วงเสวนา “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” เครือข่ายนิรโทษกรรมฯ ชวนผู้ถูกดำเนินคดี – คนทำงานกับผู้ต้องขังมานั่งคุย ชี้ ทางออกคือ ‘นิรโทษกรรม’

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 เวลา 16.00 น. ที่หน้าอาคารรัฐสภา บริเวณฝั่งลานประชาชน เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดงาน “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” ร่วมจับตาสภาผู้แทนราษฏรในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน โดยมีวงเสวนาเรื่อง ‘ชีวิตของผู้ถูกดำเนินคดี’ และ ‘ชีวิตของผู้ต้องขัง’ รวมทั้งกิจกรรม ‘ฟังเสียงคนที่อยากให้เกิดนิรโทษกรรม’ ร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่เสนอโดยประชาชน 35,905 รายชื่อ เพื่อให้คดีความตามมาตรา 112 รวมอยู่ในเงื่อนไขได้รับการนิรโทษกรรม

.

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้เลื่อนร่างกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนหมดสมัยการประชุมในวันที่ 9 เม.ย. 2568 ทั้งร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมฉบับอื่น ๆ รวม 4 ฉบับ ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้

.

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 เม.ย. 2568 ได้มีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้สภาฯ พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ทำให้การพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมไม่อาจพิจารณาได้ทันในสมัยการประชุมนี้

หลังทราบแน่ชัดว่า ไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ในวันดังกล่าว เวลา 14.30 น. ที่อาคารรัฐสภา ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนที่เตรียมเข้าชี้แจงในสภา ได้แก่ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ธนพัฒน์ กาเพ็ง เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง, เบนจา อะปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง, พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ได้ร่วมกันแถลงข้อเรียกร้องดังนี้

1. รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรม โดยเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับของคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาควบคู่กับร่างของพรรคการเมืองและประชาชน พร้อมทั้งประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลจะลงมติรับหลักการของร่างทุกฉบับเพื่อนำประเด็นข้อสงสัยไปถกเถียงในวาระที่สอง เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างการพิจารณา

2. สส. ฝ่ายรัฐบาลต้องรักษามาตรฐานตามบรรทัดฐานประวัติศาสตร์ไทย โดยนิรโทษกรรมให้คดีความทั้งหมดที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยพิจารณาที่ช่วงเวลาเป็นสำคัญ ไม่แบ่งแยกตามประเภทข้อหา เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และเหตุการณ์อื่นๆ

3. วาระนิรโทษกรรมยังคงถือเป็นวาระเร่งด่วน เมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยถัดไป ที่ประชุมจะต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยทันที

4. นายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจดำเนินมาตรการชั่วคราวโดยทันที ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฯ ต้องออกคำสั่งให้ตำรวจชะลอหรือหยุดการฟ้องคดีการเมืองในชั้นตำรวจทั้งหมดทันทีระหว่างรอพิจารณาร่างนิรโทษกรรม และต้องเร่งผลักดันมาตรการชั่วคราวกับองค์กรในกระบวนการยุติธรรม โดยเจรจากับสำนักงานอัยการสูงสุดให้ชะลอการสั่งฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และเจรจากับประธานศาลฎีกาให้ศาลชะลอการพิจารณาคดีการเมืองที่อยู่ในชั้นศาลทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น

เครดิตภาพจาก iLaw

.

ต่อมาในช่วงเย็นที่บริเวณฝั่งลานประชาชน กิจกรรม “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” เริ่มด้วยการอธิบายภาพรวมสถานการณ์จากแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนสู่การพิจารณากฎหมายในสภา โดยมี เฝาซี ล่าเต๊ะ ตัวแทนจาก Amnesty International Thailand กล่าวโดยสรุปว่า สำหรับ 1 ปีที่ผ่านมามีผู้มาร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน มากกว่า 30,000 คน โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนตั้งแต่ปี 2549 และเป็นร่างกฎหมายเดียวที่กำหนดให้นิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพ รวมถึงคดีมาตรา 112 และระบุไว้ชัดว่าไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ เพื่อยุติการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ​และคณะรัฐประหาร 

เครือข่ายนิรโทษกรรมผ่านการทำแคมเปญรณรงค์มาทั่วประเทศเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนว่า กฎหมายนิรโทษกรรมมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน และขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรรับฟังเสียงประชาชน อย่าเมินเฉยข้อเรียกร้องนิรโทษกรรมประชาชน จากนั้นได้ฝากข้อความส่งท้ายไว้ว่า “นิรโทษกรรมประชาชน สะสางอดีต คลี่คลายปัจจุบัน รับประกันอนาคตเสรีภาพ”

.

