจริง เขาจะพูดได้หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 

อานนท์ถามว่าหากพูดไปแล้ว ต้องถูกดำเนินคดี ต้องติดคุก แต่เพื่อรักษาไว้ซึ่งสมบัติของราชบัลลังก์ และทรัพย์สินของแผ่นดิน จะคุ้มค่าหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่คุ้มค่า

.

อาจารย์ภาษาไทย ม.แม่โจ้ เห็นว่าข้อความ 2 ท่อนทำให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ แต่ไม่ขอตอบว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

เช้าวันที่ 11 เม.ย. 2567 พยานโจทก์ปากที่ 3 สุนทร คำยอด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าเบิกความ

สุนทร เบิกความว่าในคดีนี้ ทางตำรวจได้ส่งหนังสือไปยัง ม.แม่โจ้ และอธิการได้ให้พยานมาให้ความเห็นด้านภาษาไทย เนื่องจากพยานเป็นประธานหลักสูตรวิชาภาษาไทย พนักงานสอบสวนได้นำบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยให้พยานดู และให้พิจารณาว่ามีข้อความใดที่เข้าข่ายตามมมาตรา 112 หรือไม่ โดยให้ดูคำปราศรัยของอานนท์ นำภา และพริษฐ์ ชิวารักษ์

ในกรณีของอานนท์ พยานได้ดูข้อความปราศรัย 3 ข้อความ และได้มีความเห็นว่า

1.      ช้อความที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สิน ให้สามารถนำไปจำหน่าย จ่าย แจก ตามพระราชอัธยาศัย ข้อความนี้พยานเห็นว่าไม่ได้ทำให้พระมหากษัตริย์เสียหาย เพราะมุ่งเน้นกล่าวถึงรัฐบาล

2.      ข้อความเกี่ยวกับการโอนหุ้นไทยพาณิชย์ ปูนซีเมนต์ไทย ไปเป็นชื่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 พยานเห็นว่ามีการระบุพระนาม และใช้คำกริยา “เบียดบัง” ซึ่งตามพจนานุกรมมีความหมายว่า “ยักยกองมาเป็นของตัวเอง” จึงเห็นว่า ทำให้เกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์

3.      ข้อความเกี่ยวกับการโอนที่ดินและหุ้นมาเป็นของตัวเอง หากมีรัชกาลใหม่ อาจไม่มีวังอยู่ พยานเห็นว่ามีการระบุพระนาม และโดยรวม ทำให้เกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ และสถาบันฯ

อานนท์ถามค้านพยานโจทก์

สุนทร จบการศึกษาปริญญาด้านภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยพะเยา โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวรรณกรรมภาคเหนือ

อานนท์ถามพยานว่า เคยได้ยินถ้อยคำว่า “ขนาดองค์พระปฏิมายังราคิน” หรือไม่ พยานรับว่าเคย เมื่อถามว่ามีความหมายว่า แม้แต่องค์พระพุทธรูปยังมีราคิน คนเราก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ทำนองนั้น

อานนท์ ถามพยานว่าคำว่า “ติเพื่อก่อ” หมายถึงอะไร พยานตอบว่า วิจารณ์เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ให้ดีกว่าเดิม และเมื่อถามว่าคำว่า “วิพากษ์วิจารณ์” หมายถึงอะไร พยานตอบว่า คือการให้ความเห็น

อานนท์ ถามว่าหากผู้ว่าฯ ออกกฎหมายหรือระเบียบ นำเอาทรัพย์สินของรัฐ ไปเป็นของตัวเอง แบบนี้จะเรียกว่า “เบียดบัง” ได้หรือไม่ หรือการเอาของคนอื่น มาเป็นของตัวเอง เป็นการเบียดบังใช่หรือไม่  พยานรับว่าใช่  เมื่อถามว่าการเบียดบังเป็นคำกริยา ที่สามารถใช้กับคนทุกชั้นวรรณะใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

เมื่อถามว่า ตอนพยานไปให้การ ทางตำรวจได้บอกว่าเป็นคดีมาตรา 112 และแจ้งชื่อผู้ต้องหาว่าคือ อานนท์ นำภา ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ และทราบว่าอานนท์เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน แต่พยานไม่ทราบว่านักศึกษาเป็นผู้จัดการปราศรัยดังกล่าวหรือไม่

อานนท์ถามว่า ในคำปราศรัยยังพูดถึงการการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในระบอบดังกล่าวทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของกษัตริย์ รวมถึงชีวิตเราก็เป็นของกษัตริย์ ดังคำว่า “เจ้าชีวิต” ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

อานนท์ถามว่า หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ได้มีการจัดการทรัพย์สินใหม่ โดยแยกเป็นทรัพย์สินของรัฐ หรือของสาธารณะ กับของส่วนตัว โดยทรัพย์สินสาธารณะ จะส่งทอดต่อกันไปในตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

อานนท์ถามว่า ในทางประเพณี พระราชวัง หรือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นของสำคัญของบ้านเมือง ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเอาไปเป็นของตัวเอง ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสมใช่หรือไม่ พยานตอบว่าหากหมายถึงคนทั่วไป ก็ใช่

เมื่อถามว่า หากพระมหากษัตริย์มีการยกพระราชวัง ให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง ก็ถือว่าไม่เหมาะสมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ เมื่อถามว่าที่ไม่ขอตอบ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อหน้าที่การงานใช่หรือไม่ พยานปฏิเสธว่าไม่ใช่  เมื่อถามว่าที่ไม่ขอตอบเพราะเป็นเรื่อง “ขึด” ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ เมื่อถามว่าที่ไม่ขอตอบ เพราะไม่สบายใจใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ทราบในเรื่องนี้ โดยพยานมาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษา จึงต้องถามให้ตรงประเด็น

