เปิดคำร้องขอให้ศาลไม่รับฟ้องคดีหมิ่นประมาท “กนก-อัญชะลี” กรณี “รักชนก” กล่าวปราศรัยวิจารณ์สื่อฯ ใน #ม็อบ6มีนา64

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี ของรักชนก ศรีนอก หรือ “ไอซ์” สมาชิกกลุ่ม “คลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย” วัย 27 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาท” อัญชะลี ไพรีรัก และ กนก รัตน์วงศ์สกุล สองผู้ประกาศข่าวช่องท็อปนิวส์ จากกรณีปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวการชุมนุม #ม็อบ6มีนา ของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) ที่ศาลอาญารัชดาฯ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 อุดร แสงอรุณ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสอง ได้ยื่นฟ้องรักชนก โดยตรงต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท” ก่อนที่ศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องว่าจะรับฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ในวันที่ 8 ก.พ. 2565 นี้

ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า ขณะที่รักชนกได้ร่วมชุมนุมทางการเมืองทํากิจกรรมที่หน้าศาลอาญา ได้พูดใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อบุคคลที่สาม ด้วยการตะโกนพูดกับ อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องเนชั่น ที่กําลังรายงานสดการชุมนุมออกอากาศ ในรายการข่าวข้นคนข่าวขณะนั้นว่า

“พี่คะ เราเข้าใจว่าพี่ต้องทํางาน แต่ที่หนูต้องออกมาพูด เพราะเนชั่นทําร้ายระบบประชาธิปไตยมานาน เนชั่นทําข่าวบิดเบือนยิ่งตอนที่เจ๊ปอง กับตอนที่กนกเป็นพิธีกร ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง นําเสนอเฟคนิวส์ทุกอย่าง ถ้าพี่ทํางานที่นี่อยู่ หนูคงต้องแสดงความเสียใจกับพี่ด้วย พี่เลยต้องโดนด่าแบบนี้”

“ช่อง 3, ช่อง 5, ท็อปนิวส์ จําไว้เลยถ้าพวกคุณยังเสนอข่าวแบบนี้อยู่ วันหนึ่งที่มีการสลายการชุมนุมแล้วมีคนตาย พวกคุณที่ไม่นําเสนอข่าวความจริงมีส่วนต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ทั้งหมด สื่อที่บิดเบือนถ้าประชาชนบาดเจ็บหรือล้มตายขึ้นมา พวกคุณนั่นแหละที่เป็นเครื่องมือให้รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน เราขอบคุณถ้าสื่อไหนรายงานตามความจริง พวกเราขอบคุณมาตลอด พวกเราติดตามพวกเรารู้ แต่ถ้าสื่อไหนบิดเบือน เราก็รู้เช่นกัน และถ้าวันหนึ่งมันเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาจากการสลายชุมนุมเสื้อแดงปี 53 ที่สื่อพยายามประโคมข่าวตลอดมาว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ผู้ชุมนุมเป็นพวกหัวรุนแรงมีอาวุธนั่นแหละ มันคือสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐสลายการชุมนุม ใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม สื่อทุกคนที่รายงานบิดเบือน จําไว้เลยพวกคุณก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกัน ที่ทําให้เสื้อแดงต้องตาย 99 ศพ”

โจทก์อ้างว่าข้อความที่รักชนกกล่าวนั้น เป็นการใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือฝ่าฝืนต่อความจริง อันเป็นการจงใจทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติยศทางทํามาหาได้ ฐานะทางสังคม และทําให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ถือเป็นการหมิ่นประมาท

มาตรา 161/1 และ มาตรา 165/2 ให้อำนาจศาลกลั่นกรองคดีก่อนขึ้นสู่ชั้นพิจารณา หากโจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องในคดีดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ก่อนที่จะมีการไต่สวนมูลฟ้อง ขอให้ศาลพิจารณาสั่งไม่รับคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และหรือ มาตรา 165/2 เพื่อป้องกันไม่ให้โจทก์ใช้สิทธิ์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ

ประการแรก ข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลย ไม่มีลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลใด เนื่องจากไม่ได้มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือใส่ความบุคคลใด การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องไม่พิจารณาความรู้สึกนึกคิดของผู้เสียหายเป็นสำคัญ แต่ต้องพิจารณาจากความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป

ข้อความที่จำเลยตอบคำถามสัมภาษณ์นั้น เป็นข้อความที่กล่าวถึงสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวในภาพรวมของสื่อมวลชนในขณะนั้น การตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของสื่อ และเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านตรงไปตรงมา ไม่นำเสนอข่าวบิดเบือน ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกันเอง และไม่นำเสนอเฟคนิวส์ ซึ่งจำเลยกล่าวถึงสื่อหลายสำนัก เช่น ช่อง 3, ช่อง 7, ท๊อปนิวส์, อัมรินทร์, รีพอทเตอร์, ข่าวสด และว๊อยซ์ทีวี

นอกจากนี้ จำเลยได้กล่าวถึงสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวของช่องเนชั่นทีวีที่มีการนำเสนอข่าวบิดเบือน ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง และนำเสนอเฟคนิวส์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อัญชะลี ไพรีรัก และกนก รัตน์วงศ์สกุล ทำงานเป็นพิธีกร

ดังนั้น ข้อความที่โจทก์นำมาฟ้องกล่าวหาจำเลย ไม่มีลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลใด เนื่องจากไม่ได้มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหรือใส่ความบุคคลใด