สำหรับกิจกรรมในช่วงวงเสวนา “ชีวิตของผู้ถูกดำเนินคดี” ชวนผู้ถูกดำเนินคดีมาร่วมบอกเล่าการต่อสู้ ความยากลำบาก และความรู้สึกหลังเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวและถูกดำเนินคดีการเมือง  โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน ประกอบด้วย  คือ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “ธี” ถิรนัย (สงวนนามสกุล) โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ อชิรญา บุญตา

สำหรับแรงบันดาลใจที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทานตะวันเล่าว่า คงเป็นความโกรธแค้นเหมือนกับหลาย ๆ คนว่า ทำไมประเทศถึงไม่เปิดพื้นที่ให้แสดงออกในสิ่งที่คิด เธอเตรียมใจไว้ว่าการที่ออกมาพูดจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ซึ่งก็เจอแบบนั้นจริง ๆ จึงมาพูดคุยถึงเรื่องนิรโทษกรรมประชาชนที่จะเป็นจุดจบของปัญหาความขัดแย้ง  

เรื่องการใช้ชีวิตในเรือนจำ ตอนหนึ่งทานตะวันเล่าว่า เธออยากให้กำลังใจเพื่อนในเรือนจำทุกคน เธอไปเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำบ่อยครั้ง มีประชาชนทั่วไปอีกมากมายที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่าง “แม็กกี้” หรือ “วุฒิ” อยากให้ทุกคนให้ความสนใจและติดตามเรื่องราวของเพื่อนในเรือนจำ คนที่อยู่ข้างนอกสามารถทำอะไรได้อีกมาก อย่างการให้กำลังใจก็ทำให้พวกเขาสามารถอยู่ข้างในเรือนจำต่อไปได้

ส่วนประสบการณ์การเข้าเรือนจำของเธอ เธอเล่าว่า ก้าวแรกในการเข้าเรือนจำต้องถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับทั้งหมด สิ่งเดียวที่เรามีอยู่คือ ‘ร่างกาย’ จากนั้นก็ใส่ผ้าถุงเพื่อตรวจสอบว่าได้นำสิ่งใดเข้ามาในเรือนจำหรือไม่ สิ่งที่เธอเห็นมันเหมือนกับ ‘โรงเรียนประจำ’ และได้เข้าไปอยู่ในแดนแรกรับ และถูกกักตัวอยู่ข้างบนตลอดเวลา 

ทานตะวันเล่าต่อว่า สิ่งที่เธอเห็นในเรือนจำนั้นอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมดที่ได้รับรู้ เพราะเขาพยายามปกปิดและให้เราเห็นว่าข้างในเรือนจำนั้นดี แต่สภาพความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย อย่างเรื่องอาหารที่เรือนจำเอามาให้ดูก็มีสารอาหารครบถ้วน ทั้งที่ความจริงเป็นเพียงเศษไก่ เศษผัก และเศษข้าว 

หรือแม้กระทั่งการรักษาพยาบาลที่เธอได้รับการรักษาที่รวดเร็วถึงแม้ว่าจะไม่ได้ลงชื่อก็ตาม แต่ผู้ต้องขังคนอื่นไม่ได้เป็นเช่นนั้น บางคนลงชื่อขอพบหมอข้ามปีแล้วก็ยังไม่ได้ไป นอกจากนั้นเธอก็ถูกจับตาดู 24 ชั่วโมง โดยการส่งคนมาดู หรือแม้กระทั่งผ่านกล้องวงจรปิด

.

ธีรถัยเล่าว่า ในช่วงปี 2563 เขารู้สึกว่าประเทศย่ำแย่ลงในขณะที่เขากำลังโตขึ้น จึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มอาชีวะ โดยมีบทบาทเป็นการ์ดดูแลความเรียบร้อยของที่ชุมนุม จนถูกดำเนินคดีในช่วงปี 2564

ถิรนัยเล่าถึงประสบการณ์การเข้าไปในเรือนจำว่า เขารับสภาพเรือนจำที่เขาถูกขังไม่ได้ จิตใจย่ำแย่ อีกทั้งยังถูกจับแยกกับถิรนัย และถูกหลายคนตั้งคำถามว่าทำไปทำไม แต่เขายังยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำก็เป็นไปเพื่ออุดมการณ์ของเขาและตอบไปว่า “พี่ไม่เห็นความผิดปกติของประเทศนี้เหรอ” 

ธิรนัยเล่าว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำรักกันมาก เพราะพวกเราร่วมกันต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งขณะที่เขาต้องเข้าไปในเรือนจำก็หลุดออกจากระบบการศึกษา จนเมื่อได้ออกจากเรือนจำก็ต้องมาเริ่มต้นเรียนใหม่ 

.

