ยกฟ้อง ‘อภิสิทธิ์’ ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานในคดีชุมนุมหน้ากองทัพบก


อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ (กลาง) จำเลยคดีคนอยากเลือกตั้ง

วันนี้ (20 พ.ย. 2561) ที่ศาลแขวงดุสิต กรุงเทพฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการพิเศษศาลแขวงกรุงเทพ 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ นักกิจกรรม ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 เนื่องจากผู้ต้องหาไม่เดินทางไปศาลตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 24 มี.ค.61 (อ่านเรื่องนี้ได้ใน: ชุมนุมหน้ากองทัพบกทวงเลือกตั้ง-เรียกร้องทหารกลับเข้ากรมกอง)

คดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 61 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอภิสิทธิ์ในความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากเหตุไปร่วมชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบก (ARMY57) และมีคำสั่งให้จำเลยเดินทางมาศาลแขวงดุสิต เพื่อดำเนินการขอฝากขังในเวลา 14.00 น. แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เดินทางมาศาล

นายอภิสิทธิ์ให้เหตุผลระหว่างการเบิกความไว้ต่อศาลเมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 ว่าเนื่องจากคดีการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการส่งตัวจำเลยไปขอฝากขังต่อศาลแต่อย่างใด อีกทั้งคดีนี้จำเลยเห็นว่าเป็นคดีทางการเมือง การส่งตัวไปขอฝากขังด้วยคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน และสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนที่ต้องการออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง (อ่านเรื่องนี้ใน: ก่อนถึงวันพิพากษา คดี ” 1 คนอยากเลือกตั้ง” ไม่ไปฝากขัง: ตำรวจอ้างจำเลยจะออกไปชุมนุม)

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นของคดี

เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาสรุปได้ว่าวันที่ 24 มี.ค. 61 จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ต่อมาได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จำนวน 41 คน ที่สน.นางเลิ้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.61 และพนักงานสอบสวนมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้ง 41 คน เดินทางไปศาลแขวงเพื่อทำการฝากขัง แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ไปตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีการลงบันทึกประจำวัน และออกหมายจับนายอภิสิทธิ์ในวันที่ 20 เม.ย. จนกระทั่งวันที่ 21 พ.ค. นายอภิสิทธิ์เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.สามเสน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน และโจทก์ได้มีการนำพยานตำรวจ 2 นาย ที่รับผิดชอบคดี มาเบิกความ ในวันที่ 24 ต.ค.61

ศาลชี้มีวิธีการเฉพาะในการดำเนินการผู้ต้องหา

ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยอ้างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 8 วรรค 5 ซึ่งระบุคดีอาญาที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง เรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหา

ศาลอธิบายว่า “ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในความควบคุมของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ แต่พนักงานสอบสวนได้สั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขัง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณียื่นคําร้องขอผัดฟ้องพร้อมกับขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ และในกรณีที่ศาลสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้อง แต่ถ้าการขอให้ออกหมายขังดังกล่าวกระทําภายหลังจากที่ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาได้เท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้”

เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ พนักงานสอบสวนมีอํานาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที

ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรค 5 ระบุว่า “หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอํานาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอํานาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้”

ดังนั้น ในการดำเนินการกับผู้ต้องหา เจ้าพนักงานมีวิธีการเฉพาะอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดให้เป็นโทษต่อจำเลย จึงไม่ได้อยู่ในความมุ่งหมายตามข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

 

X