2 เม.ย. 2568 เวลา 09.30 น. กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรณีย้ายนักโทษโดยไม่สมัครใจและใช้ความรุนแรงในเรือนจำ โดยมี ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ และมีเนื้อหาการประชุมทั้งสองประเด็นโดยสรุปดังนี้
.
กรณีกลุ่มล้อการเมืองถูกคุกคาม: มหาลัยยืนยันสิทธิเสรีภาพนักศึกษา การติดกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย ตำรวจรับทำบัญชีนักศึกษาเฝ้าระวัง เหตุเคยทำกิจกรรมทางการเมือง แต่เหตุคุกคามถึงหอพัก-ภูมิลำเนายังถูกตั้งคำถาม
ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2568 กลุ่มอิสระล้อการเมืองได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฏร เกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงที่มีการรับปริญญา และกิจกรรมฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 75 ต่อมาในวันนี้คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ จึงมีนัดประชุมเพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง
วันนี้ เวลา 09.36 น. เริ่มด้วยวาระการประชุมเรื่องร้องเรียนกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีตัวแทนจากกลุ่มอิสระล้อการเมือง ผู้ร้องเรียน, ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ ตัวแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากตำรวจสันติบาล เข้าชี้แจงในที่ประชุม โดยสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
ผู้ร้องเรียนระบุว่ากลุ่มล้อการเมือง เป็นกลุ่มอิสระที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมือง โดยชี้แจงลำดับเหตุการณ์ที่ถูกคุกคามที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. 2568 คือ
20 ม.ค. 2568 – มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณที่ทำงานของกลุ่มล้อการเมือง
1-3 ก.พ. 2568 (วันพระราชทานปริญญาบัตร) – มีเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษาติดต่อมาว่าต้องการชื่อจริงของนักศึกษากลุ่มล้อการเมืองคนหนึ่ง เพื่อจะนำไปอยู่ใน “บัญชีบุคคลเฝ้าระวัง” และในวันที่ 3 พบว่ามีการรื้อค้นที่ทำงานของกลุ่ม อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษาโทรมาหลายสายเพื่อย้ำเตือนไม่ให้คนที่มีรายชื่อเป็นบุคคลเฝ้าระวังเข้ามาในพื้นที่่ โดยในวันดังกล่าวพบว่ามีการรวมตัวของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบใต้ตึกกิจกรรมนักศึกษา ทำให้นักศึกษาไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนั้นได้
7 ก.พ. 2568 – เจ้าหน้าที่สันติบาลขอเข้าพบตัวแทนนักศึกษา ประชุมพูดคุยเกี่ยวกับงานฟุตบอลประเพณี
14-15 ก.พ. 2568 (วันจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ) – ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาพูดคุยกับนักศึกษาที่ทำป้ายและหุ่นล้อการเมือง โดยมีใจความสำคัญว่า หากมีข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ จะต้องเก็บและริบทันที
24 ก.พ. 2568 –ตำรวจไปติดตามหาข้อมูลนักศึกษาจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ภูมิลำเนา จ.ระยอง
ทั้งยังมีข้อมูลเปิดเผยว่าสมาชิกกลุ่มล้อการเมืองได้ทราบจากเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษา ว่าการทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวัง (Watch List) เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและตำรวจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Black List และ Watch List จึงเกิดข้อสงสัยว่ามีจริงหรือไม่ ถ้าหากไม่เป็นความจริง กองกิจการนักศึกษาก็จะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ และได้ตั้งข้อสงสัยอีกว่าการที่ตำรวจไปเฝ้าที่หอพัก ซึ่งอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัย และการติดตามไปถึงภูมิลำเนานักศึกษาที่ จ.ระยอง นั้นเป็นการถวายความปลอดภัยอย่างไร
.
