อีก 5 คน แชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” ได้ประกันตัว โดย 3 คน ต้องติด “EM” ติดตามตัว

อุปกรณ์ติดตามตัวผู้ต้องหา หรือ EM ‘Electronic Monitoring Center (ภาพจากมติชนออนไลน์ )

วันที่ 6 พ.ย. 61 ศาลอาญา ถ.รัชดา มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยคดีแชร์เพจ “กูต้องได้ 100ล้านฯ จากทักษิณแน่ ๆ” อีก 5 คน หลังจากที่เมื่อวาน (5 พ.ย. 61) ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวไปแล้ว 4 คน (อ่านเรื่องนี้ใน ฟ้อง 9 คน แชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” ศาลไม่ให้ประกันตัว 5 ราย) ซึ่งเป็นการวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่เหลือ 5 คน จึงถูกคุมตัวเพื่อรอฟังการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวในวันนี้

ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 คน 

สำหรับวันนี้เป็นนัดพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวจำเลย 5 คน ที่แชร์โพสต์วิจารณ์นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดของรัฐบาลคสช. จากเพจ ‘กูต้องได้ 100ล้านฯ จากทักษิณแน่ ๆ’ โดยเป็นการฟ้องตามความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบความมั่นคงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตามมาตรา 14 (5) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 โดยในเนื้อหาบรรยายคำฟ้องบางส่วนระบุว่า

“มีข้อความที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างหนักในหลายชุมชนในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบในพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมกับตำรวจในท้องที่ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับผู้ค้ายาเสพติดเสียเอง จึงทำให้ยาเสพติดกลับทะลักเข้ามาทำลายอนาคตของประเทศ” (อ่านข้อความที่จำเลยแชร์โพสต์ได้ที่ ปอท.แจ้งข้อหาคนแชร์เพจ “กูต้องได้ 100 ล้านฯ” เพิ่มอีก 1 ราย ก่อนปล่อยตัวกลับหลังแจ้งข้อหา)

ในวันนี้มีจำเลย 2 คน ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท ขณะที่จำเลยอีก 3 คน ยื่นประกันด้วยเงินสด 20,000 บาท และติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัว หรือ “EM” (Electronic Monitoring Center)

กระบวนการติดตั้ง ‘EM’

กระบวนการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวถูกนำมาใช้คดีประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอีกครั้ง หลังจากที่ศาลยุติธรรมนำกระบวนการนี้มาใช้ครั้งแรกในวันที่ 1 มี.ค. 61

จากการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า นักโทษหญิง 2 คน ที่ได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 20,000 บาท เข้ามาในห้องติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวใต้ถุนศาลอาญาก่อน เธอทั้งสองสวมชุมนักโทษสีน้ำตาลอ่อนและรองเท้าแตะ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ญาติและทนายความเข้ามาฟังขั้นตอนการติดตั้งและวิธีการการใช้ อุปกรณ์

โดยไม่ถึง 5 นาที ผู้ต้องหาชายอีก 1 คน ที่ได้รับการประกันตัวด้วยเงื่อนไขเดียวกัน ก็ตามเข้ามา จำเลยสวมชุดคล้ายกับจำเลยผู้หญิง หากแต่มีกุญแจข้อเท้าพ่วงมาด้วย

เจ้าหน้าที่ห้องติดตั้งอุปกรณ์ได้เชิญให้จำเลยนั่ง และอ่านคำสั่งศาลต่อหน้าจำเลยเป็นรายบุคคลอย่างกระชับครบถ้วน สาระสำคัญระบุว่า ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้ง 3 คน ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท แต่ในกรณีนี้ ให้สามารถวางหลักทรัพย์ 20,000 บาท และติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวนี้แทนได้ หากจำเลยผิดสัญญาการประกัน เช่น ไม่มาตามนัดศาล หรือทำลายอุปกรณ์ติดตามตัว ศาลจะทำการยึดหลักทรัพย์การประกันตัวและออกหมายจับ

สำหรับอุปกรณ์ติดตามตัวนี้ มีลักษณะเป็นกำไลข้อเท้า ทำงานด้วยกระแสไฟฟ้าสำรองไฟผ่านแบตเตอรี่ สามารถทำงานได้ยาวนาน 8-10 ชั่วโมง และใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงสำหรับการชาร์ตแบตเตอรี่ ซึ่งจะมีไฟกระพริบเตือนหากแบตเตอรี่ใกล้จะหมด เพื่อระบุตำแหน่งแห่งที่ของจำเลย หากจำเลยอยู่ในสถานที่ที่มีชายคา เช่น บ้านพัก ตึก หรืออยู่ในรถ ไฟจะเป็นสีแดง ขณะที่เมื่ออยู่กลางแจ้งไฟจะเป็นสีเขียว

โดยอุปกรณนี้จะติดบริเวณข้อเท้าของผู้ต้องหาตลอดการสู้คดี หรือในกรณีที่จำเลยสามารถหาหลักทรัพย์มาประกันตัวได้ตามที่ศาลกำหนด ก็สามารถถอดอุปกรณ์ติดตามตัวนี้ออกได้ สำหรับในคดีนี้ หากจำเลยทั้ง 3 คน ต้องการยกเลิกอุปกรณ์ติดตามตัวจะต้องนำหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท มาใช้เป็นหลักประกันแทน

ทั้งนี้ศาลมีคำสั่งนัดจำเลยทั้งหมดรายงานตัวตามสัญญาประกันตัว ในวันที่ 12 พ.ย. 61 ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คน จะถูกปล่อยตัวคืนนี้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯและทัณฑสถานหญิงกลาง

X