อานนท์ถามใหม่ว่า หากตนเบียดบังทรัพย์สินของรัฐ ไปเป็นของตัวเอง เท่ากับเป็นคนไม่ดีใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่  อานนท์ถามว่าหากสมมติเป็นพระมหากษัตริย์เอาวังไปให้ผู้อื่น จะเหมาะสมหรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ขอตอบ  อานนท์ถามว่าหากมีการโอนทรัพย์สินไปเป็นของส่วนพระองค์ ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ขอตอบ  พลางเสริมว่าต้องดูว่าใครเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ ดูว่าสามารถยกให้ใครได้

อานนท์ถามว่าคำว่า “ใส่ร้าย” คือพูดเรื่องไม่จริง ถ้าพูดจริง ไม่เรียกว่าใส่ร้าย ใช่หรือไม่ พยานรับว่า ใช่  อานนท์ถามว่าในคำปราศรัยของตน หากพูดเรื่องจริง และมีข้อเท็จจริงรองรับ ไม่เรียกว่าใส่ร้ายใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าต้องดูกรอบกฎหมายอย่างอื่นก่อน  เมื่อถามต่อว่าสำหรับอานนท์ ถ้าพูดเรื่องจริง จะเรียกว่าเป็นการใส่ร้ายหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ขอตอบ ไม่มีหน้าที่ที่จะตอบ  ศาลอธิบายกับพยาน ว่าท่านมีสิทธิตอบ และอานนท์มีสิทธิถามหากพยานไม่อยากตอบ ก็สามารถไม่ตอบตามสิทธิได้

อานนท์ถามว่า พยานเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันฯ หรือไม่ พยานเบิกความว่า ไม่ขอตอบ อานนท์ถามว่า พยานเห็นด้วยกับการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ช่วงปี 2563 หรือไม่ พยานตอบว่า เฉย ๆ  เพราะเป็นการแสดงออกทางการเมือง

เมื่ออานนท์พยายามถามถึงมุมมองคำว่า “การใส่ร้าย” อีกครั้ง พยานได้ตอบว่า การใส่ร้าย อาจหมายถึงการทำให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ ไม่เพียงดูว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และต้องดูไปตามกฎหมาย อย่างมาตรา 112 หากมีผู้ได้รับความเสียหาย ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

เมื่ออานนท์ ถามเรื่องหากมีการโอนหุ้นเกิดขึ้น ก็ไม่ได้ใส่ร้ายใช่หรือไม่ โดยให้ดูเอกสารประกอบ พยานเบิกความว่า ตนมาให้ความเห็นในเรื่องคำว่า “เบียดบัง” ไม่ให้ให้ความเห็นต่อข้อเท็จจริงเรื่องการโอนหุ้น

อานนท์ถามว่าหากกล่าวทำให้เกิดความเสียหาย ถือว่าเป็นการใส่ร้าย แต่เป็นความจริง อย่างมีการเบียดบังจริง จะถือว่าเป็นการใส่ร้ายหรือไม่ พยานตอบว่า ก็ต้องดูตามมาตรา 112  นอกจากนั้นพยานยังไม่ทราบในตอนไปให้การกับตำรวจ ว่ามีการโอนหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ไทย ไปเป็นพระนามของรัชกาลที่ 10 พร้อมให้ความเห็นว่า ถ้ามันถูกกฎหมาย ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ถือว่าเป็นการเบียดบัง

อานนท์ พยายามถามอีกถึงตัวอย่างการเบียดบัง เช่นว่า ถ้าผู้ว่าฯ โอนบ้านหลวงไปเป็นตัวเอง โดยออกระเบียบมาให้ชอบด้วยกฎหมาย และหากโอนไปแล้ว ผู้ว่าฯ ไปยกให้ลูก ผู้ว่าฯ คนต่อไปก็อาจจะไม่มีบ้านอยู่ใช่หรือไม่  พยานพยายามย้ำไม่ขอตอบคำถามดังกล่าว เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะตอบ และไม่ใช่เรื่องภาษาที่ตนมาให้การไว้

อานนท์ ถามอีกว่า ในกรณีพระมหากษัตริย์ หากมีการโอนทรัพย์สินที่เป็นของแผ่นดินไปเป็นของของส่วนตัว จะตกต่อไปเป็นของทายาทใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ ทายาทก็คือลูก หรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส และต้องแบ่งให้ทายาทแต่ละคนเท่ากัน อานนท์ถามว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ประเทศจะเสียหายหรือไม่ พยานเบิกความว่า ตอบยาก เพราะของพวกนี้มันสร้างขึ้นโดยสถาบันฯ อยู่แล้ว อานนท์ถามย้ำว่า แต่ของพวกนี้ มันควรจะเป็นเรื่องพระมหากษัตริย์โดยตำแหน่งใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าโดยราชประเพณี ก็เป็นเช่นนั้น

อานนท์ ถามว่าหากทรัพย์สินในตำแหน่งของพระมหากษัตริย์ อย่างพระราชวัง ตกไปเป็นของคนอื่น อย่างนี้รัชกาลต่อไป จะไปอยู่ที่ไหน พยานตอบว่า เรื่องของท่าน จากนั้นได้ขอตอบใหม่ ว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา  อานนท์ถามต่อว่า หมายความว่าสภาจะต้องไปจัดสรรงบประมาณสร้างพระราชวังใหม่ สร้างสิ่งต่าง ๆ ใหม่ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ

อัยการโจทก์ถามติง

อัยการถามว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใช่หรือไม่ ทนายจำเลยทักท้วงว่าในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นประเด็นถามค้านไว้ อัยการจึงเปลี่ยนคำถามว่า ถ้าเป็นเรื่องที่มีกฎหมายคุ้มครอง และทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น จะสมมติได้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้

.

