พิพากษาปรับ 4 จำเลย “ทะลุฟ้า” รวม 8,000 บาท เหตุร่วมม็อบ #รดน้ำกดหัวประยุทธ์ สงกรานต์ปี 64 ศาลระบุ รัฐมีสิทธิระงับสิทธิ-การแสดงออกได้อย่างชอบธรรมในสถานการณ์โรคระบาด

วันที่ 27 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษา ในคดี #ม็อบ15เมษา64 หรือกิจกรรม‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ ของกลุ่มทะลุฟ้า โดยมีจำเลย 4 ราย ได้แก่ นวพล ต้นงาม, วีรภาพ วงษ์สมาน, ทวี เที่ยงวิเศษ และวิรัช แซ่คู ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. จราจรทางบก, พ.ร.บ. ความสะอาดฯ, และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง  รวม 4 ข้อหา

>>> สั่งฟ้อง 4 นักกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า “พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ” จากกิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ ก่อนศาลให้ประกันด้วยการสาบานตน

.

สำหรับคดีนี้มี พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจาก กลุ่ม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” จัดกิจกรรม ‘รดน้ำกดหัวประยุทธ์’ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคระบาด รวมถึงยืนยันข้อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเลิกมาตรา 112 และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

หลังพนักงานอัยการ มีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย. 2565 หลังสืบพยานแล้วเสร็จได้นัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้

เวลา 09.15 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุปเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่ส่งผลโดยตรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็นในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ

ศาลจำต้องวินิจฉัยถึงเจตจำนงค์ที่แท้จริงของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยคำนึงถึงความสมดุล ได้สัดส่วนในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมหรือห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างไร้เหตุผล ซึ่งสามารถดูได้จากสถานการณ์ความรุนแรงของเชื้อไวรัส ประกอบกับพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ชุมนุมในสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมหรือไม่

การที่จำเลยทั้ง 4 เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพลเมืองที่มีลักษณะเป็นหมู่คนจำนวนมากในสถานการณ์ที่มีการแพร่กระจายของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จำเลยทั้ง 4 จะอ้างว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่จำเลยทั้ง 4 ย่อมรู้ดีว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดฯ ดังปรากฎจากเอกสารพยานหลักฐานจำเลย ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันและเป็นช่วงเวลาเดียวกับวันเกิดเหตุ คือตั้งแต่วันที่ 14 – 22 เม.ย. 2565 เห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มมากขึ้นในแต่ละวัน หากไม่มีการควบคุม ให้ประชาชนมามั่วสุม อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งไม่มีเตียงในโรงพยาบาลเพียงพอสำหรับผู้ป่วย หากระบบสาธารณสุขล้มเหลว จะทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

เมื่อฟังได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การแพร่ระบาดของโรคฯ ยังเป็นมหันตภัยร้ายแรงของมนุษยชาติและเป็นโรคอุบัติใหม่ แม้ในหลักการของการจำกัดสิทธิฯ ในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ จะกระทำมิได้ แต่ก็มีข้อยกเว้น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้พื้นที่สาธารณะ และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในภาวะสงคราม หรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

การบังคับใช้กฎหมายที่จำกัดสิทธิฯ ของประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่โรคระบาดย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะกระทำได้โดยชอบ เพราะเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิฯ บางประการเพื่อปกป้องชีวิตและความผาสุกของประชาชนทั้งประเทศอันเป็นประโยชน์มหาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกทั้งการประกาศมิได้ใช้เฉพาะกับผู้ชุมนุมในทางการเมือง แต่ใช้กับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะรวมตัวในลักษณะใด การรวมตัวกันอย่างแออัดและไม่มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อเพียงพอ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า รัฐใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกัน เพราะมีกลุ่มอื่นจัดกิจกรรมคล้ายกันตามเอกสารหลักฐานของจำเลย แต่รัฐบาลมิได้ดำเนินคดี จึงมีนัยยะแอบแฝงในแง่ของการจำกัดสิทธิฯ เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการชุมนุมของจำเลยทั้ง 4 จัดในช่วงเทศกาล หากปล่อยให้มีการรวมตัวกันเล่นน้ำเป็นปกติ จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้กระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ยากต่อการรับมือ แม้กฎหมายดังกล่าวจะลิดรอนสิทธิฯ ในการชุมนุม แต่เมื่อเทียบกับความสูญเสียที่จะเกิดแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และเพื่อความผาสุกของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่เกินสัดส่วนแห่งความจำเป็นที่รัฐจะต้องจำกัดสิทธิบางประการของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น 