ด้านจตุภัทร์เล่าว่า เขาเติบโตในช่วงปี 2553 ช่วงการชุมนุมเสื้อแดง ที่มีบรรยากาศการเมืองที่เกิดการสูญเสียและเห็นหลายปัญหาในภาคอีสานที่เกิดจากโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่มีความเป็นธรรม จากการที่นายทุนมาควบคุมรัฐบาลอีกทีหนึ่ง 

จนกระทั่งรัฐประหารปี 2557 จตุภัทร์จึงออกมาต่อต้านเผด็จการทหาร ซึ่งเขามองว่าการต่อสู้เรื่องทรัพยากรที่อีสาน การต่อต้านเผด็จการทหาร การต่อสู้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางการเมือง หรือการต่อสู้เรื่องมาตรา 112 นั้นคือเรื่องโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทย 

เขาเล่าว่า ตนเองเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแชร์โพสต์ข่าว BBC และถูกพิพากษาจำคุก ทั้งเคยถูกดำเนินคดีในศาลทหาร และถูกพิจารณาคดีลับบ้าง โดยเขามองว่า กฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยผู้มีอำนาจใช้จับกุมคุมขังประชาชนที่คิดต่าง

ในตอนท้าย จตุภัทร์พูดว่า “มันต้องมีสักครั้งหนึ่งที่ผู้คนรวมกันจนเกิดพลังมากพอ ถ้าเราไม่มากพอ เขาไม่ฟังเรา ไม่มีพลังกดดัน ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเรื่องนี้” 

จตุภัทร์ฝากถึงประชาชนว่า หลายเรื่องในประเทศนี้ถูกทำให้หยุดชะงักด้วยพลังของประชาชน ในวันนี้รัฐสภาผู้แทนราษฎรยังเป็นตัวแทนเราไม่ได้ พวกเราเลยต้องมาที่นี่ในวันนี้เองเพื่อยืนยันว่า ระบบผู้แทนใช้ไม่ได้ กฎหมายนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจ เราไม่สามารถคาดหวังกับผู้แทนได้ จึงต้องคาดหวังกันเองว่าจะออกมาเรียกร้องกดดัน แค่ไหนถึงจะถูกรับฟังและได้รับการแก้ไข และเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำจะได้รับการปล่อยตัว

เครดิตภาพจาก iLaw

.

วงเสวนาต่อมาภายใต้หัวข้อ “ชีวิตของผู้ต้องขัง” ชวนผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังมาร่วมเล่าประสบการณ์การทำงาน ความรู้สึก และสถานการณ์ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย “ไม้โมก” ธีรภพ เต็งประวัติ ตัวแทนจากกลุ่ม Thumb Rights, “ลุงดร” ภราดร เกตุเผือก สื่ออิสระบน YouTube และ นิท ตัวแทนจาก Freedom Bridge โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ อานนท์ ชวาลาวัลย์

เริ่มจากประเด็นการเข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองของแต่ละคน ภราดรเล่าว่าจากเดิมที่ทำงานเป็นสื่ออิสระรายงานข่าวบน YouTube ก็เริ่มคิดว่าเขาทำอะไรได้มากกว่านั้นโดยการเสียสละและให้ความช่วยเหลือ จึงมาพูดคุยกับผู้ถูกดำเนินคดีในห้องพิจารณาคดี ติดต่อกับญาติผู้ต้องขัง และหาข้อมูลคดีความ รวมถึงไปเยี่ยมในเรือนจำและมาทำข่าวไลฟ์สด 

สำหรับคดีที่ภราดรรู้สึกสะเทือนใจ คือคดีของ “ตรัณ” (นามสมมติ) อายุ 25 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แม่เขานั่งร้องไห้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ศาลบอกให้รีบยื่นประกันตัวและรอคำสั่ง ซึ่งก่อนหน้าทนายก็เตรียมตัวให้กับตรัณแล้วก่อนฟังคำพิพากษา ตอนที่ศาลอ่านคำพิพากษาลุงดรเห็นทีท่าไม่ค่อยดี เลยรีบเขียนชื่อสกุลของเขาให้กับตรัณไว้ สำหรับใส่เป็นรายชื่อญาติที่จะสามารถเข้าเยี่ยมในเรือนจำได้ เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือสวัสดิภาพในเรือนจำ และตามไปส่งตรัณที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

.

