เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 เวลา 16.00 น. ที่หน้าอาคารรัฐสภา บริเวณฝั่งลานประชาชน เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดงาน “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” ร่วมจับตาสภาผู้แทนราษฏรในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน โดยมีวงเสวนาเรื่อง ‘ชีวิตของผู้ถูกดำเนินคดี’ และ ‘ชีวิตของผู้ต้องขัง’ รวมทั้งกิจกรรม ‘ฟังเสียงคนที่อยากให้เกิดนิรโทษกรรม’ ร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่เสนอโดยประชาชน 35,905 รายชื่อ เพื่อให้คดีความตามมาตรา 112 รวมอยู่ในเงื่อนไขได้รับการนิรโทษกรรม
.
หลังจากกิจกรรมวงเสวนาทั้งสองวงในเรื่อง ‘ชีวิตของผู้ถูกดำเนินคดี’ และ ‘ชีวิตของผู้ต้องขัง’ เสร็จสิ้น กิจกรรมยังคงดำเนินต่อไปในช่วง “ฟังเสียงคนที่อยากให้เกิดนิรโทษกรรม” ชวนผู้คนจากหลากหลายกลุ่มมาร่วมพูดถึงประเด็นการนิรโทษกรรม โดยมีผู้คนที่มาร่วมพูดตามลำดับ ดังนี้ อัครชัย ชัยมณีการเกษ, สุรพศ ทวีศักดิ์, “ไหม” ธนพร วิจันทร์, ตัวแทนจากกลุ่มไฟรามทุ่ง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
.
อัครชัย: ฉายภาพลักษณ์สถานการณ์ด้านสิทธิที่รัฐบาลไทยสร้างให้โลกเห็น
อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ระหว่างประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดในประเด็น ‘สังคมโลกมองอย่างไรกับนิรโทษกรรมประชาชน’
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งองค์การสหประชาชาติ (HRC) หมายความว่าประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำตามพันธกรณีระหว่างเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่หลาย ๆ ท่านก็รู้ดีว่าภายหลังจากที่ประเทศเราได้เป็นสมาชิกแล้ว ก็ยังเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมา
ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ก็ให้ความเห็นชัดเจนในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2568 เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 โดยทันที เนื่องจากขัดต่อหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดดำเนินคดีการเมืองกับประชาชน
นอกจากนั้นยังมีรัฐสภายุโรปออกมติเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งยวดในการใช้มาตรา 112 กับประชาชน ตลอดจนการยุบพรรคก้าวไกล และการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน
“นี่คือภาพลักษณ์ที่รัฐบาลไทยกำลังสร้างให้กับโลก และนี่คือสิ่งที่โลกมองมายังประเทศไทยในตอนนี้” อัครชัยกล่าว
.
สุรพศ: นิรโทษกรรมรวมคดี 112 มีอย่างเดียวที่ต้องเสียไปคือ ‘ความเป็นเผด็จการล้าหลัง’
สุรพศ ทวีศักดิ์ หรือนักปรัชญาชายขอบ พูดถึงประสบการณ์ในวันที่ 28 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา เขามีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์การพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลของอานนท์ นำภา ก็พบว่าศาลไม่ได้เบิกตัวอานนนท์ขึ้นมาที่ห้องพิจารณา และได้ทราบจากทนายว่าผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้เบิกตัวอานนท์ และไปอ่านคำพิพากษาที่ห้องเวรชี้ใต้ถุนศาล อานนท์เลยถอดเสื้อประท้วงอีกครั้ง และเขย่าตรวนที่ขาตัวเองให้กระทบพื้นเป็นเสียงดังจนเท้าเป็นแผล ซึ่งวันดังกล่าวมีเพื่อนหลายคนมารอเจออานนท์ แต่ก็ไม่ได้เจอ
“ผมรู้สึกโกรธมากในวันนั้น มันมีภาษาทางการที่เรียกว่า ‘ศาลที่เคารพ’ แต่ศาลไม่เคารพประชาชน ไม่เห็นหัวประชาชน เราไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้นเลย” สุรพศกล่าว
จากนั้นสุรพศชวนถกคิดข้อดีและข้อเสียจากการนิรโทษกรรมโดยรวมคดีมาตรา 112 ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์คือสถาบันกษัตริย์, รัฐสภา, พรรคการเมือง และสถาบันตุลาการ ส่วนสิ่งที่จะสูญเสียไปนั้นมีเพียงโซ่ตรวนความเป็นเผด็จการล้าหลัง ที่จะทำให้ไทยกลับกลายเป็นประเทศอารยะ
.