ประกอบกับสถานการณ์ในช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุคือช่วงที่ประชาชนยังไม่ได้รับวัคซีน จึงเพิ่มโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสฯ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 (นวพล) ใส่หน้ากากไว้ใต้คาง มีการรวมตัวกันโดยไม่เว้นระยะห่าง สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

พฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 4 และผู้ร่วมกิจกรรมย่อมไม่เข้าข่ายของการเว้นระยะหรือมีมาตรการตามสมควรมิให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบ รับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ทำผิดตามข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินจริง

ในส่วนของข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.รักษาความสะอาด, และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง เห็นว่า เมื่อการชุมนุมของจำเลยทั้ง 4 มีลักษณะแออัด ง่ายต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงเป็นการเข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการนำเอารถยนต์มาจอดขวางบนถนน การเล่นกีฬาสี การนำหุ่นจำลองมาวางเผา จึงเป็นการรวมตัวหรือวางสิ่งของบนถนนที่กีดขวางการจราจร ทั้งนี้ จำเลยมีเจตนาชุมนุมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว จึงถือเป็นความผิดกรรมเดียว แต่กระทำผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษความผิดข้อหาหนักสุดคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท

รวมทั้ง 4 คนต้องชำระค่าปรับต่อศาลเป็นเงิน 8,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

.

เปิดบันทึกการสืบพยาน: ศาลห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างพิจารณา

สำหรับการสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์ขึ้นเบิกความทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี, ส.ต.อ.อิสระ วงษ์ชัยเพ็ง และ พ.ต.ท.กฤษณ์พจน์ ชาญณรงค์ และมีพยานจำเลยขึ้นเบิกความ 4 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้ง 4 ในคดีนี้เอง

ระหว่างการพิจารณา ศาลแขวงดุสิตมีการห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึก ในช่วงบ่ายของการสืบพยานวันแรก โดยระบุว่าให้ไปขอคัดคำเบิกความภายหลังได้ ไม่จำเป็นต้องจดบันทึกในห้องพิจารณา

พยานโจทก์ปากที่ 1 – พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี

พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่ง รองผู้กำกับการสืบสวน สน.นางเลิ้ง โดยก่อนเกิดเหตุในคดีนี้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 

คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2564 ขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมและรวมตัวกัน อันยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามจัดกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและมีข้อกำหนดห้ามทำกิจกรรมหรือรวมตัวกัน และมีประกาศอีกหลายฉบับในทำนองเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19

ก่อนคดีนี้ มีการนัดรวมตัวกันเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์ และพยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามกลุ่มทะลุฟ้าที่จะมาทำกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง โดยพยานทราบการนัดหมายกันของผู้ชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2564 และได้แจ้งต่อไปยังผู้บังคับบัญชาว่าจะมีกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้ามาทำกิจกรรม “รดน้ำกดหัวประยุทธ์” ในวันดังกล่าว

วันเกิดเหตุ พยานไปที่เกิดเหตุพร้อมกับตำรวจอีกจำนวน 6 นาย ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หลังจากนั้นเวลาประมาณ 13.00 น. พบว่ากลุ่มทะลุฟ้าเริ่มรวมตัวกันหน้าป้ายรถประจำทางหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประมาณ 40 คน โดยตลอดเวลาที่มีการรวมกลุ่มกัน มีผู้ใต้บังคับบัญชารายงานอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้จุดที่พยานยืนอยู่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร

พยานเบิกความต่อว่า กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้ามีปืนฉีดน้ำ ป้ายข้อความ หุ่นฟาง ฯลฯ จากนั้นมวลชนชนเคลื่อนมาที่สะพานชมัยมรุเชฐ พยานเข้าใจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ที่สะพานดังกล่าวมีแนวตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) วางแนวตรึงกำลังอยู่ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงหยุดทำกิจกรรมอยู่บริเวณหน้าแนวกั้น คฝ. ดังกล่าว จากนั้นมีการพูดโจมตีการทำงานของรัฐบาลผ่านเครื่องขยายเสียงติดกับรถกระบะ มีการเปิดเพลง เล่นน้ำ ฉีดน้ำที่เป็นน้ำผสมสี เผาหุ่นฟาง และอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง, ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112, เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยตลอดการทำกิจกรรม รถไม่สามารถเคลื่อนผ่านบนถนนได้

