วันที่ 18 ก.ค. 2567 เวลา 11.30 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เดินทางไปยังรัฐสภา (เกียกกาย) เข้ายื่นหนังสือ โดยมี ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เดินทางมารับหนังสือ โดยมีจุดประสงค์ในการเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ มีมติ “นิรโทษกรรมทุกคดีรวมมาตรา 112”
ในวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภาจะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้อีกครั้งเป็นครั้งที่ 18 ซึ่งจะมีการพิจารณาและลงมติในประเด็น คดีและฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรม โดยเฉพาะในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 ซึ่งในการประชุมครั้งที่ผ่านมาที่ประชุมได้เสนอและมีความเห็นแตกต่างเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ไม่นิรโทษกรรมทั้งสองมาตรา 2) นิรโทษกรรมทั้งสองมาตราแต่มีเงื่อนไขพิเศษ 3) นิรโทษกรรมทั้งสองมาตราโดยไม่มีเงื่อนไข
เวลา 11.00 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 25 คน เดินทางมาที่บริเวณรัฐสภา พร้อมถือโปสเตอร์ #นิรโทษกรรมประชาชน #รวม112 และสแตนดี้ผู้ต้องขังคดีการเมือง ก่อนรวมกลุ่มกันเดินเข้ารัฐสภา
เวลา 11.30 น. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และตัวแทนคณะกรรมาธิการ เดินทางมารับหนังสือ พร้อมถ่ายรูปร่วมกันกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
หลังจากมอบหนังสือแล้ว “ทนายเมย์” พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 23 องค์กรภาคประชาสังคม ได้แถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ในทางหนึ่งเครือข่ายฯ ได้ผลักดันนิรโทษกรรมประชาชนโดยเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งได้เสนอเข้าสภา และอยู่ในระหว่างรอคิวพิจารณา แต่ในอีกทางหนึ่งคู่ขนานกัน สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายและคาดว่าคณะกรรมการวิสามัญฯ จะมีผลของการพิจารณาแล้ว
ข้อห่วงกังวลของเครือข่ายฯ คือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาว่าจะมีการรวมคดีมาตรา 112 และคดีมาตรา 110 หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีมติว่า จะไม่มีมติว่าควรจะรวมหรือไม่รวม แต่จะให้คณะกรรมาธิการฯ แต่ละคนให้ความเห็นแทนว่าจะรวมหรือไม่
เครือข่ายฯ เห็นว่า คณะกรรมาธิการฯ ถูกตั้งมาพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมโดยเฉพาะ จึงควรจะมีมติได้ว่าจะรวมหรือไม่ และรวมลักษณะอย่างไร
วันนี้ (18 ก.ค. 2567) เครือข่ายฯ จึงพาผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาให้ข้อมูลว่าเหตุผลที่ควรจะรวมคดี 112 ในการนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงได้เสนอกับคณะกรรมาธิการฯ
“แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา กล่าวว่า มาตรา 112 มีประเด็นปัญหา 5 ประเด็น ดังนี้
- การตีความที่กว้างขวางมากจนเกินไป ส่งผลให้การแสดงออกที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทก็ถูกดำเนินคดีไปด้วย
- มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดปากฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ
- การบังคับใช้มาตรา 112 สร้างความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน
- ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น องค์กรสหประชาชาติ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
- กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่มีความโปร่งใสและไม่มีความเป็นธรรม โดยเฉพาะในยุค คสช. จนถึงปัจจุบัน
ณัฎฐธิดาทิ้งท้ายว่า อยากฝากทางรัฐสภาช่วยกระตุ้นในเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะยังมีผู้ต้องหาทางการเมืองอยู่อีกหลายสิบคน
