สอบคำให้การลับหลังคดี RDN และ Army ศาลเลื่อนฟังคำสั่งไป 20 พ.ย.

18 ก.ย.61 ที่ศาลแขวงดุสิต กรุงเทพ มีนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและฟังคำสั่งอัยการสูงสุด คดีคนอยากเลือกตั้งในส่วนของผู้ชุมนุม 2 คดี คือคดีชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนิน หรือ “RDN50” เมื่อวันที่ 10 ก.พ.61 และคดีชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก หรือ “Army57” เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 61 แต่ทั้งสองคดีนี้ได้เลื่อนการพิจาณาออกไปเป็นวันที่ 20 พ.ย.61 เนื่องจากมีจำเลยติดสอบและยังต้องรอคำสั่งอัยการสูงสุดพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม

คดี “RDN50”

โจทก์ได้แถลงว่านายโชติศักดิ์ อ่อนสูง หนึ่งในจำเลยของคดีนี้มีการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด คาดว่าจะมีคำสั่งภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากคดีนี้มีพยานหลักฐานเป็นจำนวนมากและเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยคนอื่น จึงขอเลื่อนคดีไปฟังคำสั่ง ซึ่งหากฟ้องคดีนายโชติศักดิ์ เพียงลำพังจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้า

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เพื่อไม่เป็นการสืบพยานซ้ำซ้อนอัน และอันเนื่องมาจากพยานหลักฐานของคดีนี้เป็นชุดเดียวกันกับสำนวนคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องกับจำเลยคนอื่นในคดี จึงเลื่อนคดีไปนัดพร้อมเพื่อรอฟังผลดังกล่าว ประชุมคดีและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 พ.ย.61 เวลา 9.00 น.

คดี “Army57” 

ในส่วนของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จำเลยที่ 1 ทนายได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากจำเลยติดสอบที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ขณะเดียวกันพนักงานอัยการได้แจ้งว่า ได้ทำเรื่องขออัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ร่วมกับจำเลยอีก 45 คน เนื่องจากพยานหลักฐานในคดีของนายอภิสิทธิ์ เป็นชุดเดียวกันกับที่ฟ้องจำเลยทั้ง 45 คน ขณะที่ทนายความของจำเลยทั้งหมดแถลงว่า ขอให้เลื่อนคดีไปเพื่อรอฟังคำสั่งอัยการสูงสุดเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องและนำสำนวนของนายอภิสิทธิ์มารวมกับจำเลยอีก 45 คน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากพยานหลักฐานของจำเลยทั้ง 45 คน และของนายอภิสิทธิ์เป็นชุดเดียวกันเพื่อให้การพิจารณาคดีไม่มีความล่าช้าจึงอนุญาตให้โจทก์ยื่นฟ้องเพื่อจะรวมพิจารณาคดีของนายอภิสิทธิ์เข้ากับจำเลยทั้ง 45 คน โดยเลื่อนไปฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ย.61 เวลา 9.00 น.

กรณีทนายจำเลยยื่นให้ศาลพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายใน 2 ประเด็น 

ก่อนหน้านี้ จำเลยส่วนหนึ่งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแขวงวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยหากศาลเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกและใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แทนคำสั่งที่ 3/58 แล้ว คำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 จะไม่ถูกนำมาพิจารณาในคดีนี้ ขณะที่จำเลยอีกส่วนหนึ่งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 44 ในประเด็นนี้ ศาลได้แจ้งว่าได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาทางข้อกฎหมายนั้นให้รอวินิจฉัยพร้อมคำพิพากษา

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้อนุญาตให้พิจารณาทั้งสองคดีนี้ลับหลังจำเลยได้ตามที่ทางฝ่ายจำเลยเคยขออนุญาตศาลไว้ จำเลยในทั้งสองคดีจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาฟังการพิจารณาคดี ทำให้การพิจารณาในวันนี้มีจำเลยเดินทางมาศาลเพียงบางคน

X