การชุมนุมไม่มีการจัดมาตรการควบคุมและคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด โดยมีผู้ชุมนุมบางรายไม่ใส่หน้ากากอนามัย อีกทั้งมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัด เสี่ยงติดเชื้อโควิดได้ง่าย ในวันเกิดเหตุ การชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. ต่อมาแกนนำถึงได้ประกาศยุติ

จากนั้นพยานได้มอบหมายให้ ส.ต.อ.อิสระ วงษ์ชัยเพ็ง ถ่ายภาพขณะเกิดเหตุเเป็นหลักฐานและจัดทำรายงานการสืบสวนต่อไป พยานเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อที่จะดำเนินคดีต่อไป โดยในคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 4 รายโดย มีรายละเอียดดังนี้

1.       นวพล ต้นงาม เป็นผู้นำมวลชน โดยใช้เครื่องขยายเสียงประกาศว่าจะมีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง

2.       วีรภาพ เป็นผู้ควบคุมมวลชนพาให้เล่นน้ำสงกรานต์

3.       ทวี เป็นผู้ช่วยเหลือนวพลในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับเครื่องขยายเสียงและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ

4.       พระวิรัช เป็นผู้เดินนำมวลชน โดยถือรูป ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นภาพสีขาวดำที่มีข้อความว่า “ชาตะ 20 มีนาคม 2497 มรณะ 15 เมษายน 2564 สิริอายุ 67 ปี”

พยานตอบทนายถามค้าน ระบุว่า ตามรายงานการสืบสวน กลุ่มที่นัดหมายกันทำกิจกรรม คือ เพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ทะลุฟ้า” ไม่ใช่บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยทั้ง 4 รายในคดีนี้ การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากการเป็นนายกฯ จากการบริหารสถานการณ์โควิดที่ล้มเหลว

พยานคิดว่าจุดเกิดเหตุน่าจะสามารถจุคนได้ประมาณ 500 คน แต่ในรายงานการสืบสวนระบุว่ามีผู้ชุมนุมเพียง 40 คนเท่านั้น ในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมมีการรวมตัวเป็นกลุ่ม ไม่ใช่การเรียงแถว มีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ทั้งนี้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ใช่พื้นที่ในอาคาร อากาศถ่ายเทได้สะดวก

วันเกิดเหตุวันที่ 15 เม.ย. 2564 ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 1,500 คน แต่ไม่ได้ระบุว่าพื้นที่ในกรุงเทพฯ นั้นมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดกี่ราย และหลังยุติการชุมนุมในคดีนี้ก็ไม่พบว่ามีผู้ใดติดโควิดจากการชุมนุม ทั้งนี้ตามรายงานการสืบสวนที่ระบุว่าในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมประมาณ 40 คนนั้น ในจำนวนนี้รวมถึงนักข่าวและสื่อมวลชนด้วย

วันเกิดเหตุวันที่ 15 เม.ย. 2564 คือ วันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ทำให้บริเวณที่เกิดเหตุ ที่เป็นพื้นที่ราชการ มีการจราจรที่ไม่หนาแน่น รถประจำทางและรถส่วนตัวสามารถผ่านไปได้ พยานขยายความเพิ่มว่า ในการชุมนุมช่วงแรกๆ รถสามารถขับผ่านไปมาได้ แต่หลังการชุมนุมผ่านไปสักพัก รถก็เคลื่อนที่ผ่านไม่ได้เพราะตำรวจทำการ “ปิดถนน” บางส่วน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุม

เมื่อผู้ชุมนุมเจอแนวกำลัง คฝ. แล้วก็ไม่ได้ฝ่าแนวกั้นไปและได้หยุดอยู่ตรงแนวดังกล่าว ในรายงานการสอบสวนปรากฏภาพเป็นการเล่นน้ำสาดสีกันภายในกลุ่มของผู้ชุมนุมเอง ไม่ได้สาดประชาชนที่ผ่านไปมาแต่อย่างใด ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการบอกให้เผาหรือทำลายทรัพย์สินราชการ การเผาหุ่นฟางเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และไฟก็ไม่ได้ลุกลามบานปลาย

การเริ่มต้นทำกิจกรรมจนยุติใช้เวลาทั้งหมดรวมไม่เกินประมาณ 2 ชั่วโมง ส่วนรถเครื่องเสียงนั้นพยานไม่ทราบว่าใครขับมา ไม่ทราบว่าเป็นของจำเลยในคดีนี้หรือไม่ และไม่ทราบว่าได้ขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตกรุงเทพฯ หรือไม่

