เปิดคำฟ้องคดี ม.110 “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว 5 จำเลย

31 มี.ค. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, สุรนาถ แป้นประเสริฐ และประชาชนอีก 2 คน  หลังช่วงเช้า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 5 ใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110, ข้อหามั่วสุมกันโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะ และกีดขวางการจราจร

คดีนี้มี ศรายุทธ สังวาลย์ทอง และ พ.ต.ท.พิทักษ์ ลาดล่าย เป็นผู้กล่าวหา มูลเหตุของคดีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ของ “คณะราษฎร” ราว 17.00 น. ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหลักเคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก ด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาล มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันจำนวนหนึ่ง เกิดเหตุขบวนเสด็จของพระราชินีสุทิดา และสมเด็จเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านเข้ามาในที่ชุมนุมโดยที่ไม่มีใครทราบมาก่อนล่วงหน้า ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น มีการผลักและดันกันจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามากั้นแนวระหว่างผู้ชุมนุมและรถขบวนเสด็จฯ

ต่อมา ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เอกชัยและบุญเกื้อหนุนได้ถูกออกหมายจับจากรณีดังกล่าว และตามด้วยสุรนาถ ซึ่งมีข่าวพนักงานสอบสวนร้องขอศาลออกหมายจับ โดยเอกชัยและสุรนาถถูกจับกุมขณะเดินทางเข้ามอบตัว ทั้งสองคนไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว หลังพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออนุญาตศาลฝากขัง ทำให้ทั้งสองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 18 และ 13 วัน ตามลำดับ จนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 63

ด้านบุญเกื้อหนุนได้เข้ามอบตัวที่สน.ดุสิต ก่อนถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง และได้รับการประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 200,000 บาท ทำให้บุญเกื้อหนุนไม่ถูกควบคุมตัวเช่นเดียวกับเอกชัยและสุรนาถ

ภายหลัง มีรายงานว่าประชาชนอีกสองรายได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีเดียวกัน เมื่อทั้งสองเดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียก จึงไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้ ดังนั้น ในคดีนี้ จึงมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดรวม 5 ราย 

.

บุญเกื้อหนุนยื่นจม.เลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้อง เหตุติดสอบปลายภาค อัยการไม่อนุญาต 

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 บุญเกื้อหนุนได้เข้ายื่นหนังสือขอเลื่อนนัดฟ้องอัยการจากวันที่ 31 มี.ค. 2564 ให้เป็นวันที่ 9 เม.ย. เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบปลายภาคของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีกำหนดส่งข้อสอบวันสุดท้าย หากถูกฟ้องคดีและไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว อาจส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างร้ายแรง ประกอบกับมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมาตามนัดหมายของพนักงานสอบสวนและอัยการอย่างต่อเนื่อง ไม่คิดหลบหนีแต่ประการใด ด้วยเหตุดังกล่าว บุญเกื้อหนุนจึงขอเลื่อนนัดหมายการฟังคำสั่งฟ้องคดีออกไปภายหลัง เพื่อให้มีโอกาสจัดการภาระทางการศึกษาให้เสร็จสิ้นก่อนถูกฟ้องคดี 

อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการได้ปฏิเสธคำร้องขอเลื่อนนัดฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าเหตุที่อ้างยังฟังไม่ขึ้น และยืนยันจะนัดฟ้องตามวันเดิมคือวันที่ 31 มี.ค. 2564

ทั้งนี้ ก่อนหน้าฟังคำสั่งฟ้อง เอกชัย, สุรนาถ และบุญเกื้อหนุนเคยยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 64 ขอให้ไม่สั่งฟ้องคดี โดยให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากทั้งสามไม่ทราบมาก่อนว่า จะมีขบวนเสด็จบนถนนพิษณุโลก ไม่มีการประชาสัมพันธ์ถึงเส้นทางขบวนเสด็จให้ผู้ชุมนุมทราบ ทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จยังไม่เปิดเส้นทางการจราจรให้ขบวนเสด็จดำเนินผ่านไปได้โดยสะดวกรวดเร็ว เมื่อทราบว่ามีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่กลับใช้วิธีการที่ขึงขังและรุนแรงจนผู้ชุมนุมเข้าใจว่าจะสลายการชุมนุม

>> ผู้ต้องหาคดี “ขัดขวางขบวนเสด็จ” ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ชี้ตร.ปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

.