ภาพกิจกรรมที่หอศิลป์ มช. จากเพจประชาคมมอชอ

.

อาจารย์นิติศาสตร์ ม.นอร์ทเชียงใหม่ รับการโอนทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมายที่ออกสมัย คสช. แต่ไม่ขอออกความเห็นต่อปัญหานี้

การสืบพยานโจทก์ปากที่เหลือ รวมทั้งตัวจำเลยขึ้นเบิกความในวันที่ 24 ธ.ค. 2567

พยานโจทก์ปากที่ 4 พันธุ์ทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่

ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้เรียกพยานมาสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยนำบันทึกการถอดเทปของอานนท์ นำภา มาให้พยานอ่าน และให้ความเห็น ต่อคำปราศรัย 3 ข้อความ โดยพยานให้ความเห็นมีข้อความ 2 ข้อความที่เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่ กรณีที่พูดถึงการเบียดบัง และกรณีกล่าวถึงการโอนที่ดินของรัฐมาเป็นของตัวเอง รัชกาลต่อไปอาจไม่มีวังอยู่  แต่กรณีกล่าวถึงการโอนหุ้นบริษัทต่าง ๆ นั้น พยานเห็นว่าไม่ชัดเจนว่าเป็นการดูหมิ่นฯ  

ทนายจำเลยถามค้าน

พันธุ์ทิพย์ รับว่าไม่เคยขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญกับสำนักงานศาลยุติธรรม และไม่ได้ทำงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้หรือตีความมาตรา 112 หรือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยรับว่าเคยถูกเชิญไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112 จำนวนประมาณ 5 เรื่อง โดยพยานไม่ทราบผลคำพิพากษาแต่ละคดี ทนายจำเลยให้พยานดูคำพิพากษาในคดีหนึ่งที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว และยื่นส่งต่อศาล

พยานไม่ทราบว่าข้อความทั้งสามส่วนที่พนักงานสอบสวนเอาให้ดู จำเลยจะพูดไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยทนายจำเลยถามถึงบริบทของข้อความเกี่ยวกับการแก้ไขการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมีประโยคที่พูดถึงการออกกฎหมายโดย คสช. และวิจารณ์คนที่ออกกฎหมาย แต่พยานตอบย้ำเห็นว่า เนื้อหาเป็นวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ คสช. และเห็นว่าการวิจารณ์นี้ไม่สุจริต

ทนายจำเลยถามถึงเรื่องทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ. ปี 2479 ได้มีการนิยามทรัพย์สินประเภทนี้ไว้ และในปี 2560 คสช. ได้ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ โดบให้ยกเลิกทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พยานรับว่าเป็นไปตามเนื้อหาในกฎหมาย

พยานยังรับว่า ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าว รวมถึงพระราชวังตามที่จำเลยปราศรัยด้วย และถ้อยคำการบริหารจัดการให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ก็มีในกฎหมายด้วย ถ้อยคำที่จำเลยปราศรัยจึงมาจากตัวกฎหมายที่เขียนไว้ ทั้งพยานรับว่าคำว่า “พระราชอัธยาศัย” ก็หมายถึงเป็นไปตามประสงค์หรือตามใจ

ทนายจำเลยถามว่าเมื่อร่างกฎหมายเสร็จ ตามรัฐธรรมนูญให้ทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ลงนาม และสามารถวีโต้ได้ แต่ไม่ได้ทรงวีโต้กลับมา จึงหมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบกับกฎหมาย ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ และรับว่าสิ่งที่จำเลยปราศรัยว่ามีการโอนทรัพย์สินไปเป็นชื่อของตนเอง ก็เป็นการพูดตามพื้นฐานของข้อกฎหมายนี้ รวมทั้งข้อความเกี่ยวกับการโอนที่ดินที่เป็นของรัฐ ไปเป็นชื่อตนเอง ก็เป็นตามข้อเท็จจริงในกฎหมายนี้ ถ้อยคำต่อจากนั้นเป็นเพียงการยกตัวอย่าง

พยานยังรับในเรื่องในสมัยรัชกาลที่ 9 สวรรคต พระราชวังหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินอื่น ๆ ก็ถูกโอนมาเป็นของกษัตริย์องค์ถัดมา แต่การแก้ไขกฎหมาย ทำให้สิ่งต่าง ๆ เมื่อรัชกาลที่ 10 สวรรคต จะต้องแบ่งไปที่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายมรดก แต่เห็นว่าหากมีรัชกาลที่ 11 ในฐานะทายาทคนหนึ่ง ก็น่าจะมีสิทธิในทรัพย์สินอย่างพระราชวังอยู่

เมื่อถามว่าพยานคิดเห็นอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น พยานเบิกความว่า ขอไม่ให้ความเห็น  ทนายจำเลยถามต่อว่า หากสิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นไปด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พยานคิดเห็นอย่างไร พยานตอบว่า ขอไม่ตอบ

อัยการโจทก์ถามติง

อัยการถามว่าตามคำปราศรัยของจำเลย มีตรงส่วนไหนที่มีการพูดถึงข้อความตามตัวกฎหมายเลยหรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี และเมื่อถามว่าข้อความคำว่า “เบียดบัง” มีอยู่ในกฎหมายเหล่านี้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่มี

ส่วนเหตุที่พยานได้มาให้ความเห็นในคดีนี้ เพราะพยานได้รับตำแหน่งวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสาขากฎหมายอาญา

.