พยานไม่ได้สอบถามสำนักงานเขตฯ ว่ากิจกรรมดังกล่าวเสี่ยงต่อโรคโควิดอย่างไร ทั้งยังไม่ทราบว่าอุปกรณ์ที่ผู้ชุมนุมเอามาเล่นนั้นเป็นของผู้ใด แต่คิดว่าอยู่ที่ใครก็เป็นของคนนั้น พยานเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้ง 4 ในคดีนี้ ในการทำหน้าที่ของพยานต้องรายงานทุกเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หากผู้บังคับบัญชาเห็นด้วยก็จะทำตามนั้น

ตอบอัยการถามติง ให้การว่า ตามรูปในรายงานการสืบสวน ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการเว้นระยะห่างและหลังจากการทำกิจกรรมสาดสีก็ไม่ได้มีการทำความสะอาดพื้นถนนและพื้นที่บริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด

.

พยานโจทก์ปากที่ 2 – ส.ต.อ.อิสระ วงษ์ชัยเพ็ง

พยานเบิกความว่า ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าให้ติดตามสืบสวนกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่รับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง โดยทราบว่ามีการนัดหมายมาทำกิจกรรมในวันที่ 15 เม.ย. 2564 ที่สะพานชมัยมรุเชฐผ่านเพจเฟซบุ๊กกลุ่มทะลุฟ้า

ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 12.00 น. พยานออกทำการสืบสวนกับ พ.ต.ต.เฉลิมศักดิ์ และฝ่ายสืบสวนของ สน.นางเลิ้ง พยานได้ประจำอยู่ที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยผู้ชุมนุมเริ่มทยอยมารวมตัวกันตั้งแต่เวลา 13.00 น. มีอุปกรณ์คือ ปืนฉีดน้ำ ป้ายผ้า และรถติดตั้งเครื่องเสียง

ในการชุมนุมมีการปราศรัยเกี่ยวกับกิจกรรม “รดน้ำกดหัวประยุทธ์” เมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนที่มาจนถึงแนว คฝ. ได้หยุดอยู่ในบริเวณนั้นและเล่นน้ำ เปิดเพลง เต้นรำ มีการปราศรัยโจมตีนายกฯ เกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนโควิด มีการเผาหุ่นฟาง และอ่านแถลงการณ์ ผู้ชุมนุมบางรายไม่สวมหน้ากากอนามัย บางรายเอาหน้ากากอนามัยดึงมาไว้ใต้คาง ไม่มีการเว้นระยะห่างหรือให้ฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ผู้ชุมนุมเริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 – 15.00 น.

ทนายจำเลยถามค้าน พยานตอบว่า พื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย แต่บางส่วนไม่ได้ใส่ ไม่ทราบว่ากลุ่มทะลุฟ้ามีกันอยู่กี่คน มีระบบการรับสมัครอย่างไรหรือใครเป็นหัวหน้า ผู้อ่านแถลงการณ์ในวันเกิดเหตุไม่ใช่ นวพล ต้นงาม ในคดีนี้ พยานไม่ได้ถอดเทปคำปราศรัยว่าผู้ปราศรัยคนดังกล่าวพูดว่าอะไรบ้าง

ระยะทางตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครยาวไปจนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งเป็นถนนเส้นพิษณุโลก พยานคิดว่าสามารถจุคนได้ประมาณ 500 คน แต่ในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมเพียง 40 คน เท่านั้น พยานได้เดินสังเกตการณ์รอบพื้นที่การชุมนุมพร้อมกับตำรวจอีก 5 นาย และพยานคิดว่าในวันเกิดเหตุมีนักข่าวและสื่อมวลชนอยู่ด้วยประมาณไม่เกิน 10 คน พยานไม่ทราบว่ามีตำรวจจากหน่วยงานอื่นร่วมสังเกตการณ์อีกหรือไม่

ในวันที่ 15 เม.ย. 2564 มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยจำนวน 1,500 ราย แต่พยานไม่ทราบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตดุสิต มีผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนเท่าใดและหลังจากกิจกรรมสิ้นสุดลงมีผู้ติดเชื้อโควิดจากกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่

การชุมนุมเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้พยานมีประสบการณ์ในการสืบสวนในพื้นที่ชุมนุมพอสมควร ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมไม่ได้ฝ่าแนวกั้นที่ คฝ. ตรึงกำลังอยู่ ถ้าการชุมนุมที่วุ่นวายจะมีการเตือนว่าจะใช้แก๊สน้ำตาและยิงน้ำแรงดันสูง แต่ในวันดังกล่าวไม่มีมาตรการในการควบคุมฝูงชนใดๆ เลย และไม่มีการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งหน้าแม้แต่คนเดียว ตามเอกสารรายงานการสอบสวนจำเลยทั้ง 4 ราย ในคดีนี้สวมใส่หน้ากากอนามัยและมีการชุมนุมกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง การชุมนุมก็ได้ยุติลง