.

เปิดคำสั่งฟ้องของอัยการระบุ จำเลย “ขัดขวางขบวนเสด็จฯ-ร่วมประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี”

ในช่วงเช้าวันนี้ เวลาประมาณ 10.48 น. พ.ต.ท.ธงชัย อิทธินิติกุล พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้แจ้งผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ว่าได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก 

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จําเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาดําเนินคดี มีพฤติการณ์ทำความผิดดังต่อไปนี้ 

ก่อนเกิดเหตุ กลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมชื่อ “เพราะเราทุกคนคือคณะราษฎร และคณะราษฎรยังไม่ตาย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งในวันดังกล่าวทางราชการมีหมายกำหนดการขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ผ่านไปยังสถานที่ใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว โดยได้มีประชาชนและกลุ่มคนไทยรักในหลวง ซึ่งส่วนใหญ่สวมใส่เสื้อสีเหลืองมาคอยเฝ้ารับเสด็จ 

เวลา 14.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อรัฐบาล โดยตลอดเส้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ตั้งเครื่องกีดขวางเป็นแนวรั้งหน่วงหลายจุด จึงเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ไปได้ช้า ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ซึ่งรวมทั้งจำเลยทั้ง 5 ได้แยกตัวออกจากขบวน โดยเดินล่วงหน้าไปรวมตัวกันบริเวณถนนพิษณุโลก ใกล้ทำเนียบรัฐบาลเพื่อรอขบวนใหญ่ดังกล่าว 

ขณะนั้นตลอดเส้นทางถนนพิษณุโลกยังไม่ได้มีการปิดการจราจรเนื่องจากยังต้องดำรงไว้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ตามหมายกำหนดการเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ไปทรงบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐินประจำปี 2563 ณ วัดราชโอรสาราม 

เวลา 17.00 น. ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ดังกล่าวเป็นเส้นทางเดิมที่กำหนดคือจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังวัดราชโอรสาราม โดยให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถวายอารักษ์ขารักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรตามเส้นทางขบวนเสด็จดังกล่าว 

ในช่วงเวลานั้น เอกชัย บุญเกื้อหนุน สุรนาถ และประชาชนอีก 2 คน ได้บังอาจร่วมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้างเมือง โดยจำเลยทั้งห้ากับผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยคนได้ลงมายืนบนพื้นผิวจราจรบนถนนพิษณุโลกช่วงตั้งแต่หน้าประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล จนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ในขณะที่พื้นผิวจราจรบริเวณดังกล่าวและตลอดเส้นทางบนถนนได้กำหนดใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน การรวมตัวดังกล่าว เป็นไปในลักษณะกีดขวางการจราจร โดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย หรือความสะดวกในการจราจร 

ในขณะที่รถยนต์พระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ กำลังแล่นขึ้นสู่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อมุ่งหน้าไปแยกนางเลิ้ง ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนตั้งแถวปิดหน้ารถยนต์พระที่นั่ง เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้รถยนต์พระที่นั่งได้ แล้วจัดแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนเป็นแถวคู่ขนานด้านซ้ายขวาของขบวนเสด็จพระราชดำเนินตลอดแนวขบวน เพื่อเป็นแนวสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เข้ามาประชิดขบวนเสด็จ 