พนักงานสอบสวนสอบพยานตามที่จำเลยอ้างแล้ว แต่คณะทำงานเห็นว่ามีความผิด 112 ส่วนประเด็นว่าจำเลยปราศรัยไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ไมได้สอบสวน และเรื่องสถาบันฯ ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้

พยานโจทก์ปากที่ 5 ร.ต.อ.สมโภช น้อยคง พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์

ร.ต.อ.สมโภช ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดชุมนุมปราศรัยที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 โดยผู้จัดมีการขออนุญาตจัดการชุมนุม ฝ่ายตำรวจจึงได้จัดวางกำลังเข้าสังเกตการณ์ และบันทึกภาพการปราศรัย โดยมีการจัดทำสรุปสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด พร้อมพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ขึ้นปราศรัย รวมทั้งมีจำเลยในคดีนี้ขึ้นปราศรัย ตำรวจยังถอดเทปคำปราศรัยดังกล่าวเป็นตัวอักษร พร้อมบันทึกภาพและเสียงในแผ่นวิซีดีตามที่ยื่นส่งต่อศาล

ร.ต.อ.สมโภช เบิกความว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้สรุปข้อความที่จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ทำรายงานเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา ผู้กล่าวหาเห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยมี 3 ประโยค ซึ่งเข้าข่ายมาตราดังกล่าว จึงเสนอไปยังตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และเสนอต่อไปยังภูธรภาค 5 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ต่อมาทางภูธรภาค 5 ได้มีคำสั่งให้ดำเนินคดี ผู้กล่าวหาจึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้

คณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ยังได้สอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และด้านภาษา, ตำรวจที่ถอดเทปคำปราศรัย โดยในส่วนของ ผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ ที่ไม่ได้เดินทางมาศาล ก็ได้ให้ความเห็นว่าข้อความปราศรัยทั้งสามเข้าข่ายตามมาตรา 112 นอกจากนั้นยังสอบสวนตำรวจสันติบาล, ตำรวจหน่วยป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ในประเด็นการนำข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมไปโพสต์ในสื่อโซเชียล โดยอัยการได้ยื่นส่งคำให้การดังกล่าวประกอบ

หลังจากสอบสวนพยานเสร็จ คณะพนักงานสอบสวนได้ไปขอออกหมายจับจำเลยที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ แต่ต่อมาตัวจำเลยอยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทางตำรวจจึงเดินทางไปแจ้งข้อหาที่เรือนจำ โดยจำเลยให้การปฏิเสธ และให้การว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อปกป้องสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยยังอ้างอิงพยานบุคคลให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติม ทั้งหมด 3 ปาก และอ้างส่งพยานเอกสารต่าง ๆ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยื่นส่งต่อศาล ต่อมา คณะพนักงานสอบสวน นำโดยหัวหน้าคณะฯ คือ พ.ต.อ.วิสุทธิ์ พุ่มจันทร์ ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้

ทนายจำเลยถามค้าน

เมื่อถามว่าทางตำรวจใช้หลักเกณฑ์ใดในการเลือกพยานผู้เชี่ยวชาญ  ร.ต.อ.สมโภช เบิกความพิจารณาจากสถาบันการศึกษา และไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี โดยไม่เคยทำหนังสือบสอบถามไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องขอพยานผู้เชี่ยวชาญ และไม่ได้มีการคัดเลือกพยานที่มีความเชี่ยวชาญด้านมาตรา 112 หรือสถาบันกษัตริย์

ทนายถามว่า จำเลยปราศรัยไว้ในเนื้อหาอย่างชัดเจนว่า ได้มาเรียกร้องให้ทุกคน ไม่ใช่ผู้ใดผู้หนึ่ง เพื่อชี้ถึงเรื่องทรัพย์สินของแผ่นดิน แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลย ที่จะรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ และพยานยังรับว่าคำปราศรัยของจำเลยนั้น มีที่มาจากการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  ทนายถามว่า คำพูดของจำเลยไม่ได้มีการบิดเบือน แต่พูดไปตามตัวบทกฎหมายใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่ทราบ

ทนายถามว่า ขณะแจ้งข้อกล่าวหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จำเลยไม่ได้ปฏิเสธลอย ๆ แต่ขอให้สอบพยานบุคคลและรวบรวมเอกสารเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใน 12 ประเด็นใช่หรือไม่ ร.ต.อ.สมโภช รับว่าใช่ โดยจำเลยยืนยันว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เจตนาเพื่อปกปักษ์รักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน

ทนายถามว่า ในการสอบสวน ก็ไม่ได้มีการตั้งประเด็นว่าจำเลยปราศรัยโดยสุจริตหรือไม่ มีข้อเท็จจริงรองรับหรือไม่ เป็นประโยขน์สาธารณะหรือไม่ พนักงานสอบสวนรับว่า ใช่ เพียงสอบสวนประเด็นว่าประโยคที่จำเลยกล่าวนั้นผิดมาตรา 112 หรือไม่เท่านั้น

ทนายถามว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ทั้งความผิด และความบริสุทธ์ของผู้ต้องหาใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ แต่คดีนี้ก็ได้มีการสอบพยานตามที่จำเลยอ้าง ส่วนว่าจำเลยจะปราศรัยโดยสุจริตหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ เพราะทำงานเป็นคณะทำงาน

อัยการโจทก์ถามติง

อัยการถามว่า เมื่อจำเลยอ้างพยานบุคคลและพยานหลักฐาน เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงนำเข้ามาในสำนวน พยานตอบว่า ก็เพื่อพิสูจน์เจตนาของจำเลย และทำตามหน้าที่ในวิอาญา

ส่วนเหตุผลที่สั่งฟ้องคดี ร.ต.อ.สมโภช เบิกความจากพยานหลักฐาน เห็นว่าจำเลยกล่าวปราศรัยผิดตามมาตรา 112 โดยเป็นการกล่าวให้ร้ายพระมหากษัตริย์ ส่วนในการขอให้สอบสวนเพิ่มเติมเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นจริงหรือไม่นั้น ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

.

ภาพการปราศรัยจากเพจประชาคมมอชอ

.

