คำปราศรัยด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันกษัตริย์ และประเทศชาติของเรา: คำแถลงของ ‘อานนท์ นำภา’ ในห้องพิจารณาคดี ม.112 ที่เชียงใหม่

วันที่ 24 ธันวาคม 2567 คริสต์มาสอีฟที่จังหวัดในภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็น

อานนท์ นำภา ถูกนำตัวเดินทางโดยรถตู้จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เรือนจำกลางเชียงใหม่ตั้งแต่วันก่อนหน้า โดยก่อนเดินทางมีการใส่กุญแจข้อเท้าตลอดทาง

การควบคุมดูแลที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจัดกำลังโดยรอบศาลกว่า 20-30 นาย ในชั้น 2 ของอาคารศาล มีการตั้งแผงเหล็กทางเดินไปสู่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ซึ่งใช้พิจาณาคดีของอานนท์ โดยมีเจ้าหน้าที่ 5-6 นาย คอยควบคุมคนเข้าออก อนุญาตให้มีตัวแทนเข้าฟังในห้องพิจารณาได้จำนวน 5 คน ท่ามกลางประชาชนที่มาติดตามคดีประมาณ 20 คน แต่ส่วนที่เหลือสามารถไปติดตามยังห้องที่จัดถ่ายทอดการพิจารณาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้

อานนท์ถูกนำตัวมายังห้องพิจารณาในชุดนักโทษ โดยสวมเสื้อกันหนาวสีน้ำเงินแขนยาว สกรีนข้อความด้านหลังเสื้อว่า “เรือนจำกลางเชียงใหม่ ออกศาล” แต่ยังคงใส่กางเกงขาสั้นสีน้ำตาล ไม่ได้ใส่รองเท้า และใส่กุญแจข้อเท้า เขาโบกมือทักทายผู้มาให้กำลังใจที่ไม่สามารถเข้ามาฟังในห้องพิจารณาคดีได้

คดีวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ต่อจากในนัดช่วงเดือนเมษายน 2567 โดยอานนท์ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบ ๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 โดยเนื้อหาคำปราศรัยหลักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 10

อานนท์พูดคุยเตรียมคดีกับทีมทนายความ ก่อนการสืบพยานจะเริ่มต้น โดยอัยการนำพยานโจทก์อีก 2 ปาก เข้าเบิกความ ก่อนแถลงหมดพยาน เวลาราว 11.15 น.

ศาลเห็นว่ายังมีเวลาในช่วงเช้า จึงให้เริ่มสืบพยานจำเลย โดยให้อานนท์ขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลยปากแรกทันที

—————-

“ชื่อ อานนท์ นำภา อายุ 40 ปี” ศาลเริ่มบันทึกข้อมูลของพยานผู้ขึ้นเบิกความ ผ่านเครื่องบันทึกเสียง

“อาชีพ ทนายความ…”

“ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนครับ” อานนท์ทักขอแก้ไขข้อมูล ซึ่งศาลก็บันทึกให้

“ที่อยู่” ศาลบันทึกต่อ

“เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” อานนท์ตอบ ตามมาด้วยเสียงหัวเราะเบา ๆ ของคนในห้องพิจารณา

“เอาที่อยู่ก่อนหน้านี้” ศาลขอให้แก้ไข

“… จ.ร้อยเอ็ด” อานนท์ตอบที่อยู่จากภูมิลำเนาของเขา

ก่อนศาลให้ทนายจำเลย เริ่มถามความอานนท์

—————

อานนท์ เบิกความถึงภูมิหลังของตนเองว่า จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำงานเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ตลอด ตั้งแต่จบการศึกษาปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สอบได้เนติบัณฑิตไทยสมัยที่ 62

ทนายจำเลยให้อานนท์เล่าถึงคดีที่ถูกกล่าวหานี้ อานนท์ยอมรับว่าได้ปราศรัยถ้อยคำตามเนื้อหาการถอดเทปที่ตำรวจระบุในวันเกิดเหตุจริง โดยได้แถลงถึงที่มาที่ไปในการปราศรัยว่า ในช่วงก่อนการชุมนุมปี 2563 เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการขยายพระราชอำนาจในสมัยรัชกาลที่ 10 โดยเป็นการพูดคุยในโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งมีการชุมนุมเรียกร้องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ได้ตั้งคำถามถึงการขยายพระราชอำนาจ 3 ประการ ได้แก่ พระราชอำนาจทางการปกครอง, ทางการทหาร และทางพระราชทรัพย์ ซึ่งในประเด็นที่สามนี้ ปรากฏในคำปราศรัยของพยานในวันเกิดเหตุ