ในเวลานั้น เอกชัย บุญเกื้อหนุน และจำเลยที่ 5 ยืนนำหน้ากลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากหลายร้อยคน ซึ่งมีสุรนาถ และ จำเลยที่ 4 รวมอยู่ด้วย ได้บังอาจร่วมกันประทุษร้ายต่อเสรีภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา โดยเอกชัยเป็นผู้สั่งการนำ บุญเกื้อหนุน สุรนาถ จำเลยที่ 4 และ ที่ 5 พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหลายร้อยดังกล่าว เดินเข้าไปขัดขวางเส้นทางพระราชดำเนิน ร่วมกันใช้กำลังผลักดันแถวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน แต่เมื่อจำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวไม่สามารถต้านทานแรงผลักดันของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน เพื่อเปิดเส้นทางนำขบวนเสด็จของพระราชินีได้ สุรนาถจึงได้สั่งการให้จำเลยและพวกกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวนั่งลงบนถนนพิษณุโลก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนไม่สามารถนำขบวนเสด็จราชดำเนินเคลื่อนที่ไปข้างหน้าต่อได้ 

ทั้งนี้ จำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวได้ลงมือกระทำผิดประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินีไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลสมดังเจตนาของจำเลยทั้งห้ากับพวก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยเสริมบริเวณด้านหน้าแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน จำเลยทั้งห้าจึงได้ยอมถอยออกไปจากเส้นทางขบวนเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าว แต่ยังยืนอยู่บนถนนพิษณุโลก เอกชัยและจำเลยที่ 4 ถึง ที่ 5 กับพวกดังกล่าวได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วใส่ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน อันเป็นการร่วมกันประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

.

อัยการขอเพิ่มโทษ “เอกชัย” เหตุเคยต้องโทษจำคุกคดีมาตรา 112

ในท้ายคำฟ้องยังระบุว่า เอกชัยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดฐานหมิ่นประมาท, ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี จำหน่ายวิดีทัศน์ เอกชัยได้พ้นโทษในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 พฤจิกายน 2558 และได้มากระทำผิดในดคีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษดังกล่าว เอกชัยได้กระทำผิดในขณะที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษจำคุกที่จะลงแก่เอกชัย 1 ใน 3 ด้วย 

นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังระบุว่า เอกชัยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.765/2562 (ความผิดฐานร่วมมั่วสุมทางการเมืองฯ) และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1032/2562 (ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันมีลักษณะลามกฯ) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา 

อัยการยังขอคัดค้านหากจำเลยทั้ง 5 จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

สรุปข้อกล่าวหาที่จำเลยทั้ง 5 ถูกฟ้องร้องมีทั้งหมด 4 ข้อหา ได้แก่

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 “ผู้ใดกระทําการประทุษร้ายต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” มีโทษจําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่ 16-20 ปี

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 “กีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด” มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

4. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 114 “ร่วมกันกระทำการใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร” มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

เอกชัยและสุรนาถยังถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา 215 วรรคท้าย  “ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี ยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง

.

ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข 

หลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 300,000 บาท โดยมีกรณีของเอกชัยยื่นขอประกันตัวโดยใช้สลาก ธอส. เป็นหลักประกัน กรณีของบุญเกื้อหนุนใช้หลักทรัพย์ของตนเองในการยื่นประกัน ส่วนอีกสามรายได้รับการช่วยเหลือหลักประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์

ต่อมา เวลา 16.38 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้งห้าคน โดยไม่กำหนดเงื่อนไข แต่ให้เอกชัยและสุรนาถวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท ส่วนจำเลยที่เหลือ ซึ่งไม่มีประวัติการถูกฝากขังในชั้นสอบสวน ศาลให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 200,000 บาท 

จำเลยทั้งห้ารายจึงได้รับการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดีนี้ และศาลอาญากำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 26 เม.ย. 64 เวลา 09.00 น. 

.

ย้อนอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ชีวิตก่อนต้องคดีประทุษร้ายราชินีของ ‘ตัน สุรนาถ’ ผู้พาเยาวชนออกจากทางตัน

การต่อสู้กับชีวิตที่เสมือนถึง “ทางตัน”: คุยกับ ตัน-สุรนาถ ก่อนฟังคำสั่งฟ้องคดี “ขบวนเสด็จ”

.

X