จำเลย “RDN50” ยื่นศาลวินิจฉัย 3/58 ข้อ 12 ถูกยกเลิกแล้วโดย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

วันนี้ (4 มิ.ย.61) เวลา 11.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต นัดสอบคำให้การจำเลย (ผู้ชุมนุม) ในคดี “RDN50” ทั้ง 41 คน โดยศาลเริ่มออกนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดีเวลาประมาณ 12.30 น. ต่อมาศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยทั้ง 41 คน ฟังก่อนจะแจ้งสิทธิของจำเลย ต่อมาหลังจากที่จำเลยได้ฟังคำฟ้องแล้ว จำเลยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 2,4,12,14,18,21,28,31,33,34,36 ถึง 41 ได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น และจำเลยที่ 15,16,18,20 ได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งของ คสช. ตามคำร้องขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ จำเลยทั้ง 41 คน ได้ยื่นขอให้ศาลพิจารณาลับหลัง ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และจำเลยมีทนายความแล้ว เพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปโดยไม่ล่าช้า ศาลจึงอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยทั้ง 41 คน โดยจำเลยไม่ต้องมาฟังการพิจารณาคดีและสืบพยานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ทวิ (1) และนัดฟังคำสั่งในส่วนของคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย เป็นวันที่ 12 ก.ค. 61

ทั้งนี้ ในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลเสนอให้รวมการพิจารณาคดี “RDN50” และ “ARMY57” เข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีให้รวดเร็ว เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษต่ำ ทนายจำเลยแถลงค้าน ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองคดีมีข้อเท็จจริงคนละชุดและโจทก์คนละคน ศาลจึงให้แยกการพิจารณาคดีทั้งสองเช่นเดิม

จำเลยยื่นคำร้อง 2 เรื่อง

เดิมทีคดี “RDN50” ในวันนี้ จะเป็นนัดพร้อม เพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน แต่เนื่องจากจำเลยบางส่วนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ขัดกับรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 หรือไม่

ขณะที่จำเลยอีกบางส่วนยื่นให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไปแล้วด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  โดยคำร้องฉบับนี้มีเนื้อหาสำคัญ คือ

“… การกระทำทั้งหลายของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ เพราะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ระบุว่าบุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย และตามมาตรา 3 ระบุว่าถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด

อีกประการหนึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 บัญญัติเป็นหลักไว้ว่าบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ เมื่อประกอบเหตุผลทุกประการเข้าด้วยกันเห็นได้ว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 นั้น ถูกยกเลิกเพิกถอนไปโดยพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้วด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ยิ่งไปกว่านั้นตามมาตรา 279 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าการยกเลิกแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 นั้นสามารถทำได้โดยกระทำเป็นพระราชบัญญัติ ดังนั้นพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงเป็นพระราชบัญญัติที่มีจุดมุ่งหมายที่จะควบคุมการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปด้วย จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 นั้น ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ก่อนวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด บทกฎหมายตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่สามารถนำมาพิจารณาพิพากษาจำเลยได้

2.2 จำเลยขอเรียนต่อไปว่าด้วยเหตุผลในข้อ 2.1 ข้างต้นที่สรุปได้ว่าบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยคือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 นั้น ไม่มีผลใช้บังคับแล้วในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดจึงถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) เป็นการกล่าวอ้างถึงบทกฎหมายที่ไม่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วในขณะที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยจึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีนี้เสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161

2.3 จำเลยทั้งหมดเห็นว่าในขณะเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้รวมไปถึงในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ใช้บังคับอยู่แล้ว และมีพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ใช้บังคับอยู่เช่นกัน การกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่าเป็นความผิดของจำเลยในคดีนี้มีเพียงประเด็นเดียวคือการร่วมกันชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนผู้ร่วมชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จำเลยเห็นว่านอกจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ข้อ 12 นั้น จะไม่มีผลบังคับใช้แล้วในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด คำสั่งดังกล่าวยังไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายและไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใดทั้งสิ้น…

เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ศาลจึงเห็นว่าต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลแขวงดุสิตในทั้ง 2 กรณีและมีคำสั่งในวันนี้ให้เลื่อนนัดพร้อม ตรวจพยานและหลักฐานไปเป็นวันที่ 12 ก.ค. 61 เพื่อฟังคำสั่งอีกครั้ง

 

X