อานนท์เบิกความไล่เรียงปัญหาการขยายพระราชอำนาจ ก่อให้เกิดการชุมนุมปี 2563 และคำถามจากประชาชน ยืนยันปราศรัยตามข้อเท็จจริง ติชมโดยสุจริต

อานนท์ นำภา ขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย โดยจำเลยอายุ 40 ปี ประกอบอาชีพทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อานนท์ จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ตลอด ตั้งแต่จบการศึกษาปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สอบได้เนติบัณฑิตไทยสมัยที่ 62

ในคดีนี้ อานนท์ยอมรับว่าได้ปราศรัยถ้อยคำตามเนื้อหาการถอดเทปที่ตำรวจระบุในวันเกิดเหตุจริง โดยได้เบิกความถึงที่มาที่ไปในการปราศรัยว่า ในช่วงก่อนการชุมนุมปี 2563 เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการขยายพระราชอำนาจในสมัยรัชกาลที่ 10 โดยเป็นการพูดคุยในโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งมีการชุมนุมเรียกร้องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ได้ตั้งคำถามถึงการขยายพระราชอำนาจ 3 ประการ ได้แก่ พระราชอำนาจทางการปกครอง, ทางการทหาร และทางพระราชทรัพย์ ซึ่งประเด็นที่สามนี้ ปรากฏในคำปราศรัยของพยานในวันเกิดเหตุ

อานนท์ได้เบิกความถึงการขยายพระราชอำนาจในแต่ละข้อดังกล่าว ซึ่งกระทบต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเอง

1. ได้มีการสั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่ง “พวกเรา” เห็นว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติของประชาชน ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว โดยมีข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ

นอกจากนั้น ยังมีการแก้ไขให้มีหน่วยงานในพระองค์ บริหารจัดการโดยพระมหากษัตริย์เอง ขัดกับหลักการประชาธิปไตยและหลักการ The King Can Do No Wrong ที่พระมหากษัตริย์ต้องไม่กระทำการใด ๆ เอง แต่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเสมอ ทำให้เกิดการโยกย้ายแต่งตั้งบุคคลโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ

รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่หากพระมหากษัตริย์ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีดังกล่าวในช่วงปี 2562-63 เนื่องจากมีภาพต่าง ๆ เกี่ยวกับการไปประทับอยู่ในประเทศเยอรมนี ทั้งการประทับดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน และทางรัฐสภาเยอรมนีก็ได้มีการอภิปรายถึงการใช้พระราชอำนาจนอกราชอาณาจักร เกี่ยวกับการอภิปรายดังกล่าว จำเลยได้ขอให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือไปยังพรรคกรีนของประเทศเยอรมนี เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย

อานนท์เบิกความว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่มีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน รวมทั้งคนที่วิพากษ์วิจารณ์อาจจะถูกนำตัวไปคุมขังหรือถูกดำเนินคดี เช่น กรณีของจำเลย เป็นต้น

2. การขยายพระราชอำนาจทางการทหาร ได้มีการนำกรมทหาร 2 กรม ไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ และออก พ.ร.ฎ.การโอนอัตรากำลังพลในปี 2562 สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศมีหน่วยงานทางทหารที่ไม่ขึ้นตรงต่อกัน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยไม่ควรเกิดขึ้น

การใช้อำนาจบริหารยังต้องทำผ่านรัฐบาล การใช้อำนาจได้ด้วยตนเอง ขัดต่อหลัก The King Can Do No Wrong รวมถึงการใช้งบประมาณที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

3. การขยายอำนาจทางพระราชทรัพย์ โดยในสมัยคณะราษฎรได้มีการจัดแบ่งทรัพย์สินของกษัตริย์เป็นสองส่วนใหญ่ คือของส่วนตัวกับของส่วนรวม ซึ่งแยกเป็นทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กับทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์

ความขัดแย้งเรื่องการจัดการทรัพย์สิน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ที่พระองค์เคยถูกฟ้อง และแพ้คดีต้องนำทรัพย์สินคืนแก่กระทรวงการคลัง ทำให้ต่อมามีการแก้ไขรัฐธรรมรูญ บัญญัติข้อความ “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ชัดเจนว่าไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ เพื่อรักษาพระเกียรติไว้ แต่ไม่ได้ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งข้อความ ยังหมายไปถึงพระมหากษัตริย์ต้องดำรงตนให้เป็นที่เคารพสักการะ ในทางรัฐธรรมนูญคือไม่ใช่อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเอง และพระองค์ยังต้องดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นหน้าที่ราษฎรในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์

เดิมในกฎหมายการจัดการทรัพย์สินปี 2479 ไม่ได้ให้พระราชอำนาจโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ เหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยก่อนหน้านั้นการจัดการทรัพย์ในระบอบดังกล่าว ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นเหตุผลหนึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ดังปรากฏในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร

อานนท์เบิกความถึงถ้อยคำ “องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ” ก็มีใช้ในหลายประเทศ แต่กษัตริย์ในประเทศเหล่านั้น ต้องดำรงตนอย่างเข้มงวดอยู่ในหลักการนี้อยู่

ในปี 2560 ได้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช. เป็นการผ่านกฎหมายสามวาระรวด และพิจารณาลับ แต่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ยังมีการตรา พ.ร.บ. ปี 2561 ให้ทรัพย์สินของสถาบันฯ ทั้งหมด เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ส่งผลให้ทรัพย์สินที่เดิมเป็นของสถาบันฯ กลายเป็นของส่วนตัว เช่น กรณีหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ดังปรากฏคำชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหุ้นของธนาคาร SCB ในเอกสาร รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของที่ดินหลายแปลง เช่น รัฐสภาเดิม, ลานพระรูปทรงม้าฯ ที่ถูกล้อมรั้วไม่ให้ประชาชนเข้าไป

การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นได้ 2 ทาง คือ นิติกรรมสัญญา และผลของกฎหมาย ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อทรัพย์สินที่เคยเป็นของแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดความสงสัยและความห่วงใย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ จนเกิดการชุมนุมในช่วงดังกล่าว พยานเองก็ได้อภิปรายถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ ยกตัวอย่างถึงผลเสียที่เกิดขึ้น และกล่าวถึงที่มาของกฎหมายจากรัฐบาล คสช. การยกตัวอย่างเพื่อให้มีความชัดเจนถึงผลเสียที่เกิดขึ้น เช่น การกล่าวถึงการไม่มีพระราชวังอยู่ดังกล่าว การออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือติเตียน ก็เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งเหล่านี้

อานนท์เบิกความว่าคำปราศรัยของตนมาจากสองส่วน คือมาจากตัวกฎหมายโดยตรง และจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเป็นการแสดงความห่วงใยต่อประเทศชาติและต่อสถาบันกษัตริย์

อานนท์ได้เสนอว่า สิ่งที่ตนเสนอ ก็คือให้แก้ไขกฎหมายกลับไปเหมือนกับในสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างน้อย ซึ่งตนก็ได้บอกเจตนาไว้ในการปราศรัยอย่างชัดเจน ตั้งแต่ในชั้นสอบสวน และขอให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าว

“ผมยืนยันว่า ผมปราศรัยโดยการวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริต ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยตรงไปตรงมา มีเจตนาปรารถนาที่จะให้เรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง มีพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน ได้โดยเป็นธรรม”

ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน

อัยการถามว่าตามมาตรา 112 นั้น ไม่มีข้อยกเว้นความผิด เหมือนกับเรื่องหมิ่นประมาทบุคคลธรรมใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ไม่มีในตัวบทโดยตรง แต่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การตีความมาตรา 112 ต้องมีความเคร่งครัด

อัยการถามว่าที่บอกว่าการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้ แต่ก็มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าให้เป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย อานนท์รับว่าใช่ อัยการถามต่อว่าในวันเกิดเหตุมาตรา 112 ยังคงบังคับใช้อยู่ใช่หรือไม่ อานนท์รับว่าใช่

อัยการถามว่ามีผู้เข้าฟังการปราศรัยของพยาน ประมาณ 400 กว่าคนใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า หลักร้อยคน แต่พยานจำจำนวนไม่ได้ อัยการถามว่าการปราศรัยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ใช่หรือไม่ อานนท์รับว่าใช่ อัยการถามว่าการปราศรัยมีการไลฟ์ถ่ายทอดสดด้วยใช่หรือไม่ อานนท์ระบุว่าไม่ทราบ 

อัยการถามว่าผู้เข้าฟังการปราศรัยนั้น ไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมายทุกคนใช่หรือไม่ และพยายามถามว่าผู้ฟังไม่ได้จบนิติศาสตร์ใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่าใช่ แต่เชื่อว่าผู้ฟังมีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจการอภิปรายดังกล่าวได้ รวมถึงตัวอย่างต่าง ๆ ในการปราศรัย

หลังจากอัยการหมดคำถาม อานนท์ขอแถลงเพิ่มเติมว่า “อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่นักกฎหมายหลายคน แกล้งไม่เข้าใจในผลเสียของการตรา พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ และพยายามปิดปากไม่ให้ข้าพเจ้าพูด ด้วยการฟ้องร้องและไม่ให้ประกันตัว”

ทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่าในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือดูหมิ่นศาล ก็ไม่ได้มีการบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ แต่ในหลายคดี ศาลก็มีการหยิบยกเหตุข้อยกเว้นความผิด เรื่องการติชมโดยสุจริต มายกฟ้องคดีใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามถึงคำถามของอัยการที่บอกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย อานนท์เบิกความยืนยันว่าการอภิปรายในวันเกิดเหตุ ก็เป็นไปตามกรอบกฎหมาย

ทนายจำเลยถามว่าการที่ผู้ฟัง ไม่ได้จบนิติศาสตร์ทุกคน ทำให้ในการปราศรัยพยานจึงใช้ถ้อยคำให้ง่ายต่อการเข้าใจใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ใช่ พร้อมเสริมว่าการอธิบายกฎหมายให้ชาวบ้านฟัง ไม่ใช่การสอนกฎหมาย ที่ต้องนำตัวบทมาตรามาปราศรัย และต่อให้เราบรรยายไปตามตัวบทกฎหมาย หรือนำตัวบทมาแจกจ่าย แต่คนที่เลือกจะกล่าวหา ก็นำไปแจ้งความอยู่ดี

ในตอนท้าย อานนท์ขออนุญาตศาลแถลงเพิ่มเติมว่า จุดตัดของเรื่องนี้ คือเราจะใช้แว่นอะไรในการมอง มองสถาบันพระมหากษัตริย์ในแว่นของระบอบประชาธิปไตย หรือแว่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าแว่นของระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ก็ไม่ควรเป็นความผิด ถ้ามองผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือมองว่ากษัตริย์แตะต้องไม่ได้เลย สิ่งที่ทำอยู่นี่เป็นความผิด “แถมตกนรกด้วย”

“จุดตัดคือเรามองสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบไหน” อานนท์กล่าวทิ้งท้าย ก่อนจบการเบิกความ

.

