สืบพยานคดี ‘พลเมืองรุกเดิน’ พ.อ.บุรินทร์ตอบ คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้โดยไม่ต้องมีการรับรอง

วันนี้ศาลทหาร พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ขึ้นเบิกความในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ในคดี “พลเมืองรุกเดิน” ที่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ “พ่อน้องเฌอ” สมาชิกพลเมืองโต้กลับ ถูกพ.อ.บุรินทร์แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีพันธ์ศักดิ์เดินจากบ้านพักย่านบางบัวทองไปรายงานตัวในคดี “เลือกตั้งที่(รัก) ลัก” ที่สน.ปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

การสืบพยานวันนี้เป็นช่วงการถามค้านพยานของอานนท์ นำภา ที่รับผิดชอบเป็นทนายความฝ่ายจำเลยให้แก่พันธ์ศักดิ์ ครั้งนี้เป็นการถามต่อจากการสืบพยานนัดที่แล้วเมื่อ 4 พ.ค. 2561 ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ศาลได้สั่งห้ามผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาจดบันทึกคำเบิกความและกระบวนพิจารณาคดีของศาล

อ่านการสืบพยานครั้งก่อนได้ที่ พ.อ.บุรินทร์เบิกความเดินเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นการต่อต้านรัฐบาล

พ.อ.บุรินทร์ เบิกความตอบว่าเหตุที่ตนไปแจ้งความดำเนินคดีกับพันธ์ศักดิ์ เพราะได้รับคำสั่งจากพล.ต.สมโภช วังแก้ว ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ผู้บังคับบัญชาตนให้ดำเนินการ

ทนายอานนท์ถามว่า คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 7/2557 โดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกใช่หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าไม่ใช่ คสช.ออกประกาศดังกล่าวในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น ซึ่งก็คือ คสช. ทนายจึงได้ถามต่อว่าแล้วถ้าเช่นนั้น คสช. มีสถานะอำนาจมากกว่าพระมหากษัตริย์หรือไม่และในขณะนั้นพระมหากษัตริย์จะเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พยานขอไม่ตอบทั้ง 2 คำถาม แต่ คสช.ยังเทิดทูนพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้พ.อ.บุรินทร์ตอบประเด็นสถานะรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ของทนายอานนท์ว่า ไม่ได้มีผู้ใดเป็นคนแต่งตั้งให้เป็นและไม่ได้มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติเอาไว้ แต่เป็นไปตามหลักสากลทั่วโลกเมื่อมีการยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ตนไม่ทราบว่าหลังการรัฐประหารประเทศต่าง ๆ ได้ให้การยอมรับการยึดอำนาจของ คสช.ในประเทศไทย

หลังทนายอานนท์ถามในประเด็นเกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. พ.อ.บุรินทร์ได้กล่าวกับทนายความว่าให้ ”ระวัง” ในการถามคำถามด้วย

พยานทราบว่าหลัง คสช.ทำรัฐประหารมีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นักศึกษา นักวิชาการ และนักการเมืองบางกลุ่มออกมาคัดค้านอยู่ แต่ตนก็ไม่ทราบว่ามีกลุ่มอื่น ๆ อีกหรือไม่ โดยกลุ่มที่ออกมาคัดค้านมีการจัดชุมนุม เช่นที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เป็นต้น

ทนายอานนท์ถามพ.อ.บุรินทร์ว่า ณ วันที่ คสช.ออกประกาศ ฉบับที่ 7/2557 พระมหากษัตริย์ได้ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. แล้วหรือยัง พยานตอบว่ายังไม่ได้แต่งตั้ง

พยานทราบว่าที่พันธ์ศักดิ์ทำกิจกรรมที่เป็นเหตุของคดีนี้เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากการที่ตนเองถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรม “เลือกตั้งที่(ลัก)รัก” เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 เพราะพันธ์ศักดิ์คัดค้านการนำพลเรือนมาพิจารณาคดีในศาลทหาร