อานนท์ได้เบิกความไล่เรียงถึงการขยายพระราชอำนาจในแต่ละข้อดังกล่าว ซึ่งเขาเห็นว่ากระทบต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเอง โดยเนื้อหาเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และศาลก็บันทึกไว้เป็นข้อต่อสู้ของจำเลย

ประเด็นแรก ได้มีการสั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่ง “พวกเรา” เห็นว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติของประชาชน ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว โดยมีข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ให้สัมภาษณ์เรื่องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ

นอกจากนั้น ยังมีการแก้ไขให้มีหน่วยงานในพระองค์ บริหารจัดการโดยพระมหากษัตริย์เอง ขัดกับหลักการประชาธิปไตยและหลักการ The King Can Do No Wrong ที่พระมหากษัตริย์ต้องไม่กระทำการใด ๆ เอง แต่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเสมอ ทำให้เกิดการโยกย้ายแต่งตั้งบุคคลโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ

รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่หากพระมหากษัตริย์ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีดังกล่าวในช่วงปี 2562-63 เนื่องจากมีภาพต่าง ๆ เกี่ยวกับการไปประทับอยู่ในประเทศเยอรมนี ทั้งการประทับดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน และรัฐสภาเยอรมนีก็ได้มีการอภิปรายถึงการใช้พระราชอำนาจนอกราชอาณาจักร เกี่ยวกับการอภิปรายดังกล่าว ในชั้นสอบสวน อานนท์ยังได้ขอให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือไปยังพรรคกรีนของประเทศเยอรมนี เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย

อานนท์เบิกความว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่มีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน รวมทั้งคนที่วิพากษ์วิจารณ์อาจจะถูกนำตัวไปคุมขังหรือถูกดำเนินคดี เช่น กรณีของจำเลย เป็นต้น

ประเด็นที่สอง การขยายพระราชอำนาจทางการทหาร ได้มีการนำกรมทหาร 2 กรม ไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ และออก พ.ร.ฎ.การโอนอัตรากำลังพลในปี 2562 สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศมีหน่วยงานทางทหารที่ไม่ขึ้นตรงต่อกัน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยไม่ควรเกิดขึ้น

อานนท์เห็นว่า การใช้อำนาจบริหารยังต้องทำผ่านรัฐบาล การใช้อำนาจได้ด้วยตนเอง ขัดต่อหลัก The King Can Do No Wrong รวมถึงการใช้งบประมาณที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

ประเด็นที่สาม การขยายอำนาจทางพระราชทรัพย์ โดยในสมัยคณะราษฎรได้มีการจัดแบ่งทรัพย์สินของกษัตริย์เป็นสองส่วนใหญ่ คือของส่วนตัวกับของส่วนรวม ซึ่งแยกเป็นทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กับทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์

ความขัดแย้งเรื่องการจัดการทรัพย์สิน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ที่พระองค์เคยถูกฟ้อง และแพ้คดีต้องนำทรัพย์สินคืนแก่กระทรวงการคลัง ทำให้ต่อมามีการแก้ไขรัฐธรรมรูญ บัญญัติข้อความ “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ชัดเจนว่าไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ เพื่อรักษาพระเกียรติไว้ แต่ไม่ได้ห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งข้อความ ยังหมายไปถึงพระมหากษัตริย์ต้องดำรงตนให้เป็นที่เคารพสักการะ ในทางรัฐธรรมนูญคือไม่ใช่อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเอง และพระองค์ยังต้องดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นหน้าที่ราษฎรในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์

อานนท์เบิกความว่า เดิมในกฎหมายการจัดการทรัพย์สินปี 2479 ไม่ได้ให้พระราชอำนาจโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ เหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยก่อนหน้านั้นการจัดการทรัพย์ในระบอบดังกล่าว ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นเหตุผลหนึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ดังปรากฏในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร

อานนท์เบิกความถึงถ้อยคำ “องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ” ก็มีใช้ในหลายประเทศ แต่กษัตริย์ในประเทศเหล่านั้น ต้องดำรงตนอย่างเข้มงวดอยู่ในหลักการนี้อยู่

ในปี 2560 ได้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช. เป็นการผ่านกฎหมายสามวาระรวด และพิจารณาลับ แต่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ยังมีการตรา พ.ร.บ. ปี 2561 ให้ทรัพย์สินของสถาบันฯ ทั้งหมด เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ส่งผลให้ทรัพย์สินที่เดิมเป็นของสถาบันฯ กลายเป็นของส่วนตัว เช่น กรณีหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ดังปรากฏคำชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหุ้นของธนาคารในเอกสารที่ยื่นต่อศาล รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของที่ดินหลายแปลง เช่น รัฐสภาเดิม, ลานพระรูปทรงม้าฯ ที่ถูกล้อมรั้วไม่ให้ประชาชนเข้าไป

อานนท์เบิกความว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อทรัพย์สินที่เคยเป็นของแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดความสงสัยและความห่วงใย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ จนเกิดการชุมนุมในช่วงดังกล่าว ตนเองก็ได้อภิปรายถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ ยกตัวอย่างถึงผลเสียที่เกิดขึ้น และกล่าวถึงที่มาของกฎหมายจาก คสช. การยกตัวอย่างเพื่อให้มีความชัดเจนถึงผลเสียที่เกิดขึ้น การออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือติเตียน ก็เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งเหล่านี้

อานนท์เบิกความว่าคำปราศรัยของตนมาจากสองส่วน คือมาจากตัวกฎหมายโดยตรง และจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเป็นการแสดงความห่วงใยต่อประเทศชาติและต่อสถาบันกษัตริย์

อานนท์ได้เสนอว่า สิ่งที่ตนเสนอ ก็คือให้แก้ไขกฎหมายกลับไปเหมือนกับในสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างน้อย ซึ่งตนก็ได้บอกเจตนาไว้ในการปราศรัยอย่างชัดเจน ตั้งแต่ในชั้นสอบสวน และขอให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าว

“ผมยืนยันว่า ผมปราศรัยโดยการวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริต ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยตรงไปตรงมา มีเจตนาปรารถนาที่จะให้เรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง มีพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน ได้โดยเป็นธรรม”

—————————

เมื่ออานนท์เบิกความจบ อัยการโจทก์ได้ถามค้าน

อัยการถามว่าตามมาตรา 112 นั้น ไม่มีข้อยกเว้นความผิด เหมือนกับเรื่องหมิ่นประมาทบุคคลธรรมใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ไม่มีในตัวบทโดยตรง แต่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การตีความมาตรา 112 ต้องมีความเคร่งครัด

อัยการถามว่าที่บอกว่าการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้ แต่ก็มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าให้เป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย อานนท์รับว่าใช่ อัยการถามต่อว่าในวันเกิดเหตุมาตรา 112 ยังคงบังคับใช้อยู่ใช่หรือไม่ อานนท์รับว่าใช่

อัยการถามว่ามีผู้เข้าฟังการปราศรัยของพยาน ประมาณ 400 กว่าคนใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า หลักร้อยคน แต่จำจำนวนไม่ได้ อัยการถามว่าการปราศรัยใช้เวลาประมาณ 20 นาที ใช่หรือไม่ อานนท์รับว่าใช่  อัยการถามว่าการปราศรัยมีการไลฟ์ถ่ายทอดสดด้วยใช่หรือไม่ อานนท์ระบุว่าไม่ทราบ

อัยการถามว่าผู้เข้าฟังการปราศรัยนั้น ไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมายทุกคนใช่หรือไม่ และไม่ได้จบนิติศาสตร์ใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่าใช่ แต่เสริมว่า เขาเชื่อว่าผู้ฟังมีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจการอภิปรายดังกล่าวได้ รวมถึงตัวอย่างต่าง ๆ ในการปราศรัย