นักประวัติศาสตร์ เบิกความไล่ความเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินฯ เห็นว่าจำเลยปราศรัยสะท้อนความรู้สึกกังวลใจของประชาชนจำนวนมาก

พยานจำเลยอีกสองปากนั้น เข้าเบิกความในวันที่ 25 ธ.ค. 2567

พยานจำเลยปากที่ 2 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อรรถจักร์ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2530 มีผลงานตีพิมพ์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงปี 2475

พยานเบิกความถึงการเปลี่ยนแปลงในประเทศต่าง ๆ ที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ประชาธิปไตย จะมีการเปลี่ยนแปลงในการจัดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในความสัมพันธ์กับการเมืองในทุกแห่ง โดยมักมีการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ ให้ดำรงอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะเท่านั้น โดยไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือเรื่องทางเศรษฐกิจ เช่น สเปน, ญี่ปุ่น, อังกฤษ

ในกรณีของไทย เริ่มต้นมีความพยายามแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินสาธารณะ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ได้จัดตั้งกรมพระคลังข้างที่ เพื่อจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ แต่ทรัพย์สินของรัฐยังอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่สมัย ร.5-7 ความกำกวมของทรัพย์สินทั้งสองระบบนี้ยังอยู่ จนหลังปี 2475 จึงมีความพยายามแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณะ ออกจากกัน เพื่อทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่พ้นหรือเหนือจากการเมืองและเศรษฐกิจ

แต่ในปี 2490 ได้มีความพยายามที่จะดึงอำนาจการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ออกจากกระทรวงการคลัง มีการสร้างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้น ซึ่งมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลมากขึ้น

จนในปี 2560 เกิดการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ปี 2561 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการจัดการทรัพย์สินทั้งหมด โดยจัดไว้เหลือ 2 ลักษณะ คือ ทรัพย์สินในพระองค์ และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ โดยทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถูกนำไปรวมในทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ทำให้สลายเส้นแบ่งระหว่างทรัพย์สินสาธารณะกับส่วนพระองค์ ทั้งหมดถูกนำมารวมกัน และให้เป็นไปพระราชอัธยาศัย ซึ่งส่งผลอย่างไพศาลและลึกซึ้งในการเปลี่ยนแปลง

จากการอ่านเนื้อหาคำปราศรัยของจำเลยในคดีนี้ พยานเห็นว่าเนื้อหาคำปราศรัย เป็นตัวแทนของความรู้สึกอึดอัด กังวลใจของพสกนิกรในสังคมที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการผลักความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินทั้งหมด ให้เป็นภาระต่อสถาบันฯ แทนที่จะมีหน่วยงานดูแลแทน การอภิปรายเรื่องนี้เป็นการพูดถึงปัญหาของ พ.ร.บ. ที่ออกมา เป็นการวิจารณ์วิจารณ์ตัวกฎหมาย และสะท้อนความรู้สึกของคนจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในการเบิกความของอรรถจักร์ ศาลไม่รับเอกสารที่พยานจัดเตรียมมาเป็นความเห็นเพื่อยื่นประกอบ เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาเหมือนกันกับคำเบิกความที่ศาลได้บันทึกไว้แล้ว

อัยการโจทก์ถามค้าน

อัยการให้พยานดูตัว พ.ร.บ. ปี 2560 และ 2561 พร้อมสอบถามว่า เป็นกฎหมายที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่

อัยการถามต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญ หาก พ.ร.บ.ใด ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีช่องทางให้ประชาชนสามารถโต้แย้งหรือคัดค้านได้ใช่หรือไม่ พยานเบิกความมีช่องทางต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้ อย่างการเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ มักประสบความล้มเหลว แต่รับว่ากฎหมายเปิดช่องให้ทำได้

.

ภาพการปราศรัยจากเพจประชาคมมอชอ

.

นักวิชาการกฎหมาย เห็นว่าอานนท์ปราศรัยภายใต้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การตีความ ม.6 เป็นเรื่องการฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ไม่เกี่ยวกับ ม.112

พยานจำเลยปากที่ 3 สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมชาย สอนวิชารัฐธรรมนูญ, นิติปรัชญา, การวิจัยกฎหมาย และกฎหมายกับสังคม มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุม, ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญของไทย และบทเรียนและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

สมชาย เบิกความว่าหลังจากได้อ่านคำฟ้องคดีนี้ มีความเห็นใน 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

ประเด็นแรก สถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ล่วงละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 มีการอภิปรายกันว่าถ้อยคำนี้มีความหมายอย่างไร ที่ประชุมสภาถกเถียงและมีความเห็นว่า จะไม่สามารถฟ้องร้องกษัตริย์เป็นคดีความในศาลได้ ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2492 มีการเพิ่มเติมข้อความว่า “จะกล่าวหาฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้”

หลังจากนั้นในรัฐธรรมนูญก็จะมีข้อความแบบนี้ต่อเนื่องมา บางครั้งรวมหรือแยกมาตรา แต่เจตจำนงคือ ห้ามฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ สอดคล้องกับหลักการทางรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยในกิจการบ้านเมืองต่าง ๆ นั้น พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้กระทำการด้วยพระองค์เอง เนื่องจากมีผู้ลงนามรับสนอง และผู้รับผิดชอบก็คือผู้ลงนาม เรียกว่าหลัก “The King Can Do No Wrong”

งานวิชาการหลายเล่ม เช่น งานของหยุด แสงอุทัย อธิบายว่าการฟ้องร้องกษัตริย์ทำไม่ได้ทั้งทางอาญาและแพ่ง กรณีที่กษัตริย์กระทำความเสียหาย อาจจะใช้วิธีถวายฎีกา แต่ฟ้องไม่ได้ หลักการของมาตรา 6 หรือสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ จึงมีความหมายว่าประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้

ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายเพื่อปกป้องพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ต้องพิจารณาแยกออกจากกันจากรัฐธรรมนูญมาตรา 6