ทนายอานนท์ถามพ.อ.บุรินทร์ในประเด็นที่พันธ์ศักดิ์ถูกกล่าวหาด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา ว่าพบานทราบหรือไม่ว่าในมาตราดังกล่าวมีการกระทำที่ยกเว้นไม่เป็นความผิดอยู่ ทั้งนี้พยานตอบว่าไม่มั่นใจทนายจึงเอาข้อกฎหมายให้พยานดู พยานตอบว่ามีในบทบัญญัติของมาตรานี้ระบุว่า “…ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต…” คือต้องเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายจึงจะไม่เป็นความผิด

ทนายอานนท์ถามต่อในประเด็นที่พันธ์ศักดิ์โพสต์เฟซบุ๊กถึงกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” ของตนว่า ห้ามมาร่วมเกิน 4 คน ไม่อย่างนั้นจะผิดกฎหมาย พ.อ.บุรินทร์เห็นตรงกับคณะทำงานที่พิจารณาให้ตนมาดำเนินคดีว่าข้อความดังกล่าวของพันธ์ศักดิ์เป็นเพียงการหลีกเลี่ยงไม่เกิดการกระทำความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เท่านั้น แต่เมื่อดูเจตนาของพันธ์ศักดิ์ต้องการให้มีคนมาร่วมชุมนุมมากกว่า 5 คน ซึ่งสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ข้อความแต่อยู่ที่เจตนา แต่ตอนพยานให้การกับพนักงานสอบสวนไม่ได้ให้การในประเด็นนี้ไว้

ทั้งนี้พ.อ.บุรินทร์ตอบทนายอานนท์ด้วยว่า เขาไม่ได้สนิทกับจำเลยขนาดที่จะรู้เจตนาของจำเลย อีกทั้งไม่ได้เป็นเฟรนด์กันในเฟซบุ๊กและก็ไม่เคยอ่านงานเขียนของพันธ์ศักดิ์มาก่อน อีกทั้งการเดินของพยานและผู้มาให้กำลังใจก็ไม่ได้ทำให้การบริหารงานของรัฐบาลสิ้นสุดลง

ทนายอานนท์จึงถามต่อในประเด็นนี้อีกว่า แล้วถ้าเป็นการแสดงออกโดยสันติสามารถทำได้หรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าถ้าไม่ละเมิดกฎหมายก็ทำได้ ทั้งนี้กิจกรรมเดินเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ไม่เป็นการใช้ความรุนแรงแต่ก็เป็นการปลุกกระแสให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยมาร่วมและต่อต้านการบริหารของ คสช. ซึ่งการคัดค้านก็ทำได้ถ้าไม่ละเมิดกฎหมาย ทนายจึงได้ถามเปรียบเทียบกับคนที่ไปร่วมฟังปราศรัยของพล.อ.ประยุทธ์และมอบดอกไม้ให้เป็นกำลังใจถือเป็นความผิดตามประกาศ คสช.หรือไม่ พยานตอบว่าขึ้นอยู่กับเจตนาของคนที่มาร่วม

ทนายอานนท์ถามพ.อ.บุรินทร์ในประเด็นการทำรัฐประหารของ คสช. เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 113 ในประมวลกฎหมายอาญาใช่หรือไม่ และภายหลัง คสช. ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ พ.ศ.2557 ในฉบับนี้ยังมีมาตราที่นิรโทษกรรมให้กับการทำรัฐประหารของ คสช.เองด้วย พยานตอบว่าใช่ทั้ง 2 คำถาม

ทนายถามอีกว่าหลังการรัฐประหาร คสช.ได้ออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยและการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในบางความผิดเป็นการจำกัดสิทธิหรือไม่ พยานตอบว่าใช่ การให้ขึ้นศาลทหารเป็นการจำกัดสิทธิเพราะว่ามีศาลชั้นเดียว(คดีในศาลทหารในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้)

ทนายอานนท์จึงถามว่าแล้วเหตุผลข้างต้นนี้จะเพียงพอให้พันธ์ศักดิ์ ออกมาคัดค้านหรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าเป็นความคิดเห็นของเจ้าตัว เขาตอบแทนจำเลยไม่ได้ ตนเพียงแต่นำความเห็นของคณะทำงานที่พิจารณาให้ดำเนินคดีกับจำเลยมาดำเนินการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับการใช้ประกาศ ฉบับที่ 37/2557 เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงนั้นประเทศต้องการให้เกิดความสงบ แม้ว่าศาลยุติธรรมจะสามารถพิจารณาคดีได้ แต่ก็ล่าช้า ซึ่งศาลทหารพิจารณาคดีเร็วกว่าในบางคดี