ต่อมา ผศ.ดร.รณกรณ์ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้แจงว่า ทางมหาวิทยาลัยยืนยันว่านักศึกษามีสิทธิและเสรีภาพ และไม่ควรมีการถูกข่มขู่คุกคาม ในกรณีกล้องวงจรปิดที่ถูกติดตั้งในวันที่ 20 ม.ค. ทราบมาก่อนว่ามีการติดต่อประสานมาว่าจะมาติดกล้องวงจรปิดสำหรับถวายการรักษาความปลอดภัยแก่ในหลวง ทั้งหมด 13 จุดในมหาวิทยาลัย แต่มีการเซ็นอนุมัติกันในภายหลัง โดยได้รับแจ้งมาว่าจะไม่มีการบันทึกภาพในระหว่างวันที่ 20-31 ม.ค. จะบันทึกเฉพาะวันที่ 1-3 ก.พ. (วันพระราชทานปริญญาบัตร)
ตนทราบว่าหลังจากติดกล้องวงจรปิดในวันที่ 20 ม.ค. มีนักศึกษานำผ้าดำมาคลุมกล้องวงจรปิด ตนจึงสอบถามไปยัง NT (โทรคมนาคมแห่งชาติ) ว่าเหตุใดจึงต้องหันกล้องเข้ามาในตัวอาคารเพราะเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ โดยหน่วยงานได้ยืนยันว่าจะติดตั้งในลักษณะดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ต่อมาได้รับแจ้งว่ามีการไปติดตามนักศึกษาที่หอพักรอบมหาวิทยาลัย ก็ได้ให้ความเห็นว่าไม่ควรทำและต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
ในประเด็นการทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวัง (Watch List) มีการชี้แจงว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ตนเพิ่งได้ยินในวันนี้ และจะไปกำชับว่ามหาวิทยาลัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคง
ในช่วงที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ตำรวจนอกเครื่องแบบมีอยู่เต็มมหาวิทยาลัย ตนเพิ่งทราบว่ามีการรื้อค้นสิ่งของและอาหารของนักศึกษาด้วย และยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปอยู่บริเวณกองกิจการนักศึกษาจริง และเมื่อตนเดินเข้าไปที่กองกิจฯ ก็ถูกสอบถามเหมือนกัน
รณกรณ์ ได้ชี้แจงต่อว่ามีการมอนิเตอร์ในหอประชุมว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จะทำกิจกรรมใดต่อหน้าพระพักตร์หรือไม่ โดยมีการไปพูดคุย แต่ไม่ได้เชิญใครออกจากหอประชุม ส่วนภายนอกหอประชุมมีตำรวจสันติบาลมอนิเตอร์ว่าจะมีบุคคลใดกระทำการใด ๆ หรือไม่
ต่อมาในประเด็นงานฟุตบอลประเพณี ตนทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจะมาขอพบนักศึกษา ตนมีความเห็นว่าจะต้องอยู่ร่วมระหว่างการพูดคุย เนื่องจากต้องชี้แจงสิทธิของนักศึกษาด้วย ส่วนวันจัดงานฟุตบอลฯ ไม่พบว่ามีการค้นตัวนักศึกษา การค้นหรือยึดสิ่งของ แต่พบว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบถ่ายภาพ
กล่าวโดยสรุปว่า ประเด็นการติดกล้องวงจรปิดในมหาวิทยาลัยนั้นเห็นว่าเป็นการรักษาความปลอดภัย ส่วนเรื่องการติดตามตัวที่ภูมิลำเนาและการรื้อสิ่งของบริเวณกองกิจการนักศึกษา ก็มีความกังวลและเรียนถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
ฝ่ายตัวแทนตำรวจ ได้ชี้แจงว่า ในช่วงวันพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการถวายความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และข้อมูลรูปภาพที่ปรากฏจากผู้ร้องเรียนนั้น ไม่ใช่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลของจังหวัดปทุมธานี ต่อมาในวันที่ 7 ก.พ. นั้นมีการนัดหมายพูดคุยกับตัวแทนนักศึกษาเรื่องการจัดกิจกรรม ซึ่งถามไปตรง ๆ ว่า “จะมีป้ายผ้าหรือข้อความที่หมิ่นสถาบันหรือไม่”
การบูรณาการกันในหน่วยงานของตำรวจ ในระดับสั่งการก็จะมีอยู่แล้ว แต่ตนเป็นผู้สั่งการในชั้นต้น และระบุว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นไข่แดง คือ ระวังเต็มที่ ซึ่งกลุ่มล้อการเมืองมีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตา เพราะสุ่มเสี่ยงจะเกินขอบเขต
ประเด็นการติดตั้งกล้องวงจรปิดนั้น จะต้องทราบการกระทำผิดที่ชัดเจนว่าใครทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร มีห้องควบคุมโดย NT เป็นผู้ดูแล โดยจะมีการบันทึกในระหว่างวันที่ 1-3 ก.พ. ถ้าหากไม่มีการกระทำผิดใด ๆ ก็จะไม่มีการบันทึกเก็บไว้
ประเด็นการจัดทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวัง (Watch List) นั้นเป็นการจัดเฝ้าระวังนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งมีการให้เฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดที่เข้าข่ายตามมาตรา 112 และเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในการจัดทำข้อมูลเพื่อถวายความปลอดภัยอยู่แล้ว
จากนั้นได้ชี้แจงเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย ร.10 ว่าจะประกอบไปด้วยสามประการคือ 1. ถวายความปลอดภัย 2. สมพระเกียรติ และ 3. เป็นไปตามพระราชประสงค์ ซึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ปลอดภัยนั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ตำรวจสันติบาล, ตำรวจภูธรภาค 1, สภ.คลองหลวง และทหารจากหลาย ๆ หน่วย
ก่อนพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สำนักพระราชวังได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม 2-3 ครั้ง โดยหน่วยงานสันติบาลจะเกี่ยวข้องกับการข่าว, ตำรวจภูธรเกี่ยวข้องกับจราจร และองค์การโทรศัพท์ จะติดกล้องวงจรปิดเพิ่มในมหาวิทยาลัย
.
