ทบทวนคดี #วิ่งไล่ลุงนนทบุรี คดีแรกภาคกลางที่ต่อสู้ในชั้นศาล ก่อนนัดฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้

พรุ่งนี้ (29 ก.ย. 63) เวลา 8.00 น ศาลแขวงนนทบุรี นัดฟังคำพิพากษาในคดี “วิ่งไล่ลุงนนทบุรี” ที่มีปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ อดีตตัวแทนพรรคอนาคตใหม่นนทบุรี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ที่สวนอุทยานมกุฏรมยสราญ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 ปัญญารัตน์ต่อสู้คดีโดยยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นแกนนำจัดงาน เพียงแต่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งที่นนทบุรีและที่สวนรถไฟเท่านั้น

 

คำฟ้องและลำดับการสู้คดี

คดีนี้ เหตุเนื่องจากกรณีประชาชนประมาณ 100 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรม วิ่งไล่ลุงจังหวัดนนทบุรี ที่บริเวณอุทยานมกุฎรมยสราญ (สวนสาธารณะหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี) ตั้งแต่เวลา 6.00 น. เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดูแลความสงบเรียบร้อยกว่า 200 นาย

ขณะเดียวกันก่อนกิจกรรมวิ่งไล่ลุงนนทบุรีนั้น ทางเทศบาลนครนนทบุรียังนำป้าย “งดใช้อุทยานมกุฎรมยสราญ เนื่องจากมีกิจกรรม Big Cleaning Day ในวันที่ 12 ม.ค. 2563” มาติดไว้ทางเข้าสวนและภายในสวนด้วย

ต่อมาวันที่ 16 ม.ค. 2563 ปัญญารัตน์ได้ถูกพนักงานสอบสวนสภ.รัตนาธิเบศร์ ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา และต่อมาเธอพร้อมกับทนายความอิสระที่รับช่วยเหลือคดีให้เธอ ได้เดินทางไปรับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2563

 

 

วันที่ 23 ก.พ. 2563 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงนนทบุรี โดยบรรยายฟ้องระบุว่า “เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงกลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้จัดการชุมนุมสาธารณะขึ้นที่สวนอุทยานมกุฏรมยสราญ ภายในศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี อันเป็นที่สาธารณะ โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า “วิ่ง-ไล่-ลุง” เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเลือกตั้ง โดยการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมดังกล่าวได้ ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้แจ้งการชุมนุมดังกล่าวต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย”

อัยการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 8, 10 และ 28 โดยข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” นี้ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และไม่มีโทษจำคุก

ปัญญารัตน์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยการสาบานตนและไม่ต้องวางเงินประกัน  ต่อมาช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563  ปัญญารัตน์เดินทางไปศาลแขวงนนทบุรีในนัดถามคำให้การและการเลื่อนคดีเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานเนื่องจากวิกฤตไวรัสโควิด_19 จนศาลกำหนดสืบพยานโจทก์และจำเลยได้ในเมื่อวันที่ 20-21 ส.ค. 2563 ทนายความของเธอและอัยการได้สืบพยานเสร็จสิ้น ศาลแขวงนนทบุรีจึงกำหนดวันฟังคำพิพากษาวันที่ 29 ก.ย. นี้

 

ปัญญารัตน์ยืนยันไม่ได้เป็นแกนนำจัด “วิ่งไล่ลุง”

ในช่วงที่มีการสืบพยานในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปัญญารัตน์ได้ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าแนวทางหลักของการสืบพยานของอัยการโจทก์ อยู่ที่ประเด็นการจัดงานวิ่งไล่ลุงถูกจัดโดยพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกยุบพรรคไปโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563  อัยการถามค้านปัญญารัตน์ว่าเธอถูกส่วนกลางของอดีตพรรคอนาคตใหม่ให้มาดูแลการจัดงานที่จังหวัดนนทบุรีใช่หรือไม่ ซึ่งเธอได้ตอบปฏิเสธไป อัยการยังเค้นถามว่าทำไมเธอถึงไม่ไปแจ้งการจัดชุมนุมนี้ แม้เธอจะตอบปฏิเสธไปแล้วว่าไม่ได้รับคำสั่งจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ เธอไม่ได้เป็นผู้จัด ไม่ได้เป็นแกนนำ แม้แต่ที่กรุงเทพมหานครที่จุดสวนรถไฟ ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงก็เป็นกลุ่มนักศึกษาที่จัดงานกันเป็นอิสระ

 

 