ไหม ธนพร: เหตุการณ์ผ่านมา 4 ปี เพิ่งจะมีคำสั่งฟ้อง จะเป็นการนิรโทษกรรมอย่างไร
จากนั้นมี “ไหม” ธนพร วิจันทร์ พูดยืนยันว่า ประชาชนยังต้องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง รวมคดีมาตรา 112 ด้วย และถามไปถึงทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่า เคยแสดงความจริงใจใดถึงการนิรโทษกรรมประชาชนบ้าง สิ่งแรกที่สามารถทำได้คือ คดีที่อยู่ในชั้นตำรวจและอัยการก็ไม่ต้องสั่งฟ้องแล้ว แต่ล่าสุดคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2564 เวลาผ่านไป 4 ปีเพิ่งถูกนำมาฟ้อง เรียกว่าเป็นการนิรโทษกรรมอย่างไร
“ถ้ารัฐบาลจริงใจอยากทำนิรโทษกรรม คุณต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นได้ว่าประเทศนี้เป็นของพวกเขา เขาอยากเห็นประเทศนี้เป็นอย่างไร ความเห็นทางการเมืองต้องแสดงออกได้ทุกคน” ธนพรกล่าว
วันนี้หลายคนแต่งตัวเตรียมไปนำเสนอหลักการในรัฐสภาก็ยังไม่ได้พูด ธนพรคิดว่าตอนนี้หมดเวลาแล้วที่จะหลอกลวงประชาชนกลับไปกลับมา เธออยากสื่อสารไปว่า นิรโทษกรรมประชาชนต้องเข้าสภาและเชิญพวกเราเข้าไปพูดคุยว่าทำไมพวกเราต้องนิรโทษกรรมประชาชน
.
ตัวแทนกลุ่มไฟรามทุ่งย้ำ เพื่อน 48 คน ในเรือนจำไม่ใช่จำนวนที่น้อย และพวกเขาต้องได้ออกมา
ตัวแทนกลุ่มไฟรามทุ่งกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ 48 คน ไม่ใช่จำนวนที่น้อย และพวกเขาจะต้องได้ออกจากเรือนจำ
“ตอนนั้นพวกเราออกมาสู้เพื่อทวงความยุติธรรมให้คุณทักษิณ เสื้อแดงออกมาตาย คนโดนคดีกันมากมาย พรรคเพื่อไทยลืมแล้วเหรอ นิรโทษกรรมมันหายไปไหน” ตัวแทนกลุ่มไฟรามทุ่งกล่าว พร้อมกับบอกว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ประเทศไทยเคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว นั้นเป็นการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร แต่กับประชาชนที่แสดงออกอย่างสุจริตกลับถูกดำเนินคดีเข้าเรือนจำ
กฎหมายนิรโทษกรรมต้องเข้าสู่สภา และไม่ถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป คนทุกสีเสื้อต้องได้รับการนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองต่างกันแค่ไหน ประเทศไม่แตกแยกและกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
.
สมยศ: พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียง ‘ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน’ แต่วันนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าว่า เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อยู่อีก 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดีจากการปราศรัยที่หน้าราบ 11 ซึ่งถ้าหากมีการตัดสินคดีแล้วก็อาจต้องเข้าเรือนจำในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ การพูดครั้งนี้จึงอาจเป็นการพูดครั้งสุดท้ายของเขาที่มีอิสรภาพอยู่ข้างนอก
สมยศจำได้ว่า เมื่อช่วงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ว่า ‘ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะขอความเมตตาต่อศาลให้ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน’ วันนี้ก็เห็นว่ากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปได้ ซึ่งเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่อย่างรุนแรง ไม่ทำในสิ่งที่เคยพูดไว้ สุดท้ายสมยศย้ำว่า ยังพอมีเวลาที่จะพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมรวมคดีมาตรา 112
.