ธีรภพเล่าว่า เขาเป็นคนที่เขียนจดหมายส่งถึงผู้ต้องขัง ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเคยไปช่วยจัดนิทรรศการ The Letter มีหน้าที่อ่านและคัดเลือกจดหมายของผู้ต้องขัง จึงเห็นความสำคัญของจดหมายจากเรือนจำ จากนั้นจึงเริ่มส่งจดหมายพูดคุยกับผู้ต้องขังการเมือง ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมถึงปัญหาที่เหล่าผู้ต้องขังพบเจอ และส่งเสียงแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งข้อความที่ถูกส่งออกมาก็จะมีบางครั้งที่ถูกเซนเซอร์โดยการถมสีขาว ซึ่งเขาก็เดาออกบ้าง ไม่ออกบ้าง 

ธีรภพเล่าว่า ปัจจุบันสามารถส่งจดหมายผ่านเว็บไซต์ของ Amnesty ได้แล้ว หรืออีกทางหนึ่งก็เขียนส่งทางไปรษณีย์ จ่าหน้าชื่อสกุลผู้ต้องขัง แต่ก็ไม่แน่ชัดอีกว่าจดหมายจะถึงมือผู้ต้องขังหรือไม่ 

ส่วนอีกทางหนึ่งก็สามารถส่งได้เองผ่านแอปพลิเคชั่น Domimail แต่ก็มีข้อจำกัดว่าในเรือนจำทั่วประเทศ มีเพียงไม่กี่เรือนจำที่สามารถใช้ได้ โดยต้องทราบชื่อสกุลและแดนของผู้ต้องขัง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดกรณีห้ามแคปภาพจดหมาย Domimail มาโพสต์บนโซเชียลมีเดีย แต่เขาก็ใช้วิธีนำเนื้อหาในจดหมายมาเรียเรียงใหม่ก่อนนำไปโพสต์

ตอนหนึ่งธีรภพเล่าเรื่องจดหมายที่เขาพูดคุยกับไบรท์ ชินวัตร ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ว่า “ถ้าข้างนอกยังขับเคลื่อนเรื่องนิรโทษกรรมอยู่ ก็อยากให้เคลื่อนต่อให้สุด เพราะเขาคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ และไบรท์เองก็ถูกวิจารณ์หนักมากทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายที่เคยร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันมา ไบรท์บอกว่าตัวเขาเองยอมอะไรก็ได้ ติดคุกตลอดชีวิต ถวายความจงรักภักดี เพื่อแลกกับการนิรโทษกรรม ให้คนในเรือนจำได้ออกมา”

.

อกนิษฐ์ ต๊ะดิ เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge เล่าว่า Freedom Bridge ก่อตั้งขึ้นมาหลังจากมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อให้การดูแลนักโทษการเมืองมีระบบมากขึ้น มีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ต้องขังและครอบครัว ซึ่งปัจจุบันดูแลผู้ต้องขังอยู่ทั้งสิ้น 48 คน ในหลากหลายเรือนจำทั่วประเทศ โดยปัญหาที่พบเจอคือแต่ละเรือนจำก็จะมีกฎระเบียบที่แตกต่างกันออกไป และอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการติดต่อสื่อสารผ่านการเยี่ยมของทนายและญาติ 

“ซึ่งปัญหาจริง ๆ คือการที่พวกเขาไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้ว่าเรือนจำจะดีขึ้นแค่ไหน ปัญหาจากการที่เขาเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็ไม่ได้หายไป 

“ค่าเฉลี่ยอายุคนที่อยู่ในเรือนจำคือ 33 ปี หมายความว่าเขาอยู่ในวัยทำมาหากิน หาเลี้ยงครอบครัว ถึงแม้ว่าเราจะซื้อข้าวให้เขา ติดตามเรื่องสุขภาพ หรือมีทนายเข้าเยี่ยม แต่มันก็ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาและครอบครัวอย่างมหาศาล สิ่งสำคัญจริง ๆ คือการได้รับนิรโทษกรรม หรือสิทธิประกันตัวออกมาต่อสู้คดี” อกนิษฐ์กล่าว

เครดิตภาพจาก iLaw

X