เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (Internaltional Federation for Human Rights – FIDH) เผยแพร่รายงานสภาพเรือนจำของประเทศไทยประจำปี 2568 ที่ร่วมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดทำรายงานรวม 59 หน้า ให้ข้อมูลสำรวจสถานการณ์สิทธิของผู้ต้องขังด้านต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2567
รายงานดังกล่าวยังรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง และอดีตผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวในระหว่างที่มีการจัดทำรายงาน บทความข่าวและรายงานที่เชื่อถือได้ รายงานจากกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และองค์กรพัฒนาเอกชน และเอกสาราชการที่เผยแพร่โดยหน่วยงานราชการไทยและสถาบันอื่น ๆ
ตามรายงานของ FIDH ระบุว่าผู้ต้องขังไทยเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และจำนวนของผู้ต้องขังทั้งหมดรวมกันก็เกินขีดความจุสูงสุดอย่างเป็นทางการของระบบทัณฑสถานของประเทศไทยแล้ว โดยระหว่างเดือนมกราคม จนถึงเดือนธันวาคม 2567 มีผู้ต้องขังทั้งหมดรวมกันไม่น้อยกว่า 277,475 คน จากจำนวนดังกล่าวมีผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นถึง 2.4 % เกือบสามเท่าของผู้ต้องขังชายที่เพิ่มขึ้น 0.09 %
.
สภาพเรือนจำยังแออัด แม้มีการพระราชทานอภัยโทษในปี 2567 – ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องแนวนโยบายการคุมขังนอกเรือนจำ
ในปี 2567 ที่ผ่านมา FIDH ระบุว่ามีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว โดยประมาณ 50,000 ราย ซึ่งถือเป็นมาตรการในการบรรเทาความแออัดในเรือนจำ
ข้อสังเกตจากรายงานฉบับนี้ พบว่าจากคำบอกเล่าของผู้ต้องขัง และอดีตผู้ต้องขัง เรือนจำไทยยังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ผู้ต้องขังต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาพที่แออัดในห้องขัง ผู้ต้องขังชายต้องเผชิญการลงโทษทางวินัยในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งที่เข้าข่ายการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณ และบางรายถึงขั้นเป็นการทรมาน ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังเกินสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์พันธนาการ และการลงโทษขังเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล
นอกจากนี้ FIDH ยังพบรายงานจากเรือนจำอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการปฏิบัติที่แตกต่างกันของผู้ต้องขังตามสถานะทางเศรษฐกิจ โดยผู้ต้องขังที่มีฐานะร่ำรวย หรือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในสังคม จะได้รับสิทธิพิเศษหลายประการ เช่น การอาบน้ำแยกจากผู้ต้องขังคนอื่น การได้รับการบริโภคอาหารในปริมาณที่มากกว่าคนอื่น หรือได้อยู่ในห้องขังที่มีความแออัดน้อยกว่า ตลอดจนการไม่ต้องรับโทษทางวินัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม FIDH ยังมีรายงานที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรการทางเลือกอื่นแทนการจำคุก ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ออกตามความเห็นของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 (แก้ไขเพิ่มเติม 2560) มาตรา 33 เกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องขังบางประเภทในสถานอื่นนอกจากเรือนจำ ยังคงอยู่ในระหว่างรอดำเนินการ
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้ให้ข้อมูลผ่าน FIDH ว่าการนำระเบียบดังกล่าวมาใช้ปฏิบัติการ จำเป็นต้องมีคู่มือปฏิบัติการที่เหมาะสม รวมถึงเกณฑ์การคัดเลือกผู้ต้องขัง และสถานที่คุมขังทางเลือก ซึ่งในเดือน ธ.ค. 2567 ร่างแนวทางการคุมขังนอกเรือนจำยังอยู่ในระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะ
กล่าวสรุปได้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้าในการประกาศใช้มาตรการที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องขังนอกเรือนจำ และระเบียบของกรมราชทัณฑ์ดังกล่าว ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้า
.
การเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่องานบริการสุขภาพที่ล้มเหลวของเรือนจำไทย
รายงานยังได้ระบุถึงการจัดการด้านสุขภาพกายและจิตที่ล้มเหลวของเรือนจำไทย และเรือนจำยังไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ได้อย่างเพียงพอ จนส่งผลให้เกิดกรณีการเสียชีวิตในขณะที่ถูกควบคุมตัวของ “บุ้ง เนติพร” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง หรือผู้ต้องขังทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
ใบมรณบัตรและเอกสารทางการแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระบุว่า บุ้งเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยเธอไม่มีสัญญาณชีพจรเมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แม้กรมราชทัณฑ์จะได้ออกคำชี้แจงว่าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนปกติในการช่วยชีวิตผู้ต้องขัง และดำเนินการดูแลรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์ แต่ครอบครัวและทนายความของบุ้งก็ยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับเอกสารเวชเบียนและหลักฐานภาพกล้องวงจรปิดที่ได้รับจากกรมราชทัณฑ์
แม้เวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี แต่การไต่สวนการตายของบุ้ง เนติพรก็ยังไม่มีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ทนายความได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา เพื่อขอให้มีการสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของบุ้งที่ศาลอาญา เนื่องจากการเสียชีวิตของผู้ต้องขังเกิดขึ้นในพื้นที่ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่ใช่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบันการไต่สวนดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ซึ่งอยู่พื้นที่ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยจะมีนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันไต่สวนการตาย ในวันที่ 8 เม.ย. 2568
อีกด้านหนึ่งจากในรายงานของ FIDH ได้มีข้อมูลการสัมภาษณ์กับอดีตผู้ต้องขังที่เคยเข้ารับการรักษากับทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่เผยให้เห็นสภาพความเป็นอยู่และการรักษาภายในเรือนจำ
อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งเปิดเผยว่า “ผู้ต้องขังที่เข้ารับการรักษาจะได้รับการนอนบนเตียงที่มีที่นอนและผ้าห่ม ผู้ต้องขังยังได้รับการอนุญาตให้อาบน้ำในห้องน้ำส่วนตัวโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและปริมาณน้ำที่ใช้ นอกจากนี้ รสชาติอาหารในโรงพยาบาลมีรสชาติที่ดี มีสารอาหารที่ได้สัดส่วนกว่าที่เรือนจำมาก”
ในส่วนของกิจวัตรประจำวันที่ไม่ได้เข้มงวดเท่าในเรือนจำ แต่ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวกลับมีมากขึ้น โดยอดีตผู้ต้องขังคนดังกล่าวยังได้เล่าว่า “เราต้องอยู่บนชั้นสองของอาคารตลอดเวลา”
ทั้งผู้ต้องขังยังถูกจำกัดการรับรู้ข่าวสารจากสังคมภายนอกอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการรับรู้ข่าวสารซึ่งไม่แตกต่างกันกับในเรือนจำ โดยที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังจะได้รับชมเฉพาะรายการบันเทิงบางประเภท เช่น ภาพยนตร์ หากมีข่าวสารทางโทรทัศน์มาเมื่อไหร่จะถูกปิดทันที
นอกจากนี้ มาตรฐานการดูแลรักษาของโรงพยาบาล พบว่า ผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงบางประการ เช่น มะเร็ง จะมีการส่งออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่นเพื่อรับการดูแลรักษาที่เฉพาะทาง แต่ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยทางจิตที่เข้ารับการรักษาในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะถูกบังคับให้สวมโซ่ตรวนที่ข้อเท้า หรือถูกล่ามไว้กับเตียงในเวลากลางคืน
.
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย และประชาคมระหว่างประเทศ
ในช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา มีกลไกสหประชาชาติ 2 กลไก ได้แก่ คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee Against Torture) และคณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง (Working Group on Discrimination Against Women and Girls) ได้สื่อสารถึงรัฐบาลไทยเกี่ยวกับเรือนจำไทย โดยประเด็นหลัก ๆ ของทั้งสองกลไกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความแออัดในเรือนจำ
ในข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน หรือ CAT ได้แสดงความกังวลว่าเรือนจำไทยยังเผชิญปัญหาความแออัดในระดับสูง และมี “สภาพการควบคุมที่เลวร้ายลง” นอกจากนี้ยังได้แสดงความกังวลเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนของผู้ต้องขังหญิงที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องเผชิญกับอัตราการคุมขังที่สูงเนื่องจากนโยบายยาเสพติดที่แข็งกร้าวขึ้นของประเทศไทย
ทั้งนี้ CAT ได้มีข้อกังวลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเรือนจำไทยยังจำกัดการเข้าถึงสถานที่ควบคุมตัวอย่างเกินควรต่อองค์กรภายนอกที่ต้องการเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ และติดตามสภาพการควบคุมตัวของผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมถึง กสม. และองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ โดยมีการเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในการตรวจสอบสถานที่ และรวมถึงให้มีตัวแทนขององค์กรเหล่านี้ในกลไกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และพิจารณาคำร้องขององค์กรเหล่านี้ที่ต้องการเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวได้อย่างอิสระ ไม่ถูกขัดขวาง และไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ตลอดจนพูดคุยกับผู้ต้องขังได้โดยเป็นความลับ
ในท้ายรายงานของ FIDH ได้สรุปข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยหลายประการ โดยหลัก ๆ FIDH ได้ให้ข้อเสนอแนะทั่วไป ดังนี้
- รัฐบาลต้องประกันว่าสภาพเรือนจำไทยมีความสอดคล้องตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR), กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR), อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม (CAT), อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (CEDAW), อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD)
- อนุญาตให้องค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เข้าตรวจสอบอย่างอิสระ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าถึงเรือนจำโดยไม่มีการปิดกั้น
- ดำเนินการให้มีการเข้าเยี่ยมประเทศโดยกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้าย, คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (WGAD) เป็นต้น
นอกจากนี้ FIDH ได้มีข้อเสนอแนะสำหรับประชาคมระหว่างประเทศ ดังนี้
- เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิ่มความพยายามในการแก้ไขและรับมือกับปัญหาความแออัดในเรือนจำไทย โดยแสวงหามาตรการที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ
- เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ
- เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกิจที่ให้ไว้ในระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระรอบสองและสาม รวมถึงอนุญาตให้ กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถเข้าถึงเรือนจำทุกแห่งได้โดยไม่มีการปิดกั้น
- ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการฝึกอบรมกับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเกี่ยวกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทยและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับสภาพในเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง
อ่านฉบับเต็มได้บนเว็บไซต์ FIDH : https://www.fidh.org/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-31346