‘ประชาธิปไตย ต้องไปควบคู่กับความยุติธรรมในสังคม’
ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พูดว่า ที่ทุกคนมาในวันนี้ก็เพื่อรวมตัวกันส่งเสียงให้มีนิรโทษกรรมประชาชนเกิดขึ้น แต่บางทีที่เกิดข้อครหาขึ้นว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงอยากมาย้ำเตือนว่า การนิรโทษกรรมประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะประชาธิปไตยจำเป็นต้องไปควบคู่กับความยุติธรรมในสังคมด้วย
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้มีคนถูกดำเนินคดีมากมาย ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบแม้จะมีการเลือกตั้งและรัฐบาลพลเรือนแล้วก็ตาม เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มล้อการเมืองก็พบว่า ยังถูกรัฐสอดส่องคุกคามแม้จะเป็นการทำงานศิลปะ
เขาอยากให้สังคมส่วนรวมช่วยสื่อสารให้มีนิรโทษกรรมประชาชน คืนเสรีภาพทางความคิด ปล่อยผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ ส่งเสียงถึงพรรคเพื่อไทยจริงจังในการปฏิรูปให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นจริง เริ่มจากการนิรโทษกรรมประชาชน
.
ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร แต่งเพลงควบคู่การเคลื่อนไหว ‘นิรโทษกรรมต้องรวม 112’
“อาเล็ก” โชคดี ร่วมพฤกษ์ ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร ผู้ขึ้นกล่าวพูดคนสุดท้ายในกิจกรรมนี้เล่าว่า เขาไปร่วมชุมนุมทุกที่เพื่อเป็นหนึ่งในจำนวนนับของผู้ชุมนุมเหล่านั้น จนถูกดำเนินคดีไปมากกว่า 40 คดี
เขาเห็นว่า ถึงแม้ในเรื่องนิรโทษกรรมแม้จะเป็นความหวังที่ริบหรี่ เพราะอย่างไรเขาก็อ้างและปัดตกจนได้ แต่ก็ยังมีความหวังอยู่ ตอนนี้เขาฝากชีวิตที่เหลือไว้กับประชาชน และฝากติดตามช่อง YouTube ซึ่งเขาได้แต่งเพลงไว้หลายร้อยเพลงควบคู่ไปกับทุกสถานการณ์ และเพลงสุดท้ายที่ทำไว้คือเพลงนิรโทษกรรมต้องรวม 112
.
หลังจากกิจกรรมข้างต้นเสร็จสิ้น ต่อมามี สส.พรรคประชาชน ซึ่งประกอบด้วย “ทนายแจม” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์, พุธิตา ชัยอนันต์ และพนิดา มงคลสวัสดิ์ ออกมาร่วมพูดคุยกับประชาชนถึงสถานการณ์ในรัฐสภา และให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะผลักดันกฎหมายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างคดีมาตรา 112 โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.
และกิจกรรมสุดท้าย ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมร่วมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง และเชิญชวนประชาชนไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการผูกริบบิ้นสีขาวที่บริเวณประตูฝั่ง สส. และมีการแสดงดนตรีจากวงสามัญชนก่อนจบกิจกรรมในคืนวันที่ 9 เม.ย. 2568
.
อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งรวมไปถึงฉบับของภาคประชาชน ถึงแม้ว่าจะถูกเสนอเลื่อนขึ้นมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 เม.ย. 2568 แต่ในวันดังกล่าวการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้สภาฯ พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา จนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไม่อาจพิจารณาได้ทันในสมัยการประชุมนี้
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงแถลงยืนยันว่า เรื่องนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในเรื่อง “เร่งด่วน” เสมอมา เพื่อเปิดประตูสู่การแก้ไขความขัดแย้งยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 4 ฉบับ ยังคงค้างอยู่ในวาระการประชุม ซึ่งเครือข่ายนิรโทษกรรมฯ เรียกร้องว่า จะต้องถูกนำเข้าพิจารณาทันทีหลังเปิดประชุมสภาฯ สมัยถัดไปในเดือนกรกฎาคม 2568