แชร์ไม่แชร์ก็รู้ไว้: กฎหมาย 101 กรณี ‘ประเทศกูมี’

จากกรณีที่รองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้สัมภาษณ์ว่า MV และเนื้อหาเพลง “ประเทศกูมี อาจเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และจะดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์ต่อตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) ขณะที่ คสช. กำลังตรวจสอบกลุ่มศิลปินว่ามีเจตนาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 แก้ไขจากฉบับ พ.ศ.2550 มีเนื้อความว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทําต่อประชาชน แต่เป็นการกระทําต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทํา ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุเจตนารมณ์ของการแก้ไขส่วนหนึ่งว่า เดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตรา 14 มักถูกพ่วงไปฟ้องกับการกระทำผิดใด ๆ ทางอินเตอร์เน็ต ทั้งที่มาตรานี้กำหนดให้ใช้กับการกระทำผิดในเรื่องฉ้อโกง หรือหลอกลวงกันทางออนไลน์ จึงนำมาสู่การแก้ไขข้างต้น

แม้ยังไม่มีการดำเนินคดีกรณี ‘ประเทศกูมี’ อย่างเป็นทางการ แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีคำแนะนำกรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นให้ประชาชนใช้ป้องกันตนเองหากมีการคุกคามหรือดำเนินคดีในอนาคต

เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

  • การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในโซเชียลมีเดีย ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้นหากจะถูกจับกุมควรปฏิบัติดังนี้
  1. สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่
  2. ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร
  3. เราจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
  4. เราจะถูกพาตัวไปที่ไหน
  5. แจ้งให้ญาติหรือคนที่ใกล้ชิดทราบโดยด่วน
  • ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติดังนี้
  1. สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่
  2. ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเราผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน
  3. ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน
  4. ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
  • พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาตให้ทำได้ หากไม่มีหมายศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจและเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตาม
  1. คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ ของเรา
  2. สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟรชไดร์,แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
  3. ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
  4. ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้าpassword หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในกากระทำการดังกล่าว
  5. ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น
  • กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวและค้น
  1. บุคคลซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หรือ“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หากไม่ได้รับการแต่งตั้งย่อมไม่มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558
  2. ผู้ถูกควบคุมตัวต้องขอดูบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อพิสูจน์ว่ามีอำนาจดังกล่าวจริง
  • เมื่อถูกควบคุมตัวเราควรมีปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา
  1. ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆ รวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี
  2. อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ในรูปแบบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน
  3. ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่าหากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่นๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง
  4. หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่งและอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเองหากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้
  5. โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้
  6. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวเราได้สูงสุดเพียง 7 วันเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
  • เราควรปฏิบัติตัวเช่นไรและควรให้การอย่างไรกับพนักงานสอบสวนเมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ
  1. ไม่ควรให้การใดๆกับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น
  2. หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใดๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น
  3. ข้อพึงระวัง
    • เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้
    • การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาล
X