ประเด็นที่สอง ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังมีการรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็น ตามมาตรา 34 เป็นหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีคุณค่าเทียบเท่ากับมาตรา 6 ซึ่งโดยหลักการตีความรัฐธรรมนูญ ต้องตีความโดยไม่ให้หลักการอันใดอันหนึ่ง ไปทำลายหลักการอีกอัน

การมีมาตรา 6 จึงไม่ได้หมายความว่าเป็นการห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นก็ยังสามารถกระทำได้ การตีความรัฐธรรมนูญต้องทำให้หลักการหรือคุณค่าในเรื่องต่าง ๆ ดำรงอยู่ได้ร่วมกัน

สมชายยกตัวอย่างคดีตัวอย่างในต่างประเทศ ที่สะท้อนความพยายามของศาลในการตีความกรณีที่เรื่องเสรีภาพการแสดงออก ปะทะกับกฎหมายระดับรอง เช่น คดี Texas v. Johnson (1989) ในสหรัฐฯ จำเลยถูกฟ้องจากการเผาธงชาติ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นความผิดตามรัฐบัญญัติ แต่เขาต่อสู้ว่าตนเองแสดงความคิดเห็นทางการเมือง จนศาลสูงได้วินิจฉัยว่าการเผาธงชาติดังกล่าว ยังเป็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นตัวอย่างของการตีความหลักความเป็นสูงสุดของหลักการในรัฐธรรมนูญ เหนือกว่ากฎหมายลำดับรอง

ประเด็นที่สาม ในเรื่องมาตรา 112 กำหนดการกระทำดูหมิ่น, หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย การกระทำที่จะเข้าข่ายต้องปรากฏชัดเจนว่าเป็นไปตามสามองค์ประกอบดังกล่าว สอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ต้องไม่ตีความให้กว้างขวาง ไปตามใจของแต่ละคน

ประเด็นที่สี่ ในข้อกล่าวหาจำเลยในคดีนี้ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้นมี 2 ส่วน

กฎหมายก่อนการแก้ไขในปี 2560-61 นั้น กฎหมายบัญญัติแบ่งทรัพย์สินออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ 2) ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จัดการโดยสำนักพระราชวัง 3) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะหมายถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของส่วนพระองค์ มีคณะกรรมการดูแล โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธาน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แต่ภายหลังปี 2560-2561 ได้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ ทำให้การจัดแบ่งทรัพย์สินเปลี่ยนไปจากเดิม โดยกฎหมายในปี 2561 ได้แบ่งทรัพย์สินเป็น 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินในพระองค์ ทั้งหมดเรียกรวมกันว่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการ เพราะมาตรา 6 ของ พ.ร.บ. ใหม่นี้ กำหนดให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏรูปแบบที่ชัดเจน หลังกฎหมายฉบับนี้ผ่านในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ไม่มีหน่วยงานใดมาให้คำตอบจนถึงปัจจุบัน พยานก็ได้ให้การในรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในชั้นสอบสวนในคดีนี้ด้วย

คำปราศรัยของอานนท์ในคดีนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเป็นประเด็นสำคัญมากเกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน

พยานเห็นว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองชนิดหนึ่ง จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อมีการออกกฎหมายที่ทำให้เกิดคำถามต่อการจัดการทรัพย์สิน ประชาชนย่อมมีสิทธิจะตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลง และกฎหมายที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนั้น

พยานเบิกความว่า ตนเองก็มีความกังวลใจในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่มีความกล้าจะพูดต่อสาธารณะ เฉกเช่นอานนท์กระทำ โดยเห็นว่าคำปราศรัยของอานนท์ยังเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ

ทนายความถามถึงภาษาในการปราศรัยของอานนท์ สมชายเห็นว่าภาษาสำหรับปราศรัย ต้องการทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ยังคงหลักการสำคัญในเรื่องการชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดการทรัพย์สินไว้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่อต้องมีการอธิบายในเชิงภาษาพูด ดังที่พยานมาเบิกความเอง ก็เป็นการสรุปประเด็นสำคัญ สรุปโครงสร้างของกฎหมาย มิได้มาไล่อ้างในรายมาตรา ในการอธิบายกฎหมายในชั้นเรียน หรือในทางวิชาการ หรือในการปราศรัยสาธารณะก็ตาม ก็ต้องมีการอภิปรายสรุปประเด็นสำคัญให้ผู้ฟังเข้าใจ มากกว่าการอ่านกฎหมายแบบรายมาตรา

อัยการโจทก์ถามค้าน

อัยการถามว่ามาตรา 112 นั้นอยู่ในหมวดเกี่ยวกับความมั่นคงใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ อัยการถามต่อว่ากฎหมายนี้มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2519 และก็ยังใช้อยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิก ใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าปี 2519 คณะรัฐประหารได้มีการแก้ไขเพิ่มโทษมาตรานี้ และรับว่ายังคงมีการบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

อัยการพยายามถามว่าคำว่า “เบียดบัง” เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 352 เกี่ยวกับทรัพย์

ทนายความถามติง

สมชาย เบิกความเพิ่มเติมว่า การพิจารณาความหมายของถ้อยคำปราศรัย ต้องพิจารณาบริบทหรือถ้อยคำทั้งหมดด้วย ดังเช่นกรณีการเผาธงชาติ หากพิจารณาแค่การเผาธง ก็เป็นความผิด แต่หากพิจารณาการเผาธงในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางการเมือง ศาลก็ชี้ว่าไม่ผิด การพิจารณาเฉพาะถ้อยคำ จะไม่ทำให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงได้

หลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 มี.ค. 2568 เวลา 9.30 น. โดยต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 5 ตรวจก่อน และให้อ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ต้องนำตัวจำเลยเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่

.

อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เทียบ “พ.ร.บ.ทรัพย์สินฯ 4 ฉบับ” พระราชอำนาจกษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง? โดย iLaw

.

X