กมธ.ทหาร รอการชี้แจงคดี “พอล แชมเบอร์ส” จาก กอ.รมน.-ตำรวจ หลังพบว่ามีเจตนาเว้นข้อความสำคัญ ใส่ “…” แทน ในบันทึกขอฝากขังที่ยื่นต่อศาล

วันที่ 8 พ.ค. 2568 เวลา 09.30 – 11.40 น. ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 410 อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 3 แจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ให้ดำเนินคดีกับ ดร.พอล แชมเบอร์ส (Dr.Paul Chambers) ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak สถาบันวิชาการของสิงคโปร์

กรรมาธิการการทหาร ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว อันได้แก่ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก, พล.ต.ธรรมนูญ ไม้สนธิ์ โฆษก กอ.รมน., พ.ต.อ.วัชพงษ์ สิทธิรุ่งโรจน์ ผกก.สภ.เมืองพิษณุโลก  และ ร.ต.อ.พรชัย ปลั่งกลาง พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี เข้าชี้แจง หลังจากมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2568 

อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพบก ได้ทำหนังสือแจ้งว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นกับ ดร.พอล ทางกองทัพบกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมชี้แจงในที่ประชุมวันนี้ ส่วน พล.ต.ธรรมนูญ แจ้งว่าติดภารกิจที่มีอยู่ก่อนหน้าแล้ว จึงไม่ได้เข้าชี้แจงด้วย ในขณะที่ พ.ต.อ.วัชรพงษ์ ผกก.สภ.เมืองพิษณุโลก แจ้งกับฝ่ายเลขาฯ ของ กมธ. ว่าได้ลาพักร้อน จึงไม่ได้เข้าร่วมชี้แจงเช่นเดียวกัน 

ในที่ประชุมวันนี้ ทาง กมธ. ได้ประชุมพูดคุยหารือหลัก ๆ ด้วยกัน 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ ประเด็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กอ.รมน., ประเด็นการจงใจละข้อความสำคัญในบันทึกฝากขังของพนักงานสอบสวน, ประเด็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ (Wrongful Detention) และประเด็นการเลิกจ้างงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร  โดยมีเลขานุการเอกฝ่ายการเมือง ของสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย

.

พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้ให้อำนาจ กอ.รมน.ภาค 3 เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีได้เอง –  กมธ. ตั้งข้อสังเกตใช้อำนาจเกินหน้าที่

ในที่ประชุมกรรมาธิการ ได้เริ่มต้นพิจารณาในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะตามมาตรา 7 (1) ซึ่งระบุไว้ว่า “กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคาม ด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป 

ทั้งนี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธาน กมธ. ได้ตั้งข้อสังเกตถึงมาตรา 7 (1) ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการ ตรวจสอบใด ๆ ที่ทาง กอ.รมน. เห็นว่าจะเป็นภัยความมั่นคงจะต้องดำเนินการ “รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา” แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจใด ๆ ต่อ กอ.รมน. ภาค 3 ในการไปดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีในนามหน่วยงานเองในทันที

นอกจากนี้ ในคณะกรรมาธิการ ยังได้ตั้งข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาตรา 5 วรรค 6 ซึ่งระบุไว้ว่า “ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจทำนิติกรรม ฟ้องคดี ถูกฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีอันเดี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ทั้งนี้ โดยกระทำในนามของสำนักงานนายกรัฐมนตรี” 

แม้รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. ภาค 3 ซึ่งเป็นผู้ลงนามขอให้มหาวิทยาลัยนเรศวรตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ดร.พอล จะเป็นผู้มีอำนาจในการทำนิติกรรม แต่ทั้งนี้ การกระทำใด ๆ ก็ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถดำเนินการในนาม กอ.รมน. ภาค 3 เองได้ 

ผศ.ดร.กริช ภูญียามา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากการประชุม กมธ.การทหาร เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2568 ผู้อำนวยการกองการข่าว กอ.รมน.ภาค 3 ได้เข้าร่วมชี้แจงว่า การดำเนินการแจ้งความ ดร.พอล เป็นไปตาม  พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาตรา 7 (1) แต่ประเด็นสำคัญของกรณีนี้คือทาง กอ.รมน. ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายดังกล่าวแล้วหรือไม่ และตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่ากรณีการแจ้งความนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย หากผู้แจ้งความกระทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามหน่วยงานซึ่งมีสังกัดอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี

.