นอกจากนี้ อัยการยังนำสืบเชื่อมโยงปัญญารัตน์กับเพจอดีตอนาคตใหม่จังหวัดนนทบุรี เพื่อกล่าวหาว่าเธอคือผู้จัดการชุมนุม โดยอัยการนำภาพการรายงานลำดับเหตุการณ์ ภาพเสื้อวิ่งไล่ลุงนนทบุรี และภาพของเธอในเพจที่เผยแพร่รวมอยู่ในการจัดงานวิ่งไล่ลุงทั่วประเทศ โดยไม่มีพยานหลักฐานว่าเธอเป็นผู้โพสต์ข้อความและภาพเหล่านั้น ปัญญารัตน์ได้ต่อสู้ว่าเธอไม่ได้เป็นแอดมินดูแลเพจอดีตอนาคตใหม่จังหวัดนนทบุรี ภาพข่าวที่ไปลงนั้นเป็นเพราะเธอเป็นตัวแทนของอดีตพรรคอนาคตใหม่จังหวัดนนทบุรีในการเข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น

ปัญญารัตน์ยังเบิกความเล่าถึงประเด็นหลักว่าตนเป็นเพียงผู้ร่วมงานวิ่งไล่ลุงเมื่อเดือนมกราคมเท่านั้น เธออยากไปร่วมงานที่สวนรถไฟมาก เพราะคาดว่ามีผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก และยังเห็นว่าการไปร่วมงานเป็นการไปช่วยเหลือกัน แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนจังหวัดนนทบุรี เธอกับเพื่อนจึงเห็นร่วมกันว่าควรไปร่วมงานในพื้นที่ก่อน คือที่สวนอุทยานมกุฏรมยสราญ สวนสาธารณะหน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี

วันนั้นปัญญารัตน์ก็ใส่เสื้อ #วิ่งไล่ลุง ของงานที่จัดที่สวนรถไฟแทนที่จะเป็นเสื้อ #วิ่งไล่ลุง ของจังหวัดนนทบุรี และไม่ได้มีการขนเครื่องเสียงเข้าสวนสาธารณะเพื่อทำการปราศรัยแต่อย่างใดตามที่มีข้อกล่าวหา โดยหลังจากการวิ่ง เธอได้ร่วมพูดผ่านโทรโข่งที่มีผู้อื่นส่งมาให้ และถือป้ายรณรงค์เหมือนกันผู้ร่วมงานคนอื่นๆ กว่า 100 คน และแยกย้ายกันหลังจากวิ่งออกกำลังกายกันสองชั่วโมง

 

 

กลุ่มคดีวิ่งไล่ลุง กับคดีความที่ยังดำเนินต่อ   

ภายหลังกิจกรรมวิ่งไล่ลุงทั่วประเทศเสร็จสิ้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีการดำเนินคดีกับผู้จัดและผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดงาน “วิ่งไล่ลุง” ในหลายพื้นที่ โดยจากการรวบรวมข้อมูลจนถึงวันที่ 1 ก.ย. 2563 มีจำนวนอย่างน้อย 16 คดี

– 14 คดี ถูกแจ้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10  แยกเป็นผู้ถูกดำเนินคดี 18 ราย โดย 6 ราย ได้ให้รับสารภาพและถูกเปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจและศาลแล้ว [กรุงเทพฯ (เขตบางขุนเทียน)], จ.พิษณุโลก, จ.ลำพูน, จ.สุรินทร์, จ.ยโสธร และจ.ตรัง)

ในจำนวนี้มีคดีอยู่ในชั้นอัยการ 3 คดี ได้แก่ ที่ จ.เชียงราย, จ.นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ (สวนรถไฟ)  ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 5 คดี รวม 5 ราย (จ.นครพนม, จ.พังงา, จ.นนทบุรี, จ.กาฬสินธุ์ และจ.บุรีรัมย์) โดย 2 คดีที่ศาลสืบพยานเสร็จแล้ว ได้แก่ คดีที่นครพนมและพังงา จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลได้ส่งคำร้องของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

– 3 แห่ง มีการแจ้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 (จ.กาฬสินธุ์, จ.แพร่ และ จ.ตรัง)

– 1 แห่ง แจ้งข้อหาใช้เส้นทางผิวการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 148 (จ.กาฬสินธุ์)

– ที่จังหวัดนครสวรรค์ ตำรวจยังแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108 ร่วมด้วย

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย

วิ่งไล่ลุงทำได้ : ข้อพิจารณาทางกฎหมายเบื้องต้นต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

 

X