กรกช แสงเย็นพันธ์ กล่าวว่า ในฐานะกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน การนิรโทษกรรมประชาชนเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการพูดและแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
การไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 จะเป็นการแยกผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ว่าไม่ใช่คดีทางการเมือง และกลายเป็นบุคคลที่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะทำให้เสรีภาพของประชาชนในอนาคตมีปัญหา ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมาถึง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวดทุกมาตรา
การรวมมาตรา 112 จะทำให้เห็นว่ากำลังมีปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาคดี 112 ไม่ได้สิทธิประกันตัว ผู้พิพากษาไม่มีอิสระในการตัดสิน ต้องมีการสอบถามกับผู้มีอำนาจภายในกระบวนการยุติธรรม ทำให้จำเป็นต้องยื่นนิรโทษกรรมสู่สภา
หากยังมีการสร้างความหวาดกลัวเช่นนี้ โดยการไม่รวมมาตรา 112 เข้าไป เชื่อว่าการรณรงค์ประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอย่างแน่นอน
“ณัฐ” ณัฐชนน ไพโรจน์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะไม่เป็นผลดีกับภาพรวมทางการเมืองเลย หากไม่รวมมาตรา 112 เข้าไป คดีที่รวมอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีหลายคดี และส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ คดีมาตรา 112 กว่า 300 คดี ผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ คือ คดีมาตรา 112
ณัฐชนนทิ้งท้ายว่า ความขัดแย้งจะไม่ถูกแก้ไข สิทธิและเสรีภาพในประเทศไทยที่เราหวังว่าจะดีขึ้นจะไม่ถูกทำให้เป็นผล การนิรโทษกรรมครั้งนี้จึงจำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย
“บอย” ธัชพงษ์ แกดำ กล่าวว่า ในสังคมเรามีข้อบกพร่องและความผิดพลาด และเราก็สามารถที่จะเรียนรู้และเติบโตไปกับประสบการณ์เหล่านั้นได้ ในประเทศของเรามีการใช้มาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เราต้องเผชิญกับความท้าทายและปัญหามากมายที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองเพราะมาตรา 112 มาหลายทศวรรษ
ทุกฝ่ายที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ล้วนแต่มีความปรารถนาดีกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เสื้อเหลืองเสื้อแดง จนถึงมาคนรุ่นเรารุ่นลูกรุ่นหลาน และเพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำ อีกหลายชีวิตที่ต้องลี้ภัย และบางคนที่ต้องตายและเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร
การให้อภัย การสร้างความร่วมไม้ร่วมมือในการนิรโทษกรรมประชาชนคือหัวใจสำคัญ การนิรโทษกรรมประชาชนไม่ใช่การกำชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือสัญลักษณ์ของความร่วมไม้ร่วมมือ ความเชื่อใจ และการให้อภัยซึ่งกันและกัน และเป็นประตูที่จะบอกว่าประเทศเราพร้อมที่จะก้าวข้ามไปข้างหน้าได้ หากเริ่มต้นคุยกันโดยการนิรโทษกรรมประชาชน หากในสภาปิดโอกาสนี้ เราก็จะต้องเผชิญกับความขัดแย้งตลอดไป
“มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่า ในฐานะคนที่โดนดำเนินคดีมาตรา 112 และคนที่ผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมประชาชนที่ต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วยไม่ว่าอย่างไรก็ตาม
ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่รัฐบาลต้องการให้คลี่คลายไปจะไม่จบลง ความขัดแย้งไม่จบลงจากการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่จะจบลงเมื่อประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย ใช้เสรีภาพได้อย่างเท่าเทียมและเสมอหน้ากัน