อัยการถามติง พยานตอบว่า ในวันเกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 1 นวพล ต้นงาม ตั้งแต่เริ่มต้นทำกิจกรรมในเวลาประมาณ 13.00 น. ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ใต้คาง ซึ่งไม่ถูกต้องตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และอาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 – พ.ต.ท.กฤษณ์พจน์ ชาญณรงค์

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ พ.ต.ท.กฤษณ์พจน์ เป็นพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ในคดีนี้มีความเกี่ยวข้องเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคง ผู้บังคับบัญชาจึงได้ตั้งพนักงานสอบสวนร่วมอีกนายหนึ่ง คือ พ.ต.ท.สำเนียง โสธร เมื่อเห็นว่าเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายจริง จึงได้ส่งสำนวนให้กับอัยการ 

ทั้งนี้ เนื่องจากศาลสั่งห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จากทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจดบันทึกในช่วงบ่าย จึงทำให้ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเรื่องคำเบิกความ

.

สืบพยานจำเลยทั้ง 4: จำเลยอ้างตนเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความ ชี้การชุมนุมเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ – ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก หลังจัดการโควิดล้มเหลวจนประชาชนเดือดร้อน ยันชุมนุม 2 ชม. กลับไม่ได้สร้างความเสียหาย-ทำผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกัน ในการสืบพยานจำเลยในวันที่ 29 เม.ย. 2565 ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ทำการจดบันทึกระหว่างการสืบพยาน โดยอ้างว่า หากจดและนำไปเผยแพร่อาจมีข้อมูลและรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงให้คัดถ่ายเอกสารคำเบิกความในการสืบพยานครั้งนี้แทน

สำหรับพยานจำเลยทั้ง 4 ปากเบิกความโดยสรุป ดังนี้

นวพล ต้นงาม เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ตนได้ทำการปราศรัยในเรื่องการบริหารงานและการจัดการสถานการณ์โควิดที่ล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการพูดถึงปัญหาปากท้องของประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ในปัจจุบัน ช่วงหนึ่งอัยการถามค้านว่า “หากรู้ว่าบ้านเมืองแย่ขนาดนี้และไม่เปลี่ยนแปลงสักที แล้วจะยังออกมาอีกทำไม” นวพลตอบว่า “ในเมื่อบ้านเมืองแย่มานานขนาดนี้แล้ว จะยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปอีกเหรอ”

“ในเมื่อบ้านเมืองแย่มานานขนาดนี้แล้ว จะยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปอีกเหรอ” นวพล ต้นงาม

วีรภาพ วงษ์สมาน เบิกความเกี่ยวกับประเด็นในการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและกล่าวถึงสาเหตุที่ออกมาชุมนุมในวันนั้นว่าเป็นเพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ ปัญหาปากท้องของประชาชนต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว 

ช่วงหนึ่งอัยการถามค้านว่า “การที่จำเลยออกมาชุมนุมจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์โควิดให้รุนแรงขึ้นไปอีกหรือไม่” วีรภาพตอบว่า “ถึงแม้จะเป็นการซ้ำเติมให้โควิดรุนแรงขึ้น ตนก็จะออกมาชุมนุมอยู่ดี เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและต้องการให้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้รับการแก้ไขในเร็ววัน”

“ถึงแม้จะเป็นการซ้ำเติมให้โควิดรุนแรงขึ้น ตนก็จะออกมาชุมนุมอยู่ดี เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและต้องการให้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้รับการแก้ไขในเร็ววัน” วีรภาพ วงษ์สมาน

ทวี เที่ยงวิเศษ เบิกความเกี่ยวกับประเด็นที่ในวันเกิดเหตุ ตนไม่ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยด้วย โดยได้เพียงแต่สาดสีเล่นกันกับกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้นและไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดต่อกฎหมายเลยแม้แต่น้อย

วิรัช แซ่คู (ภิกษุ) เบิกความเกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ในวันเกิดเหตุมีการชุมนุมอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง แต่พระวิรัชไม่ได้อยู่ในพื้นที่การชุมนุมตลอดเวลา ตอนหนึ่งอัยการถามค้านว่า “เป็นพระสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ด้วยหรือ?” พระวิรัชตอบว่า “ได้สิ อาตมาก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน”

“ได้สิ อาตมาก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน” วิรัช แซ่คู (ภิกษุ)

.

X