วันที่ 18 สิงหาคม 2561 ที่งาน Movies that Matter ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเดิมวันนี้มีกำหนดการฉายหนัง Joshua: Teenager vs Super Power แต่ทางแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้งดฉายหนังเหลือเพียงวงเสวนา เหตุจากสันติบาลเรียกเข้าพบและแสดงความกังวลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอาจผิดพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดเผยระหว่างการเสวนาว่า เหตุที่ไม่สามารถจัดฉายหนังสารคดี หนัง Joshua: Teenager vs Super Power จาก Netflix ได้เนื่องจากก่อนหน้านี้ในวันที่ 16 ส.ค.ทางสันติบาล ได้เรียกเข้าไปพูดคุย และแสดงความกังวลว่าหากมีการฉายหนังเรื่องดังกล่าวอาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยและจีน และอาจผิดพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งต้องขออนุญาตฉายหนังจากกระทรวงวัฒนธรรมก่อน
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ilaw ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานเสวนาวันนี้ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ระหว่างการพูดคุย 1 ชั่วโมง 15 นาที กับ พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจ และชี้แจงว่าสันติบาลไม่ใช่เครื่องมือของคสช. ซึ่งในช่วงห้านาทีสุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายได้อ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจผิดพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
ยิ่งชีพ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งมาจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 นั้น บัญญัติคำว่าภาพยนตร์ หมายถึง วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์ ซึ่งปัญหาคือเมื่อนิยามกว้างขวางและครอบคลุมเกือบทุกอย่างที่เป็นภาพเคลื่อนไหวและกำหนดว่าภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทำให้เป็นปัญหาที่เกิดการเลือกบังคับใช้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับสูงถึง 200,000 -1,000,000 บาท และจากการติดตามข้อมูลการปิดกั้นแทรกแซงการทำกิจกรรมภายหลังการรัฐประหาร 2557 มา พบว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 266 แต่เป็นครั้งแรกที่มีการนำพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มากล่าวอ้าง
ด้าน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่าตั้งแต่มีการรัฐประหารมา เจ้าหน้าที่รัฐมีการติดตามการทำกิจกรรมของแอมเนสตี้อย่างใกล้ชิดเกือบทุกกิจกรรม ซึ่งอย่างน้อยครั้งนี้เป็นครั้งที่หกแล้วที่ทางแอมเนสตี้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือสถานที่ในการทำกิจกรรมเนื่องจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่
สำหรับหนังสารคดี Joshua: Teenager vs Super Power ได้รับรางวัลขวัญใจผู้ชมจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ประจำปี 2017 ที่ได้แรงบันดาลใจจากนักเรียนมัธยมธรรมดาๆ ที่ชื่อ “โจชัว หว่อง” ในวัย 14 ปี ผู้ที่ลุกขึ้นมาลงประท้วงรัฐบาลจีนให้ถอดถอนหลักสูตรการศึกษาใหม่ในแผ่นดินฮ่องกง สารคดีเรื่องนี้ได้ตามเก็บเรื่องราวของกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนที่กล้าลุกขึ้นมาก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อ Scholarism จากประเด็นเรียกร้องเรื่องการศึกษา กระทั่งพวกเขากลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของฮ่องกงในปี 2014
ก่อนหน้านี้ โจชัว หว่อง หนึ่งในนักกิจกรรมจากสารคดีที่จะมีการจัดฉายครั้งนี้ เคยมีกำหนดการเดินทางมาร่วมกิจกรรม รำลึก “40 ปี 6 ตุลา 19” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนตุลาคม 2559 แต่เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เขากลับถูกกักตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อยู่ภายในสนามบิน โดยระบุว่า “มีหนังสือจากทางรัฐบาลจีนส่งมาถึงรัฐบาลไทยเกี่ยวกับบุคคลนี้” ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศฮ่องกงภายหลังจากการถูกกักตัวไว้ระยะหนึ่ง (รายงานข่าวก่อนนี้)