หลังจากอัยการหมดคำถาม อานนท์ขอแถลงเพิ่มเติมว่า “อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่นักกฎหมายหลายคน แกล้งไม่เข้าใจในผลเสียของการตรา พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ และพยายามปิดปากไม่ให้ข้าพเจ้าพูด ด้วยการฟ้องร้องและไม่ให้ประกันตัว”

—————————

จากนั้นถึงคราวทนายจำเลยถามติง

ทนายจำเลยถามว่าในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หรือดูหมิ่นศาล ก็ไม่ได้มีการบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ แต่ในหลายคดี ศาลก็มีการหยิบยกเหตุข้อยกเว้นความผิด เรื่องการติชมโดยสุจริต มายกฟ้องคดีใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่าใช่

ทนายจำเลยถามถึงคำถามของอัยการที่บอกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย อานนท์เบิกความยืนยันว่าการอภิปรายในวันเกิดเหตุ ก็เป็นไปตามกรอบกฎหมาย

ทนายจำเลยถามว่าการที่ผู้ฟัง ไม่ได้จบนิติศาสตร์ทุกคน ทำให้ในการปราศรัยพยานจึงใช้ถ้อยคำให้ง่ายต่อการเข้าใจใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่า ใช่ พร้อมเสริมว่าการอธิบายกฎหมายให้ชาวบ้านฟัง ไม่ใช่การสอนกฎหมาย ที่ต้องนำตัวบทมาตรามาปราศรัย และต่อให้เราบรรยายไปตามตัวบทกฎหมาย หรือนำตัวบทมาแจกจ่าย แต่คนที่เลือกจะกล่าวหา ก็นำไปแจ้งความอยู่ดี

ในตอนท้ายเมื่อทนายจำเลยหมดคำถาม อานนท์ขออนุญาตศาลแถลงเพิ่มเติมว่า จุดตัดของเรื่องนี้ คือเราจะใช้แว่นอะไรในการมอง มองสถาบันพระมหากษัตริย์ในแว่นของระบอบประชาธิปไตย หรือแว่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าแว่นของระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ก็ไม่ควรเป็นความผิด ถ้ามองผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือมองว่ากษัตริย์แตะต้องไม่ได้เลย สิ่งที่ทำอยู่นี่เป็นความผิด “แถมตกนรกด้วย”

“จุดตัดคือเรามองสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครองแบบไหน” อานนท์กล่าวทิ้งท้าย

ก่อนจบการเบิกความในเวลาประมาณ 12.21 น.

——————–

หลังจากเสร็จสิ้นการพิจารณาในช่วงเที่ยง อานนท์ถูกนำตัวออกจากห้องพิจารณา ลงไปรอที่ห้องขังใต้ถุนศาล พร้อมประชาชนหลายคนที่โบกมือให้กำลังใจ ขณะอานนท์ยังยิ้มแย้มกับผู้คน พี่น้องยังได้สั่งลาบและอาหารเหนือจากร้าน “คณะลาบ 2563” ฝากเข้าไปให้อานนท์ทานเป็นมื้อเที่ยง ซึ่งเขาฝากความประทับใจต่อความเอร็ดอร่อยในอาหารมื้อนี้ออกมา ก่อนในช่วงบ่าย อานนท์ถูกนำตัวขึ้นมาฟังเนื้อหาคำเบิกความของตัวเองที่ศาลบันทึกไว้

วันถัดมา ฝ่ายจำเลยนำพยานนักวิชาการอีก 2 ปาก เข้าเบิกความ ก่อนคดีจะเสร็จสิ้นลง และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 มี.ค. 2568 เวลา 9.30 น. โดยให้อ่านผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไม่ได้นำตัวอานนท์เดินทางมาจากกรุงเทพฯ

รอติดตามผลคำพิพากษคดีนี้ ซึ่งนับเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีมาตรา 112 คดีที่ 7 ของอานนท์ นำภา

.

อ่านประมวลการต่อสู้คดีนี้ของอานนท์ และคำเบิกความพยานทุกปากได้ที่ การต่อสู้ของ “อานนท์ นำภา” ในคดี ม.112 กรณีปราศรัยหอศิลป์ มช. ยืนยันพูดข้อเท็จจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจัดการทรัพย์สินกษัตริย์ ติชมโดยสุจริตและปรารถนาดี

.

X