ส่วนคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ความเห็นโดยสรุปว่า ในสถานศึกษาต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่เมื่อมีหลักฐานภาพปรากฏมาชัดเจนก็ต้องสืบหาว่าผู้ที่อยู่ในภาพคือใคร ในส่วนของกล้องวงจรปิดนั้นไม่ได้ติดตั้งบริเวณกองกิจการนักศึกษาเพียงจุดเดียว อาจต้องพิจารณาลักษณะการติดตั้งในจุดอื่นด้วยว่ามีการหันเข้าไปในอาคารเช่นเดียวกันหรือไม่ อีกทั้งข้อมูลกล้องวงจรปิดอยู่กับหน่วยงานใด ปัจจุบันยังเก็บไว้หรือไม่ และตั้งข้อสงสัยว่าการรื้อสิ่งของดังกล่าวนั้นเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใด
ส่วนรายชื่อ Watch List นั้นก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นหน่วยงานใดที่จัดทำ และมีหลักเกณฑ์ในการจัดทำอย่างไร และกรณีการไปพบนักศึกษา มีคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ติดต่อไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยก่อน และไปหายังนักศึกษาในที่หอพักและภูมิลำเนา ซึ่งอาจสร้างความวิตกให้กับผู้ปกครองได้ และตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่
โดยบางส่วนก็มีความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่นำไปสู่การดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112
สุดท้าย คณะกรรมาธิการได้ข้อสรุปว่า จากการประชุมดังกล่าวไม่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน จึงมีความเห็นให้หน่วยงานทำหนังสือชี้แจงส่งมายังคณะกรรมาธิการฯ ภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ ในประเด็นดังนี้
- กล้องวงจรปิดของNT (โทรคมนาคมแห่งชาติ) เข้ามาติดตั้งเป็นคำร้องจากหน่วยงานใด ใช้งบประมาณส่วนใด ภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกไปนำไปทำอย่างไรต่อ
- เปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลเฝ้าระวัง (Watch List)
- ชี้แจงเหตุผลในการติดตามนักศึกษาในที่พักและการโทรศัพท์ไปพูดคุยกับบุคคลที่ภูมิลำเนาของนักศึกษา
.
กรณีย้ายนักโทษการเมืองโดยไม่สมัครใจและใช้ความรุนแรง: กรมราชทัณฑ์ยืนยันไม่ได้ทำร้ายร่างกาย ชี้นโยบายย้ายเรือนจำเพราะลดความแออัด กมธ.สอบถามเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการย้ายเรือนจำ
ในวาระถัดมา กรรมาธิการได้พิจารณาการร้องเรียนกรณีย้ายนักโทษโดยไม่สมัครใจและใช้ความรุนแรงในเรือนจำ จากกรณีเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 ผู้ต้องขังทางการเมือง 4 คน ได้แก่ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, “ก้อง” อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล, “บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา และ สถาพร อารยะขัดขืนปฏิเสธการย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำกลางบางขวาง ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่อุ้มตัว จนผู้ต้องขังได้รับบาดเจ็บ
วันนี้มีตัวแทนจากครอบครัวของผู้ต้องขังการเมือง ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
ตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ในเรื่องนี้มีการกำหนดนโยบายให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเรือนจำสำหรับคุมขังระหว่างสืบสวนและระหว่างพิจารณาคดี เพื่อลดความแออัด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ 3,500 คน ส่วนแผนในการย้ายคือนักโทษเด็ดขาดย้ายออก 1,300 คน, ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา 900 คน โดยในจำนวนนี้ 400 คนถูกย้ายไปเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งย้ายไปหมดแล้ว และอีก 500 คน ถูกย้ายไปเรือนจำกลางบางขวาง