คำฟ้องโจทก์เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย

ประการที่สอง ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามหลักฐานจะเห็นว่า จำเลยอยู่บนถนนหน้าศาลอาญาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุม และจำเลยกำลังยืนพูดปราศรัยอยู่กับที่ในพื้นที่ชุมนุม โดยมีประชาชนผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณนั้นยืนฟังการปราศรัย และมีคนมาถ่ายภาพและบันทึกภาพจำเลยขณะพูดปราศรัยเท่านั้น จำเลยไม่ได้พูดต่อบุคคลที่สามด้วยการตะโกนพูดกับผู้สื่อข่าวที่กำลังรายงานข่าวแต่อย่างใด 

รวมถึงเหตุการณ์ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ไม่ได้ออกอากาศรายการสดในรายการข่าวข้นคนข่าว แต่โจทก์กลับมาบรรยายฟ้องว่า เป็นเหตุการณ์ที่ออกอากาศสดในรายการดังกล่าว ซึ่งถือว่าไม่เป็นความจริง

จำเลยยืนยันว่า ตนเพียงใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกโดยการพูดปราศรัยในที่ชุมนุมเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวของสื่อและจรรยาบรรณสื่อ พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับประเด็นที่จำเลยกำลังปราศรัย อันเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แต่โจทก์ได้บิดข้อเท็จจริงว่า จำเลยจงใจพูดใส่ความโจทก์ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อบุคคลที่สามด้วยการตะโกนพูดกับอิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ ผู้สื่อข่าวที่รายงานสดการชุมนุมถ่ายทอดออกอากาศในรายการข่าวข้นคนข่าว

ดังนี้แล้ว การนำคดีมาฟ้องของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง

ารดำเนินคดีของโจทก์ถือเป็นการ “ฟ้องปิดปาก” หลีกเลี่ยงการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ขัดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน

ประการที่สาม การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาที่จะแกล้งฟ้องคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท เพื่อข่มขู่ยับยั้งผู้แสดงความเห็นหรือข้อเท็จจริงโดยสุจริต ให้ไม่กล้าที่จะแสดงข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อไปอีก มีลักษณะเป็นการฟ้องคดีเพื่อตอบโต้การนำเสนอข้อมูลที่ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องการให้ปรากฏ หรือเป็นการฟ้องเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือเพื่อเจตนาอย่างอื่นอันไม่ใช่มีเจตนาที่จะฟ้องคดีเพื่อลงโทษบุคคลผู้กล่าวข้อความ หรือเพื่อให้ได้รับการชดเชยความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับ

คำร้องต่อศาลยืนยันว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องทำตามจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานได้ ซึ่งการตรวจสอบการทำงานของโจทก์ นอกจากนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชน และผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนด้วย

อย่างไรก็ตาม โจทก์เลือกฟ้องด้วยเหตุที่จำเลยเป็นประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่สื่อและตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของสื่อมวลชน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันอาจจะถือได้ว่า เป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก หรือเพื่อกลั่นแกล้ง ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP)

ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและติชมได้สุจริต อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ-กติการะหว่างประเทศ

จำเลยได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงมิได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329

คำร้องระบุว่า ในวันที่ 6 มี.ค 2564 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุคดีนี้ มีการจัดการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมือง โดยเดินขบวนจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวมายังบริเวณหน้าศาลอาญา จำเลยได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่บริเวณหน้าศาล และในวันดังกล่าว มีสื่อมวลชนหลายสำนักเข้ามาทำข่าวในบริเวณพื้นที่ชุมนุม

สืบเนื่องจากปัญหาการรายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุมของสื่อมวลชนที่ไม่ตรงไปตรงมา ในกรณีชุมุนุม #ม็อบ28กุมภา ที่จัดโดยกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 และถึงแม้จะมีนักวิชาการออกมาแสดงความเห็นและเรียกร้องต่อสื่อมวลชนให้ปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณสื่อดังกล่าวข้างต้น แต่สื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมในบริเวณนั้น จึงได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนให้นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือน ซึ่งจำเลยเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว จึงพูดปราศรัยสภาพปัญหาการนำเสนอข่าวในภาพรวมของสื่อมวลชนในขณะนั้น ตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของสื่อ และเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน ตรงไปตรงมา ไม่นำเสนอข่าวบิดเบือน ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดกันเอง และไม่นำเสนอเฟคนิวส์

นอกจากนี้ โจทก์ยังทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน เป็นบุคคลที่ประชาชนและบุคคลทั่วไปให้ความสนใจ ในการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นของโจทก์สามารถเข้าถึงประชาชนเป็นจำนวนมาก และสามารถนำทิศทางความเห็นของประชาชนและสังคมได้ 

ขณะที่จำเลยซึ่งเป็นประชาชนผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารของช่องเนชั่นทีวี จำเลยจึงมีสิทธิในการแสดงความเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งคำถามต่อการทำงานของช่องเนชั่นทีวีและโจทก์ ซึ่งเป็นสื่อมวลชน อันเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ได้รับความคุ้มครองไว้ตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการนำเสนอข่าวสารและเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชน อันเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อสาธารณะ และถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามที่ได้รับรองคุ้มครองไว้ตามข้อบทที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  (ICCPR) และรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ซึ่งกำหนดคุ้มครองไว้ชัดเจนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น….”

ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงช่องเนชั่นทีวีและโจทก์ ของจำเลย จึงเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ จึงไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ถูกกล่าวหา

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 หรือ #ม็อบ6มีนา กลุ่มมวลชน REDEM และประชาชนทั่วไปได้นัดหมายชุมนุมที่ห้าแยกลาดพร้าวเพื่อขนขยะไปทิ้งหน้าศาลอาญา รัชดาฯ โดยจุดประสงค์การชุมนุมเพื่อยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์, ขับไล่ทหารออกจากการเมือง และลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการ

X