มาตรา 112 เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและสำคัญมาก หากรัฐบาลและกรรมาธิการนิรโทษกรรมไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องมาตรา 112 เท่ากับว่ากำลังจะผลักเรื่องนี้ให้เป็นภาระของประชาชน ควรเปิดพื้นที่อย่างเป็นทางการให้การพูดคุยเรื่องมาตรา 112
ภัสราวลีย้ำว่า เกินกว่าครึ่งของนักโทษการเมืองที่อยู่ในเรือนจำคือคนที่ถูกขังด้วยคดีมาตรา 112 และตอนนี้เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็ควรจริงจังให้กับการคืนความยุติธรรมและความเป็นปกติกับการใช้เสรีภาพสักที
“ใบปอ” ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เห็นว่ากฎหมายมาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดีมากมาย มีเพื่อน ๆ อีก 40 กว่าคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ และล่าสุดก็มีคนเสียชีวิตเพราะมาตรา 112 แล้ว “บุ้ง” เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตภายใต้การคุมขังด้วยมาตรา 112
กฎหมายมาตรา 112 ก็คือกฎหมายอาญาเหมือนกฎหมายอื่น ๆ ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์หรือสูงส่งใด ๆ ทำไมจะนิรโทษกรรมไม่ได้ เราควรตั้งคำถามกลับว่า ทำไมจึงรวมไปในนิรโทษกรรมไม่ได้
ณัฐนิชยืนยันว่า ต้องรวมกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม โดยนี่ไม่ใช่เวลาถกเถียงแล้วว่าจะรวมหรือไม่รวม แต่เป็นเวลาที่ต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่เกิดการสูญเสียของเพื่อน ๆ เราอีก
“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวว่า ทำไมต้องรวมมาตรา 112 ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นี้ด้วย เพราะมีคนเจ็บปวดจริง ๆ จากมาตรา 112 มีคนตายจริง ๆ และมีคนตายทั้งเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ล่าสุด “บุ้ง” ต้องเสียชีวิต จากการถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 คือ คดีทำโพลขบวนเสด็จ ซึ่งบุ้งถูกถอนประกันและต้องเสียชีวิต
ดังนั้น คุณมีพลังอำนาจที่จะคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้ แม้คุณจะไม่มีพลังวิเศษที่จะฟื้นคืนชีวิตให้พวกเขากลับมา แต่อย่างน้อย ๆ คุณมีอำนาจที่จะคืนความยุติธรรมให้กับเขา แม้ความเจ็บปวดของเราจะไม่ลดลงเลยก็ตาม
ทานตะวันทิ้งท้ายว่า หากคุณสามารถนิรโทษกรรมให้พวกที่ทำรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นคุณก็สามารถนิรโทษกรรมให้นักโทษทางความคิดได้เช่นกัน
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า 6 เดือนแล้วที่เราพูดคุยกันในห้องกรรมาธิการ ใน 6 เดือนนี้ ครึ่งหนึ่งพวกเราก็พายวนอยู่ในอ่างอยู่หลายครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยในประเด็นที่สำคัญจริง ๆ ของการนิรโทษกรรม คือ คดีที่มีความละเอียดอ่อนมาก ๆ มาตรา 112, 110 และ 289
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคณะกรรมการฯ หลายท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นแล้วว่าควรรวมคดีที่มีความละเอียดอ่อนดังกล่าวหรือไม่ อยากให้ลองติดตามในบันทึกการประชุมว่าแต่ละท่านแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และในช่วงบ่ายนี้ก็จะมีการเปิดให้คณะกรรมการฯ แสดงความคิดเห็น
ศศินันท์เห็นว่า เสียงทุกเสียงควรได้รับการรับฟังในคณะกรรมาธิการฯ และอยากให้การมาครั้งนี้ของประชาชนสามารถส่งเสียงไปถึงคณะกรรมการฯ ทุกท่านได้จริง ๆ และได้นำไปใช้ในการถกเถียงและทำสรุปของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอต่อสภาต่อไปในอนาคต ขอบคุณทุกท่านที่มาในวันนี้ และอยากให้ช่วยติดตามกันในสภาว่าใครจะอภิปรายอย่างไร ใครแสดงความคิดเห็นอย่างไร ในช่วงเวลาที่ทางการเมืองเดือดร้อนเช่นนี้
ในช่วงสุดท้ายของการแถลงข่าว ประชาชนทุกคนที่มาร่วมยื่นหนังสือได้ผลัดกันตะโกนว่า “นิรโทษกรรมประชาชน” และ “รวม 112”