เหตุผลในการย้ายไปที่เรือนจำสองแห่งนี้ เนื่องจากอยู่ในเขตอำนาจศาล และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีความแออัดมาก มีผู้ต้องขังใหม่ประมาณ 30-50 คนต่อวัน ส่วนผู้ต้องขังที่ถูกย้ายมายังเรือนจำกลางบางขวางจะมีแพทย์ตรวจร่างกายตรวจสอบว่ามีร่องรอยการทำร้ายร่างกายหรือไม่ ซึ่งมีผู้ต้องขัง (ในคดีเกี่ยวกับการเมือง) ย้ายไปเรือนจำกลางบางขวาง 6 คน โดยเบื้องต้นจะแยกแดนเพื่อให้ปรับตัว และทั้ง 6 คนต้องการอยู่รวมกัน โดยจะให้ผู้ต้องขังทั้ง 6 คน มารวมกันที่แดนหนึ่ง
จากนั้นได้ชี้แจงถึงวันเกิดเหตุที่มีการย้ายผู้ต้องขัง ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังและความรุนแรง ขณะนั้นมีผู้ต้องขัง 4 คน โดยสามคนมีรายชื่อย้ายเรือนจำ ตนแจ้งว่าผู้ที่ไม่มีรายชื่อให้กลับไปที่แดน ต่อมาผู้ต้องขัง 4 คนได้นอนลงกับพื้น เจ้าหน้าที่จึงเข้ามาอุ้ม และจากนั้นมีการตรวจร่างกายทั้งสี่คน พบว่าไม่มีบาดแผล ยืนยันได้ว่าไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายและใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
ต่อมาตัวแทนญาติและทนายความชี้แจงว่า ได้เข้าไปพูดคุยและได้รับแจ้งเป็นรายละเอียด ซึ่งเป็นไปตามที่ตัวแทนกรมราชทัณฑ์ชี้แจง แต่ยืนยันว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นจากการที่ผู้ต้องขังอารยะขัดขืนคำสั่ง สำหรับธนายุทธมีอาการบาดเจ็บ คือปากแตกและแผลถลอกตามตัว ส่วนโสภณมีอาการบาดเจ็บที่สีข้าง และระบุว่าเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งปกติใช้คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จนถึงโทษประหารชีวิต ไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จะเข้าไปอยู่ที่นั่น
จึงสอบถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จะไม่รวมอยู่ในรายชื่อที่ถูกย้ายเรือนจำ จึงมาหารือเพื่อขอให้ผู้ต้องขังมาตรา 112 และนักโทษทางความคิดได้ร้บการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เหมาะสมเกี่ยวกับความปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกายต่อผู้ต้องขัง และต้องการหลักประกันในสิทธิร่างกายขณะถูกคุมขังอยู่ภายใต้กรมราชทัณฑ์ และตั้งคำถามว่าอัตราส่วนการย้ายเรือนจำนั้นมีเหตุผลทางการเมืองหรือไม่
.
ต่อมาคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ความเห็นและสอบถามถึงนโยบายการย้ายผู้ต้องขังว่าระหว่างการพิจารณาคดีนั้นมีความหมายอย่างไร หลังมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ถือว่าเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีหรือไม่
ทั้งราชทัณฑ์มีเกณฑ์ที่ชัดเจนหรือไม่ ในการจำแนกผู้ต้องขังไปเรือนจำกลางคลองเปรมและเรือนจำกลางบางขวาง โดยระบุว่าผู้ต้องขังทางการเมืองคือผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพเพียงเพราะเป็นผู้ที่คิดต่างจากรัฐ ซึ่งต้องคำนึงถึงในการย้ายเรือนจำ รวมถึงให้ความเห็นว่าการย้ายเรือนจำไม่ได้มีการส่งต่อข้อมูลเอกสารไปยังเรือนจำที่ย้ายไปด้วย และในแต่ละเรือนจำมีกฎระเบียบที่ไม่เหมือนกัน
ขณะเดียวกันก็มีคณะกรรมาธิการฯ ให้ความเห็นอีกว่า นโยบายการย้ายผู้ต้องขังจะไม่มีการแจ้งให้ญาติทราบก่อนเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยในการย้ายผู้ต้องขัง
.
สุดท้าย คณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่ากรมราชทัณฑ์ควรที่จะเปิดเผยข้อมูลเหตุการณ์ในช่วงเกิดเหตุย้ายเรือนจำเพื่อความโปร่งใส โดยขอให้ทำเป็นเอกสารชี้แจงมายังคณะกรรมาธิการภายใน 15 วันหลังได้รับหนังสือ ดังนี้
- ภาพหลักฐานกล้องวงจรปิดของผู้ต้องขังทั้ง 4 คนในวันเกิดเหตุ และเวชระเบียนการตรวจร่างกายผู้ต้องขัง
- เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้ที่ถูกย้ายเรือนจำ
- ขั้นตอนการย้ายเรือนจำและเกณฑ์การพิจารณา
- การเข้าเยี่ยมและส่งต่อข้อมูลเอกสาร