ทนายอานนท์ได้ถามพ.อ.บุรินทร์ว่าทราบหรือไม่ว่า คดีในศาลพลเรือนมีการนัดต่อเนื่องแต่ศาลทหารนัดไม่ต่อเนื่อง พยานตอบว่าไม่ทราบและเป็นความคิดเห็นของจำเลย ทนายความจึงได้ถามย้ำในคำถามเดิม แต่พ.อ.บุรินทร์ตอบโต้คำถามของทนายความด้วยการตะคอกถึง 2 ครั้ง และมีการตบลงไปบนคอกพยาน ว่าตนได้ตอบคำถามไปแล้ว จะถามซ้ำทำไมอีก และศาลได้เตือนทนายความว่าการพิจารณาคดีของศาลทหารที่ไม่สามารถนัดต่อเนื่องได้เพราะว่ามีคดีอื่นๆ ที่เป็นของทหารด้วยอีกทั้งก็เป็นปัญหาระหว่างคู่ความด้วยที่ไม่นัดต่อเนื่อง

แต่ทนายอานนท์ได้พยายามอธิบายว่าคำถามดังกล่าวเป็นเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น และได้ขอให้ศาลพักการพิจารณาคดีเป็นเวลา 5 นาทีเพื่อให้พยานสงบใจลงหรือให้นัดถามต่อในนัดหน้า เพราะว่าพยานแสดงอาการโมโหอย่างชัดเจนทำให้ไม่สามารถถามคำถามให้พยานตอบต่อได้ ทั้งนี้พ.อ.บุรินทร์ยืนยันว่าจะให้ถามความเสร็จสิ้นในครั้งนี้เพราะตนก็มีภารกิจอย่างอื่นอีก การพิจารณาคดีจึงดำเนินไปต่อ

ทนายอานนท์ได้ถามในประเด็นเดิมอีกครั้ง ครั้งนี้พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าตนทราบว่าศาลพลเรือนมีการนัดสืบพยานต่อเนื่องทุกวัน แต่จะพิจารณาเสร็จในเดือนเดียวหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่บางคดีในศาลทหารนัดพิจารณาเดือนละครั้ง บางคดีก็ต่อเนื่องกันทุกวัน แต่ไม่เสร็จภายในเดือนเดียว

พ.อ.บุรินทร์ตอบคำถามทนายอานนท์ต่ออีกว่าในศาลทหารใช้ตำแหน่งข้าราชการในการประกันตัวบุคคลไม่ได้ และศาลทหารก็อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม

ทนายอานนท์จึงถามว่าถ้าพันธ์ศักดิ์ได้ทำการคัดค้านการรัฐประหาร จะกังวลที่คดีของตนต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าไม่ทราบ ทนายถามต่อว่าแล้วคดีของจำเลยที่เกิดขึ้นในช่วงที่คสช.ประกาศใช้กฎอัยการศึกทำให้คดีของจำเลยอุทธรณ์ ฎีกาไม่ได้ ทำให้จำเลยต้องคัดค้านเรื่องนี้สามารถรับฟังได้หรือไม่ พยานตอบว่าน่าจะพอรับฟังได้

คำถามสุดทายของทนายอานนท์ได้ถามว่ากิจกรรมนี้มีการปราศรัยหรือไม่ พ.อ.บุรินทร์ตอบว่าตลอดการเดินไม่มีการปราศรัยจนเดินถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่จะมีการเสวนาในมหาวิทยาลัยหรือไม่เขาไม่ทราบ

พ.อ.บุรินทร์ได้ตอบคำถามติงของอัยการทหารซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ว่า ตนเข้าใจว่าข้อความในโพสต์เป็นการปลุกกระแสเนื่องจากก่อนเกิดเหตุในคดีเคยมีพฤติการณ์ต่อต้าน คสช. มาก่อนแล้ว และที่ตนมาแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เพราะการเดินของจำเลยมีนัยยะทางการเมืองอยู่

หลังการสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้นศาลได้นัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ 14 ก.ย.  29 ต.ค. และ 12 พ.ย. ปี 2561

X