พนักงานสอบสวนมีเจตนาละข้อความสำคัญในบันทึกฝากขังยื่นต่อศาล

ต่อมา ในที่ประชุมได้มีการเปิดภาพบันทึกขอฝากขังในคดีของ ดร.พอล ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ระบุบรรยายข้อความที่นำมาแจ้งความกับ ดร.พอล ตามมาตรา 112 มีส่วนข้อความที่ขาดหายไป และระบุไว้เพียงสัญลักษณ์ (…) 

คณะกรรมาธิการ ได้กล่าวแสดงความกังวลว่าการเว้นช่องวางข้อความในลักษณะนี้มีเจตนาปกปิดและตั้งใจหลอกลวงศาลหรือไม่ เนื่องจากข้อความที่ขาดหายไปนั้น เมื่อตรวจสอบจากต้นฉบับในภาษาอังกฤษ คือชื่อเต็มของ ดร.พอล ในภาษาอังกฤษระบุว่า Dr.Paul Wesley Chambers

วิโรจน์ ได้เปิดข้อความที่ กอ.รมน.ใช้เป็นหลักฐานแจ้งความบนเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS – Yusof Ishak ปรากฏเนื้อหารายละเอียดการเชิญชวนงานสัมมนา ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าข้อความที่ใช้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 กับ ดร.พอล นั้นไม่น่าจะใช่ข้อความที่ ดร.พอล เขียนด้วยตัวเอง แต่เป็นข้อความที่ผู้จัดงานเขียนเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจงานสัมนาเข้าร่วมฟังการเสวนาของ ดร.พอล มากกว่า 

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการ เห็นว่าทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแจ้งความนี้ จะต้องพิสูจน์เจตนาของการเว้นข้อความสำคัญนี้ให้ได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของสถาบันวิชาการ แสดงให้เห็นแล้วว่าข้อความเต็มนั้น ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ดร.พอล เป็นผู้เขียนลงไปด้วยตัวเอง

ขณะที่ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหาร ได้เน้นย้ำว่า การดำเนินคดีนี้ไม่ได้กระทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และเคร่งครัดต่อกฎหมายเพียงพอ เพราะข้อความที่เป็นเหตุในคดีนี้เป็นข้อความที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดงานวิชาการทั้งหมด ทั้งการดำเนินคดีของ กอ.รมน.ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบ เป็นการใช้กฎหมายและหลักฐานที่ผิดฝาผิดตัว 

ส่วน ผศ.ดร.กริช ให้ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติมว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ยังไม่สามารถตีความว่า ดร.พอลกระทำผิดตามมาตรา 112 ได้ เนื่องจากตัวข้อความไม่ได้เข้าองค์ประกอบที่จะดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

ด้าน ผู้แทนนิติกร จากสำนักงานกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ข้อความใด ๆ ที่อาจเป็นความผิดทางอาญา ควรที่จะต้องใส่ให้ครบถ้วน การเว้นไว้ ทำให้ต้องมีการพิสูจน์เจตนาของการแจ้งความด้วย 

.

กังวลว่าการคุมขัง ดร.พอล อาจเป็นการควบคุมโดยมิชอบ กระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

ในประเด็นการขอฝากขัง ดร.พอล ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2568 และต่อมาทำให้เขาถูกคุมขังแม้เพียง 1 คืน ดร.พอล ได้ให้ความเห็นภายหลังได้รับการประกันตัวว่า เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ (Wrongful Detention)

ในที่ประชุมกรรมาธิการ มีการกล่าวถึงคำสั่งฝ่ายบริหาร Executive order 14078 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทย คำสั่งนี้กล่าวถึงการควบคุมตัวพลเมืองสหรัฐฯ โดยมิชอบ อันเป็นหลักปฏิบัติของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จะนำไปสู่มาตรการกดดันในด้านต่าง ๆ ต่อประเทศที่กระทำการใด ๆ อันเป็นการควบคุมพลเมืองชาวอเมริกันโดยมิชอบ 

วิโรจน์ได้สอบถามกับผู้แทนจากสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาต่อประเด็นนี้ ที่อาจสร้างความเสี่ยงต่อการเจรจาการค้าเสรีที่กำลังเกิดขึ้นของประเทศไทยว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งผู้แทนได้ตอบว่า เขาไม่สามารถให้ความเห็นในประเด็นนี้ได้ อย่างไรก็ตาม สถานทูตจะยังคงติดตามกรณีของ ดร.พอล อย่างใกล้ชิดต่อไป 

.

สถานการณ์การเลิกจ้างงาน ‘ดร.พอล’ ของ ม.นเรศวร 

วิโรจน์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ เตรียมทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสอบถามกรณีเลิกจ้าง ดร.พอล เนื่องจากการถูกเพิกถอนวีซ่า โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 

ที่ประชุมคณะกรรมมาธิการ ตั้งข้อสังเกตว่าในการเลิกจ้างงาน ดร.พอล มีประเด็นที่ต้องสอบถามกับมหาวิทยาลัยว่าได้บอกเลิกจ้างชอบตามกฎหมายแรงงานแล้วหรือไม่ ตลอดจนตั้งคำถามถึงการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย 

ทั้งหากกระบวนการยุติธรรมสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ดร.พอล เป็นผู้บริสุทธิ์ ทางมหาวิทยาลัยจะมีนโยบายที่จะมอบความเป็นธรรมและคืนเสรีภาพทางวิชาการให้กับ ดร.พอล อย่างไรต่อไป

X